บทความโดย : ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสื่อสาธารณะ
ประสบการณ์ 10 ปี ในการประชุมของผม ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่คนทำงานเล็ก เรื่อยไปจนผู้บริหารระดับกลาง และกับผู้ใหญ่อาวุโสในวงการ ทั้งจากวงเล็ก และวงร้อย ทั้งจากการทำวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นวิทยากรกลุ่ม กระบวนการ เป็นผู้จดสาระการประชุม เป็นผู้ดำเนินรายการ เป็นวิทยากรบรรยาย และเป็นทั้งผู้เข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง
ในการทำงานกว่า 10 ปี (ในสายงานวิชาการ สื่อสารมวลชน นิเทศศาสตร์) ผมมักค้นพบว่า มักมีคนอยู่ 10 ประเภท ที่ผมมักพยายามหลีกเลี่ยง เพราะคนเหล่านี้มักทำให้ “บรรยากาศของการประชุมระดมสมอง” หรือการประชุมอื่นใดก็ตาม สูญเสียกัดกร่อนประสิทธิภาพ ของการประชุมลงไปมากทีเดียว
มีทฤษฏีทางการวิจัยเชิงคุณภาพ ของฝรั่งหลายเล่ม หลายคน (จำไม่ได้) อ้างว่า มีคนแบบนี้นี่เองที่เป็นอุปสรรคต่อการประชุม และทำให้หลายๆ ครั้ง การประชุมก็ไม่ได้สาระอะไรเท่าที่ควร สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียดายเวลา และเสียความรู้สึกมองหน้ากันไม่ติดต่อเนื่องกันไป
โดยเท่าที่รู้สึก ขอสรุปเอาเอง ว่ามี 10 แบบ ดังนี้
1. “คนรู้มาก” เก่งที่สุด รู้ทุกอย่าง ถูกคนเดียว
ประเภทนี้มักเป็นผู้อาวุโส หัวหน้า หรือประธาน คือ เก่ง เสียงดัง ใหญ่ แก่กว่าเพื่อน หรือเป็นพวกที่ทำงานมานาน รู้มาก ซึ่งจริงๆ ดีมาก แต่ความที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง คนพวกนี้จะคิดว่าตนเองนั้นรู้ดีที่สุด และชอบบ่น บรรยาย สาธยาย จนใช้เวลามากและทำให้ผู้ร่วมประชุมอื่นๆ รู้สึกว่าโง่ลงมากจนไม่กล้าพูดหรือไม่พูดดีกว่า
2. “คนค้าน” ปฏิเสธทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องของตัวเอง
คนประเภทที่สองน่ารำคาญมาก พวกเขาอาจนิ่งๆ เงียบๆ แต่เป็นพวกที่กัดกร่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด พวกเขาพร้อมที่จะมองเห็นแต่อุปสรรคและปัญหา และนำไปสู่การสรุปทึกทักเอาว่าสิ่งต่างๆ นั้นไม่สามารถทำได้ แก้ไขไม่ได้ ติดขัดปัญหา ข้อจำกัดโน่นนี่มากมายหลายอย่าง ไม่มองว่าจะก้าวข้ามหรือหาทางออกอย่างไร
และแม้ว่าใครจะเสนอว่า เขาเองก็มีส่วนในการร่วมคิดร่วมทำ เขาก้จะปฏิเสธว่าทำไม่ได้ หรือ ไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะต้องมาทำมารับผิดชอบ
3. “คนโตเต๋” ไม่สนใจ ขาดสมาธิ ชวนคนอื่นคุย
คนพวกนี้เงียบๆ ไม่มีพิษภัย แต่ชอบทำตัวลุกเดินไปโน่นไปนี่ เดี๋ยวก็ลุกไปสูบบุหรี่ ไปห้องน้ำ ไปคุยโทรศัพท์ เล่นมือถือ เดินไปนอกห้องประชุม ไปชมนกชมไม้ นั่งเล่นมือถือบนเก้าอี้โซฟานอกห้องประชุม ถ้าอยู่ในวงจะช่างเม้ามอย วนคนอื่นๆ คุย
4. “คนนอกเรื่อง” ตามไม่ทัน นอกประเด็น หลงประเด็น
มีมากที่สุดในทุกๆ วง เพราะตามประเด็นไม่ทัน หรือไม่เข้าใจเรื่องราวสาระสำคัญในการประชุมดีพอ อาจเพราะไม่มีข้อมูล ไม่ทำการบ้าน ไม่เตรียมประเด็น แต่อยากพูด เพราะรู้สึกว่ามาแล้วต้องพูด ชอบอารัมภบท สาธยายยืดยาว ชอบออกตัวว่าไม่รู้ แต่ก็พูดเหมือนรู้ แต่ที่พูดนอกเรื่อง ไม่เข้าประเด็น พูดจาวกไปวนมา หาทางลงเข้าเรื่องไม่ได้
5. “คนโต้วาที” พูดมากข่มเพื่อน นักโต้เถียงเอาชนะ
น่าโมโหและชวนเสียอารมณ์มาที่สุด เพราะพวกเขาเข้ามาเพื่อต้องการถกเถียง โต้เถียง ดีเบต เพื่อเอาชนะผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ เพื่อเอาความคิดเห็นและเหตุผลของตัวเองเป็นที่ตั้งและทุกๆ คนต้องเอาตามที่เขาว่า ด้วยสำบัดสำนวนกระทบกระเทียบเปรียบเปรย เพื่อเอาความสะใจส่วนตัวมากกว่ามุ่งประเด็นสาระ
6. “คนขี้อาย” เงียบไม่กล้าพูด กลัว เขิน
ไม่อันตรายเท่าไรแต่ก้ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีส่วนร่วม ไม่แลกเปลี่ยน ไม่กล้าถาม ไม่กล้ายกมือแสดงความคิดเห็น มาเพื่อให้จบๆ มาเพราะมาแทนคนอื่น มาเพราะคนอื่นบอกให้มา ไม่พูดดีกว่า หรือบางคน อยากพูด แต่ไม่กล้า ไม่มีช่องเสียบ เพราะคนอื่นแย่งพูดจนเวลาหมด น่าเห้นใจคนกลุ่มนี้มากที่สุด บางครั้งข้อมูล ไอเดียดี แต่ก็เขินอายมากเกินกว่าจะพูด ต้องถูกซัก ถูกจี้ ถูกถามเรียงคนจึงจะพูดได้
7. “คนล้น” มีข้อมูลมาก แต่ไม่สามารถสรุปประเด็นได้
นักเก็บข้อมูล มีข้อมูลมากมายเป็นประโยชน์ แต่ไม่สามารถสรุปเข้าเรื่องเข้าประเด็นได้ ไม่อันตรายเท่าไร ถ้าท่านเป็นวิทยากรแนะนำให้คุยกับคนพวกนี้นอกรอบจะดีกว่า เพราะเขาพร้อมที่จะให้ เสนอข้อมูลต่างๆ ในการประชุม แต่เขาอาจไม่เก่งพอที่จะสรุป หรืออาจไม่กล้าสรุปฟันธง
8. “คนขี้ขโมย” รอเอาความคิดคนอื่นมาเป็นของตัว
คนกลุ่มนี้น่ารังเกียจ ขณะที่วงสนทนากำลังดำเนินไป คนพวกนี้พร้อมที่จะทึกทักเอาความคิดเห็นของผุ้อื่นมาเป็นของตัวเอง เขาคือนักขโมยความคิดและมีสัญชาตญาณในการเอาหน้า เอาผลงานของคนรอบข้าง มาเป็นของตัว
9. “คนยังไงก็ได้” พร้อมเห็นด้วยกับทุกอย่าง
คนพวกนี้คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดในทุกๆ วงประชุม อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ พร้อมรับพร้อมทำ ไม่อยากขัดแย้ง ไม่อยากเสนอแนะอะไร เพราะกลัวว่าเสนอมาอาจไม่ดี หรือยังมีความคิดที่ดีไม่พอ กลัวเสนอไปแล้วผิด หรือดูตลก
10. “คนไม่รักษาเวลา” มาสาย ใช้เวลามาก กินเวลาคนอื่น
อันนี้เป็นส่วนเกินของของวงประชุม ไม่น่าเชิญ พวกเขาไม่รักษากฎระเบียบที่ง่ายที่สุด มาสาย กลับก่อน เวลาพูดก็ใช้เวลายาวนาน น่าเห็นใจ เขาอาจมีธุระสำคัญมากกว่าที่ไหนสักแห่ง ซึ่งพอเข้าใจได้ แต่ถ้าเขารวมเข้ากับนิสัยอื่นๆ อีกข้างต้น จะนับได้ว่า “ไม่ควรเชิญมาร่วมประชุมเลยในทุกๆ กรณี”
ถ้าต้องเป็นผู้ดำเนินการประชุม ประธาน ผู้ร่วมประชุม ผู้จดบันทึกประชุม แล้วต้องเจอคน 10 ประเภทนี้ ขอบอกว่า เวลาการประชุมนั้น “ล้มเหลวแน่นอน” เพราะฉะนั้น หน้าที่ของผู้กำกับ ควบคุม การประชุม ต้องพยายามดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ เวลา รักษามารยาทและกฎเกณฑ์การประชุมอย่างเคร่งครัด จึงจะทำให้การประชุมราบรื่นได้ไอเดียสาระสำคัญไปได้
ประชุมครั้งหน้า ขอเป็นคนจัดเบรก เสิร์ฟกาแฟดีกว่า!!!