เจาะเทรนด์ ‘Influencer Marketing’ 2023 หมดยุคเบอร์ใหญ่เน้นใช้ตัวเล็กมุ่ง ‘ขาย’ เป็นหลัก

ปี 2023 ถือเป็นปีที่นักการตลาดและแบรนด์หลายคนมองว่าเป็นปีสำหรับการ ‘Recover’ หลังจากต้องเจอกับโควิดตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ทุกแบรนด์มุ่งหาแต่ ยอดขาย เป็นหลัก ส่งผลให้ Landscape การใช้งาน Influencer Marketing เปลี่ยนไป เน้นใช้ระดับ Micro-Nano มุ่งเพิ่มยอดขายเป็นหลัก

เม็ดเงินใน Influencer เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ

ภาพรวมของ โฆษณาดิจิทัล ในปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มอย่าง Facebook ของ Meta ยังคงเป็นที่ 1 แต่จะเห็นส่วนแบ่งที่ลดลงจากเดิม 40% เหลือ 33% ส่วนอันดับ 2 อย่าง YouTube ลดลงจาก 20% เหลือ 15% ขณะที่ Online Video อื่น ๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม OTT เติบโตขึ้น และที่น่าสนใจก็คือ เม็ดเงินใน Influencer หรือ KOLs ต่าง ๆ อยู่อันดับ 4 มีมูลค่า 2,280 ล้านบาท

“ตอนนี้แพลตฟอร์ม Facebook, YouTube ยังเป็นผู้นำแต่สัดส่วนลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ TikTok ร้อนแรงจริง แต่เม็ดเงินโฆษณาที่ลงตรงกับแพลตฟอร์มยังน้อย มีมูลค่าเพียง 800 กว่าล้านบาท เพราะแบรนด์หรือนักการตลาดใช้เงินไปกับ Influencer โดยตรง” ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ เอ็มไอ กรุ๊ป กล่าว

การใช้งาน Influencers กลับหัวจากล่างขึ้นบน

แนวโน้มการทำอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งจากนี้ คือ สร้างยอดขาย ขณะที่แบรนด์เริ่มเรียนรู้แล้วว่า ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจะเชื่อใน Influencers ระดับ Micro-Nano หรือ KOCs (Key opinion consumer) มากกว่า เพราะมองว่าเป็นผู้ใช้จริงมากกว่า ดารา หรือเซเลบเบอร์ใหญ่ ทำให้ในมุมที่แบรนด์ต้องการจะขายของ แบรนด์จึงใช้ Micro-Nano มากกว่า โดยเฉพาะใน Affiliate Marketing

ที่น่าสนใจคือ มีความเป็นไปได้ที่การใช้ Influencers ระดับ Micro-Nano จะใช้เงินน้อยกว่า แต่อาจฟันธงไม่ได้ เพราะแน่นอนว่าค่าจ้างอาจถูกกว่าแต่ เน้นปริมาณ นอกจากนี้ ข้อตกลงยังมีหลายรูปแบบ เช่น คิดเป็นค่าคอมมิชชั่นจากยอดขาย ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้นักการตลาดและแบรนด์จะโฟกัสไปที่ Micro-Nano มากขึ้น แต่เชื่อว่าเม็ดเงินปีนี้จะเติบโตได้ 5% และจำนวน Influencers ระดับ Micro-Nano จะยิ่งเติบโต

“ตอนนี้อีคอมเมิร์ซไทยแข็งแรง หลายแพลตฟอร์มโซเชียลฯ ก็มุ่งเน้นไปที่การขายของ และแบรนด์ก็ต้องการเพิ่มยอดขาย ทำให้ Influencers ระดับ Micro-Nano ถูกใช้งานเพราะเขามองว่าได้ผลกว่า โดยเฉพาะกับสินค้าที่ต้องทำให้เชื่อ เช่น สกิลแคร์, อาหารเสริม ส่วนดาราหรือคนดังไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ผู้บริโภคเขามองว่าไม่ได้ใช้จริง ดังนั้น ดาราอาจเหมาะกับการสร้างอะแวร์เนสมากกว่า”

ไม่มี one for all แต่เป็น one for one 

ในวันที่พฤติกรรมผู้บริโภคไม่สามารถคาดเดาได้ในโลกดิจิทัล ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการที่มีให้อย่างมหาศาลบนอินเทอร์เน็ตด้วยช่องทางที่หลากหลายและสามารถเสพข้อมูลแบบกระโดดข้ามไปมาระหว่าง Platform ได้อย่างอิสระ ทำให้การวางแผนการตลาดจึงไม่มีแบบ one for all แต่เป็น one for one ด้วยสารหนึ่งสารที่โดนใจ ในเวลาหนึ่งที่เหมาะสม หรือ ถูกคน-ถูกใจ-ถูกที่-ถูกเวลา

ดังนั้น คอนเทนต์ไม่ปังจริง อย่าคิดสื่อสารกับ mass ด้วยคอนเทนต์เดียวกัน เพราะผู้รับสารในยุค digital-led society เป็นกลุ่มย่อยมากขึ้น (Segmented World and Fragmented World) หากผู้รับสารไม่รู้สึกร่วม นอกจากจะการสื่อสารจะไม่เกิดผลอาจก่อให้เกิดผลเชิงลบ ดังนั้น ต้องลำดับความสำคัญทางธุรกิจของกลุ่มเป้าหมายย่อยและต้องเข้าใจและเข้าถึง Insight ของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งโดยเฉลี่ยในปัจจุบันแต่ละสินค้าและบริการจะมีประมาณ 6 กลุ่มย่อย

KOLs และ KOCs ย่อย ๆ กลายเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารการตลาดปีนี้ เพราะวัดผลการขายได้เลยและเข้าถึงกลุ่มย่อยได้ชัดเจน แต่แน่นอนว่าสักวันจะมีจุดอิ่มตัว ผู้บริโภคเริ่มไม่เชื่อ แต่คงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ ดังนั้น นักการตลาดก็ต้องหาทางใหม่ ๆ เช่น คอนเทนต์ที่ฉีกไป สุดท้ายก็จะกลับมาที่ครีเอทิวิตี้อยู่ดี” ภวัต เรืองเดชวรชัย ทิ้งท้าย