แม่นเว่อร์! คำทำนายอนาคตของโลกอินเตอร์เน็ตโดย บิล เกตส์ เมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนี้เป็นจริงแล้ว

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 1996 บิล เกตส์ ซีอีโอผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ได้เขียนเรียงความชิ้นหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า “คอนเทนต์คือราชา” โดยเนื้อหาเรียงความดังกล่าวได้มีการทำนายอนาคตของโลกอินเทอร์เน็ตไว้หลายประการ
 
ในตอนนั้น ประชากรโลกเพียง 1% เท่านั้นที่มีอินเทอร์เน็ตไว้ใช้งาน แถมความเร็วอินเทอร์เน็ตก็ช้ายิ่งกว่าเต่าคลาน เว็บไซต์ที่มีให้บริการขณะนั้นมีไม่มากนัก เว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง YouTube หรือ Facebook ยังไม่ถือกำเนิดเสียด้วยซ้ำ ยังไม่มีใครคิดทำบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะกันเลย
 
ถึงกระนั้น ชายผู้เป็นหนึ่งในผู้นำในการสร้างวิวัฒนาการในการใช้คอมพิวเตอร์พีซีผู้นี้ก็ยังมองเห็นอนาคตอันยิ่งใหญ่ของโลกอินเทอร์เน็ต ในเรียงความที่บิล เกตส์เขียนขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน เขาทำนายว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายสิ่ง ขณะนี้ 20 ปีผ่านไป สิ่งที่เขาทำนายไว้เป็นจริงแล้วบางส่วน
 
คอนเทนต์ในโลกอินเทอร์เน็ตจะสามารถทำเงินได้มากพอๆ กับทีวี
 
“คอนเทนต์คือส่วนที่ผมคาดว่าจะสามารถทำเงินได้ในโลกอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับรายได้ในวงการการกระจายเสียง” บิล เกตส์เขียนไว้ในช่วงต้นของเรียงความ
 
ในขณะที่เขาเขียนเรียงความนี้ ยังไม่มีการเผนแพร่คอนเทนต์แบบมัลติมีเดียใดๆ ลงบนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั้นเชื่องช้ามาก การทำโฆษณาออนไลน์ก็ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลยเพราะมีคนเพียง 10 ล้านคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต
 
แต่เกตส์ได้ทำนายว่าในอนาคตคอนเทนต์ในอินเทอร์เน็ตจะมีการพัฒนาขึ้นอย่างมากและจะมีผู้ต้องการชมเนื้อหาเหล่านั้น ตรงนี้จะสร้างรายได้อย่างงามให้กับวงการโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอล
 
ถามว่า ปัจจุบันโลกออนไลน์สามารถทำเงินได้มากเท่าทีวีแล้วหรือไม่? คงต้องตอบว่ายัง แต่งบโฆษณาของบริษัทต่างๆ ถูกปรับมาใช้จ่ายในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ การใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาผ่านโทรทัศน์จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 38% ของงบโฆษณาทั้งหมดในปี 2016 นี้ โดยหลายบริษัททุ่มเงินลงไปกับสื่อดิจิตอลมากขึ้นเรื่อยๆ และสื่อดิจิตอลน่าจะสามารถเข้ามาแทนที่ทีวีได้ในช่วงปลายปี 2017 ตามข้อมูลจากนิวยอร์กไทมส์
 
โลกอินเทอร์เน็ตจะถูกยึดครองด้วยเว็บไซต์อย่าง YouTube และ Reddit โดยมีผู้ใช้เป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์
 
“สิ่งหนึ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตก็คือ ใครก็ตามที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวและโมเด็มจะสามารถเผยแพร่คอนเทนต์แบบใดก็ได้ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา หากจะเปรียบเทียบไปแล้ว อินเทอร์เน็ตนั้นเปรียบเสมือนเครื่องถ่ายเอกสารแบบมัลติมีเดีย เพราะช่วยให้เราสามารถทำซ้ำเนื้อหาข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ไม่ว่าผู้รับสารของเราจะกลุ่มใหญ่แค่ไหนก็ตาม”
 
แม้ข้อความดังกล่าวเกตส์จะไม่ได้ใช้คำว่า “คอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นโดยผู้ใช้งาน (User-generated Content)” แบบตรงๆ แต่สิ่งที่เขาอธิบายไว้ก็คือสิ่งที่เราใช้คำนี้เรียกในปัจจุบัน ในขณะนั้นยังมีบริษัทและสถาบันเพียงไม่กี่แห่งที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหาคอนเทนต์ที่ผู้ใช้จะมองเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ต ในปี 1996 หากใครสักคนต้องการจะแสดงความคิดเห็นของตัวเองให้สังคมรับรู้ เขาก็ต้องเขียนจดหมายไปหาบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
 
แต่โลกอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเพราะไม่ว่าใครที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการแชร์คลิปไวรัลยอดฮิตหรือเป็นจุดเริ่มต้นให้กับนักร้องดังหลายๆ คน 
 
ในปี 2016 นี้ ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นในโซเชี่ยลมีเดียอย่าง Reddit Instagram และ Facebook รวมถึงในบล็อกต่างๆ ก็มีพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นและสร้างสรรค์เนื้อหาของตนเอง
 
อินเทอร์เน็ตให้โอกาสบริษัทขนาดเล็กได้แข่งขันกับคู่แข่งขนาดใหญ่
 
“แต่โอกาสงามๆ สำหรับบริษัทส่วนใหญ่อยู่ที่การให้ข้อมูลและความบันเทิง ไม่มีบริษัทไหนเล็กเกินไปที่จะเข้าร่วม”
 
ในปี 1996 มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง จึงไม่ใช่เรื่อแปลกหากจะคาดการณ์ว่าในอนาคตบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นจะกลืนกินเหล่าสตาร์ทอัพขนาดเล็กให้หายไปจากตลาด 
 
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอินเทอร์เน็ตช่วยให้บริษัทขนาดเล็กเป็นที่รู้จักได้ด้วยคอนเทนต์เจ๋งๆ และโดยส่วนใหญ่บริษัทเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการโฆษณาด้วยซ้ำ อย่างโฆษณาไวรัลของบริษัท Dollar Shave Club ที่สามารถดึงให้ผู้สนใจลงทะเบียนใช้บริการมีดโกนหนวดส่งถึงบ้านของบริษัทได้กว่า 12,000 คนภายใน 48 ชั่วโมงของการปล่อยโฆษณาออนไลน์
 
สื่อสิ่งพิมพ์จะตาย
 
“หลายคนสงสัยว่าสื่อที่เคยให้บริการสิ่งพิมพ์จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนเมื่อก้าวเข้าไปทำสื่อออนไลน์ แต่อนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์เองต่างหากที่น่าสงสัยว่าจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ในโลกของอินเทอร์เน็ต”
 
ขณะที่สำนักข่าวหลักๆ กำลังปรับตัวสู่โลกออนไลน์ด้วยรูปแบบต่างๆ กันไป แต่สิ่งที่หลายสำนักทำมีเพียงการดึงเอาข่าวที่เคยเผยแพร่บนสิ่งพิมพ์เปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ โดยไม่ได้สร้างนวัตกรรมใดใหม่ ซึ่งเกตส์ไม่ถือว่าการทำเช่นนั้นจะประสบความสำเร็จได้ และสิ่งที่เขาเคยบอกก็กลายเป็นความจริงเสียด้วย
 
แม้ว่านิตยสารและหนังสือพิมพ์ที่เป็นเล่มๆ จะยังคงอยู่ แต่รายได้จากการโฆษณาบนสื่อสิ่งพิมพ์ในปี 2014 นั้นถดถอยลงสู่จุดต่ำสุดตั้งแต่ปี 1950 และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
 
ขณะเดียวกับที่ สื่อดิจิตอลโดยกำเนิดอย่าง BuzzFeed, Business Insider และ Vice ยังคงประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
 
ข่าวที่เคยให้ความสนใจกันเพียงในท้องถิ่น จะกลายเป็นข่าวดังระดับโลก
 
“แม้ว่าบรรยากาศการพุ่งเป้ามาราวกับช่วงตื่นทองจะจำกัดอยู่เพียงในสหรัฐฯ แต่ผมคาดว่าบรรยากาศเช่นนี้จะเกิดขึ้นไปทั่วโลก เนื่องจากต้นทุนในการสื่อสารจะลดต่ำลง และคอนเทนต์ท้องถิ่นจากทุกมุมโลกจำนวนมหาศาลจะเข้าถึงได้ในหลายๆ ประเทศในที่สุด”
 
แม้วงการสิ่งพิมพ์จะค่อยๆ หดหายแต่ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลจะลดน้อยลง สิ่งที่เกิดขึ้นกลับสวนทางอย่างสิ้นเชิง
 
ตามที่เกตส์ทำนายไว้ ต้นทุนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะลดน้อยลงอย่างมาก และปัจจุบัน 40% ของประชากรโลกเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตแล้ว เพิ่มจากเพียงไม่ถึง 1% เมื่อปี 1996 เมื่อมีคนที่ออนไลน์ได้มากขึ้น ก็มีคนเข้าถึงข้อมูลจากทั่วโลกได้มากขึ้น ข่าวที่เคยเป็นข่าวท้องถิ่น ก็กลายเป็นข่าวระดับโลกได้อย่างง่ายดาย “นักข่าวทุกคนบนโลกนี้สามารถเข้าถึงเกือบทุกคนบนโลกได้แล้ว โดยเข้าถึงได้โดยตรงและในทันที” Henry Blodget นักเขียนจาก Business Insider เขียนไว้เมื่อปี 2013
 
มีตัวอย่างมากมาย แต่ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือเหตุการณ์ประท้วงในเฟอร์กูสัน มิสซูรี่ เมื่อปี 2014 ซึ่งมีกลุ่มก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์อยู่เบื้องหลังในอีกซีกโลกหนึ่งแต่สามารถกระทำการได้ผ่านโซเชี่ยลมีเดีย หรือการเผยความลับสะเทือนโลกโดย Snowden ที่ว่าหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ แอบจารกรรมข้อมูลของคนในประเทศตัวเองซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อปี 2013