สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ได้ร่วมกับ ทีเอ็นเอส (ไทยแลนด์) สำรวจการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลพบว่ามูลค่ารวม 9,869 ล้านบาท มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 62% จากปี 2557 มีมูลค่า 6,113 ล้านบาท จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 8,134 ล้านบาท
ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) บอกว่า ยอดการใช้สื่อโฆษณาดิจิทัลของไทย มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปี 2558 ที่คาดว่าจะเติบโตถึง 62% และมีสัดส่วน 8-9% ของงบโฆษณาโดยรวม แต่หากนำไปเทียบกับการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของทั้งโลก ที่มีสัดส่วน 30% ก็ยังถือว่าน้อยอยู่
ส่วนการที่แบรนด์หันมานิยมใช้สื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาจาก เทคโนโลยีเปลี่ยน การเกิดของ 3 จี 4 จี ราคาของสมาร์ทโฟนถูกลง การเข้าถึงทำได้ง่ายขึ้น เขายกอย่างคนต่างจังหวัดก็เข้าถึงสื่อดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงแล้ว คนเหล่านี้ ส่งข้อความผ่าน Line ดูวิดีโอจาก Youtube กันจนเป็นปกติแล้ว
เมื่อมาลงรายละเอียดมากขึ้น จะพบว่าเม็ดเงินโฆษณาเหล่านี้ใช้ผ่านประเภทสื่อดิจิทัลชนิดใดบ้าง ผลวิจัยพบว่า Display Advertising เช่น โฆษณาแบนเนอร์ต่างๆ เฟซบุ้ค และวิดีโอออนไลน์ ป็นสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เฟซบุ้ค ครองส่วนแบ่งเพิ่มสูงสุดจาก 16% ในปี 2557 เดิมคาดการณ์ว่าจะมีการใช้มากขึ้นเป็น 16.5% แต่กลับเพิ่มขึ้นถึง 21.4 % ปี 2558 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจง และสามารถทำให้แบรนด์ engage กับผู้บริโภคได้
ส่วน Display Advertising ที่ครองสัดส่วน 28.7% ในปี 2558 เพิ่มจากปี 2557 มีสัดส่วน 27.2% มากที่สุดในบรรดาสื่อดิจิทัลทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแบรนด์มองว่า การลงโฆษณาผ่านแบนเนอร์ยังคงได้ผลดี และมีทางเลือกมาก
เช่นเดียวกับโฆษณาผ่านวิดีโอ บน Youtube ที่มีสัดส่วน 16.5 % ในปี 2558 เพิ่มจากปี 2557 มีสัดส่วน 15.6% เป็นสื่อดิจิทัลที่มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตา
ศิวัตร มองว่า ทิศทางการเติบโตของวิดีโอ จะคล้ายกับดูทีวี เนื่องจากคนพฤติกรรมคนไทยชื่นชอบความบันเทิง นิยมดูภาพยนตร์ คลิปละครย้อนหลัง ทำให้วิดีโอได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนสื่อออนไลน์ที่การใช้เม็ดเงินโฆษณาลดลง คือ เสิร์ช (search) ลดลงจาก 21% ปี 2557 เดิมคาดการณ์ว่าลดลงเหลือ 19.7% แต่กลับลดลง 13%
นอกจากนี้ Instant Messaging เช่น การออกสติ๊กเกอร์ และเป็นออฟฟิเชียล สปอนเซอร์ ผ่าน LINE มีสัดส่วนการใช้งบโฆษณาลดลง จากปี 2557 มีสัดส่วน 4.5% ลดลงเหลือ 2.7% ในปี 2558 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ การออกสติ๊กเกอร์แต่ละครั้งต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ทำให้มีเฉพาะแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่ยังคงออกสติ๊กเกอร์เพื่อรักษาฐานสมาชิกไว้
ศิวัตร มองว่า ความนิยมการใช้สื่อโฆษณาดิจิทัล ยังคงให้น้ำหนักไปที่ เฟซบุ้ค เสิร์ช วิดีโอ เช่นเดิม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีสื่อดิจิทัลใหม่ๆ โดยที่สื่อโฆษณาดิจิทัลจะพัฒนาให้ฉลาดขึ้น เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ลึกขึ้น เช่น รีทาร์เก็ตติ้ง เป็นต้น
สื่อสารครองแชมป์ใช้งบสื่อดิจิทัลมากสุด
อสังหาฯ – ผลิตภัณฑ์ผม – อาหารมาแรง
สำหรับ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มใช้งบโฆษณารวมกับสื่อดิจิทัลมากที่สุด คือ กลุ่มสื่อสารที่ 1,302 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มยานยนต์ 969 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว 665 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผม 583 ล้านบาท และกลุ่มการเงินและธนาคาร 536 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเพิ่มในมูลค่าสูงที่สุดเทียบจากปี 2557 คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 338 ล้านบาท) กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผม (ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 295 ล้านบาท) และกลุ่มอาหารและขนมขบเคี้ยว (ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 240 ล้านบาท)