มาม่า เผยบะหมี่สำเร็จรูป ปี 58 โต0.4% ต่ำสุดในรอบ 44 ปี เศรษฐกิจตก รากหญ้าสะเทือน

ปี 2558 ไม่ใช่ปีสดใสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเอาเสียเลย จากการเปิดเผยของ เวทิต โชควัฒนา กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเติบโตน้อยที่สุดในรอบ 44 ปี เติบโตเพียงแค่ 0.4% (ข้อมูลตั้งแต่มกราคมถึงพฤศิจกายน) ในขณะที่ปี 2557 ยังเติบโตกว่า 1% นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญในรอบหลายสิบปีที่ไม่เคยมีอัตราเติบโตต่ำขนาดนี้
 
สาเหตุสำคัญ มาจากภาวะเศรษฐกิจที่กระทบผู้บริโภคระดับรากหญ้า ที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำกระทบต่อรายได้ ทำให้ต้องหาซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่ามาบริโภคแทนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่น ข้าวสารถุงแบ่งขาย ราคาถุงละ 3-5 บาท ในขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีราคาเฉลี่ยซองละ 6 บาท  
 
จากปกติแล้วบะหมี่สำเร็จรูปจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก จะมีอัตราเติบโตอยู่ในช่วง 5-6% เคยเติบโตมากกว่า 10% ในช่วงปี 2012 เนื่องมาจากน้ำท่วม
 
สำหรับตลาดรวมของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 14,500ล้านบาท มาม่าครองส่วนแบ่งตลาด 51% หรือประมาณ 7 พันกว่าล้านบาท โดยปีที่ผ่านมา มาม่ามีอัตราเติบโต 0.3% ใกล้เคียงกับตลาด แต่ในฐานะที่เป็นผู้นำตลาด การทำแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ ช่วยกระตุ้นให้ยอดขายมาม่าเอง และตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในบางเดือนเติบโตตามไปด้วย
 
เวทิต ยกตัวอย่างในเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ได้เปิดตัวแคมเปญตระกูลแซบ ด้วยการนำ “อั้ม พัชราภา” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ส่งผลให้ยอดขายมาม่าในเดือนพฤษภาคมเติบโต 8% และตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเดือนเดียวกันเติบโต 7%
 
รวมทั้งในช่วงเดือนสิงหาคม ที่มีการออกแคมเปญ “มาม่า แจกรถรีโว่” ทำให้ยอดขายเติบโต 3%  ในขณะที่ตลาดรวมโต 2.5%  เป็นผลมาจากกิจกรรมที่ทั้งมาม่าทำ รวมทั้งทุกแบรนด์เองก็มีกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้ง ลด แลก แจก แถม กันต่อเนื่อง แต่ก็ทำให้ตลาดรวมเติบโตไป 0.4%
 
เนื่องจากในบางเดือนของปีที่แล้วมียอดขายติดลบ เช่นกุมภาพันธ์และเดือนเมษายน ซึ่งปกติแล้วเดือนเมษายนและพฤศจิกายน จะเป็นเดือนที่ยอดขายเติบโตสูงสุด แต่เดือนเมษายน 2558 ยอดขายกลับติดลบ 0.1%  
 
เป้าปี 59 คาดตลาดรวมโต 2% มาม่าขอโต 5%
 
ส่วนแนวโน้มตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปีนี้ น่าจะเติบโตได้ดีกว่าเดิม คาดว่าตลาดรวมจะมีอัตราเติบโต 2%  มาม่าคาดว่าจะทำยอดขายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท มีอัตราเติบโต 5%  หรือประมาณ 500 ล้านบาท
 
สาเหตุที่เชื่อว่าตลาดจะเติบโตขึ้น
 
1. เศรษฐกิจแย่มา 2 ปี รัฐบาลมีมาตราการฉลาดๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมให้เติบโตต่อเนื่อง และสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
 
2. ปีนี้เป็นปีแรกของเออีซี จะมาช่วยขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยเองก็ถูกมองว่าเป็นเมืองหลวงของประเทศในกลุ่มอินโดจีน (CLMV) จะช่วยให้มีลูกค้าใหม่ๆเพิ่มขึ้น
 
3. มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมซื้อมาม่ากลับไปเป็นของฝาก โดยเฉพาะต้มยำกุ้ง เชื่อว่าจะมีผลต่อตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เติบโต 2%
 
สำหรับมาม่านั้น คาดว่าปี 2559 จะมีอัตราเติบโต 5%  หรือคิดเป็นยอดขายรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยได้วางแผนออกแคมเปญใหม่ๆ และกิจกรรมการตลาดต่อเนื่อง รวมทั้งการออกรสชาติใหม่ๆ ซึ่งมาม่ามีวิจัย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทดลองตลาด และเพิ่มส่วนแบ่งตลาด หลังจากที่ปี 2558 ไม่มีการออกรสชาติใหม่เลย 
 
“ปัจจุบันการจะออกรสชาติใหม่มาแต่ละครั้งมีต้นทุนการตลาดสูงมาก บางครั้งเราใช้วิธีนำรสชาติเดิม ซึ่งเรามีอยู่ 24 รสชาติ เลือกมาสื่อสารใหม่ก็จะเพียงพอแล้ว อย่างปีที่แล้ว เรานำรส เย็นตาโฟหม้อไฟ เป็นรสชาติที่ออกมา 6 ปีแล้ว มาสื่อสารใหม่ ส่งผลให้ยอดขายเพิ่ม 40%”
 
เวทิต ประเมินกลยุทธ์การตลาดในปีหน้า คู่แข่งเองน่าจะมุ่งไปที่ขยายช่องทางจัดจำหน่ายมากขึ้น ส่วนมาม่านั้นช่องทางขายครอบคลุมแล้ว ส่วนมาม่าจะให้น้ำหนักในเรื่องของกิจกรรมการตลาด เพือกระตุ้นยอดขาย
 
โดยปีที่ผ่านมา ทุกแบรนด์มีการใช้เม็ดเงินในการซื้อสื่อ 750 ล้านบาท มาม่าใช้ไป ประมาณ 250 ล้านบาท เฉพาะแคมเปญอั้ม พัชราภา ใช้ไป 200 ล้านบาท สำหรับปีนี้คาดว่าจะใช้งบเท่าๆ กับปีที่แล้ว ซึ่งยังไม่รวมงบการตลาดอื่นๆ เช่น การให้ส่วนลด การจัดกิจรรม ที่จะใช้งบอีกไม่น้อยกว่าซื้อสื่อ
 
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บะหมี่สำเร็จรูปมาม่า สร้างยอดขายให้กับ สหพัฒน์พิบูลย์ 33% จากยอดขายรวม 2.8 หมื่นล้านบาท
 

ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปี 2558
มูลค่า 14,500   เติบโต 0.4 % 
(ที่มา : บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), นีลเส็น)
 
ส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปี 2558
มูลค่า 14500 ล้านบาท
มาม่า  51%
ไวไว  21% 
ยำยำ  20%
(ที่มา : บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), นีลเส็น)
 
ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบ่งตามประเภทบรรจุภัณฑ์
ซอง 76% 
คัพ 24%  
 
4 อันดับรสชาติขายดีของมาม่า
อันดับ 1   ต้มยำกุ้ง
อันดับ 2   หมูสับ
อันดับ 3   ต้มยำกุ้งน้ำข้น
อันดับ 4   เย็นตาโฟ 
3 อันดับรวมกัน ทำยอดขาย 60% ของยอดขายรวม