ว่ากันว่า ผู้ที่ก้าวเร็วกว่าคนอื่นหนึ่งก้าว ไม่ว่าจะต้องเจอกันการเปลี่ยนแปลงมากมายขนาดไหน ก็สามารถรับมือได้ด้วยความมั่นใจ พร้อมกับการปรับตัวได้ทันท้วงทีเช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การใช้ชีวิต หรือแม้แต่ในภาคธุรกิจการลงทุน ก็ต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนไม่แน่นอน
สำหรับในประเทศไทยเองยังต้องเตรียมนับถอยหลังสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี รวมถึงการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของ “โลกดิจิทัล” ที่เรียกว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้หลายๆ ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล
“ธนาคารกสิกรไทย” ก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง ที่ได้ให้ความสำคัญด้านดิจิทัลมาอย่างยาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยได้ทำการสนับสนุนสังคมในการก้าวเข้าสู่ยุดดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ที่ผ่านมาล่าสุดได้จัดสัมมนา “Power of Digital for Value Chain” ภายใต้นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยได้เตรียมรับมือกับการแข่งขันในเวทีอาเซียน และระดับโลกได้
ภายในงานมีผู้ทรงคุณวุฒิมากมายที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ได้แก่ ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นประธานเปิดงาน ทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย จำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนั้นยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในภาคธุรกิจอีก 4 ท่าน ได้แก่ กฤษณ์ อิ่มแสง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วรรณา สวัสดิกุล ประธานกรรมการบริหารฝ่ายธุรกิจออนไลน์ เทสโก้โลตัส รุจน์ สกลคณารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จํากัด และ นพวรรณ เจิมหรรษา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
ปรีดี ดาวฉาย ได้กล่าวเปิดงานที่มีใจความสำคัญว่า ธนาคารกสิกรไทยทำธุรกิจมา 70 ปี ตั้งแต่ปี 2468 เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่การทำอย่างไรให้อยู่ได้ยาวนานนั้น ก็มีความยากในการจัดการทั้งสิ้น ความสำเร็จอย่างหนึ่งของธนาคารคือ ธนาคารรู้จักจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงแต่ละจังหวะในโลกธุรกิจได้ตลอดเวลา อย่างสิ่งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าของไทย คือการก้าวเข้าสู่ AEC เราเล็งเห็นพัฒนาการการทำธุรกิจของลูกค้าและของธนาคารเอง พยายามปรับเปลี่ยน Business Model จนเกิดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Value Chain หรือห่วงโซ่ทางธุรกิจ เพื่อสร้างความแข็งแรงทางการทำธุรกิจ ซึ่งธนาคารสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด และอีกสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เรื่องของเทคโนโลยีซึ่งจะเกิดขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อจะได้กลับไปเตรียมตัวจัดการกับองค์กรของตัวเองได้ ว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อให้เราอยู่รอดในโลกของการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลนี้
จากนั้นมาฉายภาพเศรษฐกิจไทย 2559 และทิศทางธุรกิจยุค Digital Economy โดย ทองอุไร ลิ้มปิติ มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี2559 จะขยายตัวได้เท่าเดิมจนถึงดีกว่าปีที่ผ่านมา สิ่งที่ภาครัฐลงทุนไปในปี 2558 จะส่งผลชัดเจนขึ้นในปี 2559 ภาครัฐจะมีบทบาทมาก ทั้งโครงการขนาดใหญ่ การลงทุนในรัฐวิสาหกิจ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ท่าเรือ ปรับปรุงท่าอากาศยานเป็นต้น เมื่อทำการปรับปรุง บรรยากาศการลงทุนก็จะกลับมา เริ่มมีความเชื่อมั่นและเริ่มหันกลับมาลงทุนอีกครั้ง
ส่วนกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ควรปรับ Infrastructure ด้วย Digital Economy จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ด้วยการลดต้นทุน แรงงานของไทยไม่ค่อยมีแล้ว ต้องพึ่งแรงงานเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยตรงจุดนี้ได้
คีย์สำคัญอันดับต่อมาก็คือการยกระดับธุรกิจไทยด้วย Digital จำรัส สว่างสมุทร กล่าวว่า โลกธุรกิจจะเข้าสู่ยุค Omni Channel จะต้องค้าขายได้ทุกช่องทาง จะไม่มีคำว่า Offline หรือ Online อีกต่อไป ต้องพร้อมที่จะค้าขาย 24 ชั่วโมง มีคำสั่งซื้อตลอด 24 ชั่วโมง และจะเป็นการสั่งซื้อในจำนวนต่อครั้งที่น้อยลงด้วย จะเห็นว่า e-Commerce กำลังเข้ามามีบทบาทอย่างสูง
สุรางคณา วายุภาพ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า e-Commerce เป็นตลาดที่เติบโตสูงมาก ตัวเลข e-Commerce ไทยอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีประเด็นที่คนไทยกลัวในการทำ e-Commerce อยู่ก็คือ อินเทอร์เน็ตช้า, กลัวการโกง และกลัวการส่งของล่าช้า ทาง ETDA จึงพยายามสร้างมาตรฐานขึ้นมา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จากเดิมที่ผู้ประกอบการมองเพียงว่ามี Website ก็น่าจะเพียงพอที่จะค้าขายกับต่างชาติได้แล้ว แต่จริงๆ แล้วจำเป็นต้องมีรายละเอียดของสินค้าระบุให้ชัดเจน เรื่องเล็กๆน้อยก็ต้องระบุลงไปเพราะในแต่ละประเทศให้ความสนใจในรายละเอียดของสินค้าที่แตกต่างกันไป
มาดูในมุมมองของภาคธุรกิจ ที่ได้ใช้ Digital กับการเพิ่มประสิทธิภาพให้ห่วงโซ่ทางธุรกิจ กฤษณ์ อิ่มแสง ได้มองว่า “โลกยุค Digital รูปแบบการทำธุรกิจของปตท. ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน Analog แบบเดิมๆหายไป มีการนำเทคโนโลยี Digital เข้ามาประยุกต์ใช้ในห่วงโซ่ทางธุรกิจมากขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งลูกค้า คู่ค้า และปตท. ทุกวันนี้การสั่งซื้อน้ำมันที่ดีลเลอร์ทุกรายสามารถสั่งซื้อน้ำมันจากผ่านแอพพิเคชั่นได้ นอกจากนี้การขนส่งน้ำมันไปยังคู่ค้ายังมีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับม่านตา ระบบการติดต่อสื่อสารกับรถขนส่งน้ำมันที่สามารถสื่อสารคำสั่งไปยังผู้ขับขี่ได้โดยตรงผ่านระบบออนไลน์ ทำให้สามารถควบคุมเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทางได้
ทางด้านของอุตสาหกรรมค้าปลีก ที่ต้องกระโดดลงมาช้อปออนไลน์ วรรณา สวัสดิกุล ได้ให้ความคิดเห็นว่า “เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของลูกค้าในปัจจุบัน เทสโก้ โลตัสให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางค้าปลีกให้หลากหลาย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์และสื่อดิจิทัล ปัจจุบัน เทสโก้ โลตัสมีสินค้าออนไลน์กว่า 20,000 รายการ ทั้งอาหารสด สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้ผ่านเทสโก้ โลตัส ช้อปออนไลน์ นอกจากนั้นแล้ว ลูกค้ายังสามารถสั่งซื้อสินค้าจากเทสโก้ โลตัสผ่านทางเว็บไซต์ลาซาด้าได้อีกด้วย ในขณะที่ เทสโก้ โลตัส โมบาย แอพพลิเคชั่นช่วยให้นักช้อปมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ล่าสุดมีการนำเทคโนโลยี iBeacon ที่นำมาใช้ในสาขานำร่องก่อน โดยสามารถป้อนข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่น่าสนใจส่งตรงเข้าโทรศัพท์มือถือของลูกค้าเมื่อเดินผ่านจุดปล่อยสัญญาณภายในร้านเทสโก้ โลตัส ช่วยให้ลูกค้ารับทราบถึงโปรโมชั่นและคอนเท้นท์ที่น่าสนใจอื่นๆ”
ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ รุจน์ สกลคณารักษ์ กล่าวว่า “ธุรกิจยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ต้องแข่งขันในระดับโลกและมีการส่งออกไปในหลายๆประเทศ พื้นฐานของธุรกิจเรา เน้นเรื่องของคุณภาพ ประสิทธิภาพในการผลิต ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัย เพราะฉะนั้นในแต่ละห่วงโซ่ของเรา จะมีการทำงานร่วมกันกับ Supplier เพื่อที่จะมีการ Feedback Performance ของคู่ค้าของเรา ซึ่งโตโยต้าได้ให้การสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนในด้านต่างๆ ทั้งการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย คุณภาพชิ้นส่วน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ในการนี้ได้มีการนำระบบการผลิตแบบ Toyota (TPS) เข้าไปปรับใช้เพื่อลดของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อชั่วโมง นำไปสู่การลดสินค้าคงคลังตลอดจนพื้นที่ในการผลิตในที่สุด นอกจากนี้ยังขยายผลไปสู่ผู้ผลิตรายย่อย (Tier2) ด้วย ประโยชน์สูงสุดคือ การพัฒนาบุคลากรของผู้ผลิตชิ้นส่วน ที่จะเป็นผู้นำการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือ การสนับสนุนและมีส่วนร่วมของผู้บริหารระดับสูง ตลอดจนการมีส่วนร่วมจากพนักงานทุกระดับ”
และปิดท้ายด้วยข้อคิดดีๆ จาก นพวรรณ เจิมหรรษา กล่าวว่า “ทุกคนรับรู้เรื่อง Digital เป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ต้องกระโดดเข้าใส่ แต้มต่อของธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องปรับ Business Model หันมาใช้ Digital ให้มากขึ้น และไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่ต้องใช้ Data ที่ได้ให้ดีด้วยเช่นกัน ที่สำคัญต้องไม่ลืมเรื่องของ Non-digital คือต้องพัฒนาคนไปด้วยเช่นกัน”
จะเห็นได้ว่าดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เรียกได้ว่าถ้าธุรกิจไหนที่ปรับตัวรับกับดิจิทัลได้เร็วก่อน ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จก่อน เหมือนดั่งเช่นที่ธนาคารกสิกรไทยที่ตอกย้ำความเป็นดิจิทัลแบงก์กิ้งมากโดยตลอด