เริ่มแล้ว! ก้าวใหม่ “ไมโครซอฟท์” สู่ยุคแพลตฟอร์มเดียวรับได้หมด

ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของไมโครซอฟท์ทั้งในตลาดประเทศไทย และตลาดโลก สำหรับการที่ไมโครซอฟท์กำหนดวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 เป็นจุดเริ่มต้นของไมโครซอฟท์ยุคใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่การผสานรวมแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมทั้งโลกของโมบาย และคลาวด์เข้ามาไว้ด้วยกันผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลายภายใต้ “ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 10”
       
แม้ว่าในปีนี้จะไม่เห็นการจัดงานเปิดตัววินโดวส์ 10 อย่างเป็นทางการในหลากหลายมุมทั่วโลก เหมือนเช่นตอนเปิดตัววินโดวส์ เอ็กซ์พี (Windows XP) วินโดวส์ 7 (Windows 7) หรือ วินโดวส์ 8 (Windows 8) ที่จะมีการจัดงานพร้อมแคมเปญเปิดตัวที่ยิ่งใหญ่ตลอดช่วงที่ผ่านมา
       
จุดสำคัญที่ทำให้ไมโครซอฟท์เลือกการเปิดตัววินโดวส์ 10 แบบใหม่ คือ การเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้สามารถเข้าถึงการใช้งานได้จริงแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะลูกค้าที่ใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 หรือวินโดวส์ 8 เดิมจะได้รับสิทธิในการอัปเกรดเป็นวินโดวส์ 10 ได้ทันทีแบบฟรีในช่วงระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้
       
เอกราช ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารสินค้าคอนซูเมอร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวย้อนถึงวิสัยทัศน์ของซีอีโอไมโครซอฟท์ ที่ระบุว่า โลกในยุคต่อไปจะก้าวเข้าสู่โมบาย และคลาวด์เป็นหลัก ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติการให้เข้าถึงการใช้งานดังกล่าวได้ง่ายขึ้น
       
“วินโดวส์ 10 ไม่ได้เป็นเพียงแค่ระบบปฏิบัติการอีกต่อไป แต่จะเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงการใช้งานทั้งโลกของโมบาย และคลาวด์ได้พร้อมๆ กัน ที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงฟีเจอร์การใช้งานใหม่ๆ ได้ตลอดเวลาจากการอัปเดตเวอร์ชันของวินโดวส์ 10 ในอนาคต”
       
สิ่งสำคัญที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้บริโภคในตอนนี้คือ การที่วินโดวส์ 10 จะกลายเป็นอีโคซิสเตมส์ในการใช้งานอุปกรณ์ไอทีทุกชนิดต่อไปในภายภาคหน้า เพราะสามารถนำไปใช้งานได้ทั้งอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet of Things) สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต เดสก์ท็อป จนไปถึงแว่นตาอัจฉริยะ
       
โดยผู้บริโภคชาวไทยจะเริ่มได้เห็นอุปกรณ์ที่มาพร้อมกับวินโดวส์ 10 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป เพราะผู้ผลิตหลายๆ รายต่างกำลังอยู่ในช่วงการเตรียมความพร้อมเพื่อนำเข้ามาจำหน่าย และเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นตลาดให้เกิดการใช้งาน และเปลี่ยนเครื่องใหม่ด้วย
       
“ตอนนี้มีผู้ผลิต 2-3 ราย คอนเฟิร์มที่จะนำผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมกับวินโดวส์ 10 เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยจะมาเต็มไลน์คือ ตั้งแต่เครื่องระดับราคาหมื่นต้นๆ ไปจนถึงหลักหลายหมื่น เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภคให้ครบทุกกลุ่ม”
       
ขณะเดียวกัน ในส่วนของลูกค้าที่ต้องการซื้อไลเซนส์นำไปใช้งานกับคอมพิวเตอร์เครื่องเก่า ก็สามารถเข้าไปซื้อได้ตามร้านจำหน่ายที่เป็นพาร์ตเนอร์กับทางไมโครซอฟท์เช่นเดียวกัน หรือจะสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ก็ได้ในราคาเริ่มต้นที่ 119 เหรียญ (ประมาณ 3,900 บาท)
       
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนการกระตุ้นให้ลูกค้าที่ใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่มีเครื่องรองรับทางไมโครซอฟท์จะร่วมงานกับพาร์ตเนอร์หลักทั้ง 5 รายที่เป็นช่องทางจำหน่าย คือ ไอทีซิตี้ บานาน่าไอที เจไอบี เพาเวอร์บาย และซีเอสซี เพื่อช่วยแนะนำการอัปเกรดใน 75 สาขาทั่วประเทศ
       
รชฎ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจและการตลาดวินโดวส์ และเซอร์เฟซ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า จากรายงานของ StatCounter ระบุว่า 67% ของพีซี และแท็บเล็ตในประเทศไทยใช้งานอยู่บนวินโดวส์ 7 และ วินโดวส์ 8 และเป็นกลุ่มที่สามารถอัปเกรดเป็นวินโดวส์ 10 ได้ฟรี ทำให้ทางไมโครซอฟท์ต้องมีการกระตุ้นให้ลูกค้าอัปเกรดเพื่อให้ได้ความสามารถในการใช้งานที่เพิ่มขึ้น
       
“ถ้ามองย้อนหลังไปในตลาดพีซี และแท็บเล็ตช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะมีดีไวซ์ใหม่ที่รองรับการอัปเกรดวินโดวส์ 10 ในตลาดไม่ต่ำกว่า 8 ล้านเครื่อง แต่ในกลุ่มนี้ก็จะมีทั้งเป็นลูกค้าคอนซูเมอร์ และลูกค้าองค์กร ทำให้เชื่อว่าจะไม่ได้มีการอัปเกรดรวดเดียวหมด แต่จะเกิดการทยอยอัปเกรดต่อไป”
       
ในกลุ่มของลูกค้าองค์กรยังมีความกังวลในแง่ของการอัปเกรดแล้วจะไม่สามารถใช้งานกับระบบเดิมที่พัฒนาไว้ได้ ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องร่วมมือกับดิสทริบิวเตอร์ในการเข้าไปแนะนำ รวมถึงทำโปรเจกต์ทดลองในการอัปเกรดเครื่องบางส่วนในองค์กรก่อน แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มก็จะอัปเกรดมาใช้งานบนวินโดวส์ 10 

***1 พันล้านรายใน 3 ปี

เป้าหมายรวมของไมโครซอฟท์ที่วางไว้ คือ การมีลูกค้าที่ใช้งานวินโดวส์ 10 ทั้งหมด 1 พันล้านราย ภายในปี 2018 จากปัจจุบันที่มีกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานวินโดวส์ประมาณ 1.5 พันล้านราย โดยส่วนที่เหลืออาจจะติดปัญหาในแง่ของอุปกรณ์ไม่รองรับการอัปเกรดมากกว่า
       
ทั้งนี้ ลูกค้าในส่วนของคอนซูเมอร์ที่สามารถอัปเกรดมาใช้งานวินโดวส์ 10 ได้ ปัจจุบันจะต้องใช้งานวินโดวส์ 7 เซอร์วิสแพก 1 (Windows 7 SP 1) วินโดวส์ 8.1 และวินโดวส์ โฟน 8.1 เท่านั้นจึงจะสามารถอัปเกรดได้ ส่วนในกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานวินโดวส์ อาร์ที (Windows RT) และกลุ่มลูกค้าองค์กรจะต้องรอการอัปเกรดในอนาตตต่อไป
       
สำหรับจุดเด่นที่ไมโครซอฟท์พยายามชูขึ้นมาในการใช้งานวินโดวส์ 10 จะประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ 1.เรื่องของแพลตฟอร์มเดียว ที่สามารถใช้งานได้บนทุกอุปกรณ์ 2.การเข้าถึงวินโดวส์ สโตร์เดียวกันจากอุปกรณ์ทุกชนิด ทำให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงลูกค้ากว่า 1 พันล้านอุปกรณ์ได้ทันที

***เปิดรับหลากค่าย

อีกประเด็นสำคัญของการเปิดตัววินโดวส์ 10 คือ 3.เปิดโอกาสให้แก่นักพัฒนาในการนำแอปพลิเคชันจากแอนดรอยด์ และไอโอเอสมาลงบนวินโดวส์สโตร์ด้วยเครื่องมือพิเศษ และสุดท้ายคือ 4.การที่เป็นวินโดวส์ที่สามารถอัปเกรดความสามารถใหม่ได้ตลอดเวลา (Windows as a Service)
       
ในขณะที่ฟังก์ชันการใช้งานที่เพิ่มขึ้นมาจะเป็นการนำความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานที่ชื่นชอบวินโดวส์กว่า 5 ล้านคนมาปรับปรุง อย่างเช่น ส่วนของสตาร์ทเมนู ที่อำนวยความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น ระบบการแจ้งเตือนพร้อมไอคอนลัด รวมถึงการแบ่งหน้าจอเพื่อให้สามารถทำงานได้พร้อมๆ กัน และการผสานการใช้งานระหว่างอุปกรณ์ภายใต้ไอดีเดียวกัน ให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง
       
ไม่นับรวมกับบริการในส่วนของไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ที่จะมีบริการอย่างออฟฟิศ โมบาย ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ใช้งานวินโดวส์ 10 บนเครื่องขนาดหน้าจอต่ำกว่า 10.1 นิ้ว สามารถอ่าน และแก้ไขเอกสารได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพียงแต่จะมีการจำกัดฟังก์ชันบางอย่างออกไป แต่ถ้าอยากใช้งานแบบเต็มรูปแบบก็สามารถสมัครใช้งาน Office 365 ได้เช่นเดิม
       
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือ กระบวนการสำคัญที่ไมโครซอฟท์พยายามสื่อสารไปยังผู้บริโภคเพื่อกระตุ้นให้เกิดการอัปเกรดมาใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ไปด้วยกัน
       
****ทำไมมีเสียงบอก “อย่าเพิ่งอัปเกรด” วินโดวส์ 10
       

ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เวอร์ชันใหม่ “วินโดวส์ 10” ถูกเปิดตัวพร้อมให้ซื้อ และอัปเกรดอย่างเป็นทางการแล้วในวันพุธที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีคุณสมบัติใหม่มากมาย แต่นักสังเกตการณ์จำนวนไม่น้อยออกมาแนะนำให้ผู้ใช้อย่าเพิ่งอัปเกรดในขณะนี้ โดยเปิดเผยข้อบกพร่องที่อาจต้องใช้เวลา 1-2 เดือน กว่าจะแก้ปัญหาได้
       
เสียงวิจารณ์เหล่านี้ระบุว่า วินโดวส์ 10 ดูเหมือนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังพัฒนาไม่เสร็จดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ส่วนตั้งค่า หรือ Settings และ Control Panel นั้นให้คุณสมบัติคล้ายกัน จุดนี้ไมโครซอฟท์เผยว่า มีแผนจะรวม 2 ฟังก์ชันนี้เข้าด้วยกัน แต่ก็ยังไม่มีการรวมกันในขณะนี้ ทำให้ดูแปลกมากเมื่อทั้ง 2 ฟังก์ชันเปิดให้บริการพร้อมกันบนวินโดวส์ 10
       
ขณะเดียวกัน ความไม่ลื่นไหลยังปรากฏในส่วนเมนู แม้ว่าพื้นหลัง และรูปแบบการจัดเรียงเมนูจะเปลี่ยนไปตามแอปพลิเคชันที่เปิดใช้งานสลับกัน แต่การทดสอบพบว่า การเปลี่ยนสลับยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
       
วินโดวส์ 10 ยังมีปัญหาในเชิงความเสถียรของระบบ โดยผู้ใช้บางส่วนพบปัญหาการทำงานในส่วนควบคุม หรือ Action Center เช่น ไอคอนควบคุมระดับเสียง และส่วนแจ้งเตือน หรือ notification ของบางแอปพลิเคชันกลับไม่สามารถทำงานได้
       
อีกจุดที่สำคัญคือ ข้อกังวลเรื่องความเข้ากันได้ หรือ compatibility ของวินโดวส์ 10 กับเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานกับ Windows 7 หรือ Windows 8 ได้ดี อาจไม่สามารถการันตีได้ว่าจะสามารถทำงานกับระบบปฎิบัติการใหม่ได้ 100% จุดนี้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดโปรแกรม หรือเครื่องมือตรวจสอบความเข้ากันได้ เพื่อให้มั่นใจว่าฮาร์ดแวร์พร้อมต่อการอัปเกรดแล้ว หรือยังต้องรอให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์นั้นพัฒนาไดรฟ์เวอร์ที่รองรับระบบปฏิบัติการใหม่เสียก่อน
       
ปัญหาการเข้ากันได้นี้ไม่จำกัดเฉพาะบนฮาร์ดแวร์ แต่แอปพลิเคชันบางค่ายอาจไม่ทำงานบนวินโดวส์ 10 ตัวอย่างเช่น โปรแกรมแต่งภาพ “โฟโต้ชอป (Adobe Photoshop)” ผู้ใช้โปรแกรมเวอร์ชันเก่าจะต้องชลอการอัปเกรดไปก่อนเนื่องจากการเปิดไฟล์งานเก่าจะต้องทำบนแอปพลิเคชันเวอร์ชันดั้งเดิม
       

นอกจากนี้ ผู้ใช้วินโดวส์เวอร์ชันเก่าอย่าง Windows 7 จะพบว่า บางคุณสมบัติหายไปในวินโดวส์เวอร์ชันใหม่ โดยโปรแกรมจิ๋วบนหน้าจอหรือ “วิดเจ็ต (widget)” และโปรแกรมเล่นมัลติมีเดีย “วินโดวส์มีเดียเซ็นเตอร์ (Windows Media Center)” จะไม่มีแล้วในวินโดวส์ 10
       
หากไม่มีการตั้งค่าเพิ่มเติม (default ของระบบ) ไมโครซอฟท์จะไม่เปิดให้ผู้ใช้เวอร์ชันโฮม (Windows 10 Home) เลือกเวลา และการติดตั้งอัปเดตด้วยตัวเอง จุดนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าผู้ใช้บางส่วนอาจได้รับผลกระทบจากการบังคับอัปเดตวินโดวส์อัตโนมัติทั้งในแง่พื้นที่หน่วยความจำที่เสียไป หรือพบกับปัญหาการใช้งานแอปพลิเคชันทั้งที่เวอร์ชันเก่าสามารถทำงานได้ดีอยู่แล้ว
       
ทั้งหมดทั้งมวล หากผู้ใช้มองว่าไม่ใช่ปัญหาก็สามารถก้าวกระโดดไปสู่ วินโดวส์ 10 ได้เลย
       
ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000085927