6 หลุมพราง “การเงิน” ของ SMEs

โครงการ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ระบุสาเหตุปัญหาการเงินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประกอบด้วย
 
1.ไม่แยกบัญชีเงิน “ส่วนตัว” กับ “ธุรกิจ”: ใช้จ่ายมั่ว สลับไปมาจนไม่รู้ว่าทำธุรกิจได้กำไรหรือขาดทุน
 
2. หน้ามืดกู้เงินนอกระบบ: เมื่อไม่สามารถกู้ในระบบได้ หันไปพึ่งนอกระบบ ดอกเบี้ยมหาโหดแทน
 
3.ขาดการบริหารค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม: ไม่เคยทำบันทึกรับจ่าย เลยไม่รู้ว่า เงินหมดไปกับอะไรบ้าง
 
4.ไม่รู้จักบริหารสภาพคล่อง : ปล่อยให้หนี้สินหมุนเวียนมากกว่าทรัพย์สินหมุนเวียน จนขาดสภาพคล่อง
 
5.บริหารลูกหนี้ยาวเกินไป : ใจดี ให้เวลาลูกค้าจ่ายหนี้นานเกินไป สุดท้ายตัวเองไม่มีเงินไปหมุนเวียน
 
6.ไร้แผนสำรองกรณีฉุกเฉิน: ธุรกิจเกิดปัญหารุนแรง แต่ไม่ได้เตรียมแผนรับมือไว้ เลยแก้วิกฤตไม่ทัน
 
ที่มา : โครงการ K-Expert
 
นายศาสตรา มังกรอัศวกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย ขยายความให้ฟังถึง 6 หลุมพรางดังกล่าว อันเป็นต้นเหตุของปัญหาการเงินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น ได้แก่
 
1.มักไม่แยกการบริหารการเงินระหว่าง “เงินส่วนตัว” กับ “เงินในการทำธุรกิจ”: โดยนำเงินทั้งสองมาผสมกัน ใช้ข้ามไปมา จนกลายเป็นว่า สุขภาพทางการเงินของด้านธุรกิจ ดูไม่ดี ทั้งๆ ที่มีรายได้เข้ามาจำนวนมาก แต่รายจ่ายกลับมากยิ่งกว่า รวมถึง เงินที่จ่ายไปหลายด้านเป็นการจ่ายผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำไปซื้อทรัพย์สินส่วนตัว ไม่ได้นำไปสร้างรายได้ ทำให้สถาบันการเงินพิจารณารายจ่ายส่วนนี้ว่า ไม่สมเหตุสมผล ทำให้เอสเอ็มอียากต่อการเข้าถึงแหล่งทุน ดังนั้น ข้อแนะนำแรก เอสเอ็มอีควรแยกบัญชีระหว่างเงินส่วนตัว กับเงินทำธุรกิจ
 
2. หน้ามืดหันพึ่งเงินกู้นอกระบบ: สืบเนื่องจากปัญหาข้างต้น หากเกิดภาวะขายสินค้าได้น้อยลง เกิดภาวะขาดสภาพคล่องจำกัด จำเป็นต้องกู้เงิน ทำให้สัดส่วน “หนี้สิน” ต่อ “สินทรัพย์” อยู่ในอัตราสูง และเมื่อกู้ไปกู้มาจนวงเงินเต็ม เกิดอาการกู้ต่อในระบบไม่ได้แล้ว หลายรายเกิดอาการหน้ามืด หันไปใช้เงินกู้นอกระบบ หรือบริการสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น บัตรกดเงินสดต่างๆ อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 20-28% ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ในที่สุดธุรกิจไม่สามารถจะรับภาวะต่อไปได้
 
3.ขาดการบริหารค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม: โดยเอสเอ็มอีมักไม่ค่อยทำ “งบประมาณ” หรือเทียบกับบุคคลธรรมดา คือ การทำ “บันทึกรับจ่าย” ซึ่งน้อยรายมากที่จะทำอย่างจริงจัง
 
ทั้งนี้ ในทางการประกอบธุรกิจแล้ว หากไม่ทำงบประมาณแล้ว จะไม่รู้ “ยอดขายว่าได้เท่าไร” และ “ค่าใช้จ่ายต่างๆ หมดไปกับอะไรบ้าง” มันทำให้สุดท้ายเงินไม่เหลือเพียงพอที่จะไปจ่ายหนี้ขั้นต่ำพร้อมดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ไปกู้มา กลายเป็นประวัติการเงินเสีย
 
“จุดนี้ ข้อแนะนำแรก เอสเอ็มอีควรจะทำ “งบประมาณ” เสียก่อน ประการต่อมา เมื่อเราทำงบประมาณแล้ว จะทำให้เห็นว่า มีค่าใช้จ่ายใดๆ บ้าง ช่วยให้สามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และไม่ก่อให้เกิดรายได้ทิ้งไปได้ เช่น ค่าตกแต่งเพื่อความสวยงาม ค่าใช้จ่ายเกินจำเป็นที่ต้องเฝ้าควบคุมพิเศษ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน จะรู้ถึงข้อมูลสำหรับ “ค่าใช้จ่ายที่ควรจ่าย” ซึ่งต้องเป็น “ค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดรายได้” เช่น ค่าจ้างพนักงานฝ่ายขาย ปรับปรุงเครื่องจักรในการผลิต ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่จำเป็น เป็นต้น”
 
4.ต้องรู้จักบริหารสภาพคล่อง : ศาสตรา ระบุว่า เอสเอ็มอีควรมีความเข้าในในหลักการบริหาร “ไฟแนนเชียล เรโช” (Financial ratio) บ้างตัว ซึ่งตัวสำคัญ คือ “ควิกเรโช” (Quick ratio) หรือ “สภาพคล่องหมุนเวียน” โดยเอสเอ็มอีต้องเฝ้าติดตามเสมอว่า สินทรัพย์ที่หมุนเวียนได้เร็ว คือ “เงินสด ลูกหนี้ และการค้าระยะสั้น” ถ้าเทียบกับ “หนี้สินหมุนเวียน” แล้วครอบคลุมหรือไม่ โดยอย่างน้อยควรจะ “1 เท่า” กล่าวคือ ถ้าเราต้องจ่ายหนี้สินหมุนเวียน 100 บาท ควรมีทรัพย์สินหมุนเวียน 100 บาทเช่นกันอยู่เสมอ แต่เมื่อใดก็ตามที่หนี้สินหมุนเวียนมากกว่าทรัพย์สินหมุนเวียน ธุรกิจจะเริ่มเกิดปัญหา ซึ่งวงจรของหลายธุรกิจ เมื่อมีปัญหาจะเริ่มไปกู้ ทำให้ “เรโช” ยิ่งดูแย่ สุดท้ายต้องปิดธุรกิจไป
 
5.บริหารลูกหนี้ยาวเกินไป : จากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ลูกหนี้หรือลูกค้าของเอสเอ็มอีมักจะขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ไปให้นานที่สุด ในขณะที่ตัวเอสเอ็มอียังต้องจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินตรงเวลาตลอด ดังนั้น ไม่ควรจะปล่อยระยะเวลาชำระหนี้ให้นานจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อด้านสภาพคล่อง
 
“เคยมีกรณีหนึ่ง ทำธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนมาก ซื้อวัตถุดิบเป็น “เงินสด” แต่ขายสินค้าเป็น “เงินเชื่อ” เวลามีออเดอร์เข้ามามากๆ เอสเอ็มอีรายนี้ก็ต้องการเงินสดจำนวนมาก จนยอมไปกู้เงินบัตรเงินสดในอัตราดอกเบี้ย 20% ไปซื้อวัตถุดิบ แล้วขายสินค้าต่อให้ลูกค้าโดยให้เงินเชื่อ โดยให้ระยะเวลาชำระเงินยาวเกินไป ยิ่งออเดอร์ดี ก็ยิ่งไปกู้เยอะ ทั้งๆ ที่กิจการดี แต่สุดท้าย ตัวเองกลับล้มละลาย เพราะหมุนเงินไม่ทัน”
 
และ 6.ขาดแผนสำรองกรณีฉุกเฉิน: หากเอสเอ็มอี เกิดปัญหาฉุกเฉินขึ้นควรมีแผนสำรองเตรียมพร้อมไว้ ตัวอย่างเช่น สำรวจทรัพย์สินใดๆ โดยตีราคารอไว้ล่วงหน้า รวมถึง หาสถานที่ขายรอไว้ด้วย เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง สามารถจะนำทรัพย์สินเหล่านั้น ไปขายมาเป็นเงินหมุนเวียนได้ทันที
 
“ทรัพย์สินบางอย่างมันไม่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ถ้าเราเกิดปัญหาขึ้นมา กว่าเราจะหาทรัพย์สินมาขาย หาที่มารับซื้อได้ บางทีมันไม่ทันต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะดอกเบี้ยมันยิ่งเพิ่มเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว แผนสำรองที่ง่ายที่สุด คือการกู้ แต่ถ้าเรากู้จนไม่สามารถกู้ได้แล้ว สู้เราหมุนทรัพย์สินมาเป็นเงินสดน่าจะดีกว่า” ศาสตรา กล่าว และเสริมว่า
 
“ผมเชื่อว่า ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น สำคัญมากสำหรับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายเล็กๆ ถ้าทำได้ ไม่มีทางที่สุขภาพการเงินจะแย่ แต่ทุกวันนี้ คือ ไม่รู้ว่าเงินที่ทำหรือมาแล้วไปไหน ลูกหนี้ก็ปล่อยยาว สภาพคล่องก็ต่ำ และพอไม่มีสภาพคล่องก็ไปกู้ ทำให้เป็นหนี้ยิ่งมากขึ้นไปอีก สุดท้ายก็ไปไม่รอด” เขา กล่าว