เอเจนซีส์ – ประธานและผู้บริหารระดับสูงอีก 7 คนของ “โตชิบา” ยื่นใบลาออกในวันอังคาร (21 ก.ค.) เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีอื้อฉาวแต่งบัญชีบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ให้กำไรเกินจริงมานานหลายปีรวมแล้วกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ขุนคลังญี่ปุ่นวิจารณ์ว่า กรณีนี้น่าเสียใจอย่างยิ่ง เนื่องจากเกิดขึ้นขณะที่แดนอาทิตย์อุทัยพยายามฟื้นความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุนทั่วโลก ด้วยการออกกฎหมายธรรมาภิบาลใหม่
ฮิซาโอะ ทานากะ ประธานกรรมการบริหาร และโนริโอะ ซาซากิ รองประธานกรรมการของโตชิบา เป็น 2 ใน 8 ผู้บริหารระดับสูงและกรรมการบริษัท ที่ยื่นจดหมายลาออกคราวนี้ หลังจากผู้ตรวจสอบอิสระที่บริษัทว่าจ้างตรวจพบว่า ผู้บริหารอาวุโสเกี่ยวข้อง “อย่างเป็นระบบ” ในการแต่งบัญชีเพื่อรายงานผลกำไรสูงเกินจริงมานานหลายปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกรณีอื้อฉาวทางบัญชีร้ายแรงที่สุดของญี่ปุ่นในรอบหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่มีการเปิดเผยว่า “โอลิมปัส” บริษัทผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพและเครื่องมือแพทย์ชื่อดัง ปกปิดยอดขาดทุนถึง 1,700 ล้านดอลลาร์ เมื่อปลายปี 2011
ทั้งนี้ ทานากะ วัย 64 ปี และซาซากิ วัย 66 ปี ทำงานกับโตชิบามาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1970 โดยซาซากิเคยรับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของบริษัท ระหว่างเดือนมิถุนายน 2009 ถึงเดือนมิถุนายน 2013 ซึ่งเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่ตรวจพบว่าโตชิบามีการแต่งบัญชี
โตชิบาได้ออกคำแถลงในวันอังคาร ขออภัยผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทอื่นๆ ต่อเหตุการณ์นี้ และแถลงเพิ่มเติมว่า มาซาชิ มูโรมาชิ ประธานกรรมการ จะรับหน้าที่ประธานบริหารชั่วคราว ระหว่างการสรรหาผู้เข้าดำรงตำแหน่งนี้คนใหม่
กรณีอื้อฉาวครั้งนี้เริ่มต้นแดงโร่ขึ้นมา เมื่อหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์พบปัญหาขณะตรวจสอบงบดุลของโตชิบาเมื่อต้นปี
ขณะที่ คณะกรรมการอิสระที่โตชิบาว่าจ้างมา ซึ่งนำโดยอดีตอัยการโตเกียว ระบุในรายงานการตรวจสอบซึ่งสะท้อนภาพวัฒนธรรมธุรกิจ ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่สามารถขัดขืนหรือท้าทายคำสั่งของเจ้านายที่ต้องการแต่งให้ผลกำไรของบริษัทสูงเกินจริง
“มีการดำเนินการจัดทำบัญชีโดยไม่เหมาะสมอย่างเป็นระบบจากการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ซึ่งทรยศต่อความไว้วางใจของผู้ถือหุ้น”
“ในบางกรณี ผู้บริหารระดับสูงและหัวหน้าแผนกดูเหมือนมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการแต่งผลกำไร ขณะที่พนักงานถูกกดดันให้มีส่วนร่วมในการทำบัญชีที่ไม่เหมาะสม ด้วยการเลื่อนการรายงานยอดขาดทุนหรือโอนต้นทุนบางอย่างไปไว้ปีถัดไป”
การค้นพบนี้ส่งผลให้โตชิบาต้องแก้ไขการรายงานผลกำไรระหว่างเดือนเมษายน 2008 ถึงเดือนมีนาคม 2014 ใหม่ เนื่องจากมีการรายงานผลกำไรสูงเกินจริง 151,800 ล้านเยน (ราว 1,224 ล้านดอลลาร์) ทว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จะกระทบการรายงานผลประกอบการประจำปีการเงิน 2014 (เม.ย.2014 – มี.ค.2015) ซึ่งกำหนดจะมีการประกาศในเดือนหน้าหรือไม่
ทางด้าน ทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ออกมาให้ความเห็นว่า กรณีอื้อฉาวของโตชิบาอาจทำลายความน่าเชื่อถือของตลาดโตเกียว หลังจากไม่ทันถึงสองเดือนที่รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายบรรษัทภิบาลที่เฝ้ารอกันมานาน เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี อาโสะของดแสดงความคิดเห็นต่อคำถามว่า โตชิบาจะถูกปรับเป็นจำนวนเท่าใด โดยแหล่งข่าวเผยว่า ผู้คุมกฎเริ่มตรวจสอบบัญชีของโตชิบาแล้วโดยอิงกับรายงานของคณะกรรมการอิสระที่เปิดโปงกรณีอื้อฉาวนี้
ตากะ แบน นักวิเคราะห์ของเอสเอ็มบีซี นิกโก้ ชี้ว่า เรื่องอื้อฉาวของโตชิบาเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา ซึ่งรวมถึงการฟ้องร้อง แต่คงไม่ถึงกับทำให้บริษัทแห่งนี้ล้มครืน
นอกจากนี้ ราคาหุ้นของโตชิบาในตลาดโตเกียวในวันอังคารยังพุ่งขึ้นกว่า 6% โดย มิสึชิเกะ อากิโนะ จากอิชิโยชิ แอสเส็ต แมเนจเมนต์ อธิบายว่า เนื่องจากนักลงทุนกว้านซื้อหุ้นที่ขายทิ้งก่อนหน้านี้กลับ และตลาดหมดกังวลหลังจากปัญหาได้รับการเปิดเผยแล้ว
โตชิบาเป็นหนึ่งในบริษัทที่โด่งดังที่สุดของญี่ปุ่น โดยเป็นที่รู้จักอย่างดีจากการผลิตทีวีและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปและเครื่องเล่นดีวีดีเครื่องแรกของโลก และว่าจ้างพนักงานกว่า 200,000 คนทั่วโลก
ขณะเดียวกัน สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) คาดว่า การที่โตชิบาต้องแก้ไขรายงานผลกำไรใหม่อาจทำให้บริษัทถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ