แววดาว มหากายนันท์ มือวางสาว “ไอที” แห่งสภาพัฒน์

ด้วยวัยเพียงแค่ 26 ปี แววดาวเป็นหญิงสาวไม่มากนักที่ได้รับ “โอกาส” จากภาระหน้าที่ของการเป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เธอเข้ามาร่วมงานกับ “สภาพัฒน์ฯ” ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่หน่วยงานแห่งนี้ กำลังแปรสภาพจากผู้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปเป็นหน่วยงานทำหน้าที่วางยุทธศาสตร์ให้กับรัฐบาล

“ข้อมูล” จึงเป็นหัวใจสำคัญของหน่วยงานแห่งนี้ ที่ต้องแปรเปลี่ยนให้เป็น “ความรู้” (knowledge) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยไอที (information technology) เป็นเครื่องมือ เป็นหน้าที่โดยตรงของแผนกไอทีที่ต้องรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ มาสร้างให้เป็น “ฐานข้อมูล” จากนั้นก็นำไปประมวลผลให้เป็นองค์กรความรู้ รัฐบาลหยิบไปใช้วางแผนยุทธศาสตร์ได้ทันที

แววดาวเป็น 1 ในทีมงานเพียง 5 คนของแผนกไอทีที่ต้องนำความรู้ที่ร่ำเรียนมา บวกกับประสบการณ์ต่อเนื่องของเธอ มาใช้กับการสร้างบทบาทใหม่ของสภาพัฒน์ฯ ที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น

เธอเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสตรีวิทยา ใช้เวลาเรียนระดับมัธยมปลายเพียงแค่ปีเดียว สอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบมาด้วยคะแนนเกียรตินิยม

เริ่มงานแรกด้วยการเป็น “วิศวกร” ด้านโทรคมนาคม ในบริษัท TA ซึ่งเธอสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากหน้าที่การงาน จากการออกแบบและทดสอบระบบสื่อสารให้กับลูกค้า ทำให้เธอเรียนรู้งาน 2 ด้าน ทั้งเทคนิค และความต้องการลูกค้า และบุคลิกของการมีหัวใจบริการ หรือ service mind ที่ติดตัวเธอ ก็ได้มาจากการทำงานในช่วงนั้น

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานที่ TA 2 ปีเต็ม เธอสอบชิงทุน ก.พ. บินลัดฟ้าไปเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขา Information System Management ที่ Carnegie Mellon University, USA (CMU) ซึ่งจัดเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ที่เน้นความรู้ทางด้านไอทีของสหรัฐอเมริกา

“ลักษณะการเรียนจะไม่เหมือนกับ computer science ที่เน้นหนักเรื่องของเทคโนโลยี แต่คณะที่เรียนจะเป็นการผสมผสานความรู้ทั้ง 2 ด้าน คือเทคโนโลยีควบคู่ไปกับธุรกิจ จะเน้นเป็นเรื่องของการนำเอา application หรือไอทีไปต่อยอด ไปใช้ประโยชน์กับธุรกิจได้อย่างไร”

เธอยกตัวอย่างวิชา Data mining เป็นการนำข้อมูลของลูกค้าไปวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนธุรกิจ ซึ่งเป็น 1 ในวิชาทางด้าน Data ที่เธอได้เป็นผู้ช่วยอาจารย์สอนระหว่างศึกษาอยู่ที่ CMU

“อย่างกรณีศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าที่ไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า จะพบว่าเวลาพ่อบ้านไปห้างสรรพสินค้า มักจะซื้อผ้าอ้อม และซื้อเบียร์คู่กันเสมอ ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปให้ฝ่ายการตลาดไปใช้วางแผนการขายต่อไป เช่น จัดชั้นวางของจึงต้องมีเทคนิคในการขาย” แววดาวยกตัวอย่าง

ความรู้ที่เป็นการผสมผสานทั้ง 2 ด้าน นับว่าสอดคล้องกับความต้องการของสภาพัฒน์ฯ หน่วยงานต้นสังกัดที่ให้ทุนการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องนำไอทีมาใช้อย่างเข้มข้น

ระหว่างเรียนอยู่ CMU แววดาว มีโอกาสได้ไปฝึกงานเป็น IT Analyst ที่ Goldman Sachs นิวยอร์ค ฝากผลงานในโครงการ Reporting System ที่ใช้โปรแกรม จาวา และ XML ซึ่งเป็นความภูมิใจที่เธอเล่าถึงอย่างมีความสุข

กว่าจะได้ฝึกงาน เธอต้องผ่านการคัดเลือกอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ 6 ครั้ง และสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวอีก 2 ครั้ง เจ้าหน้าที่ของบริษัทบินมาสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัย และเธอต้องบินไปสัมภาษณ์ถึงที่สำนักงานใหญ่

“ต้องบินไปร่วมงานเลี้ยงดินเนอร์ ร่วมกับนักศึกษาจากที่ต่างๆ ที่ผ่านเข้ารอบอีก 20 คน สิ่งที่ต้องทำคือสร้างความประทับใจ ต้องทำการบ้านไปก่อน เพราะการวัดผลของเขา ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบถูกหรือผิด แต่อยู่ที่ว่าเราจะคิดรอบคอบมากแค่ไหน และมีความสามารถในการ convince ให้คนอื่นคล้อยตามได้มากแค่ไหน”

ระยะเวลา 3 เดือนของการฝึกงาน แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่เป็นช่วงที่เธอได้เรียนรู้ เรื่องราวของชีวิตการทำงานในแบบมืออาชีพ เป็นความรู้ที่ไม่ได้มีแต่เพียงในตำรา แถมยังมีรายได้เป็นเงินเดือน 5,600 เหรียญสหรัฐกระเป๋ากลับมาด้วย

หลังเสร็จสิ้นการฝึกงาน เธอกลับไปเรียนที่ CMU ต่ออีก 1 เทอม ซึ่งจบมาด้วยใบเกียรติคุณ ก่อนจะบินกลับมาทำงานใช้ทุน ที่สภาพัฒน์ฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 เริ่มด้วยการฝึกงานที่แผนกเลขานุการกรม จัดทำระบบ intranet เพื่อใช้ภายใน ก่อนจะย้ายมาทำงานในแผนกไอทีอย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นช่วงข้อต่อของการเปลี่ยนแปลงองค์กร ทำให้ไอทีต้องมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ทั้งจากจำนวนโครงการ และงบประมาณที่ได้รับเพิ่มขึ้น

ผลงานที่แล้วมาของเธอ เริ่มด้วยโครงการพัฒนาเว็บไซต์ประจำจังหวัดที่สภาพัฒน์ฯ รับเป็นเจ้าภาพ แววดาวเป็นผู้ร่างแผนงานก่อนจะส่งต่อไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้เธอยังร่วมจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ของสภาพัฒน์ฯ ที่เตรียมประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2548-2550

หนึ่งในนั้นแผนแม่บท คือโครงการพัฒนาระบบบริหารความรู้ (knowledge management) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนบทบาทของสภาพัฒน์ฯ ไปสู่การเป็นผู้วางแผนยุทธศาสตร์ โครงการนี้ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท

เริ่มต้นด้วยการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจาย นำมาจัดกลุ่ม ประมวลผล ให้กลายเป็นความรู้เพื่อนำไปใช้งานได้ทันที ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ อยู่ในรูปแบบของกราฟ แผนที่ นอกจากใช้ภายในสภาพัฒน์ฯ แล้ว ข้อมูลเชื่อมโยงเข้ากับศูนย์ข้อมูลอื่นๆ เช่น ศูนย์ข้อมูลนายกรัฐมนตรี

ภาระของแววดาว และเพื่อนรวมแผนกไอทีอีก 4 คน จึงต้องร่วมคิดและพัฒนาวางโครงร่าง จากนั้นบริษัทที่ปรึกษาจะเข้ามาช่วยติดตั้งระบบอีกต่อหนึ่ง

โครงการถัดมา คือการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยี XML โครงการนี้ทำขึ้นเพื่อให้หน่วยงานภายนอกนำ “ข้อมูล” ของสภาพัฒน์ฯ ที่รวบรวมมาไว้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกต่อหนึ่ง

“เมื่อก่อนข้อมูลจะอยุ่ในรูปของโปรแกรม excel การใช้งานก็ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าปรับใช้โปรแกรม XML การใช้ประโยชน์จะมากขึ้น เพราะเราจะมีโปรแกรมช่วยพิเศษ เช่น หน่วยงานไหนที่เขาใช้ดาต้าเบสท์ของออเราเคิล เขาสามารถดึงไปใช้งานได้ทันที”

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างรออนุมัติงบประมาณ คือพัฒนาระบบสำนักงานอัตโนมัติ หรือ e-office เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ หากสำเร็จโครงการนี้ได้ว่าเป็นการ “พลิกโฉม” หน้าใหม่ของสภาพัฒน์ฯ

ไม่เพียงแต่สภาพัฒน์ฯ จะกลายเป็นสำนักงานประเภทไร้กระดาษ Paperless ข้อมูลทั้งหมดถูกเปลี่ยนมาใช้ระบบออนไลน์ การจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบออนไลน์ (e-procurement) ขณะที่ผู้บริหารจะสามารถเรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลา ทั้งในแง่ของการจัดสรรกำลังคน และงบประมาณ แม้กระทั่งการติดตามผลการทำงานของพนักงานได้ตลอดเวลา

เฉพาะโครงการนี้โครงการเดียวต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

แม้จะเป็นภาระที่หนักแต่ก็ท้าทายสำหรับเธอ ซึ่งบอกว่าความรับผิดชอบที่เธอได้รับในเวลานี้ถือเป็น “โอกาส” มีไม่มากนักสำหรับคนในวัยเช่นเธอ

หลักใหญ่ของการทำงานที่เธอใช้ในการทำงาน อยู่ที่ความมุ่งมั่นและตั้งใจ บวกผสมกับคำสอนของ “พ่อ” ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตแก้วส่งออก ที่บอกถึงแนวคิด 3 ประการที่ใช้ในการทำงาน คือการมีความรู้ ประสบการณ์ และทำการบ้าน

“หรือบางอย่างที่ทำไม่ได้ เราจะรีบบอกทันทีว่าทำไม่ได้ เพราะถ้าผู้ใหญ่รับรู้ เขาจะช่วยเราแก้ปัญหาได้ทันท่วงที แม้ว่าจะทุ่มเท เพราะบางอย่างก็ยากเกินไป ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องมีตัวช่วย ซึ่งเราจะได้ประสบการณ์มาเรียนรู้อีกต่อหนึ่ง”

แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็น “ข้าราชการ” ที่ต้องทำงานเป็นระบบ แต่เธอยังคงเต็มไปด้วยไฟแห่งการทำงาน และการเติมเต็มความรู้ให้กับตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ เช่น ภาษาจีนกลาง ที่เธอเพิ่งสมัครเรียนไปหมาดๆ

เรื่องราวของเธอจึงเป็นเรื่องของ หญิงทำงานยุคใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องมีชาติตระกูลดัง แต่สามารถสร้างโอกาส “ความรู้” และประสบการณ์ บวกกับวิธีคิด ความมุ่งมั่น และตั้งใจที่ต้องดินไปด้วยกัน บนเส้นทางที่เธอยังต้องเดินทางไปอีกไกล

Profile

Name : แววดาว มหากายนันท์
Age : 26 ปี
Education :
มัธยมศึกษา โรงเรียนสตรีวิทยา
ปริญญาตรี เกียรตินิยม วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท Highest Distinction Honor สาขา Information System Management จาก Carnegie Mellon University, USA
Career Highlights :
2546 – ปัจจุบัน นักวิชาการคอมพิวเตอร์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2545 IT Analyst, Goldman Sachs, New York, USA
2544-2545 Teaching Assistant, Carnegie Mellon University, USA
2542-2544 Telecommunication Engineer, TelecomAsia