For Art and Architecture with My House by วิทวัชช์ เจริญพงศ์

ในฐานะสถาปนิกที่มีผลงานขึ้นชื่อทั้งในและต่างประเทศ วิทวัชช์ เจริญพงศ์ กรุยทางสู่รูปแบบที่ถือว่าเป็นโมเดลสำหรับนักสถาปนิกรุ่นใหม่ที่มองความเชิงสถาปัตย์เป็นสุนทรียะที่ผ่านกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

“ผมว่ามันจะเป็นอาร์ตที่เอ็ดดูเคทคนโดยตัวของมันเอง พอคนเริ่มเห็นว่ามันแปลกและตั้งคำถามว่ามันดีหรือไม่ดี ถามว่าทำไม มันดีเพราะอะไร แล้วเราก็จะหลุดไปจากความจำเจ…” เขากล่าวถึงคุณค่าของงานสถาปัตยกรรม

โลกทุกวันนี้เราเจออะไรที่ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา…

“เราต้องการมุมมองใหม่ๆเพื่อที่จะแก้ปัญหาที่มนุษยชาติไม่เคยเจอ ทั้ง Art, Architecture หรือ งาน Creative จะมีประโยชน์ ตรงนี้ ถ้าเราไม่ฝึกและมองอะไรใหม่ เราก็แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโลกไม่ได้ ประเทศที่ได้เปรียบทางมุมมองความคิดตรงนี้เขาจะฉวยโอกาสทำอะไรใหม่ก่อน แล้วก็มาขาย”

ในแง่มุมมองทางความคิดประสบการณ์ตลอดระยะเวลา 22 ปี ตั้งแต่ขณะยังเป็นนักศึกษา ทำให้เกิดการพัฒนาตัวเอง ทั้งในแง่ของ Practicality และ Creativity กับงานที่กลั่นความเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง “บ้าน” ในมุมมองของสถาปนิกจึงเป็นผลงานสำคัญของชีวิต ที่เป็นการตอบโจทย์ที่อยู่อาศัย การสร้างงานทางสถาปัตยกรรม รวมถึงแนวทดลองที่มาจากแนวไอเดีย และอาศัยการเรียนรู้เข้าไปในจิตใจของตัวเองเป็นสำคัญ

การที่ได้ทำงานกับผู้ว่าจ้าง เพื่อคำนึงถึงโจทย์ที่อยู่บ้านฐานความต้องการของลูกค้า ทั้ง Context และ Content ของผู้ใช้งานสถาปัตยกรรม จึงเป็นความท้าทายของสถาปนิกอย่างหนึ่ง แต่ “บ้าน” ของตัวเอง ในแง่หนึ่งจึงเป็นทั้ง Landmark ที่กลั่นจากประสบการณ์ทางความคิด และเป็นทั้งการตั้งคำถามความท้าทายทางด้าน Idea และ Concept ที่ไม่มีปัจจัยภายนอกมาตัวเป็นกำหนดชิ้นงานมากกว่าการกระทำ ดุจดังงานวิจิตรศิลป์ของศิลปินที่ผลิตงานศิลปะ

ปัจจุบันงานศิลปะเชิงสถาปัตยกรรมในประเทศไทยนั้นค่อนข้างเป็นการตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์ มากกว่าการสร้างสรรค์มาตลอด การผลิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาจึงค่อนข้างจะเป็นการเทรนคนเพื่อรับใช้งานสถาปัตย์ในเชิงพาณิชย์ ด้านการใช้สอยและวิทยาการ มากกว่าความคิดในเชิงศิลปะ ด้านการสร้างสรรค์ และความงาม

“บางทีสังคมที่ฉาบฉวย ก็ทำให้การตลาดมีผลอย่างมากเข้ามาครอบงำศิลปะ สถาปัตยกรรม… เหมือนกัน มันมีลักษณะเน้นเพื่อให้ขายง่ายถูกได้กำไรเยอะๆ กระแสจะทำให้คนคุ้นเคยแล้วมองว่าอย่างนี้สวยอย่างนี้งาม ทำกันอยู่แค่นี้ มีให้เลือกแค่นี้ ไม่เคยเห็นอะไรที่มันดีกว่านี้ และไม่มีเวลามาคิดว่ามันดีจริงหรือเปล่า ก็ทำให้งานดีๆ มีคุณค่าทางศิลปะ สถาปัตย์ ไม่เกิดขึ้น”

เป็นคำถามว่า แม้แต่บ้านของเราเองเราก็ยังฝากให้คนอื่นมาคิดให้… ดังนั้นเมื่อพูดถึงความงามของสถาปัตย์ จึงไม่ได้อยู่ที่เส้นตรงเส้นดิ่งเพียงอย่างเดียว แต่คุณค่าของความงามมันอยู่ที่คอนเซ็ปต์ เหมือนเรามองความงาม เรามองความงามผ่านมุมมองคนละอย่างกันของผู้อยู่อาศัย ผู้ใช้งานสถาปัตยกรรมนั้น

“บ้านมันควรจะเป็นลมหายใจ ไม่ควรจะต้องรอไปถึงแล้วไปทำ ทำทุกวัน เราเห็นอะไรแล้วเปรียบเทียบตลอดว่าอะไรดีกว่าไม่ดีกว่า ผมอยากให้ใครก็แล้วแต่ที่อยากได้งานดีไซน์ของให้เข้าใจสถาปนิกและเปิดโอกาสให้เขา create เวลาผมทำงานให้ใคร ก็ขอให้คนนั้นมีความชอบงานศิลปะ ถึงแม้ว่างบจะน้อยแค่ไหนก็ทำได้”

เขาใช้เวลากลั่นผลงานทางความคิดกับบ้านของตัวเองอยู่เป็นปี และพยายามทำอะไรที่ปกติไม่มีโอกาสได้ทำ เนื่องจากความต้องการของลูกค้า หรือข้อจำกัดทางด้านเวลา

“คนอื่นเขาไม่ได้ต้องการถึงขนาดนี้ บางอย่างอาจจะดูไม่สำคัญ แต่เราก็ลองทำ งานบางอย่างทำให้เราต้องอยู่หน้างานตลอดเวลา เพื่อต้องคอยบอกช่าง ซึ่งใช้เวลาอะไรต่างๆมากมาย บ้านหลังนี้ผมทำงานกับรูปฟอร์มและวัสดุที่เป็นหลักใหญ่ๆ แต่ละเรื่องลงไปถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างที่คนอื่นเขาก็ไม่ทำกัน คือใช้ของถูกๆ ใช้ของพื้นฐาน แต่เอาใจใส่มันเมื่อมาอยู่ด้วยกัน และให้ประโยชน์สูงสุด ทำให้มันดูเป็นภาพลักษณ์ที่พิเศษ”

แม้ว่าความท้าทายสำหรับเขาเกิดขึ้นเมื่อได้มีผลงานที่ตอบโจทย์โดยตัวมันเองอยู่แล้ว “ผมคิดว่างานสากลพิพิธภัณฑ์ หรือพระราชวัง เมื่อเปรียบเทียบกับกล่องไม้ขีดกล่องเดียว ผมก็ทำให้มันท้าทายได้ ผมอยากที่จะมีโอกาสที่จะทำให้งานทุกอย่างมันสนุกและท้าทาย”

“อย่างเสาต้นหนึ่งมันมี detail อะไรที่มันรายละเอียด แต่เมื่อมองดูเผินๆ จะไม่คิดว่ามันมีอะไรมากดูโปร่งๆ ดี แต่ถ้าจะทำ detail นี้แล้ว ปกติมันจะต้องแพงมาก แต่เราก็เลือกใช้อะไรถูกๆ และหาจังหวะให้มันลงตัว” เขาพูดถึงบ้าน

ทฤษฎีเรื่องของความงามและศิลปะจึงเป็นตัวบ่มเพาะความคิดและความรู้ภายในจิตใจของผู้ที่เป็นศิลปิน งานของวิทวัชช์มีความน่าสนใจอยู่ที่การใช้สเปซ (พื้นที่ว่างทางสถาปัตยกรรม) ที่ดูโอ่โถง สง่างาม เมื่อเขาไปอยู่ในสเปซแล้วรู้สึกได้ถึงความสบาย แต่ก็มีประโยชน์ใช้สอยด้วยในขณะเดียวกัน โดยไม่ต้องการการประดับประดาตกแต่งอย่างไม่จำเป็น

งานของเขาในสังคมปัจจุบันจึงเป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้กับงานเชิงศิลปะสถาปัตยกรรมได้มีที่ยืนขึ้นอีกเรื่อยๆ

“ผมชอบน้ำมากก็เลยมาหาที่ติดน้ำ ก็เลยพยายามทำให้ทุกห้องได้เห็นน้ำ” บ้านของวิทวัชช์ เปิดโล่งและเห็นทะเลสาบทุกด้าน

เขาตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านริมบึง” ให้ความรู้สึกเรียบง่ายและสะท้อนความเป็นตัวของเขาที่เรียบง่ายเช่นกัน

Profile

Name : วิทวัชช์ เจริญพงศ์
Born : 2505
Education :
2521 มัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ
2523 มัธยมศึกษาตอนปลายที่ George School ที่เพนซิวาเนีย สหรัฐอเมริกา
2528 ปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตร์ Syracuse University ที่นิวยอร์ค แล้วศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน สาขาฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม ในปีถัดมา
Career Highlights :
ปัจจุบัน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงการเป็นอาจารย์พิเศษ กรรมการตัดสินโครงการประกวดแบบ วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ บรรยายให้กับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก ได้ก่อตั้ง วิทวัชช์ เจริญพงศ์ อาร์คิเตค แอสโซสิเอท ซึ่งเป็นสตูดิโอส่วนตัว ที่มีผลงานรางวัลระดับประเทศจำนวนมาก
ผลงานที่ชนะการประกวด
2528 การประกวดแบบ International Architecture design ที่ Biennale, Venice
2531 บ้านลูกบาศก์
2537 บ้านสะพาน
2540 บ้านภูเขา
2547 บ้านริมบึง