Digital Still Camera: What’s Next?

พัฒนาการที่ไม่หยุดยั้งของกล้อง digital ในประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว อีกด้านหนึ่งยังส่งผลให้ผู้ประกอบการแต่ละรายต่างเร่งต่อยอดผลิตภัณฑ์ ให้มี feature และ function ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น กระทั่งกำลังทับซ้อนและเหลื่อมล้ำเข้าไปสู่บริบทของสินค้าประเภทอื่น พร้อมกับการข้ามพ้นนิยามของการเป็น “กล้องถ่ายภาพ” แบบเดิมไปไกล

ความสะดวกที่เกิดขึ้นจากการที่ไม่จำเป็นต้องใช้ film ในการถ่ายภาพของกล้อง digital ดูจะเป็นเรื่องราวในอดีตหรือจุดขายที่ผ่านพ้นไปนานมากแล้ว เพราะปัจจุบันผู้ผลิตกล้อง digital แต่ละรายต่างได้ร่วมในกระบวนการของการทำให้เป็นอื่น ด้วยการทำให้กล้อง digital เป็นตัวแทนและสัญญะ (sign) ของยุคสมัย ที่ไม่เพียงแต่สะท้อนระดับขั้นการพัฒนาทาง เทคโนโลยี หากยังบ่งบอกรสนิยมและรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้ใช้กล้อง digital ของแต่ละบุคคลด้วย

ประเด็นที่ผู้ผลิตกล้องแต่ละรายแข่งขันประชันกันอยู่ในห้วงปัจจุบัน จึงเป็นไปท่ามกลางการผูกโยงเข้ากับความบาง เบา และสีสัน รูปทรงที่เน้นลักษณะ slick & chic ที่สะท้อน lifestyle โดยมีคุณสมบัติว่าด้วยความสามารถในการถ่ายภาพได้คมชัด แม้จะเผชิญกับอาการสั่นไหว หรือขณะกำลังเคลื่อนที่ เป็นเรื่องราวลำดับรอง ที่ผู้ผลิตแต่ละรายพยายามสื่อสารให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอยู่เป็นระยะ

ในแต่ละเดือน ผู้ผลิตแต่ละรายต่างทยอยนำเสนอกล้อง digital ชนิดและรุ่นที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับกำจัดข้อจำกัดของกล้อง digital ในยุคเริ่มแรก ไปสู่ประเด็นว่าด้วยความมีคุณภาพและความละเอียดที่เกิดจากความถี่ของจุดสี ที่เหนือกว่าอย่างไม่ลดละ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากระดับ 3.5-4 mega pixels ในช่วงก่อนหน้านี้ มาสู่ความละเอียดในระดับ 5-6 mega pixels และกำลังก้าวไปสู่ความละเอียดที่มากขึ้นในระดับ 8-10 mega pixels หรือมากกว่านั้นในบางรุ่น

ควบคู่กับพัฒนาการของ memory stick และ flash card ซึ่งเป็นประหนึ่งกระเพาะและสำไส้ของกล้อง digital ก็ว่าได้

ขณะที่ lens ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของกล้องถ่ายภาพไม่ว่าจะเป็นชนิดหรือแบบใด เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ผลิตแต่ละรายให้ความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตกล้อง digital ที่มิได้มีความชำนาญในเรื่องของกล้องถ่ายภาพมาแต่เดิม

ความสำเร็จของ Sony ในการก้าวสู่สมรภูมิ digital still camera นอกจากจะเกิดจากความสามารถในการพัฒนา digital technology แล้ว ในด้านหนึ่งยังเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการที่ Sony นำ lens ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ Carl Zeiss ผู้ผลิต lens และกล้องถ่ายภาพจากเยอรมัน มาใช้ในกล้อง digital ของบริษัท ที่นอกจากจะมีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แล้ว ยังลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความสามารถและคุณภาพของกล้อง Sony และกลายเป็นตัวอย่างให้ผู้ผลิตรายอื่นจำเริญรอยตามด้วย

Panasonic เป็นอีกรายหนึ่งที่ขยายบริบททางธุรกิจเข้ามาร่วมเป็นผู้ผลิตกล้อง digital ภายใต้ชื่อ Lumix โดย Panasonic เลือกใช้เทคโนโลยีของ Leica ผู้ผลิต lens และกล้องถ่ายภาพจากเยอรมันอีกรายหนึ่ง มาเป็นองค์ประกอบหลัก

Sony และ Panasonic อาจมีความจัดเจนใน digital technology และมีบริบททางธุรกิจกว้างขวาง รวมถึงเทคโนโลยีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวในรูปของ Video แต่สำหรับการเข้าสู่ธุรกิจกล้องถ่ายภาพนิ่ง ทั้งสองบริษัทยังต้องอาศัย ศักยภาพและความสามารถของผู้ผลิตระดับตำนานจากเยอรมัน มาเป็นแรงหนุนเสริมประหนึ่งทางลัดในธุรกิจนี้

กระนั้นก็ดี ในฐานะผู้มาใหม่ในธุรกิจกล้องถ่ายภาพนิ่ง ในห้วงเวลาที่กำลังพัฒนาเข้าสู่ยุค digital อย่างเต็มระบบ ทำให้ Sony และ Panasonic สามารถกำหนดที่อยู่ที่ยืนของผลิตภัณฑ์ ด้วยการออกแบบอย่างมีอิสระโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบและภาพลักษณ์ของกล้องถ่ายภาพในอดีตเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จากกรณีของ Cybershot ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของกล้องถ่ายภาพ โดยเฉพาะกล้อง digital ในปัจจุบันไม่น้อยเลย

ขณะที่ผู้ผลิตกล้องชั้นนำรายอื่นๆ ของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น Canon Nikon Olympus Pentax Minolta Kyocera ต่างเร่งพัฒนารูปแบบกล้อง digital เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของ Canon ซึ่งพยายามยึดกุมตลาดทุก segment ภายใต้ product line ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายแต่ละระดับได้อย่างเบ็ดเสร็จ

Canon วางตำแหน่งของ IXY Digital ไว้ในกลุ่มผู้ใช้ที่เน้นความเรียบเก๋ และทันสมัย ที่ต้องการความละเอียดระดับ 4-5 mega pixels ส่วน Power Shot เป็นกล้อง digital ที่ยังคงรูปลักษณ์ของกล้องถ่ายภาพที่คุ้นชินและใช้งานง่าย ด้วยความละเอียดที่มากถึง 6-8 mega pixels ในบางรุ่น โดยมี EOS Digital เป็นกล้องสำหรับมืออาชีพ หรือผู้ที่ต้องการคุณภาพของภาพสูง 8-10 mega pixels พร้อมกับอุปกรณ์เสริม (accessory) ที่ครบครัน สำหรับกล้อง digital ของ Canon ทุกรุ่น รวมถึง photo printer ที่สามารถประกอบส่วนต่อเชื่อมเป็น lab ในการอัดขยายภาพได้เสร็จสิ้นในเคหสถานเลยทีเดียว

นอกเหนือจากการแข่งขันที่หนักหน่วงระหว่างผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพนิ่งแต่ละราย ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนารูปแบบของกล้อง digital อย่างต่อเนื่องแล้ว ในกรณีของญี่ปุ่น พัฒนาการของโทรศัพท์มือถือที่มีคุณสมบัติสามารถถ่ายรูปได้เป็นประหนึ่ง function ภาคบังคับพื้นฐาน และในหลายรุ่นสามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้นานนับนาที ผนวกกับการเพิ่ม feature ให้กล้อง video สามารถปรับ mode มาถ่ายภาพนิ่งได้อีกส่วนหนึ่งนั้น ทำให้ผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพนิ่งจำเป็นจะต้อง “ฉีกหนี” จากพื้นที่ทับซ้อน และหาตำแหน่งแห่งที่ในการดำรงอยู่สำหรับกาลอนาคต

เพราะภายใต้พัฒนาการของโทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายภาพนิ่ง และกล้องถ่ายภาพ video ซึ่งดำเนินไปในทิศทางที่พร้อมจะผนวกรวมคุณสมบัติทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันในผลิตภัณฑ์เดียวยิ่งขึ้นนี้ บางทีโลกในยุค digital อาจได้มีโอกาสต้อนรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ เป็นและทำอะไร ได้มากกว่าของทั้งสามอย่างรวมกัน

เมื่อถึงวันนั้น คงต้องมีการกำหนดนิยาม และจัดวาง positioning ของสรรพสิ่งกันขนานใหญ่