โจทย์ใหญ่นักการตลาดไทย ข้อมูลท่วมทะลัก- พึ่งโซเชียลมีเดีย-อยากได้เรียลไทม์

ในยุคปัจจุบันที่สามารถเรียกกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างเต็มปากว่า อยู่ในยุค The Transforming Consumer เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะมีสินค้าและบริการใหม่ๆ ออกมาในตลาด ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนได้ทันที ซึ่ง “นวัตกรรม” เป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างแท้จริง

มีผลสำรวจออกมาว่า ผู้บริโภคมีความซับซ้อน แต่ก็เชื่อมโยงกัน เชื่อมโยงในที่นี้คือต้องการเชื่อมต่อกับผู้อื่นบนโลกออนไลน์ 1 ใน 3 ของผู้บริโภคบอกว่า เขาอยู่ไม่ได้ถ้าขาดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเกิน 5 ชั่วโมง ส่วน 64% กลัวการ FOMO กลัวที่จะต้องตกเทรนด์ ในขณะเดียวกัน แบรนด์ก็กลัวการ FOMO เช่นกัน

ส่วนปัญหาของแบรนด์ในตอนนี้ก็คือ “ข้อมูลมีมากเกินไป” เพราะตอนนี้มีแหล่งข้อมูลมากมายมหาศาล ทำให้จม และหลงทางในข้อมูล ไม่สามารถนำข้อมูลมาตัดสินใจได้
ทีเอ็นเอส (TNS) บริษัทวิจัยทางการตลาดได้เผยผลสำรวจล่าสุด ทีเอ็นเอส มาร์เก็ตติ้ง มอนิเตอร์ (TNS Marketing Monitor) สำหรับ “นักการตลาด” โดยเฉพาะ ระบุว่า นักการตลาดทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกล้วนกำลังเผชิญหน้ากับอุปสรรคในการจัดการข้อมูลการตลาดเพื่อเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคและกำหนดทิศทางการตลาดให้ได้ทันท่วงที โดยยอมรับว่าการรวมข้อมูลการตลาดจากที่มาหลายแหล่งเป็นเรื่องยาก และทำให้ศักยภาพของข้อมูลแบบเรียลไทม์กำลังถูกบดบังด้วยปริมาณข้อมูลการตลาดจำนวนมหาศาล

ทีเอ็นเอสได้ทำการวิจัยกับนักการตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย,ออสเตรเลีย, อินเดีย, จีน, อินโดนีเซีย, มาเลีเซีย, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ รวมนักการตลาดทั้งหมด 2,716 คน

ยุคนี้ ต้องใช้ข้อมูล “เรียลไทม์”

(อยู่ในยุคข้อมูลเรียลไทม์)

นักการตลาดส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับข้อมูลแบบ “เรียลไทม์” เพราะสามารถรู้ และเข้าถึงผู้บริโภคได้ในเวลานั้นเลย ทำให้สามารถวิเคราะห์เทรนด์ในอนาคต รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ด้วย โดยของมูลแบบเรียลไทม์มาจากหลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่ เสิร์ซ, โซเชียลมีเดีย, การเข้าเว็บไซต์, การเช็คอิน, การให้ผลตอบรับ ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก “มือถือ”

นักการตลาดไทย ใช้ข้อมูลเรียลไทม์ 38%

นักการตลาดส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิค มีการนำข้อมูลเรียลไทม์มาใช้ มีค่าเฉลี่ย 35% สำหรับ “นักการตลาดไทย” พบว่ามากกว่าหนึ่งในสาม หรือคิดเป็น 38% ระบุว่าทุกวันนี้พวกเขาทำงานอยู่กับข้อมูลแบบเรียลไทม์ สูงเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย ที่มีการใช้ข้อมูลเรียลไทม์ 39%

ให้ความสำคัญกับ “โซเชียลมีเดีย” ไทยสูงอันดับสาม 46%
(นักการตลาดใช้โซเชียลมีเดียเป็นส่วนในการตัดสินใจในการวางแผนกลยุทธ์)

ด้วยความที่คนไทยมีการใช้โซเชียลมีเดียกันอย่างแพร่หลาย นักการตลาดเองก็ต้องคอยมอนิเตอร์กระแสจากโซเชียลมีเดียเป็นอีกข้อมูลสำคัญ ที่นักการตลาดนิยมใช้ประกอบการตัดสินใจขับเคลื่อนธุรกิจ ในประเทศไทยพบว่า นักการตลาดไทย 46% มีการนำโซเชียลมีเดียมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในการทำกิจกรรม หรือแคมเปญต่างๆ กับผู้บริโภค สูงเป็นอันดับที่สาม รองจากสิงคโปร์ 55% และมาเลเซีย 50%

อิง “ยอดขาย” เป็นหลัก ในการวัดผลแคมเปญ
(การวัผลแคมเปญ นักการตลาดยังคงยึด “ยอดขาย” อันดับหนึ่ง)

ถึงแม้โซเชียลมีเดียจะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ แต่เมื่อการเผชิญหน้ากับข้อมูลแบบเรียลไทม์ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียเท่าไหร่ ทำให้นักการตลาดจำต้องถอยกลับไปพึ่งพิงตัวชี้วัดผลทางการตลาดในแบบดั้งเดิมเป็นหลัก
โดยผลสำรวจดังกล่าวพบว่า เมื่อต้องการประเมินผลทางการตลาด เรื่องของการวัดผล “แคมเปญ” การเติบโตของ “ยอดขาย” ยังคงตัวเลือกอันดับหนึ่งตัวชี้วัดผลสำเร็จของแคมเปญการตลาดของนักการ แม้ทราบดีว่าตัวชี้วัดอย่างการเติบโตยอดขายนั้นจะสะท้อนเฉพาะผลที่เกิดขึ้นไปแล้ว และไม่อาจช่วยให้นักการตลาดสามารถตอบสนองต่อเสียงตอบรับล่าสุดจากผู้บริโภคได้อย่างทันเหตุการณ์ หรือแม้แต่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้แคมเปญประสบความสำเร็จดียิ่งขึ้น

“ข้อมูล” เยอะเกินไป เป็นปัญหาและความท้าทายของนักการตลาด
(ปัญหา และความท้าทายของนักการตลาด)

70% มีปัญหากับการรวบรวมข้อมูล
68% ข้อมูลไม่สามารถนำมาใช้ได้เต็มที่
60% ข้อมูลได้มาช้าเกินไป

ผลสำรวจพบว่า ปัญหาของนักการตลาดส่วนใหญ่ที่มาอันดับหนึ่งเฉลี่ย 70% มีข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหลากหลาย และยากที่จะนำมารวมกัน 68% ข้อมูลที่ได้มาไม่สามารถมาใช้งานได้เต็มที่ นั่นคือไม่มีประสิทธิภาพมากพอ และ 60% บอกว่า ได้ข้อมูลมาช้าเกินไป

75% ของนักการตลาดไทย ประสบปัญหาในการรวบรวมข้อมูล

ในขณะที่ 3 ใน 4 ของนักการตลาดชาวไทย หรือ 75% ระบุว่าประสบปัญหาการรวมข้อมูลการตลาดจากหลายแหล่ง เช่น โซเชียลมีเดีย บล็อก เว็บไซต์ และ ข้อมูลบนเสิร์จเอนจิ้น ที่พร้อมนำไปใช้งานได้จริงในธุรกิจ ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่อยู่ที่ 70% ทุกวันนี้ นักการตลาดก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการผสมผสานข้อมูลตัวชี้วัดแบบดั้งเดิม หรือ ตัวชี้วัดผลทางดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน

แบรนด์ต้องแอคทีฟบนโลกดิจิทัลมากขึ้น
(ภาพรวมของแต่ละประเทศในการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล)

86% ของนักการตลาดชาวไทยเชื่อว่าแบรนด์ควรต้องรุกมากขึ้นบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งมีอัตราสูงที่สุดเมื่อเทียบกับนักการตลาดอีก 7 ประเทศในภูมิภาค ซึ่งนักการตลาดไทยตื่นตัวเป็นอย่างมาก มองว่าดิจิทัลเป็นเรื่องของอนาคต

ทีเอ็นเอส แนะนักการตลาดควรทำอย่างไรบนโลกดิจิทัล

โดยคำแนะนำแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน คือ ทั่วไป และเฉพาะประเทศไทย ทั่วไปนั้น 3 อันดับแรก ได้แก่
1.การสื่อสารกับผู้บริโภคบนโซเชียลมีเดีย
2.สื่อสารผ่านหน้าจอมือถือ โดยการทำเว็บไซต์ หรือคอนเทนต์ให้พือดีกับหน้าจอมือถือ
3.ต้องมีความคิดสร้างสรรค์

สำหรับในประเทศไทยนั้นมีความแตกต่าง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนกัน
1.การสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านโซเชียลมีเดีย ในประเทศไทย “เฟซบุ๊ค-ไลน์-ยูทิวบ์” ยังคงเป็นที่นิยมมากที่สุด เป็น 3 แพลตฟอร์มที่นักการตลาดส่วนใหญ่ใช้เพื่อพูดคุยกับผู้บริโภคเช่นกัน
2.การทำโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย
3.มอนิเตอร์การเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล ดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงมั้ย อะไรฮิต อะไรไม่ฮิต รวมไปถึงมอนิเตอร์พฤติกรรมผู้บริโภคด้วย