เปิดโผรายได้ 24 ช่อง ทีวีดิจิตอล ปี 2557 ทำเงิน 3,633,230,983.30 บาท จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไป 72,114,619.69 บาท ระบุช่องที่มีฐานธุรกิจเดิมได้เปรียบ ช่องเกิดใหม่ ลงทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 2 พันล้าน รายได้หลักสิบล้าน
ช่องทีวีดิจิตอลทีรายได้เป็นอันดับต้นๆ ล้วนแต่เป็นผู้ประกอบการเดิมที่มีฐานธุรกิจทีวีเดิมทั้งสิ้น ทั้งช่องอนาล็อก ช่องเคเบิลทีวี หรือ ทีวีดาวเทียม เป็นส่วนใหญ่
เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ตั้งข้อสังเกตว่า ช่องที่มีฐานธุรกิจทีวีอยู่เดิมทำให้เกิดข้อได้เปรียบทั้งในแง่ของฐานคนดูเดิมและโอกาสในการหารายได้จากโฆษณา ดูจากช่อง 8 ของอาร์เอส และเวิร์คพอยท์ ที่ขึ้นนำเป็นอันดับ 1 และ 2 หรือช่องเนชั่น, ช่องทีเอ็นเอ็นก็เช่นกัน ก็มาจากธุรกิจทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี ทำรายได้ระดับร้อยล้านขึ้นไป
ยิ่งเป็นช่องอนาล็อกเดิมช่อง 3 และช่อง 7 มีรายได้ติดโผ 10 อันดับต้นๆ เนื่องจากมีฐานคนดูอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่อง 3 HD ที่ กสทช.ให้สิทธิ์ออกอากาศคู่ขนาน จ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไม่มาก ก็ยิ่งเกิดข้อได้เปรียบ เพราะช่องไม่ต้องลงทุนใหม่ แต่ใช้รายการเดิมจากช่องอนาล็อกมาออกอากาศคู่ขนานได้ทันที
ในขณะที่ช่องดิจิตอลทีวีเกิดใหม่ต้องใช้เงินลงทุนต่อปีไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งค่าคอนเทนต์รายการ ค่าเช่าโครงข่าย (mux) ค่าจ้างพนักงาน ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ช่องให้คนรู้จัก แต่กลับทำรายได้ไม่ถึง 100 ล้านบาท โดยรายได้จากโฆษณาช่องดิจิตอลต่ำกว่าช่องอนาล็อก 70% โอกาสจะขึ้นค่าโฆษณาทำได้ยาก เพราะฐานคนดูน้อยกว่า ยิ่งปีนี้ช่องอนาล็อกไม่ขึ้นค่าโฆษณาเหมือนอย่างที่แล้วมาด้วยแล้ว การที่ช่องดิจิตอลจะขยับขึ้นค่าโฆษณาก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก
สำหรับบางช่องอย่าง ช่องไทยรัฐ ทำรายได้ที่มีฐานในสื่อเดิมแข็งแรง ประกอบกับในช่วงแรกออกสตาร์ท ไทยรัฐใช้วิธีการสปอนเซอร์ 5 รายใหญ่ คือ เอไอเอส, ธนาคารกรุงเทพ, ยูนิลีเวอร์, อีซูซุ และเทสโก้ โลตัส ที่ร่วมมือกับทางไทยรัฐทีวีตั้งแต่ยังไม่ได้ออกอากาศ ซึ่งรายได้จากสปอนเซอร์มีสูงถึง 50% ของรายได้รวมในปีแรก ทำให้ช่องเกิดใหม่อย่างไทยรัฐ ทำรายได้ 200 ล้านบาท อยู่อันดับ 8
ช่องข่าวอย่างค่ายเนชั่น ทั้งช่องเนชั่นและช่อง NOW เองก็ได้ลูกค้าที่เป็นบริษัทใหญ่ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ จึงมีรายได้ติด 1 ใน 10
ส่วนช่องพีพีทีวีเอง ลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000- 3,000 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการต่างๆ แต่ทำรายได้ปีแรก 42 ล้านบาท
เพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลอยู่รอดได้ ทางพีพีทีวี ได้ยื่นข้อเสนอให้กับ กสทช. ออกมาช่วยเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ปรับปรุงกฎระเบียบการจ่ายค่าธรรมเนียมให้สอดคลองกับเรตติ้งและจำนวนคนดู และหลักเกณฑ์ การซื้อหุ้น และสัดส่วนการถือหุ้น ไม่ผูกมัดจนทำธุรกิจไม่ได้ และอนุมัติงบ 300-400 ล้านบาท มาใช้สนับสนุนในการวางมาตรฐานใหม่เรื่องของเรตติ้ง ที่สมาคมมีเดียเอเยนซี่และโฆษณากำลังดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาทในการลงทุนทั้งหมด