บทสรุป กสทช. เมื่อแจสไม่มาจ่ายเงินจะเกิดอะไรขึ้น

หลังจากที่สำนักงาน กสทช.ได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อรอให้ แจส โมบาย บรอดแบนด์ นำเงินมาชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ของวันที่ 21 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่แจสจะต้องนำเงินงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมกับหนังสือรับรองจากสถาบันการเงิน หรือแบงก์การันตี อีก 67,614 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จ  75,654 ล้านบาท 
 
แต่เวลาผ่านมาจนถึงเกือบเที่ยงวันแล้ว 12.00 น. แจส ก็ยังไม่ได้ติดต่อกับทาง กสทช. แต่อย่างใด จนล่าสุด ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ทาง กสทช.ได้โทรศัพท์ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะเข้ามาชำระเงินหรือไม่ โดย กสทช.จะเปิดพื้นที่รอจนถึง 16.30 น. ซึ่งทาง กสทช.ต้องการให้แจสแสดงท่าทีว่าจะนำเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz หรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนเวลาเที่ยง 
 
นอกจากนี้ ฐากร ยังได้ส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวด้วยว่า “ตามที่มีข่าวบางสื่ออ้างคำพูดของผมว่าแจสจะนำเงินมาชำระในช่วงบ่ายวันนี้ ผมขอเรียนยืนยันว่า ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์ใดๆ ว่า แจสจะนำเงินมาชำระเงินในช่วงบ่ายวันนี้ จึงเรียนมาเพื่อแจ้งให้สื่อมวลชนทุกๆท่านได้รับทราบข้อเท็จจริง” 
 
 
ในกรณีที่แจส ไม่จ่ายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
 
ในวันนี้ (21 มีนาคม 2559) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) เปิดเผยถึงกรณีที่แจสไม่นำเงินมาชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ถึงแนวทางที่ กสทช. จะดำเนินการต่อไป ดังนี้ 
 
-ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อหารือแนวทาง ในวันที่ 22 มีนาคม  
 
-รายงานให้รัฐบาลรับทราบ ในวันที่ 23 มีนาคม เนื่องจากเงินค่าประมูล 4G ต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ 
 
-ยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันจากแจส จำนวน 644 ล้านบาท 
 
-ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการประมูล 4G ประเมาณ 160 ล้านบาท เป็นค่าเสียโอกาส จากการที่คนไทยไม่สามารถใช้งาน 4G คลื่น 900 อีก 10 MHz ได้เต็มประสิทธิภาพ 
 
-เปิดประมูลคลื่น 900 MHz ในอีก 4 เดือนข้างหน้า ในราคาเริ่มต้นเท่ากับราคาที่แจสชนะประมูลได้ที่ 75,654 ล้านบาท 
 
-แต่หากเปิดประมูลแล้ว ไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้าประมูล จะพักการประมูลคลื่น 900 MHz ไปไม่น้อยกว่า 1 ปี 
 
-เสนอแนวทางเลือกให้รัฐบาลพิจารณา คือ การให้ผู้ชนะประมูล อันดับ 2 และอันดับ 3 คือ แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค ในเครือเอไอเอส และดีแทค ไตรเน็ต เน็ตเวิร์ค ในเครือดีแทค มาเจรจาต่อรองราคา ซึ่งอาจเป็นราคาเดียวกับที่แจสเสนอไว้