"เฟซบุ๊ก" เบอร์ 1 ของผู้มีอิทธิพลสูงสุดต่อวงการสื่อ

แม้ว่ากูเกิลจะเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมมากที่สุดในโลก แต่ตำแหน่งดังกล่าวก็ไม่อาจต้านทานความแรงของ “เฟซบุ๊ก” (Facebook) โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ได้อีกต่อไป หลังมีข้อมูลพบว่า เฟซบุ๊กกำลังผงาดขึ้นเป็นผู้มีอิทธิพลต่อวงการสื่อทั่วโลก ด้วยการครองส่วนแบ่งทราฟฟิกของเว็บไซต์สื่อไว้ถึง 43 เปอร์เซ็นต์
 
ตัวเลขดังกล่าวมาจากการเปิดเผยข้อมูลของ Parse.ly ซึ่งได้มีการเปิดเผยตัวเลขทราฟฟิกในกลุ่มเว็บไซต์ข่าวมากกว่า 400 แห่ง โดยรวมถึงรอยเตอร์ส (Reuters) เดอะ แอตแลนติก (The Atlantic) มาชเอเบิล (Mashable) ฯลฯ พบว่า เฟซบุ๊กครองส่วนแบ่งทราฟฟิกของกลุ่มสื่อเอาไว้ได้มากที่สุดที่ 43 เปอร์เซ็นต์ โดยมียอดเพจวิว 6 พันล้านครั้ง และพบว่า มีผู้เข้าใช้งานอย่างสม่ำเสมอกว่า 1 พันล้านคน
 
ขณะที่กูเกิล แม้จะมีตำแหน่งว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมมากที่สุดในโลก กลับครองส่วนแบ่งในกลุ่มเว็บไซต์ข่าวได้แค่ 38 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงจะเห็นได้ว่า กูเกิลกลายเป็นเว็บไซต์ที่จะมีผู้เข้าเยี่ยมชมเมื่อต้องการค้นหาข้อมูลข่าวสารเสียมากกว่า
 
สถานะดังกล่าวส่งผลให้เฟซบุ๊กมีความสำคัญต่อเว็บไซต์สื่อมากขึ้นในแง่ของผู้ขับเคลื่อนยอดทราฟฟิก โดยย้อนหลังไปเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว (มกราคม ค.ศ.2014) พบว่า ในเวลานั้นเฟซบุ๊กมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของทราฟฟิกในเว็บไซต์สื่อ ซึ่งการเติบโตขึ้นมาเป็น 43 เปอร์เซ็นต์ในวันนี้จึงเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมาก
 
มีการวิเคราะห์กันว่า สาเหตุที่เฟซบุ๊กมาแรงแซงหน้ารุ่นพี่อย่างกูเกิลไปได้นั้นมาจากเป้าหมายของซีอีโอ อย่าง มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ที่เคยระบุเอาไว้ว่า “จะสร้างหนังสือพิมพ์ส่วนบุคคลที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ให้ได้”
 
ผลก็คือ การเปิดตัว Instant Articles ของเฟซบุ๊กเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ซึ่งดึงเนื้อหาจากสื่อสำนักต่างๆ ไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มของตนเอง และยังมีบริการขายโฆษณา แจ้งผลตอบรับจากบริการดังกล่าวกลับไปยังบริษัทเจ้าของเนื้อหาชิ้นนั้นๆ อีกด้วย
 
โดยในการเปิดตัวบริการ Instant Articles นั้นมีสื่อสำนักดังๆ เช่น นิวยอร์กไทม์ (New York Times) เอ็นบีซี (NBC) บัซฟีด (Buzzfeed) บีบีซีนิวส์ (BBC News) เดอะการ์เดียน (The Guardian) และอื่นๆ อีกมากมายเข้าร่วมด้วย
 
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า การรุกคืบเข้ามาในวงการสื่อด้วยการเปิดตัว Instant Articles นั้นจะเป็นการตัดช่องทางการหารายได้ของเว็บไซต์ข่าวในที่สุด เพราะเมื่อผู้บริโภคคุ้นเคยต่อการอ่านบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กต่อไป การเข้าถึงเว็บไซต์ข่าวต่างๆ ก็อาจลดน้อยถอยลง และจะมีผลต่อการลงโฆษณาบนเว็บไซต์ข่าวต่างๆ ด้วย
 
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นว่า หากเป็นเฟซบุ๊กทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารแทนสื่อเสียแล้ว จะมีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารใดๆ หรือไม่ กรณีที่มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับเฟซบุ๊กเกิดขึ้น
 
ขณะที่นักวิเคราะห์ที่มองในแง่ดี ก็ระบุว่า การเปิดตัว Instant Articles จะช่วยให้ผู้ผลิตสื่อรายเล็กๆ ได้มีโอกาสแจ้งเกิดมากกว่าสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ เนื่องจากการแข่งขันของเนื้อหาบนแพลตฟอร์มใหม่อย่างเฟซบุ๊กยังไม่สูงนัก
 
แต่ไม่ว่าอย่างไร สถานะของเฟซบุ๊กในวันนี้ต่อวงการสื่อก็ไปไกลเกินกว่าคำว่า โซเชียลมีเดียธรรมดาๆ เสียแล้ว