เกทับบลัฟแหลก แพกเกจ 4G

ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคการให้บริการ 4G อย่างแท้จริง ที่เมื่อโอเปอเรเตอร์รายหลัก ซึ่งเป็นพี่ใหญ่สุดในวงการโทรคมนาคมออกมาขยับ กดปุ่มเปิดให้บริการ 4G ครอบคลุม 42 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมไปกับการเปิดแพกเกจรูปแบบใหม่ ออกมาชูในเรื่องความเร็วในการใช้งานต่อเนื่องตลอดเดือนสูงสุดถึง 75 GB
 
แม้ว่าจะมีเงื่อนไขในการให้บริการที่ถือว่าแปลกใหม่สำหรับผู้บริโภคทั่วไป เพราะทางเอไอเอสเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบการคิดค่าบริการอินเทอร์เน็ตจากเดิมที่ผู้บริโภคคุ้นชินกับแพกเกจแบบไม่จำกัด (Unlimited) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานใช้ดาต้าความเร็วสูง เมื่อถึงปริมาณที่กำหนดไว้ค่อยปรับลดความเร็วลงตามข้อบังคับการใช้งาน (FUP) มาเป็นการคิดค่าบริการตามปริมาณที่ใช้งานจริง เพื่อให้ได้ความเร็วสูงตลอดเวลา
 
นาทีนี้ ปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ไขข้อข้องใจว่า การปรับแพกเกจใหม่ของเอไอเอส เกิดจากการศึกษาพฤติกรรมการใช้งานดาต้าของผู้บริโภค พบว่าส่วนใหญ่ที่สมัครใช้งานแพกเกจแบบไม่จำกัด เมื่อใกล้หมดรอบบิล หรือใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครบตามจำนวน ก็จะมีการซื้อแพกเกจเสริมเพิ่มเข้าไป เพื่อให้ใช้งานได้ต่อเนื่อง
 
ดังนั้น เมื่อเห็นถึงพฤติกรรมดังกล่าว เอไอเอสจึงเลือกที่จะตัดในเรื่องของอันลิมิเต็ดออกไป และปรับลดราคาแพกเกจลงให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบัน ลูกค้าที่ต้องการใช้งานแพกเกจ “4G เต็มสปีด” จะสามารถใช้งานแพกเกจดังกล่าวที่ให้ปริมาณดาต้าใช้งานตั้งแต่ 1.5 GB ไปจนถึง 75 GB โทร.ฟรี 100-1,500 นาที ต่อเดือนในราคา 299-1,888 บาท
 
อย่างไรก็ตาม รูปแบบของแพกเกจใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบคิดตามปริมาณใช้งานจริง ไม่ใช่เอไอเอสรายแรกที่คิดออกมาให้ผู้บริโภคใช้งาน เพราะก่อนหน้านี้ในช่วง 3G เข้าสู่ 4G แรกๆ ทางดีแทค เคยเปิดตัวแพกเกจในชื่อ “Love & Roll” ออกมาแล้ว ชูจุดเด่นที่การให้ปริมาณการใช้งานต่อเดือนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับแบบไม่จำกัด พร้อมข้อดี คือ เมื่อใช้งานดาต้าไม่หมดจะมีการทบการใช้งานไปไว้ในรอบบิลถัดไปด้วย
 
ในขณะเดียวกัน ดีแทค ก็เลือกที่จะรักษาฐานลูกค้าที่ต้องการแพกเกจใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัดอยู่เช่นเดิม จึงมีการออกแพกเกจ “Love & Roll non-stop” มาให้ลูกค้าที่ต้องการแพกเกจแบบไม่จำกัดเป็นทางเลือกในการใช้งานด้วย เพียงแต่ก็จะมีราคาแพกเกจที่สูงกว่าแพกเกจปกติทั่วไป
 
แต่ด้วยการออกราคาใหม่ของเอไอเอส ทำให้ทางดีแทคต้องมีการขยับตัวอีกครั้ง ด้วยการปรับราคาแพกเกจ 4G ออกมาสู้ศึกในครั้งนี้ด้วย “Love & Roll Super non-stop” ที่มีรายละเอียดแพกเกจที่น่าสนใจใกล้เคียงกับแพกเกจ 4G ของทางเอไอเอส เพียงแต่เพิ่มในจุดของการใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดมาด้วย เสริมเป็นจุดแข็งขึ้นมา พร้อมกับเลือกที่จะซอยแพกเกจย่อยออกเป็นหลายระดับราคา
 
โดยแพกเกจของดีแทค ที่ออกมาสู้ในครั้งนี้จะเริ่มต้นที่ 299 บาท ไปจนถึง 1,999 บาท สามารถใช้งานดาต้าในความเร็วสูงสุดได้ 1.5 GB-80 GB โทรฟรี 100-2,000 นาที ซึ่งถือว่าเป็นการออกแพกเกจมาเพื่อแข่งขันกับทางพี่ใหญ่โดยเฉพาะ
 
ส่วนทางทรูมูฟ เอช แม้ว่าจะยังไม่มีการออกโปรโมชันใหม่มากระตุ้นตลาดสู้ แต่ปัจจุบันก็มีโปรโมชันอย่าง “iSmart non stop” ให้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 3G/4G อย่างไม่จำกัดเช่นเดียวกัน โดยเริ่มต้นที่ราคาเดือนละ 299 บาท ไปจนถึง 1,899 บาท สามารถใช้งานดาต้าความเร็วสูงสุดได้ 750 MB-22 GB โทร.ฟรี 100-2,000 นาที โดยกำหนด FUP ไว้ที่ 128 Kbps สำหรับแพกเกจราคาต่ำกว่า 699 บาท ส่วน 899 บาทขึ้นไปจะได้ FUP 384 Kbps
 
 
เกมแย่งลูกค้าเก่า
 
อีกหนึ่งในการแข่งขันเรื่องแพกเกจที่เกิดขึ้น คือ เมื่อตอนมีการออกโปรโมชันใหม่ ส่วนใหญ่จะให้สมัครใช้งานได้เฉพาะลูกค้าใหม่เท่านั้น ส่วนลูกค้าเก่าถ้าจะเปลี่ยนโปรโมชันมาใช้งานแพกเกจใหม่ก็จะมีเงื่อนไข ซึ่งแพกเกจของ 4G ก็จะมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ ในช่วงแรกเอไอเอส เปิดให้ลูกค้าเก่าสามารถสมัครแพกเกจใหม่ได้ในระดับราคา 688 บาทขึ้นไป จนกระทั่งดีแทคออกโปรโมชันมาให้ลูกค้าเก่าสามารถใช้งานแพกเกจใหม่ที่ 499 บาท
 
เมื่อเกิดการแข่งขันในจุดนี้ขึ้น สุดท้ายทั้ง 2 โอเปอเรเตอร์ ก็เลือกที่จะปรับข้อกำหนดเรื่องของลูกค้าเก่าออก และเปิดให้ลูกค้าเก่าสามารถสมัครแพกเกจใช้งานได้ตั้งแต่แพกเกจเริ่มต้นที่ 299 บาท ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์
 
ในขณะที่ทรูมูฟ เอช กลับเบนเข็ม มายังการแย่งลูกค้าเก่าที่ใช้งานคลื่น 900 MHz แทน ด้วยการออกโปรโมชันให้ลูกค้าเก่าที่ใช้งานคลื่น 900 MHz ในปัจจุบันอยู่ ย้ายค่ายมาทรูมูฟ เอช เพื่อรับมือถือฟรี เมื่อเติมเงิน สมัครแพกเกจ หรือชำระค่าบริการรายเดือนล่วงหน้า ตั้งแต่ 90 บาท-1,500 บาท ในการเลือกรับตั้งแต่ฟีเจอร์โฟน 3G ไปจนถึงสมาร์ทโฟน 4G
 
จุดเด่นแต่ละค่าย
 
มาถึงในแง่ของจุดเด่นของแต่ละค่ายในแพกเกจ 4G ใหม่ที่เพิ่งออกมา ทางเอไอเอส นอกเหนือจากเรื่องใช้เน็ตความเร็วสูงได้ตลอดแพกเกจแล้ว ก็ชูจุดเด่นในแง่ของรูปแบบการสมัครใช้งาน ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกสมัครได้ว่าจะใช้งานแบบปกติ ใช้งานมัลติซิม (เบอร์เดียวหลายเครื่อง) และแบบแชร์กันภายในครอบครัว (หลายเบอร์แพกเกจเดียว)
 
แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแพกเกจที่แถมอินเทอร์เน็ต เอไอเอส เลือกที่จะแถมเพิ่มให้เฉพาะการใช้งานบน 4G เท่านั้น ดังนั้น ผู้บริโภคอาจจะต้องระมัดระวังในการใช้งานแพกเกจหลักว่าใช้งานบน 3G ครบไปแล้วหรือไม่ ก่อนที่แพกเกจแถมอย่าง 4G จะหมด ซึ่งอาจจะเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้
 
ขณะที่ทางดีแทค แพกเกจใหม่นี้ก็จะชูจุดเด่นที่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อเนื่องได้ (FUP) แม้ว่าจะใช้งานครบตามปริมาณที่กำหนด ซึ่งในแพกเกจตั้งแต่ระดับราคา 399 บาทขึ้นไปจะได้ความเร็วอยู่ที่ 384 Kbps ในราคาที่ใกล้เคียงกับแพกเกจของเอไอเอส แต่ได้แพกเกจแบบไม่จำกัด ถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่เป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค
 
ส่วนทางทรูมูฟ เอช แม้ว่าจะยังไม่มีการออกแพกเกจ 4G ใหม่ออกมาแข่งขัน แต่เน้นไปที่การย้ายค่ายเบอร์เดิมมาให้ส่วนลดค่าแพกเเกจ 50% ก็ทำให้ตัวแพกเกจมีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่าท้ายที่สุด เมื่อมีการเรียกร้องแพกเกจของลูกค้าเก่า ทางทรูมูฟ เอช ก็ต้องมีการปรับแพกเกจออกมาให้สอดคล้องกับการแข่งขันในท้ายที่สุด
 
จับโปรเทียบ ค่ายไหนคุ้ม
 
ทั้งนี้ เมื่อลองนำแพกเกจเทียบกันระหว่าง 3 ค่าย ในช่วงราคาเกือบ 700 บาท คือ เอไอเอส 688 บาท ได้เน็ต 20 GB ใช้หมดสมัครแพกเสริมเพิ่มได้ โทร. 300 นาที ฟรีเอไอเอสไวไฟ, คลาวด์ 100 GB, ดู AIS Play ฟรี 4 เรื่องต่อสัปดาห์
 
ดีแทค 699 บาท ได้เน็ตความเร็วสูงสุด 20 GB หลังจากนั้นไม่จำกัดที่ FUP 384 Kbps โทร. 300 นาที ฟรีดีแทคไวไฟ, คลาวด์ 50 GB และประกันอุบัติเหตุ พร้อมใช้ไม่หมดทบไปเดือนถัดไป และ ทรูมูฟ เอช 699 บาท ได้เน็ตความเร็วสูงสุด 8 GB หลังจากนั้นไม่จำกัดที่ FUP 128 Kbps โทร. 300 นาที ฟรีทรูไวไฟ
 
จะเห็นได้ว่าทั้ง ดีแทค และทรูมูฟ เอช จะมีราคาแพกเกจที่แพงกว่า เอไอเอส อยู่ราว 10 บาท แต่จะได้ใช้งานเน็ตแบบไม่จำกัด ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานของลูกค้า รวมถึงประสบการณ์ในการใช้งานทั้งประสิทธิภาพเครือข่าย สิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้า และบริการหลังการขายของแต่ละค่ายที่จะนำมาประกอบในการเลือกใช้งาน