เหตุการณ์บันไดเลื่อนถล่มที่ห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยและประเทศจีน แสดงให้เห็นว่าอุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายและอันตรายถึงชีวิต โดยที่ญี่ปุ่นก็เคยเกิดอุบัติเหตุบนบันไดเลื่อน ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
บันไดเลื่อนเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ใกล้ตัวเราอย่างมาก หากแต่เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่าอันตรายบนบันไดเลื่อนนั้นน่ากลัวอย่างยิ่ง เนื่องจากบันไดเลื่อนอยู่สูงจากระดับพื้นดิน ด้านล่างเป็นช่องว่าง นอกจากนี้ตัวบันไดที่เคลื่อนที่ตลอดเวลา ทำให้สามารถดูดผู้โดยสารเข้าไปด้านใต้บันไดได้อย่างรวดเร็ว เช่นกรณีที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีนนั้น หญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายถูกบันไดเลื่อนดูดลงไปด้วยเวลาเพียงแค่ 8 วินาที จนชาวจีนเรียกกันว่า “บันไดเลื่อนกินคน”
ความรีบร้อนทำเกิดอุบัติเหตุได้
กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น ระบุว่า อุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือ พลัดตกจากบันได เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง คือ เมื่อขึ้นบันไดเลื่อนจะยืนชิดทางด้านหนึ่ง (แถบโตเกียวชิดซ้าย นครโอซาก้าชิดขวา) เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่รีบเร่งเดินสวนขึ้นไปได้ ซึ่งคนที่เดินบนบันไดเลื่อนนั้นมีโอกาสพลัดตกอย่างมาก
ในระยะหลัง หน่วยงานต่างๆของญี่ปุ่นจึงเริ่มเตือนให้หลีกเลี่ยงการเดินบนบันไดเลื่อน แต่หากจำเป็นให้ค่อยๆก้าวเดิน ไม่ใช่วิ่งขึ้นไปแบบที่มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยทำกัน
ควรยืนอยู่ในกรอบเส้นสีเหลือง เพื่อความปลอดภัย
อุบัติเหตุที่พบมากเช่นกัน คือ บันไดเลื่อนหนีบชายกระโปรง,กางเกง, รองเท้าส้นสูง, ร่ม และสิ่งของต่างๆ ซึ่งในคู่มือความปลอดภัยของหน่วยงานญี่ปุ่นได้เน้นย้ำว่า ผู้โดยสารต้องจับราวบันไดตลอดเวลา และต้องยืนอยู่ภายในกรอบเส้นสีเหลืองบนขั้นบันได ซึ่งเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” จากการถูกหนีบได้
รองเท้าส้นสูงมีความเสี่ยงติดระหว่างขั้นบันได
ต้องใช้มือจับราวบันไดเสมอ
เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมติด บันไดเลื่อนต้องหยุดทำงานทันที
นอกจากนี้ อุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนยังมักเกิดขึ้นกับเด็กที่มักจะเล่นซนหรือขาดความระมัดระวัง หน่วยงานในญี่ปุ่นจึงเตือนว่าไม่ควรให้เด็กใช้บันไดเลื่อนโดยลำพัง
บันไดเลื่อนทุกตัวต้องมี “ปุ่มหยุดฉุกเฉิน”
พลิกกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของญี่ปุ่น
สำนักงานความปลอดภัยผู้บริโภค กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น กำหนดกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของบันไดเลื่อนว่า
บันไดเลื่อนทุกตัวจะต้องมีปุ่มหยุดฉุกเฉินที่หัวและท้ายบันได และหากบันไดเลื่อนมีความชันมากก็อาจต้องมีปุ่มหยุดฉุกเฉินบนราวบันไดเป็นช่วงๆด้วย
ราวบันไดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด บันไดเลื่อนจะต้องมีคำเตือนให้ผู้โดยสารจับราวบันไดทุกครั้ง
หากมีสิ่งแปลกปลอมติดเข้าไปที่ราวบันได หรือระหว่างขั้นบันได บันไดเลื่อนจะต้องหยุดทำงานโดยอัตโนมัติทันที
หากราวบันไดหลวมหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของบันไดชำรุด เจ้าของพื้นที่จะต้องระงับการใช้งานโดยทันที พร้อมปิดกั้นไม่ให้ผู้โดยสารใช้งานบันไดเลื่อนได้ทั้งทางขึ้นและทางลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่มีการให้ผู้โดยสารเดินลงบันไดเลื่อนที่มีปัญหา ถึงแม้ว่าบันไดจะถูกหยุดการทำงานแล้วก็ตาม
ในระหว่างการซ่อมแซมบันไดเลื่อนจะต้องมีป้ายเตือนอย่างชัดเจน และต้องมีเจ้าหน้าที่คอยประจำอยู่ เพื่อป้องกันผู้โดยสารไม่ให้ใช้งานด้วย
ชาวญี่ปุ่นซึ่งเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นประจำตระหนักดีว่า ภัยธรรมชาติไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ “ภัยมนุษย์” ที่เกิดจากความไม่เอาใจใส่หรือความบกพร่องทางเทคนิคเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้
โดยนอกจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว ชาวญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับ “มาตรการทางสังคม” อีกด้วย ดังเช่นกรณีบันไดเลื่อนกินคนที่ประเทศจีน ชาวญี่ปุ่นที่ได้รับรู้ข่าวนี้ต่างให้ความเห็นว่า “ห้างสรรพสินค้าที่เกิดอุบัติเหตุถึงชีวิตเช่นนี้ ไม่น่าเชื่อว่าจะยังสามารถเปิดกิจการต่อไปได้อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว!
ที่มา : http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9580000087745