ในสายตาสาวกแอปเปิล (Apple) แต่ละครั้งที่มีการจัดอีเว้นท์เปิดตัวโปรดักซ์ย่อมมีความหมาย และสามารถกระตุ้นให้บรรดาสาวกอยากควักกระเป๋าซื้อหาไอเท็มใหม่ ๆ มาไว้ในครอบครอง
…(แฟน ๆ) กูเกิล (Google) ก็ไม่ต่างกัน…
29 กันยายนที่ผ่านมาจึงเป็นอีกหนึ่งวันที่แฟนคลับกูเกิลได้ยลโฉมโปรดักซ์ใหม่ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น แอนดรอยด์ 6.0 มาร์ชเมลโล ระบบปฏิบัติการตัวล่าสุด, สมาร์ทโฟน Nexus 6P และ 5x แท็บเล็ต Pixel C และอุปกรณ์ Chromecast ซึ่งจนถึงวันนี้ น้อยมากที่จะมีเสียงวิจารณ์ในเชิงลบตามมา จะมีก็แต่เพียงคำเตือนในการอัปเดตเป็นแอนดรอยด์ 6.0 ว่าอาจทำให้เครื่องเกิดปัญหาบางประการได้ เนื่องจากฟีเจอร์ใหม่อย่างเช่น การขอ App Permission นั้นอาจมีแอปบางตัวได้รับผลกระทบนั่นเอง
7 ฟีเจอร์เด่น “มาร์ชเมลโล”
แอนดรอยด์ 6.0 มาร์ชเมลโลรับบทพระเอกของงานนี้เลยทีเดียว เพราะเป็นแกนหลักในการนำเสนอฟีเจอร์ต่าง ๆ ตลอดงาน ซึ่งใน “มาร์ชเมลโล” เราอาจไม่ได้เห็นการเปลี่ยนอินเทอร์เฟส หรือการปรับโฉมครั้งใหญ่ แต่หลัก ๆ คือการแก้ไขจุดบกพร่องในอดีต และปรับปรุงให้ระบบทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งมาร์ชเมลโลมีจุดเด่นที่รวบรวมมาได้ดังนี้
1. Doze Mode
โหมดประหยัดพลังงานของแอนดรอยด์ 6.0 ที่ช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ได้เพิ่มขึ้นราว 30 เปอร์เซ็นต์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง โดยโหมดดังกล่าวนี้เป็นการทำงานร่วมกันของเซนเซอร์ และซอฟต์แวร์ในการตรวจสอบว่าอุปกรณ์นั้น ๆ ถูกวางทิ้งไว้โดยไม่มีการใช้งานหรือไม่ ถ้าพบว่าใช่ มันจะยุติการทำงานของระบบหลาย ๆ ตัวลงไป เพื่อช่วยประหยัดพลังงานให้กับตัวเครื่องนั่นเอง ทั้งนี้ กูเกิลระบุว่า ผู้ใช้จะยังได้รับการแจ้งเตือนจากแอปต่าง ๆ ที่ส่งเข้ามาได้เช่นเดิม
2. Google Now on Tap
ฟังดูชื่อยาวไปสักนิด แต่ Google Now on Tap เป็นฟีเจอร์ที่ออกแบบเพิ่มเติมต่อจาก Google Now ซึ่งจะเข้าไปช่วยเพิ่มข้อมูลให้ถึงภายในแอปโดยตรง ซึ่งการทำงานของ Google Now on Tap นี้ จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับแอปต่าง ๆ ที่ผู้ใช้ใช้งานอยู่ เพียงกดปุ่ม Home ค้างไว้ Google Now จะวิเคราะห์ข้อมูลและแสดงผลของข้อมูลที่ผู้ใช้ “น่าจะ” ต้องการออกมาให้ เช่น สมมติว่าผู้ใช้อยู่ในแอปสำหรับแชตยี่ห้อหนึ่ง และมีการส่งข้อความคุยกับเพื่อนว่า “เย็นนี้ไปกินพิซซ่า xxx กันเถอะ” เมื่อกดปุ่ม Home ค้างไว้ Google Now on Tap จะค้นหาเส้นทางการไปร้านพิซซ่า xxx ขึ้นมาให้ รวมถึงเวลาเปิดปิดร้าน และรีวิวเกี่ยวกับร้านนี้ด้วย
3. Cut, Copy, Paste ง่ายขึ้น
ในการใช้งานแอนดรอยด์เวอร์ชันก่อนหน้า เวลาผู้ใช้เลือกคำที่ต้องการได้แล้ว ระบบจะแสดงแท่งบาร์ขึ้นมาที่ด้านบนของหน้าจอพร้อมไอคอนให้เลือกมากมาย ซึ่งสำหรับบางคน อาจต้องการแค่ cut, copy และ paste เท่านั้น
ในแอนดรอยด์ 6.0 ดูเหมือนกูเกิลจะรับฟังเสียงจากผู้ใช้งาน โดยเมื่อเลือกภาพหรือข้อความที่ต้องการได้แล้ว จะมีเมนูป๊อปอัป “cut, copy และ paste” ขึ้นมาเหนือข้อความที่เราเลือกทันที ซึ่งในจุดนี้ อาจฟังดูคล้ายการทำงานของ iOS แต่เชื่อว่าการปรับที่อยู่ให้ cut, copy และ paste ใหม่นี้ จะทำให้การทำงานบนแอนดรอยด์สะดวกขึ้นมากเลยทีเดียว
4. การขอ App Permission แบบใหม่
หากคุณใช้เฟซบุ๊ก แต่คุณไม่ต้องการให้แอปสามารถแอคเซสข้อมูลของกล้อง หรือ Location ได้ ในแอนดรอยด์ 6.0 คุณสามารถทำได้แล้ว หรือก็คือ แอนดรอยด์ 6.0 ให้คุณสามารถกำหนดได้ว่า แอปแต่ละตัวจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงฟีเจอร์ใดบนเครื่องได้บ้างนั่นเอง
5. มีการทำแบคอัป App และรีสโตร์ให้โดยอัตโนมัติ
ในแอนดรอยด์ 6.0 จะมีการทำงานอย่างหนึ่งนั่นก็คือการแบ็คอัปข้อมูล และแอปให้โดยอัตโนมัติไปยัง Google Drive ซึ่งหากคุณทำโทรศัพท์พัง หรือเปลี่ยนเครื่องใหม่ ฟีเจอร์ตัวนี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถรีสโตร์ข้อมูลต่าง ๆ ลงมาในเครื่องใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
6. แอนดรอย์เพย์
กูเกิลตัดสินใจผนวกแอนดรอยด์เพย์ลงในมาร์ชเมลโล ส่วนหนึ่งเพื่อกระตุ้นตลาดธุรกรรมทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟนในสหรัฐอเมริกาได้แจ้งเกิด และมีมูลค่าตลาดเติบโตมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีบิ๊กเนมเพียงรายเดียว นั่นก็คือค่ายแอปเปิล (Apple) เปิดตัวแอปเปิลเพย์ และยังไม่สามารถสร้างอิมแพคได้มากพอ
7. การยืนยันตัวบุคคลผ่านลายนิ้วมือ
เป็นเทรนด์ระบบรักษาความปลอดภัยที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแทบทุกค่ายต่างต้องพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งการยืนยันตัวบุคคลผ่านลายนิ้วมือได้ถูกเพิ่มเข้ามาในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันนี้เป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนของเน็กซัส (Nexus) รุ่น Nexus 5, 6, 9 และ Nexus Player จะเป็นกลุ่มที่ได้รับอัปเดตเป็นแอนดรอยด์ 6.0 เป็นกลุ่มแรก
ไม่เพียงเท่านั้น ในงานวันนี้ยังเป็นเวทีให้กูเกิลได้ประกาศศักดาว่าแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งาน 1.4 พันล้านคนแล้วอีกด้วย หลังจากเคยบันทึกสถิติมียอดผู้ใช้งานทะลุ 1 พันล้านคนครั้งแรกไปเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2013
อย่างไรก็ดี ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวเป็นตัวเลขที่บริษัทการ์ทเนอร์ (Gartner) ให้ความเห็นว่า เป็นการเติบโตที่ค่อนข้างช้าพอสมควร แต่ทางซีอีโอของกูเกิลอย่าง Pichai Sundar ก็ได้ออกมาบอกว่า แอนดรอยด์ยังคงเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในตลาด Emerging Market เช่น ประเทศเวียตนาม และอินโดนีเซีย พร้อมกับกล่าวด้วยว่า ในหลายๆ ประเทศการเข้ามาของแอนดรอย์เป็นการทำให้ประชากรในประเทศนั้นๆ ได้มีโอกาสสัมผัสสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรกด้วย
โดยซันดาร์ได้ยกตัวอย่างของแอนดรอยด์วัน สมาร์ทโฟนราคาประหยัดที่มีการทำตลาดในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อน้อย พร้อมยกตัวอย่างว่า สามารถทำสถิติโทรศัพท์ที่ขายดีที่สุดในตุรกีเลยทีเดียว
Nexus 6P” ดีที่สุดเท่าที่เคยผลิตมา
หันมาทางด้านฮาร์ดแวร์กันบ้าง 29 กันยายนถือเป็นฤกษ์ดีที่กูเกิลได้เปิดตัว “สมาร์ทโฟนที่ยอดเยี่ยมที่สุด” ที่บริษัทได้มีการผลิตขึ้นมา หรือก็คือ “Nexus 6P” ในราคาเริ่มต้นที่ 499 เหรียญหรือประมาณ 18,000 บาทสำหรับการซื้อเครื่องเปล่า โดยมาพร้อมหน้าจอขนาด 5.7 นิ้วใช้เทคโนโลยี AMOLED ความละเอียดระดับ WQHD (2560 x 1440 พิกเซล) แสดงภาพคมชัดที่ความหนาแน่น 518 พิกเซลต่อนิ้ว ทั้งหมดนี้ทำงานบนชิปออคต้าคอร์ Snapdragon 810 ซึ่งรองรับสถาปัตยกรรม 64 บิต
ตัวเครื่องของ Nexus 6P ยังเป็นอลูมิเนียมชิ้นเดียว และมีน้ำหนักเบา 178 กรัม เบากว่าคู่แข่งรายสำคัญอย่าง iPhone 6s Plus ที่หน้าจอเล็กกว่า 5.5 นิ้วแต่หนัก 199 กรัมด้วย
นอกจากนั้นภายในงานแถลงข่าวเปิดตัว จะพบว่า กูเกิลค่อนข้างใช้เวลาสำหรับการ “โชว์ออฟ” เทคโนโลยีจากกล้องของ Nexus 6P มากเป็นพิเศษว่ามันสามารถถ่ายภาพในที่ร่ม รวมถึงภาพในที่มีแสงน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีการระบุว่า เป็นกล้องที่ดีที่สุดที่เคยใส่เข้ามาในสมาร์ทโฟนของ Nexus เลยทีเดียว (สำหรับกล้องที่มาใน Nexus 6P นั้น กล้องหน้าถ่ายภาพได้ที่ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ส่วนกล้องหลังอยู่ที่ 12 ล้านพิกเซล)
ไม่เพียงเท่านั้น Nexus 6P ยังมาพร้อมแบตเตอรี่ 3,450 mAh และพื้นที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ 32GB, 64GB และ 128GB เลยทีเดียว
Nexus 5X (ซ้าย) และ Nexus 6P
ส่วนน้องอีกคนอย่าง Nexus 5X อาจดูเป็นรองไปบ้าง หากนำหน้าตา และวัสดุที่ใช้ในการผลิตไปเปรียบเทียบกับ 6P โดย Nexus 5X เป็นผลงานการผลิตของแอลจี ที่กูเกิลจัดไว้ในกลุ่มของสมาร์ทโฟนราคาย่อมเยา ที่ทุกคนสามารถซื้อหามาเป็นเจ้าของได้ แต่ถ้าพิจารณาจากฟีเจอร์แล้ว Nexus 5X ก็ถือว่าไม่ธรรมดา กับหน้าจอ 5.2 นิ้ว และแบตเตอรี่ที่ขนาดใหญ่ขึ้นกว่า Nexus 5 นอกจากนั้น มันยังรองรับการสแกนลายนิ้วมือ และใช้ USB-C ไม่ต่างจาก 6P อีกด้วย โดยกูเกิลตั้งราคาเริ่มต้นไว้ที่ 379 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13,800 บาท
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการใช้แท็บเล็ต กูเกิลก็มีอีกหนึ่งโปรดักซ์ออกมาเอาใจด้วยเช่นกันกับ “Pixel C” แท็บเล็ตขนาด 10.2 นิ้วที่ใช้โปรเซสเซอร์ Nvidia X1 และแรม 3 GB โดยตัวเครื่องจะขายที่ราคา 499 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 18,000 บาท) ส่วนคีย์บอร์ดขายที่ 149 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,400 บาท)
สุดท้าย กับอุปกรณ์ Chromecast 2 (เครื่องรับสัญญาณภาพและเสียงจากอุปกรณ์ที่รันแพลตฟอร์มแอนดรอยด์) ที่มาพร้อมดีไซน์แบบใหม่ โดยกูเกิลบอกว่าดีไซน์ใหม่นี้ทำให้เสียบสายเข้ากับตัวเครื่องทีวีได้ง่ายขึ้น แถมมีสีมากมายให้เลือก (เหลือง, ดำ, แดง) ในราคาเบา ๆ เพียง 35 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,280 บาท) ซึ่งในรุ่นนี้ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพของ WiFi ให้รองรับ Wi-Fi 802.11ac ทั้ง 2.4GHz และ 5GHz
ส่วน “Chromecast Audio” ซึ่งสามารถรับสัญญาณเสียงได้เพียงอย่างเดียว (จากอุปกรณ์แอนดรอยด์) ก็ถูกตั้งราคาไว้ที่ 35 เหรียญสหรัฐเช่นกัน ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องเสียงของบ้าน และส่งเพลงจาก Google Play Music, Pandora หรือ Spotify มาฟังได้อย่างสบาย ๆ และสามารถควบคุมได้ผ่านสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ รวมถึงนาฬิกาอัจฉริยะบนแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ด้วย
อย่างไรก็ดี ข่าวงานอีเว้นท์ของกูเกิลครั้งนี้อาจไปได้สวยหากไม่มีประกาศจากแอมะซอน (Amazon) เว็บไซต์ชื่อดังว่าจะไม่ขายเครื่องเล่นที่ไม่ใช่ของบริษัทตนเอง – บริษัทในเครือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับว่าอุปกรณ์อย่าง Chromecast จะไม่สามารถใช้ช่องทางนี้ในการจัดจำหน่ายได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ จากประกาศของแอมะซอนสังเกตได้ว่า แอมะซอนจะขายเฉพาะเครื่องเล่นที่ทำงานร่วมกับ Prime Video บริการของทางค่ายเท่านั้น ส่วนโปรดักซ์อื่น ๆ นั้นจะถูกถอนออกจากเว็บไซต์ภายใน 29 ตุลาคม ค.ศ. 2015
จับตากูเกิล – หัวเว่ย
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่น่าจับตามองมากที่สุดเบื้องหลังภาพความสำเร็จในงานอีเว้้นท์ดังกล่าวก็คือ ความใกล้ชิดระหว่างกูเกิลกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่รับหน้าที่ผลิตสมาร์ทโฟน Flagship อย่าง “หัวเว่ย” (Huawei) ซึ่งปัจจุบันหัวเว่ยเป็น แบรนด์สมาร์ทโฟนจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งอันดับ 4 ของโลก ซึ่งคำถามว่า ทำไมต้องเป็นหัวเว่ยนั้น อาจเป็นผลมาจากความสำเร็จของการพัฒนาสมาร์ทโฟน Mate และ P Series ที่เข้าไปเจาะตลาดยุโรปได้สำเร็จ และทำให้หัวเว่ยเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนไฮ-เอนด์จากซีกโลกตะวันตก และมีแต้มต่อเทียบเท่าซัมซุง (Samsung) แบรนด์ดังจากเกาหลีใต้
นอกจากนี้ การรับผลิตสมาร์ทโฟนให้แก่กูเกิลยังทำให้หัวเว่ยมีโอกาสรุกคืบเข้าตลาดสหรัฐอเมริกาได้เป็นอย่างดี และยังทำให้ชื่อของหัวเว่ยในระดับโลกได้รับการการันตีคุณภาพมากขึ้นอีกด้วย
ส่วนกูเกิลเองก็ได้ประโยชน์จากการจับมือกับหัวเว่ยไม่ใช่น้อย เพราะหัวเว่ยสามารถตอบโจทย์ความต้องการหลายๆ อย่างของกูเกิลได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องการรุกคืบในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่กูเกิล และบริษัทไอทีสัญชาติสหรัฐอเมริกาหลายๆ แห่งต้องเจอต่อการปิดกั้นอย่างหนัก
การจับมือกับหัวเว่ย ไม่เพียงแต่ทำให้กูเกิลสามารถนำบริการของตนเอง เช่น จีเมล (Gmail) กูเกิลแมปส์ (Google Maps) ซึ่งปกติแล้วไม่สามารถใช้งานได้บนแผ่นดินจีนกลับเข้าไปตีตลาดได้เท่านั้น แต่ยังทำให้ลูกค้าชาวจีนสามารถเข้าถึงแอปตัวอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกจำกัดการใช้งานด้วย งานนี้จึงอาจสรุปได้ว่า วิน-วินทั้งสองฝ่ายเลยก็ว่าได้