Adapter ฟันธง 6 Digital Marketing Trend ปี 2016

ความเคลื่อนไหวในโลกการตลาดและธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่อัพเดต ปี 2016 เทรนด์การทำตลาดดิจิตอลจะเป็นอย่างไร อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท Adapter Digital มาให้คำตอบในมุมมองของผู้คร่ำหวอดในวงการดิจิตอลเอเจนซี โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 6 เทรนด์ดังนี้

1. ทีวีขยายสู่สื่อดิจิตอลมากขึ้น

ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการดูทีวีย้อนหลังผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องปรับตัวจากการทำโฆษณาบนทีวีซีอย่างเดียวมาที่ออนไลน์ด้วย โดย AC Neilsen มีเครื่องมือ Digital Ad Rating (Digital Ad Rating) สำหรับวัดเรตติ้งโฆษณาดิจิตอล ทำให้เริ่มเห็นภาพโฆษณาทีวีมาลงสื่อออนไลน์มากขึ้น เพราะเครื่องมือนี้จะทำให้ทราบการวัดผลเรตติ้งโฆษณาออฟไลน์ได้ ซึ่งเกือบทุกแบรนด์ที่ทำโฆษณาทีวีซีต้องใช้เครื่องมือนี้ เนื่องจากมีจำนวนคนดูละครย้อนหลังผ่านออนไลน์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะช่องทางเฟซบุ๊กและยูทูบ

2. Rich Content Online ขยายตัว

ความนิยมคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอออนไลน์เติบโตสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะสามารถเข้าถึงได้ง่าย แนวโน้มของ Production House รายใหญ่ที่ทำโฆษณาทีวีซีเป็นหลักลงมาทำโฆษณาออนไลน์มากขึ้น มีการเปิดบริษัทลูกหรือตั้งหน่วยธุรกิจใหม่เพื่อผลิตโฆษณาออนไลน์โดยเฉพาะ ส่งผลให้มีการแข่งขันทำวิดีโอโฆษณาออนไลน์สูงขึ้นตามไปด้วย  

3. การวัดผลจาก Influencer ต้องชัดเจน

ต้องยอมรับว่าการทำตลาดในวันนี้ Influencer มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือ แต่ที่ผ่านมา แบรนด์มักจะเลือก Influencer ตามกระแสนิยมเป็นหลัก และไม่สามารถวัดผลตอบรับกับแบรนด์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งในต่างประเทศมีเครื่องมือที่สามารถวัดผลได้ว่า Influencer แต่ละคนสามารถสร้างการตอบรับกับแบรนด์ได้มากน้อยแค่ไหน

ปัจจุบัน Influencer ทุกรายต่างมีสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กในมือ แต่ในปี 2016 ต้องเลือกสื่อที่เหมาะสมกับแบรนด์มากที่สุด เป็นสื่อที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายใช้งานจริง ซึ่งจะเกิด Convert กลับมาที่แบรนด์ได้อย่างชัดเจน เช่น YouTube อาจไม่เหมาะกับทุกโปรดักต์ แต่จะเหมาะกับสินค้าไอที หรือสินค้าอุปโภค บริโภคบางประเภท ที่ต้องมีการรีวิวสินค้า การสอนทำอาหาร สอนแต่งหน้า โดยขึ้นอยู่กับโจทย์ของแบรนด์ว่าต้องการอะไร บางรายอาจต้องการแค่ซื้อโฆษณาในบางแคมเปญ ดังนั้นแบรนด์จึงต้องดูกลุ่มเป้าหมายและเน้นที่ประโยชน์ของแต่ละโซเชียลว่าเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของตนเองหรือไม่

4. Mobile Marketing มาแรงกว่าเดิม

ด้วยจำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือที่มากถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน จึงกลายเป็น Key หลักในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตที่มากพอๆ กับการใช้งานผ่านพีซี ทำให้มือถือในวันนี้จึงมีความสำคัญมากพอกันกับคอมพิวเตอร์ เพราะถูกขับเคลื่อนโดย 3G และ 4G ทำให้มือถือเป็นหนึ่งใน Device ที่นำมาใช้ประโยชน์กับแบรนด์ เช่น ซัมซุงมีแอป Galaxy Gift เพื่อสิทธิประโยชน์สำหรับลูกค้าโดยเฉพาะ เซเว่น อีเลฟเว่น มีแอปคูปองบนมือถือ วันนี้แบรนด์ต่างๆ เริ่มมองว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับแบรนด์อย่างไร

และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การออกแบบเว็บไซต์ของแบรนด์ให้เหมาะสมกับขนาดหน้าจอมือถือ โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่ เพราะคนกลุ่มนี้จะใช้ Device เหล่านี้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม

5. การซื้อสื่อออนไลน์สะดวกขึ้น

ในเร็วๆ นี้ จะมีโปรแกรมในการซื้อสื่อออนไลน์ที่ใช้ Bidding Optimization Advertising Online ให้มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้มีคนเข้ามาทำกิจกรรมบนสื่อออนไลน์ของแบรนด์ในจำนวนสูงขึ้น ได้ถูกพัฒนาจากที่เคยเป็นระบบที่ต้องให้คนทำหน้าที่ Bidding ก็จะมีโปรแกรมที่สามารถทำได้เองในระบบหลังบ้าน จึงทำให้การซื้อสื่อออนไลน์มีประสิทธิภาพดีขึ้นและสะดวกบายกว่าเดิม

6. อีคอมเมิร์ซแรงอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังไปได้สวยในปี 2016 หลายอุตสาหกรรมผันตัวมาสู่การทำอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น FMCG ค้าปลีก และบันเทิง เพราะพฤติกรรมคนไทยคือซื้อสินค้าง่าย แต่มักซื้อสินค้าในราคาไม่สูงนัก เช่น ตั๋วหนัง สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ประกอบกับผู้ให้บริการมือถือที่พัฒนาบริการให้สามารถใช้เป็นช่องทางการชำระเงินได้ทุกราย ทำให้เกิด Platform ใหม่ๆ เป็นการขยายธุรกิจที่เชื่อมโยงกันให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่และตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปได้มากขึ้น

อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์