บริการแอปดูหนังออนไลน์ ธุรกิจที่กำลังเข้ามามีบทบาทหลังการแจ้งเกิดเทคโนโลยี 3G และ 4G เพียงแค่ครึ่งปีมีผู้ให้บริการเข้ามาทำตลาดในไทยแล้วกว่า 4-5 ราย และแต่ละรายมาพร้อมกับกลยุทธ์ราคาและคอนเทนต์ที่ห้ำหั่นกันจนแผ่นผี ซีดีเถื่อน หรือแม้แต่เว็บให้บริการหนังฟรี ยังต้องหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน
เมื่อเทคโนโลยี 3G และ4Gเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนไทยมากขึ้นบวกกับสมาร์ทโฟนในประเทศไทยที่มีราคาถูก ทำให้พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนไป จากที่เคยดูละครโทรทัศน์ ดูหนังผ่านวีซีดี และดีวีดี กลับหันมาเสพคอนเทนต์ออนไลน์ และดูหนังและซีรีส์ผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และแล็ปท็อปกันมากขึ้น ได้กลายเป็นช่องทางให้ผู้ที่ให้บริการชมภาพยนตร์ผ่านแอปได้เข้ามาการทำตลาดแอปดูหนังกันอย่างคึกคัก
“ดูนี่” เน้นซีรีส์
Doonee เป็นผู้ให้บริการดูหนังซีรีส์ออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์รายแรกๆ ที่มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันดูหนังบนวิดีโอออนดีมานด์ในประเทศไทย โดยการจับมือเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส และซัมซุงสมาร์ททีวี จากนั้นก็มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ทั้ง PrimeTime, Hollywood HD, HOOQ, iflix ไม่เว้นแม้แต่ค่ายผู้ให้บริการมือถือต่างก็มีแอปพลิเคชันดูหนังออนไลน์เป็นของตัวเอง อย่าง True Movie และ AIS Movie Store โดยเอไอเอสยังเป็นพันธมิตรให้กับ Doonee และ HOOQ
จตุพล สุธีสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสทีจี มีเดียเพล็กซ์ จำกัด หรือผู้ให้บริการ ดูนี่ (Doonee) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการมือถือในไทย 93 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นการใช้สมาร์ทโฟน 42 ล้านเลขหมาย และจากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า ผู้บริโภคชื่นชอบการรับชมซีรีส์สูงถึง70% เทียบกับชื่นชอบการดูภาพยนตร์ 30% ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดี ที่ ดูนี่ (Doonee) จะเข้ามาทำตลาดให้บริการดูซีรีส์ออนไลน์ในไทย โดยได้เตรียมเงินลงทุนไปประมาณ 300 ล้านบาท ใช้ระยะเวลากว่า 1 ปี ในการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ทำการสำรวจข้อมูลและการออกแบบระบบ จนได้เป็นแอปพลิเคชัน “ดูนี่” ที่ให้บริการดูซีรีส์ฮอลลีวูดออนไลน์ คุณภาพ HD โดยตั้งเป้าว่าในปี 58 นี้จะมียอดดาวน์โหลด 500,000 และยอดสมาชิก 50,000 ราย และคาดว่าจะมีรายได้ 60 ล้านบาท ภายในสิ้นปี
“ไอฟลิกซ์” เน้นถูก ดูได้เยอะ
“ไอฟลิกซ์ (iflix) เป็นผู้เล่นล่าสุดที่เข้ามาเปิดตัวแอปพลิเคชันดูหนังออนดีมานด์ในไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ก่อนนี้ HOOQ PrimeTime, Hollywood HD TV และ Doonee ต่างพากันเปิดตัวไปแล้วเป็นที่เรียบร้อยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
จุดแข็งของ “ไอฟลิกซ์” คือ การจับมือกับสตูดิโอกว่า 35 แห่ง มีภาพยนตร์และซีรีส์ให้ดูกว่า 10,000 เรื่อง ในราคาเหมาจ่าย 100 บาทต่อเดือน เรียกว่าใช้ “ปริมาณ” และราคามาดึงดูดลูกค้า ถือเป็นราคาที่ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งขันในเวลานี้ แต่มีข้อจำกัดเรื่องความคมชัดยังไม่เท่ากับ HD และชมออฟไลน์ไม่ได้ แต่ก็ได้รับความนิยมในหลายประเทศในเอเชีย
อาทิมา สุรพงษ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้จะมีผู้ให้บริการในลักษณะเดียวกันเปิดตัวไปแล้วประมาณ 4-5 ราย แต่ด้วยราคาที่ถูกกว่าจะทำให้ไอฟลิกซ์เป็นที่นิยมของคนไทยได้
“การมีผู้ให้บริการดูหนังแบบถูกลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมากก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะสามารถช่วยให้คนไทยลดการดูหนังแบบละเมิดลิขสิทธิ์ได้ เพราะตลาดวิดีโอออนดีมานด์ยังถือว่ามีขนาดเล็กอยู่มาก สิ่งที่ผู้ให้บริการต้องแข่งขันเพื่อให้ได้สมาชิกมาก็ต้องเน้นหาคอนเทนต์ที่ดี เรื่องราคาคุ้มค่า และสามารถสร้างการรับรู้กับผู้บริโภคได้”
ในเรื่องคอนเทนต์ สิ่งที่เป็นจุดเด่นของไอฟลิกซ์ คือ มีคอนเทนต์หนังกว่า800 เรื่อง ซีรีส์กว่า 300 เรื่อง แต่จุดอ่อนของไอฟลิกซ์ คือ คอนเทนต์หนังและซีรีส์ของไทยยังมีไม่มากนัก และหนังที่มีส่วนใหญ่ยังเป็นหนังเก่า ซึ่งหากจะรอหนังที่ออกจากโรงจะต้องใช้เวลาถึง2 ปี ดังนั้น “ไอฟลิกซ์” จึงเหมาะสำหรับคนที่ไม่เน้นหนังใหม่แต่เน้นจ่ายสบายและดูได้เยอะ
สำหรับเรื่องราคา เดือนละ 100 บาท อาทิมา สุรพงษ์ชัย มองว่า เป็นราคาที่ต้องการให้คนไทยทุกคนเข้าถึงได้ง่าย แมส และจ่ายง่าย ที่สำคัญถูกกว่าการไปซื้อซีดีละเมิดลิขสิทธ์ 1 แผ่นซะอีก ซึ่งซีรีส์บางเรื่องซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ก็อาจจะไม่มี หรือหาดาวน์โหลดไม่ได้ แต่สามารถหาดูได้จากไอฟลิกซ์ โดยจ่ายแค่ 100 บาท ก็สามารถดูหนังและซีรีส์แบบบุฟเฟต์ได้ทั้งเดือน
ในด้านการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ นอกเหนือจากการทำการตลาดแบบ 360 องศาแล้ว iflix ยังมีแผนที่จะเชิญชวนดาราและเซเลบริตี้ที่มีชื่อเสียงให้มาร่วมหุ้นกับไอฟลิกซ์ เพื่อช่วยกันโปรโมตและเชิญชวนให้แฟนคลับและคนทั่วไปได้รู้จักและได้ลองมาใช้ไอฟลิกซ์กันมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ไอฟลิกซ์ เคยทำการโฆษณาในรูปแบบนี้มาแล้วที่ประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งปรากฏว่าได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด มีแฟนคลับของดาราและเซเลบริตี้หันมาสนใจไอฟลิกซ์มากขึ้น
ทางด้าน มาร์ก บริทท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของกลุ่มบริษัท ไอฟลิกซ์ ยังเผยด้วยว่า ขณะนี้ได้มีการเตรียมหาพาร์ตเนอร์ที่เป็นผู้ให้บริการมือถือทุกค่ายและธนาคารบางแห่งเอาไว้บ้างแล้ว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับไอฟลิกซ์และช่วยซัปพอร์ตทำให้ไอฟลิกซ์สามารถทำตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ให้ได้อย่างรวดเร็ว โดยวางเป้าเป้าหมายสำหรับในประเทศไทยในปีนี้ไว้ที่ทำให้มีคนเข้ามาใช้บริการในหลักหลายแสนให้ได้
ฮุค เน้นดูแบบพรีเมียม
ฮุค (HOOQ) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง 3 บริษัทใหญ่ สิงเทล,โซนี่ พิคเจอร์ เทเลวิชั่น และ วอร์เนอร์ บราเธอส์ โดยได้รับลิขสิทธิ์ถูกต้องในการเผยแพร่ภาพยนตร์วิดีโอออนไลน์ในรูปแบบออนดีมานด์ มีรายการทั้งหมดประมาณ 10,000 คอนเทนต์ เป็นภาพยนตร์จากฝั่งฮอลลีวูดและเอเชีย ซีรีส์ รายการทีวี รวมถึงภาพยนตร์ไทยจากจีทีเอช, สหมงคลฟิล์ม และไฟว์สตาร์ โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกรับชมได้ด้วยบริการสตรีมมิ่ง ผ่านระบบ 3G, wifi, (ทุกค่าย) บอรดแบนด์ หรือสามารถดาวน์โหลดเก็บไว้ดูในขณะออฟไลน์ก็ได้โดยสามารถดาวน์โหลดได้สูงสุด 5 เรื่อง และ1 บัญชีสามารถเชื่อมต่อได้ 5 อุปกรณ์ ทั้งไอแพด ไอโฟน มือถือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊ก รองรับทั้งระบบ iOS และ Android
ปีเตอร์ จี บีธอส ประธานกรรมการบริหาร ฮุค (HOOQ) กล่าวว่า การเลือกมาเปิดธุรกิจวิดีโอออนดีมานด์ในประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นเพราะได้เล็งเห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยที่ชอบการดูหนัง ชอบเสพคอนเทนต์
และมีแนวโน้มการเติบโตของสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคู่แข่งในตลาดวิดีโอออนดีมานด์แบบถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ยังถือว่ามีน้อยมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ฮุค (HOOQ) จะนำบริการวิดีโอออนดีมานด์นี้มาทำตลาดในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ฮุคได้ไปเปิดตัวที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรก ตามด้วยประเทศไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นประเทศถัดไป โดยตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำการให้บริการวิดีโอออนดีมานด์เป็นอันดับ1 ของเอเชีย
การเข้ามาทำตลาดของฮุค (HOOQ) นั้น ใช้การจับมือเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส ซึ่งในช่วงแรกของการทำตลาด ได้มีการจัดทำโปรโมรชันให้กับลูกค้า AIS Fibre ที่มีกล่องเอไอเอส เพลย์บ็อกซ์โดยสามารถทดลองดูฮุคได้ฟรี 1 เดือน และเอไอเอส เพลย์บ็อกซ์จะเป็นกล่องรับสัญญาณรายแรกที่มีบริการแอปพลิเคชันจากฮุค (HOOQ)
จุดเด่นของฮุคนั้น จะเน้นภาพยนตร์จากค่ายฮอลลีวูด และนำมาฉายในโปรแกรมของฮุคหลังจากฉายในโรงภาพยนตร์ 6 เดือน และมีภาพยนตร์จากบล็อกบัสเตอร์ และซีรีส์ในต่างประเทศ รวมทั้งภาพยนตร์ไทย โดยคิดค่าชมเดือนละ 119 บาท
ผู้บริหารของฮุคเอง ค่อนข้างมั่นใจกับการเข้ามาเปิดตลาดในไทย ตั้งงบการตลาดไว้ 50 ล้านบาท มองว่าโอกาสตลาดวิดีโอออนดีมานด์จะเติบโตไปได้
โอกาสและข้อจำกัดธุรกิจ
– คอลัมน์ Cyber biz ผู้จัดการรายวัน ได้มีการประเมินว่า โอกาสของธุรกิจแอปดูหนังมาจากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยผ่านอุปกรณ์ต่างๆ สมาร์ทโฟน พีซี แล็ปท็อป แท็บเล็ต มีการใช้งานเฉลี่ย 5 ชั่วโมงต่อวัน และส่วนใหญ่จะใช้เพื่อความบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง และยังมีการซื้อบริการด้านความบันเทิง 12% และกว่า 45.3% เลือกซื้อในราคาไม่เกิน 1,000 บาท ใน 6 รอบเดือนเป็นอย่างน้อย
– ส่วนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยในปี 2558 จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งระบบเพย์ทีวีมีสัดส่วนอยู่แค่ 10% เท่านั้น และนี่คือโอกาสของตลาด
แต่ข้อจำกัด มาจากลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์ ที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการเนื้อหาอยู่ต่างประเทศเกือบทั้งหมด ซึ่งจะมีข้อจำกัดในการดึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศจะช้ากว่าในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ดาวน์โหลดข้อมูลภาพยนตร์หรือซีรีส์มาได้ช้า หรือเรื่องคุณภาพของภาพ แน่นอนว่าหากผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ไม่ดีในการใช้งาน อาจหันไปเลือกใช้บริการอื่นๆ แทน