ศึกวัดเรทติ้งเดือด.. นีลเส็น ดิ้นสุดฤทธิ์ยื้อเวลา ร้องของบสนับสนุนลงทุนวัดเรทติ้งจาก กสทช. ระบุเพื่อความเป็นธรรม หาก กสทช. อนุมัติให้ MAAT 370 ล้านบาท ไปให้กันตาร์ ก็ต้องให้นีลเส็นด้วย
หลังจากที่ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เห็นชอบในหลักการกับการที่สมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT เสนอจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ หรือ มีเดียรีเสิร์ชบูโร หรือ MRB มาดูแลเรทติ้ง ซึ่ง MRB ได้มีการประมูลคัดเลือกได้ “บริษัทกันตาร์ มีเดีย” มาเป็นผู้วัดเรทติ้งใหม่ โดยจะเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 30,000 ราย และวัดผลการรับชมแบบ มัลติสกรีน คือ ทีวี แท็บเลต สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ต้องใช้งบประมาณในการจัดทำเรทติ้ง 1,500 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี มีอายุสัญญา 15 ปี ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อข้อมูลประมาณ 9-10 ล้านบาทต่อปี
ไม่เท่านั้น ทาง MAAT จึงได้ยื่นเรื่องให้ กสทช.สนับสนุนการวัดระบบเรทติ้งใหม่ ในวงเงินประมาณ 370 ล้านบาท และค่าข้อมูลรายปีอีก 5 ปี ซึ่งกสทช. ระบุว่า จะเสนอเข้าที่ประชุม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ หรือ บอร์ดกสท. จากนั้นนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดกองทุนฯ คาดวาจะใช้เวลา 2 เดือน ซึ่งกสทช.จะสนับสนุน และ MRB จะมอบหมายให้กันตาร์ติดตั้งระบบวัดเรตติ้งใหม่ทั่วประเทศได้ภายในเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป และคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงเดือนกันยายนปี 2559
ล่าสุด “นีลเส็น” ในฐานะที่เป็นผู้วัดเรทติ้รายเดิม ได้ออกมาเรียกร้องผ่านสื่อมวลชน สินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า นีลเส็น ต้องการเรียกร้องผ่านสื่อมวลชน ในกรณีที่กสทช.ให้การสนับสนุนเงินจำนวน 370 ล้านบาท กับทาง MRB ในการวัดเรทติ้งคนดู ก็ควรให้เงินสนับสนุนในการวัดเรทติ้งให้กับทางนีลเส็นด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเสมอภาค และเป็นธรรม จึงไม่ควรเลือกปฏิบ้ติ และเพื่อประโยชน์ และความอยู่รอดของผู้ประกอบการ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลทีวี
“ในเมื่อนีลเส็นเองก็มีลูกค้าที่ใช้บริการวัดเรทติ้ ก็ควรได้รับการสนับสนุนด้วย เพื่อให้สมาชิกของนีลเส็นสามารถลดค่าใช้จ่าย ใช้บริการที่ถูกลง และไม่ต้องผูกมัดระยะยาว นีคือสิ่งที่เราเรียกร้อง”
นีลเส็นระบุว่า ที่ผ่านมานีลเส็นได้ลงทุนล่วงหน้าไปกับการวัดเรทติ้งทีวีดิจิตอล ได้เพิ่มกลุ่มตัวอย่าง จาก 1,800 ครัวเรือน หรือ 6,300 คน เป็น 2,200 ครัวเรือน หรือ 7,700 คน เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
“หลังจากที่เราลงทุนไปแล้ว เราคิดค่าบริการกับลูกค้าเป็นรายปี หรือบางรายที่งบน้อยคิดเป็นเดือนก็มี เรามองว่า ฮาร์ดแวร์มีค่าเสื่อมราคา เราจึงไม่อยากผูกมัดลูกค้าระยะยาวถึง 5 ปี”
นอกจากเพิ่มกลุ่มตัวอย่างแล้ว นีลเส็นยังได้ลงทุนวิจัย เรทติ้งโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อรองรับกับพฤติกรรมการเสพย์สื่อออนไลน์ที่กำลังมีทบาทสำคัญ เริ่มจากเฟสแรก คือ การ่วมมือกับมายด์แชร์ ประเทศไทย และยูนิลีเวอร์ ด้วยการวัดเรทติ้งทีวี และออนไลน์ ควบคู่กัน Dual Screen ไปแล้ว
จากนั้นไม่ถึงเดือน นีลเส็นได้เปิดตัว บริการวัดผลโฆษณาออนไลน์ในไทย คราวนี้ได้ ร่วมมือกับเฟซบุ้ค เพื่อให้ได้ข้อมูลผ่านผู้ใช้เฟซบุ้ค 22 ล้านราย ควบคู่ไปกับการวัดผลผ่านผู้ใช้แลปทอป เดสก์ท้อป สมาร์ทโฟน แท็บเล็ท และคอนซูเมอร์มีเดีย รีวิว อีกหลายพันคน
ส่วนการวิจัยเรทติ้งการรับชมผ่านแพลทฟอร์มต่างๆ ที่นอกเหนือจากทีวี หรือ มัลติสกรีน เวลานี้อยู่ระหว่างทดลองใช้อยู่ที่สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะนำมาให้บริการได้ในช่วงต้นปี และยังไม่เชื่อว่าจะมีใครให้บริการวัดผลแบบมัลติสกรีนได้ เนื่องจากมีความซับซ้อนสูงมาก
ก่อนหน้านี้ นีลเส็นได้เคยออกมาเปิดเผยว่าได้ใช้งบลงทุนไปแล้วประมาณ 100 ล้านบาท ในการเพิ่มบริการต่างๆ ยังไม่รวมการวัดเรทติ้งคนดูแบบมัลติสกรีน ที่นีลเส็นบอกว่าต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เพราะมีความยุ่งยาก และซับซ้อนมากกว่า โน้ตบุ้ค แท็บเล็ท สมาร์ทโฟ ยัง
ส่วนวงเงินที่จะขอสนับสนุนนั้น สินธุ์ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับกสทช.เป็นหลักว่า เห็นควรอนุมัติงบมาช่วยเหลือทางนีลเส็น เพราะสิ่งที่อยากได้คือความเป็นธรรม โดยหลังจากนี้จะมีการยื่นเรื่องให้กับกสทช. ต่อไป หากไม่ได้รับคำตอบจะต้องหารือทางฝ่ายกฎหมายต่อไป
ในส่วนของลูกค้าปัจจุบันของ นีลเส็นประกอบไปด้วยฟรีอนาล็อกทีวีเดิม และทีวีดิจิตอล 24 ช่อง เอเยนซี่ 5 รายใหญ่ ยังคงใช้ข้อมูลของนีลเส็นไปจนกว่าระบบการวัดเรทติ้งของกันตาร์ มีเดีย จะติดตั้งและเริ่มใช้ข้อมูลได้ในเดือนกันยายน 2559
จากการสอบถามไปที่ เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ระบุว่า ปัจจุบันยังคงซื้อข้อมูลเรทติ้งจากนีลเส็นไปจนกว่า ระบบการวัดเรทติ้งของกันตาร์จะติดตั้งเสร็จ จากนั้นจึงมาพิจารณาดูอีกครั้งหนึ่งว่าจะเลือกใช้ผลสำรวจของนีลเส็นต่อไปหรือไม่
“ช่องทีวีดิจิตอลส่วนใหญ่ก็ร่วมกับทาง MRB ต่อไปจะเปลี่ยนไปใช้ข้อมูลของกันตาร์ จะมีก็ไม่กี่ช่อง อย่างช่อง 7 ที่เขาไม่ร่วมลงขัน ยังคงใช้ของนีลเส็น เพราะเรทติ้ขาเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว ก็ไม่อยากเปลี่ยน ต้องรอดูว่า ช่องอื่นๆ ที่ได้เรทติ้งดีอยู่แล้ว จะยอมเปลี่ยนไปใช้ของรายใหม่หรือไม่”
ส่วนทางด้านของ MRB นั้น เกิดจากการรวมตัวของ1. ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 22 ช่อง 2.ทีวีดาวเทียม/เคเบิลทีวี 25 ช่อง ยกเว้นช่อง 7 ไม่ได้เข้าร่วม
การเดินเกมของ “นีลเส็น” ครั้งนี้ จึงเป็นการดิ้นเพื่อหาทางออก กับเกมธุรกิจใหม่ จากคู่แข่งขันรายใหม่ ภายใต้การกำกับดูแล และคุ้มครองผลวิจัย จากสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย MAAT และทีวีอีก 24 ช่อง
ไม่ว่ากสทช. จะอนุมัติงบให้ หรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยก็ได้ “ยื้อเวลา” ออกไปอีก เพราะการมีผู้วัดเรทติ้งรายใหม่ จะต้องใช้งบลงทุนในการติดตั้งอุปกรณ์จำนวนมาก การลงขันของทีวีดิจิตอล และเอเยนซี่โฆษณาเป็นภาระหนักหนาเอาการ จึงมีการยื่นของบสนับสนุนนจากกสทช. ซึ่งว่ากันว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะงบได้ส่งไปให้กระทรวงการคลับแล้ว ยิ่งมีนีลเส็นมาเป็นอีกหนึ่งในตัวแปร ก็ยิ่งทำให้การอนุมัติงบต้องยืดเยื้อออกไปอีก