ยุคทองโซเชียลสปาย แอบดูใครก็ได้ง่ายจัง

วันนี้โลกเราเดินทางมาถึงยุคทองของการสอดแนมแอบดูที่แสนสะดวกสบายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ เพราะสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่ชาวออนไลน์พร้อมใจเปิดเผยวิถีชีวิตของตัวเองอย่างเต็มใจ จนใครๆ ก็หันมาสอดแนมเรื่องราวของ “คนที่อยากแอบดู” ชนิดไม่ต้องแอบให้เสียเวลาอีกต่อไป
 
ความสะดวกสบายนี้ทำให้วงการโซเชียลสปายขยายตัวงอกงามสู่หลายวงการ ขณะนี้นักเรียนสามารถแอบดูคุณครูผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ครูสามารถแอบดูเพื่อนบ้านด้วยการพิมพ์ชื่อแสนง่าย เพื่อนบ้านสามารถแอบดูนายจ้างผ่านการคลิกไม่กี่ครั้ง รวมถึงนายจ้างที่สามารถแอบดูลูกน้องได้ทั้งกรณีก่อน และหลังรับเข้าทำงาน
 
ห่วงโซ่ของการแอบดูไม่จบเพียงเท่านี้ แต่ยังลุกลามไปถึงระดับประเทศ ตำรวจสามารถแอบดูโจร รัฐบาลสามารถแอบดูผู้ก่อการร้าย รวมถึงเจ้าพ่อผู้สร้างโซเชียลมีเดียเองที่สามารถแอบดูพวกเราผู้ใช้งานได้ทุกคน
 
สถานการณ์ล่าสุดในวงการโซเชียลสปายขณะนี้ยังไม่หยุดนิ่ง หลายประเทศตื่นตัวประกาศเตือนประชาชน และลงมือเริ่มโครงการสร้างโซเชียลมีเดียของตัวเองเพื่อความมั่นคงของประเทศ ท่ามกลางนักพัฒนาที่ยังคงสร้างนานาเครื่องมือสำหรับการแอบดูต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะในรูปแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย และไม่มีใครรู้
 
เตือนครูระวังถูกนักเรียนสอดแนม
 
คณะกรรมการรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ หรืออีเซฟตี้ คอมมิชชัน (e-Safety Commission) ของออสเตรเลีย ประกาศเตือนให้คุณครูทั่วประเทศปิดกั้น หรือควบคุมการใช้งานโซเชียลมีเดียของตัวเอง เนื่องจากพบว่านักเรียนในประเทศหลายกลุ่มพร้อมใจกันแอบดูกิจกรรมออนไลน์ของคุณครูเพราะอยากรู้เรื่องราวส่วนตัวของครูให้มากขึ้น
 
เกรก เกบฮาร์ต (Greg Gebhart) ตัวแทนของอีเซฟตี้ ให้ความเห็นต่อเดอะวีคเอนด์ ออสเตรเลียน ว่า แม้เด็กนักเรียนอาจจะอยากติดตามเรื่องราวส่วนตัวของครูเพราะความชื่นชอบ แต่ครูควรจะกลั่นกรองใส่ใจสิ่งที่จะเปิดเผยบนโลกออนไลน์ด้วย เนื่องจากไม่เพียงตัวเด็กเอง ครูก็อาจเป็นเหยื่อถูกแอบดูโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง และสังคมก็ได้
 
เกบฮาร์ต ยกตัวอย่างลูกศิษย์วัย 11 ปี ที่ยอมรับว่าเคยแอบลงทะเบียนใช้งานเว็บไซต์นัดเดทออนไลน์เพื่อมองหารูปครูที่โรงเรียน หากพบแล้วเด็กจะหัวเราะกับข้อมูลที่ครูเหล่านั้นใส่ลงไปในประวัติ
 
นอกจากนี้ เด็กวัยรุ่นในออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศทั่วโลกยังสามารถแอบเก็บภาพ หรือแอปพลิเคชันที่ไม่เหมาะสมไว้โดยที่พ่อแม่ หรือครูไม่รู้ด้วยการซ่อนในโฟลเดอร์ชื่อ “การบ้าน” หรือ homework
 
ที่น่าสนใจ เด็กวัยรุ่นยังสามารถปกปิดร่องรอยการแอบดูสอดแนมด้วยการใช้ “แอปพลิเคชันลวงตา” อย่างเช่น แอปพลิเคชันซีเครท แคลคูเลเตอร์ (Secret Calculator) แอปพลิเคชันนี้จะมีหน้าตาเหมือนแอปพลิเคชันเครื่องคิดเลขแสนธรรมดา แต่เมื่อพิมพ์ตัวเลขรหัสผ่าน แอปพลิเคชันจะปลดล็อกตัวเอง และนำทางไปสู่โฟลเดอร์ภาพลับ เอกสาร หรือแอปพลิเคชันลับที่เด็กๆ แอบติดตั้งไว้ได้
 
จุดนี้ เกบฮาร์ต ระบุว่า พ่อแม่ผู้ปกครองจะสามารถไล่ตามเกมของเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ได้ง่ายๆ ด้วยการตรวจสอบขนาดพื้นที่เก็บข้อมูลของแอปพลิเคชันต้องสงสัย เช่น หากพบว่าแอปพลิเคชันเครื่องคิดเลขมีขนาดพื้นที่เก็บข้อมูลมากกว่า 80% ของเครื่อง ก็สามารถสรุปได้ว่าแอปพลิเคชันนั้นอาจเป็นแอปพลิเคชันลวงตา
 
รีเบคก้า สปูนเนอร์เลน (Rebecca Spooner-Lane) นักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนสแลนด์ หรือ QUT ให้ความเห็นว่า นักเรียนส่วนใหญ่ติดตามกิจกรรมของครูบนโลกออนไลน์เพียงเพราะความอยากรู้ โดยสถานะ และตำแหน่งของครูนั้นดูเหมือนอยู่สูงจนแตะต้องไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเด็กพบว่าสามารถหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของครู หลายคนจึงรู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นมากเหลือเกิน
 

 
อเมซอนยังเป็น “โซเชียลสปาย”

 
ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นักเขียนสาวรายหนึ่งออกมาประกาศต่อโลกออนไลน์ว่า ถูกอเมซอน (Amazon) เจ้าพ่อยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสอดแนมประวัติของเธอบนโซเชียลมีเดีย เพื่อปิดกั้นไม่ให้ข้อความรีวิว (review) หนังสือที่เธอเขียนถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์
 
นักเขียนอิสระรายนี้ใช้ชื่อว่า อิมมี ซานติอาโก (Imy Santiago) เธอระบุว่า ได้ซื้อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์กับอเมซอน เมื่ออ่านแล้วชอบจึงตัดสินใจเขียนรีวิวเพื่อบอกต่อผู้สนใจ แต่กลับได้รับข้อความจากอเมซอนว่า ไม่สามารถโพสต์ข้อความได้ โดยอเมซอนแจ้งเพียงว่า ข้อความรีวิวจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของอเมซอนเท่านั้น
 
เมื่อไม่พบเหตุผลที่ชัดเจน นักเขียนอิสระรายนี้จึงส่งอีเมลไปสอบถามกับอเมซอน คำตอบที่ได้รับชี้ว่า ชื่อบัญชีที่เธอใช้มีกิจกรรมที่แสดงว่าเธอรู้จักกับผู้แต่งหนังสือ ทำให้ผิดจุดประสงค์ของการรีวิวที่มุ่งหวังให้ลูกค้ามีข้อมูลเพื่อตัดสินใจซื้อ โดยรีวิวที่เกี่ยวข้องต่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการชักจูงให้เข้าใจผิดจะไม่สามารถโพสต์สู่ระบบของอเมซอนได้
 
นักเขียนรายนี้ยืนยันว่า ตัวเองไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้แต่งหนังสือนี้ แม้จะมีการโต้ตอบกันบนเครือข่ายสังคมบ้างในอดีต แต่อเมซอนปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียด หรือชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม
 
ไม่ว่านักเขียนรีวิวรายนี้จะมีความสัมพันธ์กับผู้แต่งหนังสือหรือไม่ แต่ความจริงที่ว่า อเมซอนลงมือตรวจดูความสัมพันธ์ของผู้ใช้ผ่านเครือข่ายสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา จุดนี้คาดว่าไม่เพียงอเมซอน แต่ผู้ประกอบการรายอื่นล้วนสามารถแอบดูลูกค้าส่วนใหญ่ได้ผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์
 
แอปใหม่แอบดูง่ายไร้ร่องรอย
 
เครก เคลลีย์ (Craig Kelley) นักพัฒนาแอปพลิเคชันรายหนึ่งในสหรัฐฯ ตัดสินใจสร้างแอปพลิเคชันชื่อ “โซเชียล สปาย (Social Spy)” เพื่อตอบโจทย์คนที่อยากเป็นนักสืบโซเชียลแบบที่ไม่มีใครล่วงรู้ โดยเฉพาะเหยื่อเป้าสอดแนมที่จะไม่สามารถไหวตัว และปิดกั้นสปายได้ทันท่วงที
 
ด้วย Social Spy ผู้ใช้แอปพลิเคชันนี้จะสามารถติดตาม หรือ follow ผู้ใช้รายอื่นบนเครือข่ายทวิตเตอร์ (Twitter) โดยที่ไม่มีใครทราบเลยว่ากำลังคลิกติดตามอยู่ ทั้งหมดนี้ทำให้คนรักเก่า พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงครูสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเหยื่อที่ต้องการได้อย่างสบาย โดยแนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อนักพัฒนาผู้สร้าง Social Spy รู้สึกต้องการติดตามข้อความ Tweet เพิ่มเติมจากเพื่อนของลูกชาย แต่ไม่ต้องการให้ลูกชายรู้เพราะเด็กวัยรุ่นอาจจะต่อต้านเมื่อได้ทราบว่าพ่อแม่คลิกติดตามอยู่
 
นอกจากการเป็นช่องทางของอดีตสามีภรรยา Social Spy ยังช่วยในกรณีแฟนกีฬาที่ไม่ต้องการให้ระบบทราบว่า กำลังสนใจเรื่องใดอยู่ เพื่อเลี่ยงโฆษณา และการบังคับให้ยอมรับบัญชีที่เกี่ยวข้องไปด้วยจนรกสายตา
 
รายงานระบุว่า Social Spy ถูกพัฒนาให้ผู้ใช้สามารถเก็บข้อความทวีตที่ชอบขึ้นสู่บริการคลาวด์ได้ ซึ่งเท่ากับหากผู้ใช้ Twitter รายใดเปลี่ยนใจลบข้อความทวีตของตัวเองไปแล้ว แต่ข้อความนั้นจะยังถูกจัดเก็บไว้ในแอปพลิเคชัน Social Spy เช่นเดิม
 
Social Spy (http://socialspyapp.com) เป็นเพียง 1 ในหลายแอปพลิเคชันที่มุ่งสร้างประตูให้ผู้ใช้ได้มีโอกาสสวมบทบาทนักสืบโซเชียลได้สะดวก คาดว่าแอปพลิเคชันลักษณะนี้จะมีพัฒนาการที่ล้ำลึกขึ้นแน่นอนในอนาคต
 
เวเนซุเอลาลุยสร้างโซเชียลของตัวเอง
 
เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนชาวเวเนซุเอเลียนถูกสอดแนมโดยยักษ์ใหญ่อย่างทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ล่าสุด รัฐบาลเวเนซุเอลาออกประกาศสร้างเครือข่ายสังคมชื่อ “เรด แพตเทรีย (Red Patria)” ซึ่งเริ่มทดสอบบริการอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
 
จดหมายประชาสัมพันธ์ระบุว่า Red Patria ถูกสร้างโดยนักพัฒนาชาวเวเนซุเอลาเพื่อให้ง่ายต่อการส่งข้อมูล และการสื่อสารระหว่างกลุ่มโซเชียล คาดว่าในอนาคตระบบ Red Patria นี้จะถูกต่อยอดเป็นเครือข่ายสังคมเชิงพาณิชย์ต่อไป
 
เวเนซุเอลา เป็นประเทศล่าสุดที่มีการประกาศความเคลื่อนไหวเรื่องการสร้างเครือข่ายสังคมให้ประชากรของตัวเอง ก่อนหน้านี้ นายสุรชัย ศรีสารคาม อดีตปลัดกระทรวงไอซีที เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนไทยเมื่อ 6 มิ.ย.57 บอกว่า ในช่วงเดือนตุลาคมปีดังกล่าว ชาวไทยจะได้เห็นความชัดเจนเป็นรูปธรรมของแผนการสร้าง “ไทยแลนด์โซเชียลเน็ตเวิร์ก” แต่น่าเสียดายที่โครงการนี้ยังไม่ถูกโปรโมตอย่างจริงจัง
 
ครั้งนั้น ปลัดไอซีทีไทยระบุว่า การสร้างไทยแลนด์โซเชียลเน็ตเวิร์กทำไปเพื่อให้คนไทยได้ใช้งานเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความเห็นกันโดยตรง ทั้งทางอีเมลทางการที่คนไทยทุกคนจะมีเพื่อใช้สื่อสาร และการเชื่อมเข้ากับระบบธุรกรรมต่างๆ ได้โดยใช้คู่กับบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด ทั้งหมดนี้จะเป็นทางเลือก และการันตีว่าข้อมูลของประชาชนจะได้รับการปกป้อง ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ข้อมูลทุกอย่างวิ่งไปใช้เซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศจนหมด รวมถึงผู้ให้บริการต่างชาติที่อาจนำข้อมูลคนไทยไปหาประโยชน์ทางธุรกิจ
 
Twitter จะหยุดผู้ก่อการร้ายได้ไหม?
 
ไม่ใช่เพียงทวิตเตอร์ แต่วันนี้เจ้าพ่อโซเชียลมีเดียในสหรัฐฯ ทั้งยาฮู (Yahoo) และกูเกิล (Google) ต่างพร้อมใจกันประท้วงข้อเสนอของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ที่บังคับให้บริษัทต้องแจ้งเตือนหากพบเบาะแสการก่อการร้ายใดๆ ก็ตาม ไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย และจะได้รับโทษต่อไป
 
รายงานระบุว่า ผู้ประกอบการเครือข่ายสังคมรายใหญ่ล้วนกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายนี้ โดยเฉพาะภาพลักษณ์การสอดแนมผู้ใช้ที่จะจริงจังเข้มข้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ขอบเขตการกำหนดเนื้อหาในกฎหมายนี้ก็ยังกว้างเกินไปด้วย โดยกินพื้นที่ข้อมูลประเภทวิดีโอ ภาพนิ่ง รวมถึงข้อความอื่นๆ ที่ใช้ในการสื่อสารในระบบ
 
สุดท้ายแล้วอย่าลืมว่าการสอดแนมการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายวิธีการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ เพราะนักสืบออนไลน์ยังมีวิธีอีกมากเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลในการคุกคามความปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้เสิร์ช เอ็นจิน ชื่อดังอย่างกูเกิล ในการค้นหาข้อมูลส่วนตัวซึ่งสามารถทำได้ไม่ยากนัก
 
ดังนั้น เพื่อให้การใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก และอินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างปลอดภัย ผู้ใช้ควรตระหนักให้มากถึงความเสี่ยง และข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่จะเปิดเผยในโซเชียล ที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจว่า โซเชียลเน็ตเวิร์ก คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ใช่เครือข่ายส่วนตัว ซึ่งหากสนุกสนานต่อการใช้งานจนไม่ทันระวังตัว ผู้ใช้จะตกเป็นเป้าถูกสอดส่องจนเหมือนการติดคุกโดยไม่รู้ตัวแน่นอน