ย้อนรอย “กว่าจะเป็นวินโดวส์ 10”

29 กรกฎาคม 2558 คือกำหนดการเปิดตัวระบบปฏิบัติการตัวล่าสุดของไมโครซอฟท์ในชื่อ “วินโดวส์ 10” ระบบปฏิบัติการที่บริษัทอ้างว่า สามารถทำงานได้บนอุปกรณ์หลากหลายชนิด และถือเป็นความพยายามสร้างโอกาสให้ไมโครซอฟท์ได้แจ้งเกิดในตลาดโมบายไปในตัว
 
แต่กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ ไมโครซอฟท์ต้องเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งในเรื่องนโยบายการอัปเกรดฟรี (ผู้บริโภคสามารถอัปเกรดมาใช้วินโดวส์ 10 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในภาคธุรกิจอาจมีค่าใช้จ่าย) ซึ่งในจุดนี้นักวิเคราะห์มองว่า เป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อให้เกิดการอัปเกรดซอฟต์แวร์เป็นวินโดวส์ 10 ให้รวดเร็วที่สุดนั่นเอง
 
นอกจากนี้ ความพยายามพัฒนาผู้ช่วยส่วนตัวอย่างคอร์ทานาก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่แตกต่างไปจากอดีต โดยซีอีโอไมโครซอฟท์ มร.สัตยา นาเดลลา เผยว่า เขาหวังว่าฟีเจอร์ผู้ช่วยส่วนตัวอย่างคอร์ทานา (Cortana) จะทำให้วินโดวส์ 10 โดดเด่นมากขึ้น เมื่อเทียบกับค่ายคู่แข่งอย่างแอปเปิลที่มี “สิริ” (Siri) หรือกูเกิลที่มี “กูเกิลนาว” (Google Now)
 
“เรารู้สึกตื่นเต้นต่อคอร์ทานามาก และมองว่ามันมีความสำคัญต่อระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์อย่างลึกซึ้ง แนวคิดการทำงานในวงการเทคโนโลยีที่ผ่านมาของไมโครซอฟท์ คือ การเปลี่ยนรูปแบบการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์”
 
“หนึ่งในผลงานของเราคือ การพัฒนาระบบกราฟิกยูสเซอร์อินเทอร์เฟส อีกอันหนึ่งคือ การพัฒนาเบราเซอร์ และเว็บ และเราคิดว่า คอร์ทานา คือ เทคโนโลยีอันดับที่ 3”
 
นอกจากนั้น สัตยา นาเดลลา ยังได้เอ่ยถึงประเด็นด้านความปลอดภัยของข้อมูลโดยมีการอ้างอิงถึงบริษัทกูเกิลที่มีการเสนอโฆษณาโดยอ้างอิงจากข้อมูล และความสนใจของผู้ใช้ว่า
 
“หนึ่งในความตั้งใจพื้นฐานของเราคือ ความเชื่อมั่น เราไม่พยายามยัดเยียดโฆษณาให้ลูกค้า เพราะเราขายซอฟต์แวร์-อุปกรณ์ และผมเองในฐานะผู้บริโภค บางครั้งก็คงอยากขายข้อมูลส่วนตัวแลกต่อบริการฟรีบางอย่างบ้างเหมือนกัน แต่ถ้าทำเช่นนั้น ความเชื่อใจระหว่างกันจะมีความหมายไปได้อย่างไร”
 
“ถ้าผู้บริโภคอยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือก ผมจะบอกว่า สิ่งที่ไมโครซอฟท์มีให้คือ ความเชื่อใจได้นั่นเอง”
 
ความแตกต่างอีกข้อสำหรับผู้ใช้งานวินโดวส์ คือ การพัฒนาฮาร์ดแวร์ในกลุ่มเวอร์ชวลเรียลิตี ซึ่งอุปกรณ์ที่จะตามมาสำหรับวินโดวส์ 10 อย่างโฮโลเลนส์ นั้น มร.นาเดลลา เผยว่า จะมีการเปิดตัวเวอร์ชันสำหรับนักพัฒนาภายใน 1 ปีนับจากนี้ด้วย แต่ในส่วนของคอนซูเมอร์อาจต้องยืดเวลาออกไปอีกสักระยะ
 
อย่างไรก็ดี ในฟากอุตสาหกรรมโมบายซึ่งเป็นจุดอ่อนของไมโครซอฟท์ในการต่อกรกับคู่แข่งอย่างแอปเปิล และกูเกิลนั้น มร.นาเดลลา เผยว่า ทางบริษัทกำลังเร่งพัฒนาแอปสำหรับทำงานบนแพลตฟอร์มคู่แข่งอย่าง iOS และแอนดรอยด์อยู่ ซึ่งแม้จะถูกยั่วจากบรรดาสื่อตะวันตกว่า นี่เป็นแผนสองหลังจากแผนหนึ่งอย่างการลงมาทำตลาดโมบายไม่สำเร็จก็ตาม
 
“ผมไม่คิดว่านี่เป็นแผนสองสำหรับการแข่งขัน ผมคิดว่านี่เป็นแผนที่หนึ่งมากกว่า”
 
“ยิ่งมีการใช้งานแอปของไมโครซอฟท์มากเท่าไรบนแพลตฟอร์มอื่นๆ คุณก็อาจได้พบว่า ความจริงยังมีอุปกรณ์น่าสนใจอื่นๆ อยู่รอบตัว”
 
ขณะที่นักวิเคราะห์นั้นยังคงมองว่า ตัวเลขในโลกโมบายของไมโครซอฟท์ที่ไม่น่าพึงพอใจนี้เป็นเรื่องน่ากังวล โดย Geoff Blaber จาก CCS Insight เผยว่า “ผู้บริโภคยุคใหม่ต่างใช้เวลาอยู่บนสมาร์ทโฟนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายของไมโครซอฟท์มาก เพราะพวกเขามีส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนแค่ 3 เปอร์เซ็นต์”
 
“พวกเขาต้องหาทางให้ตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์สื่อสารในมือผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด”
 
อีกสิ่งหนึ่งที่หากไม่กล่าวถึงคงถือว่าไม่ครบถ้วนต่อประวัติศาสตร์ที่อาจกล่าวว่าเป็นความโชคร้ายของไมโครซอฟท์ตัดสินใจซื้อกิจการโนเกียที่ทำให้บริษัทต้องสูญเงินในการเลย์ออฟพนักงานจากโนเกียมหาศาล แถมยังทำให้บริษัทต้องเกิดหนี้สูญครั้งใหญ่ จนกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นโดย มร.สตีฟ บอลเมอร์ อดีตซีอีโอนั่นเอง
 
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเส้นทางสำหรับระบบปฏิบัติการแบบมัลติแพลตฟอร์มอย่างวินโดวส์ 10 นั้นจะเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ท่ามกลางความท้าทาย ไมโครซอฟท์ยังอาจได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ดีๆ จากผู้บริโภคที่ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะดีๆ ในการพัฒนา รวมถึงนี่ยังอาจเป็นครั้งแรกๆ ที่บริษัทตัดสินใจทำเช่นนี้ก็เป็นได้
 
และนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริงของไมโครซอฟท์