ตัวเลขซื้อขายออนไลน์ของประเทศไทยที่พุ่งขึ้นถึง 1.47 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้บริการ e-payment กำลังเป็นธุรกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งธนาคาร 3 ค่ายโอเปอเรเตอร์มือถือ รวมทั้งแอป เพย์เมนต์ที่เข้าสู่สนามธุรกิจใหม่นี้กันอย่างคึกคัก
จุดสำคัญที่ทำให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตธุรกิจดิจิตอลเพย์เมนต์ หรือ อีเพย์เมนต์ ที่คาดว่าจะเติบโตแบบก้าวกระโดดในปี 2016 มาจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ราย ต่างมีการปรับภาพลักษณ์ เพิ่มการสร้างแบรนด์ เปลี่ยนโครงสร้างเพื่อให้รองรับการเปิดให้บริการ ‘อีเพย์เมนต์’ ที่จะครอบคลุมในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือไปจากโอเปอเรเตอร์แล้ว การให้บริการธุรกรรมออนไลน์ของธนาคารก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ จะเห็นได้จากการที่ธนาคารหลายรายเริ่มมีการลงทุนทั้งการปรับเปลี่ยนระบบให้รองรับการทำธุรกรรมออนไลน์ รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนให้ใช้งานได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ไม่เช่นนั้น ยังมีผู้ให้บริการที่มองถึงโอกาสในการสร้างจุดแข็งของบริการใหม่ในกลุ่มนี้ ด้วยการลงทุนผลิตแอปพลิเคชัน พร้อมผนึกกับพันธมิตรมาร่วมชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้ด้วย ทำให้ทั้งผู้ให้บริการเดิมจำเป็นต้องมีการขยับ ขณะเดียวกันผู้ให้บริการรายใหม่ก็ต้องสร้างการรับรู้จากผู้บริโภคด้วย
บริการส่วนใหญ่ที่ทุกรายมีเหมือนกันคือ การรับจ่ายเงินค่าสาธารณูปโภค จ่ายค่าบัตรเครดิต บริการสินเชื่อต่างๆ ซึ่งแต่ละรายก็จะชูจุดเด่นแตกต่างกันไปตั้งแต่ฟรีค่าธรรมเนียมในการใช้งาน ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้เชิญเพื่อนมาใช้เพื่อรับเงินเข้าบัญชี
ปานเทพย์ นิลสินธพ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานผลิตภัณฑ์บริการทางการเงิน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในกลุ่มไฟแนนเชียลเซอร์วิสของดีแทค มีการแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตามลูกค้า คือการเป็นเพย์เมนต์เกตเวย์ (Payment Gateways) ให้แก่กลุ่มร้านค้าออนไลน์ ถัดมาคือบัตรเครดิตเสมือน (Mobile Credit) หรือกระเป๋าเงินออนไลน์ (e-Wallet) และสุดท้ายคือบริการ แจ๋ว บริการโอน-รับ-จ่าย ผ่านโทรศัพท์มือถือ
“ในแต่ละกลุ่มลูกค้าก็จะมีความต้องการไม่เหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากกลุ่มเพย์เมนต์เกตเวย์ ลูกค้าหลักๆ จะกลายเป็นร้านค้าออนไลน์ ที่ต้องการเปิดช่องทางรับ–จ่ายเงินให้แก่ลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งในตลาดนี้จะมีผู้เล่นรายใหญ่ๆ อยู่ประมาณ 3 เจ้า มีส่วนแบ่งในตลาดใกล้เคียงกัน”
ด้วยการที่ดีแทคเข้าไปซื้อกิจการเพย์สบาย (Paysbuy) มาตั้งแต่ปี 2004 ทำให้ดีแทคมีใบอนุญาตในการให้บริการธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ในแทบทุกประเภท ดังนั้นจึงถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ดีแทคสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดนี้ได้เร็วขึ้น
ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่ใช้งานกระเป๋าเงินออนไลน์ หรือบัตรเครดิตเสมือน ก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมออนไลน์ แต่ยังกังวลในแง่ของความปลอดภัยในการใช้บัตรเครดิต รวมถึงการกำหนดวงเงินในการใช้งานให้เหมาะสม จึงถือเป็นอีกบริการที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น
“ผู้บริโภคหลายรายกังวลถึงการผูกบัตรเครดิตเข้ากับบัญชีผู้ใช้ออนไลน์ เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถจำกัดวงเงินได้ การมีบัตรเครดิตเสมือนเข้ามาทำให้ผู้ใช้สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายได้ว่าจะใส่เงินเข้าไปในระบบเท่าใด รวมถึงกรณีโดนขโมยข้อมูลก็จะสูญเสียเงินเฉพาะที่ใส่ไว้เท่านั้น“
ทั้งนี้ มีผลสำรวจจากทาง เพย์พาล (PayPal) ระบุว่า ปัจจุบันการซื้อขายออนไลน์ของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1.47 หมื่นล้านบาท มียอดค่าใช้จ่ายเงินเฉลี่ยต่อคนถึง 13,181 บาท และ 71% ของยอดรวมซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดมาจากกลุ่มคนที่มีรายได้ในระดับปานกลาง
แต่ที่น่าสนใจคือ การใช้จ่ายทางออนไลน์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์เป็นหลัก ไม่ใช่การใช้บัตรเครดิต โดยสัดส่วนการใช้งานบัตรเครดิตในไทยจะอยู่ที่ประมาณ 3% เท่านั้น เมื่อเทียบกับในต่างประเทศอย่างในสหรัฐอเมริกาจะใช้บัตรเครดิตกันสูงถึง 38-40%
ปัจจุบัน ดีแทคมีฐานลูกค้าที่สมัครใช้งานในกลุ่มของกระเป๋าเงินออนไลน์ ราว 3 แสนราย แต่มีการใช้งานเป็นประจำประมาณ 1 แสนราย ในขณะที่บริการแจ๋วก็มียอดผู้ใช้งานเติบโตขึ้นราว 10% ต่อเนื่องในแต่ละเดือน
ปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางต่อของบริการเอ็มเปย์ คือ การเปิดให้ลูกค้าทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของเอไอเอส จากเดิมที่เปิดให้บริการเฉพาะลูกค้าในระบบเท่านั้น
“การเปิดให้ลูกค้าทั่วไปสามารถใช้งานบริการเอ็มเปย์ได้จะช่วยเพิ่มปริมาณลูกค้าที่ใช้งานเพิ่มเป็น 1.5 ล้านราย จากที่ใช้งานในปัจุบัน 1.4 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ และจะเติบโตต่อเนื่องที่ 20-30% ต่อไป”
แต่ด้วยข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำหนดให้ผู้ที่สมัครที่ยังไม่ได้ยืนยันตัวตนสามารถใช้งานได้ในวงเงิน 5,000 บาท แต่ถ้ามีการยืนยันเรียบร้อยก็จะเพิ่มวงเงินเข้าไปเทียบเท่ากับลูกค้าของเอไอเอสที่ใช้งานได้
การที่เอไอเอสเพิ่งเริ่มเปิดให้ผู้ใช้บริการทั่วไปสามารถใช้งานระบบได้ เนื่องมาจากมองว่าปัจจุบันถึงเวลาที่ใช่สำหรับการให้บริการในยุคดิจิตอลเพย์เมนต์แล้ว เพราะลูกค้าที่ใช้งานส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟน และกลายเป็นปัจจัยที่ 6 ในการใช้ชีวิตแล้ว
มองว่าในปี 2016 ถือเป็นช่วงสำคัญของตลาดที่จะเกิดการแข่งขันในธุรกิจอีเพย์เมนต์อย่างเต็มรูปแบบ เพราะผู้ให้บริการแต่ละรายต่างพร้อมที่จะเข้ามาให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อสร้างการใช้งานธุรกรรมออนไลน์ให้หลากหลายขึ้น
อย่างไรก็ตาม เอ็มเปย์ ถือเป็นบริการรายสุดท้ายในกลุ่ม 3 โอเปอเรเตอร์ที่เปิดให้ลูกค้าทั่วไปสามารถใช้งานได้ เพราะก่อนหน้านี้ทั้งทรูมันนี่ และเพย์สบาย ไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ทำให้ลูกค้าสามารถสมัครใช้งานได้ทันที
ปานเทพย์ กล่าวว่า ในช่วงปลายปีนี้ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายจะรวมตัวกัน เปิดให้สามารถโอนเงินข้ามระบบกันได้ระหว่างเพย์สบาย เอ็มเปย์ และทรูมันนี่ ซึ่งมีการประกาศความร่วมมือไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ระบบพร้อมจะเปิดให้ใช้งานภายในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
ส่วนทางกลุ่มทรู หลังจากที่มีการตั้งบริษัท แอสเซนต์ ขึ้นมาและดึงทั้งธุรกิจอีเพย์เมนต์อย่างทรูมันนี่ รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่าง ไอทรูมาร์ต และวีเลิฟชอปปิ้ง มาอยู่ภายใต้บริษัท ก็ยังไม่มีความคืบหน้าถึงแนวทางในการให้บริการในธุรกิจนี้อย่างชัดเจน
สรรเสริญ สมัยสุต หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท แอสเซนต์ กรุ๊ป จำกัด เคยให้ข้อมูลว่า จุดประสงค์หลักของแอสเซนต์ กรุ๊ป คือการสร้างอินฟราสตรักเจอร์ทางด้านธุรกิจดิจิตอล ให้กลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดกลางและย่อม เข้าถึงเทคโนโลยีทางการตลาดในระดับราคาที่เหมาะสม
ทิศทางการให้บริการจะไม่ได้ครอบคลุมเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะรวมถึงการให้บริการภายในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักสำหรับทรูมันนี่ ยังคงเป็นลูกค้าในกลุ่มเติมเงินเพื่อเล่นเกม
“เคแบงค์” ส่งบริการ Pay PLUS เอาใจคนไร้บัตรเครดิต
ทางด้าน “กสิกรไทย” ยักษ์ใหญ่วงการดิจิทัล แบงกิ้ง ก็ได้เปิดตัวบริการ Pay PLUS เป็นรูปแบบของ Mobile Payment ในงานผ่านแอปพลิเคชัน K-Mobile Banking PLUS ที่สามารถชำระค่าสินค้า และบริการผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ผูกกับแอปพลิเคชัน โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต
บริการนี้กสิกรไทยพัฒนาขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ในตลาด Mobile Payment ที่ส่วนใหญ่แล้วต้องใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตในการชำระสินค้า แต่บริการนี้ไม่ต้องจำตัวเลขบัตรหรือเลขบัญชีที่จะต้องกรอกทุกครั้งในการทำธุรกรรม เพียงแค่กรอกเบอร์โทรศัพท์ แล้วทางธนาคารจะหักเงินจากบัญชีที่ผูกกับ K-Mobile Banking PLUS ทันที
เพื่อต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กมากขึ้น หรือ First Jobber ที่ยังไม่มีบัตรเครดิตเป็นของตัวเอง โดยมีการจับมือกับพันธมิตรที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ ได้แก่ เอไอเอส, เซ็นทรัล ออนไลน์, เอสเอฟ ซีนีม่า, ไทยทิคเก็ตเมเจอร์, นครชัยแอร์, นกแอร์, ทรู ดิจิตอล พลัส และเมืองไทยประกันชีวิต
ตัวอย่างการให้บริการ เช่น เอไอเอส เพิ่มช่องทางการชำระเงิน หรือโอนเงินเข้า mPay ได้ ซึ่งลูกค้าสามารถดูบิลออนไลน์และจ่ายบิลด้วยการกดไอคอน Pay PLUS และจะทำการหักจากบัญชีทันที หรือการซื้อบัตรจากไทยทิคเก็ตเมเจอร์ในช่องทางออนไลน์ สามารถชำระเงินได้เลย โดยที่ไม่ต้องเข้า Payment Gateway อื่น
ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการดิจิทัล แบงกิ้งในประเทศไทย 19 ล้านคน เติบโตจากปี 2557 ราว 37% มีปริมาณธุรกรรมสูงถึง 10.7 ล้านล้านบาท ธนาคารกสิกรไทยมีผู้ใช้งานดิจิทัล แบงกิ้งกว่า 7 ล้านคน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 38%
ในปีนี้กสิกรไทยตั้งเป้าธุรกรรมผ่านดิจิทัล แบงกิ้ง 3.5 ล้านล้านบาท โดยในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมามีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือทั้งโอนเงิน และชำระเงิน 32 ล้านรายการ คิดเป็นสัดส่วน 44% ของธุรกรรมการโอนเงิน และชำระเงินรวมของธนาคาร
***ดึงธุรกิจเครือข่ายสร้างอีเพย์เมนต์
นอกจากนี้ ฟิล์ม รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ นักร้องนักแสดงเป็นอีกหนึ่งรายที่หันเข้ามาให้ความสนใจในธุรกิจอีเพย์เมนต์ ด้วยการตั้งบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชัน เพล์ออล กรุ๊ป ขึ้นมาเพื่อเปิดให้บริการแอป ‘เพย์ออล’ โดยนำประสบการณ์จากระบบขายตรงกว่า 10 ปี มาพัฒนาต่อยอดออกเป็นแอปพลิเคชันให้ผู้บริโภค
โดยวางแผนการพัฒนาไว้ 4 ช่วงให้ครอบคลุมการจับจ่ายใช้สอยของคนรุ่นใหม่ คือ การเปิดแนะนำตัวแอปพลิเคชัน เพย์ออล การพัฒนาคอนเทนต์ร่วมกับพาร์ตเนอร์ การพัฒนาคอนเทนต์ด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ และ 4.การพัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของร้านค้าอื่นๆ ได้
ขณะที่ 4 บริการหลักในแอปคือ เพย์ดีล การนำส่วนลดพิเศษจากร้านค้ามาให้สมาชิก เพย์ชอป แหล่งรวมสินค้าแบรนด์เนมให้สามารถซื้อผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ เพย์บิล สำหรับใช้ชำระค่าสาธารณูปโภค และเพย์แคช ใช้จ่ายค่าสินค้าหรือบริการตามร้านค้าที่ร่วมรายการ
จุดเด่นหลักของ เพย์ออล คือการที่ผู้ใช้สามารถสมัครสมาชิกเป็นระดับวีไอพี และจะได้ข้อเสนอพิเศษอย่างส่วนลดสินค้า การเข้าถึงบริการ ซึ่งถือเป็นการนำแนวคิดของธุรกิจเครือข่ายมาต่อยอดภายในแอปพลิเคชัน และเมื่อมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ใช้ด้วย
ปัจจุบัน เพย์ออลมีพาร์ตเนอร์เข้าร่วมกว่า 400 บริษัท แบ่งเป็นสินค้าของบริษัทกว่า 100 รายการ สินค้าเพย์ชอปประมาณ 1,000 รายการ และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีสมาชิกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันเพย์ออลทั้งสิ้น 100,000 ราย และหวังว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000,000 รายในปี 2559
***ผุด เพย์ โซเชียล รับซื้อของผ่านโซเชียลมีเดีย
การที่โซเชียลมีเดียถือเป็นอีกช่องทางจำหน่ายสินค้าที่สำคัญ ทำให้มีบริษัทที่มองเห็นถึงการใช้ช่องทางดังกล่าวในการนำระบบอีเพย์เมนต์เข้ามารับชำระเงิน ด้วยบริการ ‘เพย์ โซเชียล’ (Pay Social) เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์นำไปใช้งาน
ศุภชัย กาญจนศักดิ์ชัย ผู้อำนวยการบริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด ให้ข้อมูลว่า เพย์ โซเชียล ถือเป็นอีกช่องทางรับการชำระเงินออนไลน์ในโลกของโซเชียลมีเดียทุกระบบ โดยร้านค้าออนไลน์สามารถเปิดระบบชำะระเงินได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน เมื่อต้องการคิดเงินก็เพียงส่งลิงก์ให้ลูกค้าทำการคลิกเพื่อชำระเงิน โดยมีการรับชำระผ่านบัตรเครดิต เดบิต ระบบเงินผ่อน รวมไปถึงจุดบริการรับชำระต่างๆ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งร้านค้าจะคิดค่าธรรมเนียม 3.75% ต่อรายการ
ทางเพย์ โซเชียล ได้มีการสำรวจการใช้งานโซเชียลมีเดียของไทยพบว่า เฟซบุ๊กมีผู้ใช้กว่า 37 ล้านคน อินสตาแกรมมีประมาณ 7.8 ล้านคน และพบว่ามีจำนวนร้านค้าในเฟซบุ๊กประมาณ10,515ร้านค้า และมีการเปิดเพจขายของกว่า1,100,000 เพจ ส่วนอินสตาแกรมมีจำนวนร้านค้าทั้งหมด11,213ร้านค้า
โดย 50% ของผู้ใช้งานทำการซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย เนื่องจากมองเห็นว่ามีความสะดวกสบายและมีราคาถูกกว่าราคาที่ขายด้านนอก โดยมีราคาเฉลี่ยในการซื้อขายต่อครั้งอยู่ที่ 500-1,000 บาท เฟซบุ๊ก ไลน์ และอินสตาแกรม เป็นโซเชียลมีเดียที่มีการใช้งานมากที่สุด
LINE Pay ก็มา
ส่วนทางด้าน LINE แชตแอปพลิเคชันอันดับ 1 ของไทย ก็เปิดตัว LINE PAY เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ไว้เป็นช่องทางจำระเงินให้กับลูกค้า โดยผูกกับบัตรเครดิต และบัญชีธนาคาร เมื่อซื้อบริการ ไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์ เกม ให้กับแบรนด์ต่างๆ ทั้งรายเล็กรายย่อย ที่มาเปิดออฟฟิเชียล แอ็กเคานต์ กับ LINE สามารถขายสินค้า รับชำระเงินผ่าน LINE PAY ได้ด้วย เรียกว่าเป็นบริการอำนวยความสะดวกแบบครบวงจร
เห็นได้ชัดว่า บริการ e-payment ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป เป็นบริการที่จะเติบโตตาม บริการชอปออนไลน์ ที่นับวันจะเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง