แจส วิ่งสู้ฟัดหาพันธมิตร ลุ้นโต้คลื่น 4 G

ยังต้องลุ้นกันตัวโก่ง สำหรับ แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ที่แม้จะชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ไปด้วยราคา 75,654 ล้านบาท แต่กำลังถูกจับตามองอย่างหนัก กับการยังไม่ได้ข้อสรุปแหล่งเงินทุนสนับสนุน ในการจ่ายค่าใบอนุญาต ให้ทันในวันที่ 21 มีนาคม 2559 ซึ่งเหลือเพียงไม่กี่วัน
 
ยิ่งเมื่อมีกระแสข่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ แหล่งเงินทุนเพียงรายเดียว ยังไม่อนุมัติเงินกู้ให้ โดยให้แจส ส่งแผนงานกลับไป ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องเพิ่มทุน หรือหาพันธมิตรมาถือหุ้น
 
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ได้มีโอกาสสนทนากับ ดร.โสรัชย์ อัศวะประภา กรรมการ บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และรองประธานกรรมการ บริษัท โมโน เทคโนโลยี (มหาชน) ถึงปัญหาและทางออกที่แจสต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้
 
 
-การเจรจากับธนาคารกรุงเทพคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว
 
ธนาคารกรุงเทพอยู่ระหว่างพิจารณา  โดยให้เงื่อนไขมาต้องให้แจสเพิ่มทุน หรือหาพันธมิตรเข้ามาร่วมถือหุ้น  ในส่วนการเพิ่มทุนนั้น แจสคงไม่เพิ่มแน่นอน เพราะถ้าเพิ่มทุนก็ต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นลง ซึ่งผู้ถือหุ้น (ตระกูลโพธารามิก) เขาไม่ต้องการ เพราะจะทำให้เราทำงานไม่สะดวก  ตัวคุณพิชญ์ (โพธารามิก) ต้องการหาพันธมิตรเข้ามาถือหุ้น
 
 
 
-ทำไมธนาคารกรุงเทพถึงเพิ่มเงื่อนไขในการให้เงินกู้ เพราะแจสเคยบอกว่าธนาคารพร้อมสนับสนุนเงินกู้ให้อยู่แล้ว
 
ตอนแรกที่พูดคุยกับธนาคารกรุงเทพไว้ ได้มีประเมินกันว่าราคาประมูลใบอนุญาต ไม่น่าจะเกิน 5 หมื่นล้าน  แต่พอราคาประมูลเพิ่มไปถึง 7.5 หมื่นล้านบาท ตอนนั้นคุณชาติสิริ (โสภณพนิช)เองก็ยังบอกว่าให้การสนับสนุนเต็มที่ แต่กรรมการของแบงก์อาจจะมองว่ามีความเสี่ยง เลยต้องการหาหลักประกันเพิ่ม
 
 
-ทำไมคุยกับแบงก์กรุงเทพแค่รายเดียว
 
แบงก์กรุงเทพมีความตั้งใจอยากให้เงินทุนกับเรา แต่เวลานี้เขามีเงื่อนไขที่เขาต้องการ  เราเองก็ลงแรงลงเงินเราไปแล้ว เราก็อยากลงทุนต่อ เงื่อนไขตอนนี้อยู่ที่การพันธมิตร
 
 
-การพันธมิตรมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว มีกระแสข่าวว่าแนวโน้มกลุ่มเทมาเสกสนใจมาถือหุ้น
 
เวลานี้เรากำลังเจรจาอยู่หลายราย ไม่ใช่กลุ่มเทมาเสกรายเดียว เพราะว่าพอมีข่าวออกไปเกือบทุกประเทศในแถบนี้มาขอมาคุยกับเรา
 
 
 
-มั่นใจหรือไม่ว่าจะได้ข้อสรุปทัน กับการหาเงินทุนมาจ่ายค่าใบอนุญาตได้ทันในวันที่ 21 มีนาคม
 
ผมเชื่อว่าทัน  แม้ว่าการจะมีพาร์ทเนอร์จะไม่ใช่คุยกันง่ายๆ แต่ผู้ประกอบการที่เราคุยด้วยเขามีประสบการณ์ร่วมทุนกับคนอื่นมาแล้ว และอยู่ในธุรกิจโทรคมนาคมมาเป็น 10 ปี เราคุยกันแต่เรื่องหลักๆ น่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้
 
 
-สัดส่วน ที่จะให้พันธมิตรมาถือหุ้นเป็นอย่างไร
 
คงต้องมาถือหุ้นในบริษัทแจส โมบายฯ ไม่ต่ำกว่า 25%  เพราะถ้าน้อยกว่านี้เขาคงไม่มา สัดส่วนอาจจะเป็น แจส 51 %พันธมิตรถือ 49% หรือ แจสถือ 60% พันธมิตรถือหุ้น 40%
 
 
-พันธมิตรที่เลือกจะต้องมี know how ในธุรกิจนี้ที่จะมาช่วยเราในเรื่องธุรกิจหรือไม่
 
เรื่อง know how ไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะเวลานี้ให้บริการมือถือ ทุกรายเขาก็ใช้ฮาร์ดแวร์ของหัวเหว่ยในการสร้างเครือข่ายอยู่แล้ว  แต่หลักๆเลย เขาต้องมาช่วยแบ่งเบาในเรื่องการลงทุน และมีความมั่นคงพอที่จะทำให้ธนาคารกรุงเทพมีความมั่นใจ
 
 
-จนถึงเวลานี้แจสมั่นใจแค่ไหนกับการจะได้เป็นผู้ให้บริการมือถือรายที่ 4 ในไทย
 
ความตั้งใจเรามีเต็มที่ ตัวคุณ พิชญ์ เองก็ดูมีความมั่นใจและตั้งใจมาก อย่าลืมว่า แจส และทีแอนด์ทีเก็ผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง ตัวแจสเองก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ราคาหุ้นแค่  20 สตางค์ แต่เราก็ผ่านพ้นมาจนมาถึงวันนี้ได้ เราเตรียมทุกอย่างมาแล้ว  ถามว่าแจสอยากทำหรือไม่ อยากทำ และในทางธุรกิจก็เป็นไปได้  จะเห็นว่าธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทยกำไรสูงมาก ไม่เช่นนั้นราคาหุ้นของผู้ประกอบการรายเดิมจะสูงขนาดนี้เหรอ  ราคามาตกลงก็ตอนที่จะมีรายที่ 4  แต่เขาก็ยังกำไร เราก็คงต้องเจรจากับแบงก์ต่อไป การเจรจาจะสำเร็จได้ก็ต้องมีพาร์ทเนอร์เข้ามาถือหุ้น ซึ่งคงได้ข้อสรุปเร็วๆนี้