3 สัญญาณเตือน กลยุทธ์การตลาดของคุณกำลังโคม่า!

ในการทำการตลาด ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอก็คือ คุณอาจโซเชี่ยลมากไป อาจโซเชี่ยลไม่พอ หรือไปสร้างโซเชี่ยลผิดที่ผิดทาง เทียบได้กับการไปร่วมงานปาร์ตี้แต่ไปผิดงาน! แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ได้กำลังทำอะไรพลาดไปใน 3 ข้อนี้ ต่อไปนี้คือสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่ากลยุทธ์ของคุณเดินมาถูกทางหรือไม่ และจำเป็นต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง
 
สัญญาณเตือน #1 : มองไม่เห็นผลงานในธุรกิจที่กำลังทำ
 
ทางแก้: “ผลงาน” อาจเป็นได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การรับรู้แบรนด์ สร้างอิทธิพลในวงการ กระตุ้นยอดขายหรือคอนเวอร์ชั่น สร้างคาแรคเตอร์ให้แบรนด์ ให้บริการลูกค้า หรืออาจเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากนี้โดยสิ้นเชิงเลยก็ได้ การใช้เครื่องมือโซเชี่ยลไม่สามารถสร้างผลงานทุกอย่างที่ว่ามาได้ทั้งหมดพร้อมๆ กัน แต่คุณสามารถเริ่มต้นด้วยเป้าหมาย 1-2 ข้อก่อนได้ ค้นหาให้ได้ว่าสิ่งที่คุณต้องการสูงสุดคืออะไร แล้วจึงมองหากลยุทธ์ในการใช้โซเชี่ยลที่ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการใช้โซเชี่ยลของคุณ
 
สัญญาณเตือน #2 : คุณรู้สึกเหมือนกำลังคุยกับอากาศ
 
ทางแก้: ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะคุณใช้โซเชี่ยลที่ไม่เหมาะสม หากคุณเป็นบริษัทที่มีลูกค้าในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ คุณจะเลือกใช้ Twitter ไหม? เมื่อข้อมูลจาก Pew Research Center พบว่า Twitter เป็นโซเชี่ยลที่นิยมกันสำหรับผู้ใช้ในเมืองมากกว่า ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าการทำการตลาดออนไลน์ต้องใช้โซเชี่ยลทุกรูปแบบ ดังนั้น เลือกใช้อันที่เหมาะสมกับฐานลูกค้าของคุณที่สุดก็ได้ โดยใช้การดูทราฟฟิคผ่าน Google Analytics เข้าช่วย โดยดูว่าทราฟฟิคมาจากสื่อโซเชี่ยลใดมากที่สุด ฐานลูกค้าของคุณอยู่ที่นั่น ดังนั้น มุ่งไปใช้สื่อนั้นให้ตรงเป้าหมาย
 
สัญญาณเตือน #3 : ผู้ติดตามแทบจะไม่ไลค์ คอมเม้นท์หรือแชร์โพสต์ของคุณ
 
ทางแก้: คุณโปรโมทตัวเองมากเกินไปรึเปล่า? ลองเข้าไปดูโซเชี่ยลของ MailChimp ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการส่งอีเมลดู คอนเทนต์ส่วนใหญ่ในโซเชี่ยลของบริษัทนี้เป็นวิธีการทำให้อีเมลของทุกคนมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ Saddleback Bags ซึ่งขายสินค้าเครื่องหนัง แต่คอนเทนต์ในโซเชี่ยลมักจะเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตผจญภัยของผู้ที่ใช้สินค้าเสียมากกว่า ทั้งสองบริษัทมีอะไรที่เหมือนกัน? คำตอบคือ แทนที่จะโปรโมทตัวเองอย่างเดียว พวกเขาสร้างมูลค่าให้กับผู้อ่านคอนเทนต์ของเขา ลองมองหาหนทางที่สินค้าและบริการของคุณจะช่วยเหลือผู้คนและสังคมที่บริษัทของคุณทำธุรกิจอยู่ได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการจากคุณ เมื่อคุณแชร์คอนเทนต์ในลักษณะนั้น ลูกค้าก็จะชอบ (พร้อมกดไลค์ แชร์ และคอมเมนท์)