Samsung ไม่ต้องใหญ่ ขอแค่โตเร็ว

กล้องดิจิตอลบนมือถือ เปิดโอกาสให้ทุกคนที่ไวพอ เข้ามาเล่นในตลาดนี้ได้ ซึ่ง Samsung ค่อนข้างมีความเร็วมากกว่ารายอื่น บวกกับความพร้อมด้านมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นพื้นฐานในอาชีพหลักของ Samsung การวิจัยตลาดผู้บริโภค และการเลือกสินค้าที่ตรงใจ ทำให้ Samsung เกิดขึ้นมาได้ในตลาดนี้ในเวลาอันสั้น

Samsung ไม่ใช่รายแรกที่เข้ามาทำตลาดมือถือติดกล้องในเมืองไทย แต่เป็นรายแรกในระดับ global ที่ทำมือถือติดกล้องออกมาตั้งแต่ปี 2544 ในระบบ CDMA ส่วนในระบบ GSM เริ่มผลิตขึ้นในช่วงปลายปี 2546 โดยรุ่น V200 เป็นโทรศัพท์ติดกล้องเครื่องแรกที่ Samsung วางขายในเมืองไทย

การที่ Samsung ทำมือถือติดกล้องเป็นเจ้าแรกในตลาดระดับ global เป็นเพราะ vision ของบริษัทในเรื่อง digital convergence ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่เข้าหากันของสินค้าหลาย ๆ อย่างที่เป็นดิจิตอล สินค้าชิ้นหนึ่งไม่ได้ทำหน้าที่ได้อย่างเดียว โดย Samsung มองลึกลงไปถึงตัววัสดุ อุปกรณ์ที่ประกอบกันขึ้นมา เช่น เครื่องโทรศัพท์จะมี memory อยู่ข้างใน มีลำโพง ถ้าใส่เสียงเพลง MP3 ลงไปก็จะกลายเป็นโทรศัพท์ และเครื่องเล่น MP3 หรือใส่เลนส์เข้าไปก็จะกลายเป็นกล้องถ่ายรูป

ดังนั้นสินค้าในอนาคตจะมีหลายๆ ฟังก์ชันในชิ้นเดียว ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องถือหลายๆ อย่าง อย่างเช่น ไปเที่ยว ก็ไม่ต้องถือโทรศัพท์มือถือ และกล้องถ่ายรูป แต่สามารถนำมารวมกันได้ในชิ้นเดียว ซึ่งนี่คืออิทธิพลของ digital convergence

Samsung เริ่มเข้ามาทำตลาดมือถือในเมืองไทยอย่างจริงจังเมื่อปลายปี 2546 โดยก่อนหน้านี้ โทรศัพท์ติดกล้องของ Samsung ได้ไปเจริญเติบโตเป็นอย่างมากในประเทศเกาหลี และญี่ปุ่น

การที่ Samsung ไม่ได้เร่งรีบที่จะเข้ามาทำตลาดมือถือติดกล้องในเมืองไทย เป็นเพราะได้ทำตลาดส่วนนี้ไปแล้วในระดับ global อีกทั้งยังต้องการความสมบูรณ์ในตัวผลิตภัณฑ์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่เปิดตัวขึ้นมาเฉยๆ เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีสินค้าอยู่ในตลาด

Samsung ใช้เวลาไปกับการพัฒนากล้องให้หมุนได้ ซึ่งเป็นรายแรกของโลกที่ทำกล้องบนมือถือในลักษณะนี้ขึ้นมา เพื่อใช้ถ่ายตัวเอง หรือถ่ายรูปกับเพื่อน เพราะเข้าใจว่าลูกค้าที่ซื้อโทรศัพท์ติดกล้องไป ไม่ได้มีไว้เพื่อถ่ายคนอื่นสักเท่าไร แต่ใช้ถ่ายตัวเองมากกว่า ซึ่งทำให้โทรศัพท์มือถือติดกล้องเป็นเหมือนตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์ที่จะถ่ายรูปเมื่อไหร่ก็ได้ ในขณะที่ของรายอื่นจะติดกล้องไว้ด้านหลัง เพราะฉะนั้นเวลาถ่ายรูปตัวเองจะไม่เห็นหน้าจอ จะมีเพียงกระจกอันหนึ่งที่ติดมาให้เพื่อให้เดาเอาว่าคุณอยู่ในกระจกนี้ ซึ่งได้อารมณ์ของการถ่ายภาพที่แตกต่างกัน

อเนก อนันต์วัฒนพงษ์ Marketing Manager Telecommunication Business บริษัท Thai Samsung Electronics Co., Ltd. กล่าวว่า การศึกษาผู้บริโภค และการเลือกสินค้าที่ตรงใจลูกค้า ทำให้ Samsung มีการเติบโตที่รวดเร็ว โดยมี market share เพิ่มจากในปี 2544-2545 ที่มีแค่ 1% เป็น 6% ในปี 2546 ซึ่งนั่นเป็นส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมทั้งปี แต่ถ้ามองเป็นไตรมาสแล้ว ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2546 Samsung ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาด 11% และในไตรมาสแรกของปี 2547 มีส่วนแบ่งการตลาดขึ้นมาเป็น 13% ในขณะที่เบอร์ 1 อย่าง Nokia มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 53%

หากมองแง่ของ value share นั้น Samsung มีส่วนแบ่งประมาณ 25% แต่ในขณะที่ Nokia ยังอยู่ที่ประมาณ 53% นั่นหมายความว่า Samsung ขายสินค้าต่อชิ้นแพงกว่า Nokia ค่อนข้างมาก โดยโทรศัพท์ของ Samsung ขายแพงกว่าราคาเฉลี่ยของตลาดประมาณ 1.7-1.8 เท่า เนื่องจากโทรศัพท์ Samsung 99% เป็นโทรศัพท์จอสี ในขณะที่โทรศัพท์ Nokia 50% เป็นจอขาวดำ

แต่ถ้าดูในแง่ของตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือที่มีราคาเกิน 10,000 บาทนั้น Samsung มี market share ประมาณ 50% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ชี้ชัดว่า Samsung เป็นผู้นำในตลาดระดับบน โดยตัวเลขเหล่านี้มาจาก JFK ซึ่งเป็น standard report ที่คนใช้เป็นมาตรฐานในการวัด market share

ผลการศึกษาวิจัยผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้โทรศัพท์เครื่องเล็ก หน้าจอใหญ่ มี keypad ใหญ่กดง่าย ได้เข้ามาในการออกแบบสินค้าของ Samsung จนได้โทรศัพท์ฝาพับที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกความต้องการ ในขณะที่คู่แข่งไม่ได้มองภาพนี้ไว้ ส่งผลให้แบรนด์ Samsung ที่เข้ามาเล่นในตลาดช้ากว่ารายอื่น แต่กลับมี impact กับผู้บริโภคในไทยได้มาก

อเนก กล่าวว่า ภาพพจน์ของเกาหลี ที่ดูเป็นเกรด 2 ในสายตาผู้บริโภค จึงต้องลบภาพพจน์นั้นก่อน ด้วยการส่งสินค้าเกรด A เข้ามาขายในเมืองไทย ตั้งราคาสูง สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ใช้ innovation ที่มีความแตกต่าง ลูกค้าไม่เคยเห็นมาก่อน มาเป็นกลยุทธ์ในการทำตลาด โดย focus ไปที่โทรศัพท์จอสีเป็นหลัก

Samsung จะไม่ลงไปเล่นในตลาดโทรศัพท์ระดับล่างราคา 3-5 พันบาท แม้ว่าตลาดส่วนนี้จะใหญ่ถึงครึ่งหนึ่งของตลาดรวมก็ตาม ด้วยความเชื่อที่ว่า โทรศัพท์จอขาวดำจะทยอยหายไปเหมือนโทรทัศน์ขาวดำ ที่เมื่อมีโทรทัศน์สีขึ้นมาก็จะหายไปจากตลาด Samsung จึงตัดสินใจไปรอในตลาดระดับบนตั้งแต่แรก โดยได้วาง positioning สำหรับโทรศัพท์มือถือซึ่งคนอื่นมองเข้ามาว่าจะต้องเป็นสินค้า premium ที่มีคุณภาพสูง และมีเทคโนโลยีสูง

ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มคนอายุ 18-35 มีความชื่นชอบในโทรศัพท์ของ Samsung มาก แต่คนที่มีอายุมากกว่านั้นจะไม่ค่อยชอบนัก เพราะไม่ชอบเล่นฟังก์ชัน ลูกเล่นต่างๆ ที่มีในตัวเครื่อง ดังนั้นคนที่จะเล่นกับลูกเล่นต่างๆ ที่มีอยู่ในมือถือ และชอบของใหม่จะเป็นกลุ่มคนอายุ 20-30 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีความสำคัญกับสินค้าของ Samsung มาก

นับจากนี้ต่อไป รูปแบบการทำตลาดของ Samsung จะมีความชัดเจน โดยจะมีสินค้าต่อ segment ที่ Samsung คิดว่าใหญ่พอ ในกลุ่มที่คนสามารถซื้อได้ สินค้าของ Samsung เป็น lifestyle segmentation ด้วยการดูรูปแบบของลูกค้าก่อนว่าต้องการอะไร แล้วนำสินค้ามารองรับในกลุ่มนั้น เช่น โทรศัพท์สำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง เป็นต้น

งบประมาณทางการตลาดจำนวน 400 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปีที่แล้วเท่าตัว ครึ่งหนึ่งจะใช้ไปกับการทำ event marketing และอีกครึ่งหนึ่งใช้กับสื่อประเภทอื่น เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โดยการทำ event marketing ของจะเน้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ โคราช สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น อุดรธานี เป็นต้น

การที่ Samsung ให้น้ำหนักไปกับ event marketing มากเป็นพิเศษเพราะต้องการ educate คน และเป็นการมอบประสบการณ์ตรงให้กับผู้บริโภค ให้ได้สัมผัสกับสินค้าด้วยตัวเอง ซึ่งการทำตลาดด้วยวิธีนี้จะแข็งแรงกว่าการทำโฆษณาประเภทอื่นที่ผู้บริโภคไม่สามารถจับต้องสินค้าจริงได้

Samsung มีแผนเปิดตัวโทรศัพท์มือถือทั้งหมดกว่า 30 รุ่นทั่วโลกในปีนี้ แต่แน่นอนว่าต้องทำการวิจัยทางการตลาดก่อนว่ารุ่นไหนที่เหมาะกับตลาดประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 12 รุ่น โดยภาพรวมของโทรศัพท์ติดกล้องกำลังย้ายลงมาในตลาดระดับกลาง ซึ่งผู้ผลิตที่ทำมือถือติดกล้องทั้งหมดกำลังลงไปเล่นในตลาดนั้น

การพัฒนาความละเอียดของกล้องดิจิตอลในมือถือจะมากขึ้นเรื่อยๆ โทรศัพท์ที่มีความละเอียด 1 ล้านพิกเซลของ Samsung จะนำมาวางในตลาดอีกไม่นานนี้ ซึ่งตามมาด้วย1.3 ล้านพิกเซล และ 2 ล้านพิกเซล ที่จะเปิดตัวในสิ้นปีนี้

“สิ่งที่คาดเดาได้อย่างหนึ่งคือ คุณภาพของกล้องบนมือถือจะดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมาแทนที่กล้องถ่ายรูปดิจิตอลธรรมดา แต่ขณะเดียวกันกล้องถ่ายรูปดิจิตอลก็จะพัฒนาขึ้น ไม่ได้ปล่อยให้กล้องบนมือถือมากินตลาดส่วนนี้ได้ โดยปัจจุบันคุณภาพของกล้องบนมือถือที่ความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล สามารถให้คุณภาพได้ใกล้เคียงกับกล้องดิจิตอลความละเอียดประมาณ 1 ล้านพิกเซลของ Sony ในการนำมาขายในยุคแรก ซึ่งการที่เทคโนโลยีกล้องบนมือถือถูกพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นนี้ เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับตลาดกล้องดิจิตอล” อเนกกล่าวสรุป

Website

www.samsung.com