“Lifestyle Tracker” ตลาดใหญ่ที่ไม่มีใครมอง

เมื่อมองเข้ามาในตลาดอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้ (Wearable Device) ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเริ่มมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายออกมาทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นทั้งกลุ่มของสมาร์ทวตช์ (Smart Watch) ที่นำทีมจากทั้งฝั่งของแอนดรอยด์ และแอปเปิล รวมทั้งอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ที่เริ่มเห็นกันมากขึ้น
       
เพียงแต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายๆ แบรนด์จะให้ความสำคัญไปในแง่ของการเก็บข้อมูลเพื่อการออกกำลังกายเป็นหลัก ด้วยการออกผลิตภัณฑ์เฉพาะสำหรับติดตามความเคลื่อนไหวในการวิ่ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือไตรกีฬา รวมไปถึงอุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่มีมูลค่ารวมในตลาดนี้กว่า 5 พันล้านบาท โดยมองว่ากลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และพร้อมที่จะจ่ายเพื่อให้ได้อุปกรณ์มาครอบครอง
       
จากข้อมูลของแอปพลิเคชัน UP ที่ใช้เก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน Jawbone พบว่า ใน 1 ปี คนส่วนใหญ่ใช้เวลานอนทั้งหมด 112 วัน อีก 243 วัน ตื่นและทำกิจกรรมทั่วไป ส่วนอีก 8 วัน สำหรับการเคลื่อนไหว และมีเพียงแค่ 2 วันเท่านั้นที่ใช้สำหรับออกกำลังกายแบบจริงจัง
       
เดเนียล แทน กรรมการผู้จัดการภูมิภาคเอเชีย บริษัท จอร์โบน จำกัด ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ผลิตภัณฑ์หลายชิ้นเน้นออกมาตอบโจทย์การใช้งานออกกำลังกายเพียง 10 วัน ทำให้ Jawbone ที่เน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นไลฟ์สไตล์ ใช้ 24 ชั่วโมง 7 วัน เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตตลอดทั้งปี เพื่อเก็บสถิติข้อมูลต่างๆ
       
นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลถึงตลาดกลุ่มนี้ในปัจจุบันว่าแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักๆ ในท้องตลาด คือ กลุ่ม Workout อย่างสายคาดอกที่ใช้วัดอัตราการเต้นหัวใจ ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อสุขภาพขั้นสูง ถัดมาคือ Smart Watch และสุดท้ายคือ Life Style ที่เน้นแบตเตอรี่อยู่ได้ยาวนาน เพียงพอใช้งานในแต่ละสัปดาห์ เน้นไปที่วัดก้าวเดิน และการนอนหลับในแต่ละวัน
       
“ตอนนี้ตลาดของไลฟ์สไตล์แทร็กเกอร์ถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะปัจจุบันจะมีผู้เล่นในตลาดหลักๆแค่ 2 แบรนด์เท่านั้น คือ Jawbone และ Fitbit ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ในขณะที่ Jawbone ถือว่าเข้ามาในตลาดก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยทำตลาดในกลุ่มของหูฟังบลูทูธเดิมในประเทศไทยอยู่แล้ว”
       
แม้ว่าในปัจจุบัน ตลาดอุปกรณ์ Wearable จะเริ่มมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นจากแบรนด์ไอทีที่ต่างเริ่มมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีความสามารถในการใช้งานทั่วๆไป ไม่เหมือนกับ 2 แบรนด์หลักในตลาดที่มีแอปพลิเคชันเฉพาะเจาะจง และเกิดการสร้างคอมมูนิตีในการใช้งานต่อเนื่อง
       
เดเนียล ให้ข้อมูลต่อว่า การเติบโตในตลาดไลฟ์สไตล์แทร็กเกอร์ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่า 100% และคาดว่าจะยังรักษาอัตราการเติบโตดังกล่าวต่อไปได้ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา Jawbone ถือว่าเป็นผู้นำในตลาดนี้ เพียงแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อาจจะโดนคู่แข่งทำยอดขายสูงกว่าบ้าง แต่เชื่อว่าเมื่อรวมทั้งปี Jawbone จะยังเป็นผู้นำในตลาดนี้อยู่
       
“ช่วงต้นปีที่ผ่านมา Jawbone มีปัญหาเรื่องสินค้าไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย โดยรุ่นที่นำเข้ามาขายก่อนหน้าอย่าง Up 24 และ Up Move เริ่มหมดออกไปจากสต๊อก ทำให้ลูกค้าไม่สามารถหาซื้อได้ ทำให้คู่แข่งที่มีสินค้าในกลุ่มเดียวกันแซงขึ้นมา แต่หลังจากนี้เมื่อมีการเติมไลน์สินค้าเข้ามา พร้อมกับสินค้ารุ่นใหม่อย่าง Up 2 และ Up 3 เข้าสู่ตลาดก็จะทำให้กลับขึ้นมาเป็นผู้นำได้”
       
นอกจากนี้ การเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ 5 ในภูมิภาคเอเชีย รองจาก จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ส่งผลให้ไทยถือว่าเป็นคีย์โฟกัสในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ว่าได้ เพราะขนาดตลาดกลุ่มนี้ของประเทศไทยสูงกว่าในตลาดฮ่องกงถึง 50%
       
โดยปัจจุบัน Jawbone ทำตลาดในประเทศไทยร่วมกับทาง อาร์ทีบี ที่ถือเป็นผู้กระจายสินค้าไปตามช่องทางการขายต่างๆ ในกลุ่มอุปกรณ์เสริมไอที ซึ่งทางอาร์ทีบีก็มองว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์แทร็กเกอร์จะมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

จุดเด่นสำคัญที่ Jawbone พยายามชูขึ้นมาว่าตนเองเหนือกว่าคู่แข่งคือ ในเรื่องของแอปพลิเคชันที่จะมีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมในแต่ละวัน และนำไปวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประมวลผลออกมาเป็นคำแนะนำแก่ผู้ใช้ (Smart Coach) อย่างเช่น การสร้างความท้าทายด้วยการให้ผู้ใช้เดินเพิ่มขึ้น หรือแข่งกับเพื่อนที่ใช้งานร่วมกัน
       
รวมถึงในการวัดการนอน ที่แต่เดิมอุปกรณ์เหล่านี้จะตรวจสอบข้อมูลได้เพียงแค่หลับลึก หรือหลับปกติ แต่ในรุ่นใหม่อย่าง Up 3 มีการเพิ่มการตรวจจับระดับขั้นการนอนออกเป็น 3 ช่วง คือ REM Sleep ที่เป็นช่วงหลับฝัน ซึ่งถ้ามี REM Sleep สูงก็จะช่วยให้เกิดในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน
       
ถัดมาเป็น Light Sleep ในช่วงกำลังเคลิ้มหลับ อาจจะมีการขยับตัวบ้าง ซึ่งถ้ามีอะไรเกิดขึ้นรอบๆตัวจะตื่นง่ายมาก และสุดท้าย Deep Sleep ที่ถือเป็นช่วงการนอนที่สำคัญที่สุด เพราะร่างกายจะได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งในจุดนี้ร่างกายจะมีการซ่อมแซมส่วนสึกหรอต่างๆ อย่างกล้ามเนื้อ กรณีที่ออกกำลังกายมา
       
ที่สำคัญคือ ในแต่ละช่วงอายุก็จะมีเวลาในการพักผ่อนไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ในอายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี จะมีเวลาในการนอนหลับที่เหมาะสมประมาณ 7-8 ชั่วโมง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับ REM และ Deep จะอยู่อย่างละประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที แต่ถ้าอายุสูงขึ้นช่วงเวลาที่ต้องการในการพักผ่อนก็จะลดน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น ในกลุ่มผู้สูงอายุจะต้องการพักผ่อนเพียง 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น
       
นอกเหนือไปจากเรื่องของระดับการนอนหลับแล้ว Jawbone ยังให้ความสำคัญต่อ rHR หรือ rest Heart Rate ที่เป็นอัตราการเต้นของหัวใจในเวลาที่ร่างกายพักผ่อน โดยระบุว่า rHR ถือเป็นการวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่สำคัญที่สุดในการนำมาวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ใช้ในแต่ละวันจะส่งผลถึงอัตราการเต้นหัวใจขณะพักผ่อน
       
“Up 3 จะมาพร้อมกับเซ็นเซอร์วัด rHR ทำให้สามารถนำข้อมูลการใช้ชีวิตในแต่ละวันมาวิเคราะห์ได้ อย่างถ้ามีการดื่มกาแฟในช่วงเวลาเย็น ค่า rHR ขณะพักผ่อนจะสูงขึ้น เช่นเดียวกับกรณีที่ออกกำลังกายก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง ก็จะส่งผลถึงค่า rHR ด้วย เมื่อ Up มีการเก็บค่าเฉลี่ยในการใช้งานต่อเนื่องก็จะมีการแนะนำเพื่อปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมต่อไป”
       
ทั้งนี้ ถ้ามองในแง่ของประสิทธิภาพแล้ว Up 3 จะมีขนาดเล็กลง 45% และน้ำหนักเบาลง เมื่อเทียบกับ Up 24 ที่เป็นรุ่นก่อนหน้า ที่สำคัญคือ เรื่องของการออกแบบที่เหมาะต่อการใส่เป็นเครื่องประดับไว้ใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นจุดที่ Jawbone มั่นใจว่าทำได้ดีกว่าคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน
       
อย่างไรก็ตาม ในตลาดไม่ได้มีเพียงแค่ Jawbone Up3 ผลิตภัณฑ์เดียวที่มีฟังก์ชันในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ฟิตบิท (Fitbit) ก็ถือเป็นอีกแบรนด์ที่ให้ความสำคัญต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ด้วยการออกผลิตภัณฑ์อย่าง Fitbit Charge HR และ Fitbit Surge เพียงแต่จะไม่ได้เน้นไปที่ค่า rHR แต่จะวัดการเต้นของหัวใจในขณะทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายเพื่อบอกโซนมากกว่า
       
เจมี่ ฮาร์ดลี่ย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Fitbit ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ของ Fitbit จะเน้นไปที่การสร้างคอมมูนิตีในการใช้งานร่วมกับเพื่อนๆ ที่ออกกำลังกาย โดยในรุ่นอย่าง Charge HR ก็จะมีการนำอัตราการเต้นของหัวใจมาวิเคราะห์เพื่อให้การออกกำลังกายเผาผลาญแคลลอรีได้ดีที่สุด
       
“จุดเด่นของ Charge HR และ Surge เลยคือ การที่มีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจมาด้วย ทำให้เวลาออกกำลังผู้ใช้สามารถคำนวณโซนของอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ซึ่งจะมีผลในกรณีที่คุมน้ำหนักอยากลดปริมาณไขมัน ก็จะต้องออกกำลังกายให้หัวใจเต้นอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้เน้นออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงก็จะไปอีกโซนหนึ่ง”
       
โดย Fitbit เองก็มั่นใจว่าจากผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทยอยเข้ามาในตลาดหลังจากนี้ และด้วยระดับราคาที่ไม่สูงเกินไปจะทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้งานFitbit ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เพื่อให้สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดดังกล่าวได้
       
ขณะที่ การ์มิน (Garmin) ก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญต่อตลาดอุปกรณ์เสริมเพื่อสุขภาพเช่นเดียวกัน โดยมองว่าที่ผ่านมาในตลาดกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตกว่า 200% โดยเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น ทั้งในแง่ของการวิ่งมาราธอน และการปั่นจักรยานที่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
       
นายไกรรพ เหลืองอุทัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า ตลาดอุปกรณ์เสริมเกี่ยวกับสุขภาพในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 100% แต่ถ้านับเฉพาะกลุ่มของ Wearable Device เชื่อว่าจะเติบโต 200-300% เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้มากยิ่งขึ้น
       
“ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุปกรณ์เสริมเพื่อสุขภาพของGarmin ส่วนใหญ่จะออกมาตอบสนองการเล่นกีฬา อย่าง วิ่งมาราธอน ขี่จักรยาน รวมถึงไตรกีฬามากกว่า ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ Garmin เป็นผู้นำในตลาดนี้อยู่ แต่ก็จะมีกลุ่มที่นำอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ไปใช้งานในชีวิตประจำวันทำให้ Garmin ต้องมีการนำผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาตอบสนองในกลุ่มนี้ด้วย”
       
โดย Garmin ก็จะมีสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพอย่าง Vivofit 2 ที่ต่อยอดมาจากรุ่นแรก นอกจากนี้ ก็จะมีอุปกรณ์ในกลุ่มของนักวิ่งอย่าง Forrunner ที่ล่าสุดออกรุ่น 225 ที่สามารถใช้วัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ออกมา รวมไปถึง Fenix 3 ที่เป็นนาฬิกาอัจฉริยะสำหรับนักไตรกีฬา เป็นต้น
       
****เทียบ 3 ไลฟ์สไตล์แทร็กเกอร์
       
ถ้าเปรียบเทียบถึงความโดดเด่นของไลฟ์สไตล์แทร็กเกอร์ในท้องตลาดประเทศไทยตอนนี้ จะมีด้วยกันหลักๆ 3 รุ่น เรียงตามระดับราคาคือ Garmin Vivofit 2 ราคา 4,750 บาท ถัดมาคือ Fitbit Charge HR ราคา 5,550 บาท และ Jawbone Up 3 ราคา 7,990 บาท
       
โดยแต่ละรุ่นก็จะมีจุดเด่นในตัวของผลิตภัณฑ์เองอย่าง Vivofit 2 จะเน้นที่การกันน้ำสามารถใส่ว่ายน้ำได้ การใช้งานในที่มืด จากการที่ตัวจอมีไฟแสดงผล และระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรี่กว่า 1 ปีเป็นหลัก แต่ในส่วนของแอปพลิเคชันจะทำได้เพียงการแสดงผลข้อมูลก้าวเดิน การนอน ปริมาณแคลลอรีที่เผาผลาญไปเท่านั้น ไม่มีการนำไปวิเคราะห์ออกมา
       
ขณะที่ Charge HR จะโดดเด่นในแง่ของการที่ตัวเครื่องมีหน้าจอแสดงผล พร้อมระบบวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และการวัดความสูงเพื่อนำมาคำนวณการเดินขึ้น หรือลงบันไดที่พิเศษขึ้นมา เพียงแต่ไม่สามารถโดนน้ำได้ เพราะจะทำให้เซ็นเซอร์ และหน้าจอแสดงผลมีปัญหา ขณะที่ตัวแอปพลิเคชันก็จะมีการสร้างคอมมูนิตีให้เกิดการใช้งานร่วมกับกลุ่มเพื่อนเป็นหลัก
       
สุดท้าย Up 3 จะมีจุดเด่นอยู่ที่ดีไซน์น่าใช้งานในชีวิตประจำวัน สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะนอนหลับได้เพื่อคำนวณหาค่า rHR รวมถึงแบ่งระดับการนอนออกเป็น 3 ระดับ ในขณะที่แบรนด์อื่นจะมีเพียง 2 ระดับ สามารถใส่โดนน้ำได้ แต่แช่น้ำไม่ได้เพราะจะมีปัญหาจากความดันน้ำที่เพิ่มขึ้น แต่ตัวเครื่องไม่มีหน้าจอแสดงผล ส่วนแอปพลิเคชันก็จะนำข้อมูลต่างๆ ไปวิเคราะห์ออกมาเป็นคำแนะนำในการใช้ชีวิตด้วย
       

 

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000080662