“iTrueMart” ยกโมเดล “Amazon” ต้นแบบ ตั้งเป้าเบอร์หนึ่งช้อปออนไลน์ในไทย

ไอทรูมาร์ททุ่ม 5,300 ล้าน ลงทุนเข้าตลาด AEC รวม 7 ประเทศ เดินเกมตลาดเชิงรุก เพิ่มกลุ่มสินค้าขยายฐานลูกค้า ตั้งเป้าเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ด้วยจำนวนออเดอร์เฉลี่ยวันละ 7,000 ออเดอร์ เน้นสร้างประสบการณ์ในการซื้อ พร้อมสร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือ

ในประเทศไทยก็ถือว่ามีผู้เล่นอีคอมเมิร์ซหลายรายด้วยกัน ถ้าเป็นบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ๆ ก็จะเป็น “ลาซาด้า” และ “ซาโรลา” โดยกลุ่ม Rocket Internet ส่วนของประเทศไทยเองก็จะเป็น Rakuten Tarad และยังมีผู้เล่นในตลาดค้าปลีกแต่หันมาจับตลาดช้อปออนไลน์ด้วย อย่าง เทสโก้ โลตัส และเซ็นทรัลออนไลน์

ทำให้มูลค่าตลาดของอีคอมเมิร์ซในกลุ่ม B2C มีการเติบโตเฉลี่ยราว 20% มาตลอด 3 ปี ในปี 2557 มีมูลค่า 42,000 ล้านบาท (ที่มา : Euromonitor) มีการคาดการณ์ในปี 2558-2559 ก็จะมีการเติบโต 20% เช่นกัน

 

กลุ่มทรูเองก็มีอีคอมเมิร์ซที่บริหารโดย บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ได้นำร่อง “Weloveshopping” มาแล้ว 10 ปี เป็นอีคอมเมิร์ซในแพลตฟอร์มของ Marketplace ที่เป็นเหมือนตลาดกลางให้ร้านค้าออนไลน์มาเช่าร้าน แต่ภายหลังเมื่อตลาดอีคอมเมิร์ซในเมืองไทยเริ่มบูม และมาพร้อมกับเทรนด์เรื่องสมาร์ทโฟน เทคโนโลยี ทรูจึงส่งอีคอมเมิร์ซของตนเองลงสู่ตลาดโดยใช้ชื่อว่า “iTrueMart (ไอทรูมาร์ท)” เริ่มทำตลาดตั้งแต่ปี 2556

ไอทรูมาร์ทได้เลือกเจริญรอยตาม “Amazon (อะเมซอน)” ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซระดับโลก นำรูปแบบการทำธุรกิจมาเป็น Role Model ในการทำธุรกิจ เริ่มต้นจากประเภทของ “สินค้า” ที่ในช่วงแรกเริ่มในปี 2556 ไอทรูมาร์ทมีแค่สินค้าสมาร์ทโฟน และแก็ตเจ็ดสินค้าไอทีอย่างเดียเท่านั้น เริ่มต้นจากสินค้าที่ถนัดเพราะได้ทาง “ทรูมูฟ เอช” ซับพอร์ตเรื่องดีไวซ์

จากนั้นในปี 2557 ก็เพิ่มสินค้าในกลุ่มของอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า และกล้องถ่ายรูปเข้ามา ล่าสุดเมื่อต้นปี 2558 ได้แตกไลน์กลุ่มสินค้าไปยังกลุ่มเครื่องสำอาง, Personal care และสินค้าแม่และเด็ก ในการขยายฐานลูกค้า

ในช่วงแรกอะเมซอนก็เริ่มจากการขายสินค้าที่เป็นหนังสือ และค่อยเพิ่มมาในกลุม่ของดีวีดี และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยตอนนี้เติบโตสูงมาก ในประเทศไทยตอนนี้ก็มีผู้เล่นหลายราย แต่เราพยายามวางจุดยืนให้เป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์ เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า ในปีนี้เราบุกตลาดหนักมาเพราะมองแห็นความพร้อมหลายๆ อย่างทั้งเรื่องระบบต่างๆ และพฤติกรรมการช้อปออนไลน์ของคนไทย ถึงแม้ว่าเราจะเพิ่งทำตลดาได้ไม่นาน แต่เรามองโมเดลยักษ์ใหญ่อย่างอะเมซอน และอาลีบาบาในการเป็นโมเดลต้นอย่าง ทั้งในเรื่องวางแผนสินค้า การลงทุน โลจิสติกส์ และออกไปทำตลาดต่างประเทศ ทั้งสองบริษัทนี้ใช้เวลา 7 ปีในการทำกำไรได้ เราก็หวังว่าจะได้ตามเขาเหมือนกัน”

ปุณณมาศได้ฉายภาพตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยต่ออีกว่า ตลาดนี้เป็นตลาดที่ต้องลงทุนสูงมาก ต้องคนที่มีสายป่านยาวจริงๆ ต้องมีการลงทุนเรื่อง Fulfillment และเรื่องโลจิสติกส์มหาศาล เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากในธุรกิจนี้ รวมถึงต้องสร้างแบรนด์ให้เชื่อมั่นด้วย ผู้บริโภคจะตัดสินใจจากแบรนด์ที่เขามั่นใจ หลังจากนี้ในตลาดอาจจะเหลือผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเพียงแค่ 2 แบรนด์เท่านั้น ที่จะทิ้งห่างผู้เล่นรายอื่นในตลาด ส่วนผู้เล่นที่เป็นค้าปลีกที่มีร้านในช่องทางออฟไลน์จะไม่ค่อยบุกหนักมาก เพราะเขายังกังวลในเรื่องการดึงลูกค้าจากในสโตร์มายังออนไลน์ได้

ตอนนี้ทางไอทรูมาร์ทได้เคลมตนเองว่าจะทะยานขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด เบียดกับอีกรายใหญ่นั่นก็คือ “ลาซาด้า” ด้วยการมีจำนวนการสั่งซื้อเฉลี่ย 7,000 ครั้ง/วัน สูงที่สุดคือ 10,000 ครั้ง/วัน มีการเข้าชมเว็บเพิ่มขึ้น 424% ส่วน Weloveshopping มียอดการสั่งซื้อเฉลี่ย 7,000 ครั้ง/วัน

แต่ในเรื่องโอกาสทางธุรกิจไอทรูมาร์ทสามารถสร้างรายได้มหาศาลได้มากกว่า ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 3,000 ล้านบาท เติบโต 800% ในปีหน้าตั้งเป้ารายได้เป็น 6,000 ล้านบาท สินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ และแก็ตเจ็ดยังทำรายได้หลักอยู่ 70% รองลงมาเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ในขณะที่ Maketplace ถึงแม้ว่าจะมีการเติบโตอยู่ แต่ต้องเจอกับการแข่งขันของร้านค้าในไอจี และเฟสบุ๊กมาเบียดเข้า รายได้จาก Weloveshopping จึงทำได้น้อยกว่า เพราะจะมีรายได้จากค่าเช่าเท่านั้น จากจำนวนร้านค้ารวม 200,000 ร้านค้าในระบบ แต่มีร้านค้าที่แอคทีฟ 5,600 ร้านค้า มีรายได้ 10 ล้านบาท

การบุกตลาดอย่างหนักในปีนี้ของไอทรูมาร์ทนอกจากการเพิ่มประเภทของสินค้าเข้ามาเสริมแล้ว ยังมองไปถึงการลงทุนในต่างประเทศ เริ่มต้นจาก 7 ประเทศใน AEC ด้วยงบลงทุน 5,300 ล้านบาท ประเดิมประเทศฟิลิปปินส์ที่แรกในปลายปีนี้ จากนั้นก็ไปเวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ในปี 2559 รูปแบบการทำตลาดจะเป็นทั้งเข้าไปลงทุนเอง และเข้าไปจับมือกับพาร์ทเนอร์โลคอลที่นั่น

สำหรับจำนวนสินค้าที่ปัจจุบันมี 20,000 รายการ ครอบคลุม 8 กลุ่มสินค้า ไอทรูมาร์ทตั้งเป้าเพิ่มเป็น 40,000 รายการในปีหน้า และเล็งกลุ่มสินค้า “กีฬา” และ “บริการ” เข้ามาเสริมในปีหน้า
 

ภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซ ของธุรกิจ B2C ในประเทศไทย 

ที่มา : บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด, อ้างอิง Euromonitor