เพชรชุดา รัตนทารส เกษประยูร : Education Innovator

ตำนานของโรงเรียนอำนวยศิลป์ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 โดยอาจารย์จิตร ทังสุบุตร ถึงวันนี้นับเป็นเวลา 78 ปีแล้ว มีนักเรียนที่จบออกไปกว่า 78,000 คน ศิษย์เก่ารุ่นที่ดังที่สุดย่อมหนีไม่พ้นรุ่น “ลมหวน” ที่เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน เป็นรัฐมนตรี 15 คน (คอลัมน์ “ลึกแต่ไม่ลับกับลัดดา” หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ วันพุธที่ 23 เมษายน 2546) ปัจจุบันเปลี่ยนผ่านการบริหารมาถึงรุ่นที่ 3 คือ เพชรชุดา (รัตนทารส) เกษประยูร ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานตา ที่เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานตั้งแต่ปี 2539

ชื่อเสียงของโรงเรียนอำนวยศิลป์ในอดีต คือความเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีศักยภาพด้านวิชาการ เห็นได้จากศิษย์เก่าที่เจริญก้าวหน้าในสาขาอาชีพต่างๆ ถึงปี 2528 เมื่อ รศ. อาภรณ์รัตน์ รัตนทารส ลูกสาวของ อ. จิตร เข้ามารับช่วงบริหารงาน โรงเรียนอำนวยศิลป์สร้างประวัติศาสตร์การมีนักเรียนมากที่สุดถึงกว่า 7,000 คน จนต้องจัดการเรียนการสอนเป็นวันละ 2 รอบ

“การบริหารโรงเรียนไม่ใช่เรื่องที่จะยกมรดกให้กันได้” เพชรชุดาออกตัว พร้อมกับเล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ได้เข้ามาบริหารโรงเรียนอำนวยศิลป์ว่า “ตอนแรกคิดว่าจะเอาดีทางราชการจึงไปทำงานที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มาหักเหตอนที่คุณแม่บอกว่าไม่ไหว ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ในกรรมการบริหารโรงเรียนเองก็เริ่มเห็นว่าโรงเรียนต้องถึงเวลาเปลี่ยนแปลง โรงเรียนตอนนั้นก็เริ่มทรุดโทรม ตอนแรกนอนไม่หลับเหมือนกัน ดีที่มีผู้ใหญ่คอยช่วยสนับสนุน”

ช่วงแรกเพชรชุดาเข้ามานั่งในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนา ไอเดียหลากหลายที่มีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอำนวยศิลป์ หลายครั้งถูกตั้งคำถามจากคณะกรรมการบริหาร แต่ก็ได้ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) หนึ่งในคณะกรรมการ คอยสนับสนุนทำให้ลดความขัดแย้งไปได้มาก เสนองบประมาณผ่าน จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายด้าน อาทิ การเปลี่ยนเครื่องแบบนักเรียน การทำโครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียน การจับมือกับ Bell Education Trust จากประเทศอังกฤษ และการก่อสร้างอาคารเรียนชั้นมัธยมใหม่มูลค่า 60 ล้านบาท ที่จะเริ่มสร้างตุลาคม 2547 แล้วเสร็จในปี 2549

โครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนอำนวยศิลป์ ซึ่งเป็นแผน 10 ปี (2539-2548) นั้น เพชรชุดามีเป้าหมายปรับปรุงโรงเรียนอำนวยศิลป์ให้มีคุณภาพการสอนเทียบเท่าโรงเรียนนานาชาติ ตั้งเป้าลดจำนวนนักเรียนให้เหลือชั้นละ 2-3 ห้อง ห้องละประมาณ 20-25 คน ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 800 คน มีการส่งครูไปดูงานและฝึกอบรมที่ต่างประเทศเป็นระยะ ล่าสุดเข้าร่วมโครงการ Thai School of Excellence ของคุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ที่มี 5 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการ (อำนวยศิลป์ มาแตร์เดอี พิชญศึกษา สาธิตบางนา และศรีวิกรม์) ระหว่างปี 2546-2548 ในการส่งครูไปฝึกอบรมดูงานสอนแบบ Child-centered ในโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา เกศินี และ St. Andrew

“แม้เราไม่ได้จบด้านการศึกษา แต่การที่ได้ไปเรียนต่างประเทศก็เห็นผลลัพธ์ของระบบว่าออกมาดียังไง เมื่อเริ่มมาทำงานที่นี่ พยายามเอาแนวคิด child centered เข้ามา ซึ่งตอนนั้นคำนี้ยังใหม่อยู่ เป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งของโรงเรียนเหมือนกันที่เราจะทำโรงเรียนเราให้เป็น child centered จากวันนั้นมาครูเข้าใจได้แค่ส่วนหนึ่ง การปฏิบัติยังไม่ 100% แต่ก็ได้ประโยชน์จากโครงการ Thai School of Excellence ที่เชื่อมเอา Know how โรงเรียนนานาชาติมาสู่โรงเรียนไทย”

เพชรชุดาได้ทำหลักสูตรของโรงเรียนอำนวยศิลป์เป็นแบบ Combined Thai-British Curriculum ด้วยการปรับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเข้ากับ National Curriculum ของอังกฤษ และสร้างนวัตกรรมห้องเรียนแบบ Immersion ซึ่งเป็นการเรียนการสอนสองภาษา เริ่มใช้กับห้องเรียนชั้น ป.1 และตั้งเป้าจะใช้จนถึงชั้น ป.3 โดยมีที่มาจากความพยายามการพัฒนาทักษะของครูไทยมาตลอด 8 ปี รวมทั้งไปดูงานโรงเรียน Bilingual มาหลายแห่งทั้งในอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์

“ครูไทยและครูฝรั่งจะประสานแผนการสอนกัน ในห้องเรียนอิมเมอร์ชั่น แบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม เช่น กลุ่ม A เรียนกับครูฝรั่ง สอนประโยค Can I… ? กลุ่ม B เรียนกับครูคนไทย เรียนภาษาไทยเรื่องสระแอ ใช้วิธีการสอนเป็นกิจกรรม 15 นาที เป็น Carpet time รวมกลุ่มกันบนพรม เป็นขั้นของการเกริ่นเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับโปรเจกต์ที่เรียนอยู่ เช่นตอนนี้เรียนธีมเรื่องเกี่ยวกับที่บ้าน ให้เด็กคิดถึงสิ่งของในชีวิตประจำวันที่ใช้คำที่มีสระแอ เช่น กุญแจ แปรงสีฟัน ครูจะสอนเรื่องการออกเสียง จากนั้นเด็กจะแยกไปทำงานตามใบงานบนโต๊ะ เมื่อถึงขั้นสรุป เด็กจะกลับมาที่พรมและสรุปเรื่องการออกเสียงสระแอ ช่วยกันคิดคำเพิ่มเติม เด็กจะได้คอนเซ็ปต์เรื่องคำและการออกเสียง ซึ่งทุกคาบทั้งสองกลุ่มจะได้สลับเรียนกับครูทั้งสองคน”

หลักสำคัญของห้องเรียนอิมเมอร์ชั่น คือ การเสริมภาษาที่สองให้กับเด็ก ไม่ใช่การเอาภาษาที่สองไปแทนที่ภาษาที่หนึ่ง โดยเพชรชุดามีแนวคิดว่า “เมื่ออยู่นอกห้องเรียน ไม่บังคับว่าเด็กต้องพูดแต่ภาษาอังกฤษ ถ้าเวลาพูดกับเพื่อนในโรงเรียนพูดกันเป็นภาษาอังกฤษ พอหันไปพูดกับเพื่อนนอกโรงเรียนใช้ภาษาไทย มันแบ่งแยกชนชั้นกัน แล้วต่อไปคนที่พูดภาษาไทยจะกลายเป็นชนชั้นที่ด้อยโอกาสรึเปล่า ไม่อยากให้เกิดอย่างนั้น แต่เราจะสอนว่าในห้องเรียนที่มีครูฝรั่ง หรืออยู่ต่อหน้าครูฝรั่งต้องพูดภาษาอังกฤษ ให้เขามี 2 วัฒนธรรมอยู่ในคนคนเดียว เราก็จะได้เด็กไทยที่เป็นไทย ขณะเดียวกันก็มีความเป็นอินเตอร์ หรือ Cross cultural เป็นมนุษย์ของยุค Globalize จริงๆ”

ซึ่งเธอเองได้พิสูจน์ความเชื่อมั่นในคุณภาพหลักสูตรที่สร้างขึ้น ด้วยการให้ลูกสาวคนเดียวเรียนที่นี่มาตลอด ปัจจุบันอยู่ชั้น ป.4 และวางแผนจะให้เรียนไปจนจบชั้นมัธยม แม้ในอนาคตอาจจะส่งไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีต่างประเทศ เพชรชุดาเชื่อมั่นว่าเธอจะทำให้เด็กอำนวยศิลป์มีผลการเรียนตามมาตรฐานสากลที่มหาวิทยาลัยต่างชาติรับพิจารณา จากผลงานล่าสุดที่เด็ก ม.6 คนหนึ่งผ่านการสอบสัมภาษณ์ได้รับทุนเรียนหลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอาชนะนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติได้ และหลายคนมีคะแนนเอนทรานซ์ติดอันดับ 1–2 ของคณะ

“ทุกวันนี้เราจัดสอบ UCLES (University of Cambridge Local Examination Syndicate) ในชั้น ป.2 ป.4 และ ป.6 เป็นข้อสอบของอังกฤษ ปีนี้เด็ก ม.6 จะสอบ FCE (First Certificate in English) ซึ่งเป็นมาตรฐานโลก อนาคตจะให้เด็ก ม.6 สอบ IGCSE (International Graduate Certificate in Secondary Education) สำหรับใช้เข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเทียบเท่าโรงเรียนอินเตอร์หลักสูตรอังกฤษ แต่จะสอบบางวิชา เช่น คณิตศาสตร์ เพื่อบ่งบอกระดับความสามารถ เป็น Benchmark ที่เขาจะพิจารณาเด็กเราได้ง่ายขึ้น แทนที่จะส่งไปแค่เกรด 3.00 พยายามให้เป็นหลักสูตรที่จะส่งเด็กเข้าไปได้ในมหาวิทยาลัยทั้งสองระบบ

ความเอาจริงเอาจังของเพชรชุดา เห็นได้จากการเทเวลาทั้งหมดให้กับการทำงานที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ แม้ในระหว่างทานอาหารเช้าและช่วงพักกลางวันที่โรงอาหารก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและครูเข้ามาปรึกษาได้ตลอดเวลา และเตรียมพาทีมครูไปดูงานที่สิงคโปร์ในเร็วๆ นี้ นอกเหนือจากงานโรงเรียน เพชรชุดาจะไปชิมหรือตรวจสอบคุณภาพอาหารที่ร้านกัลปพฤกษ์ และ Extase ของน้องชาย ซึ่งเธอถือหุ้นร้านอยู่ด้วย และแบ่งเวลาไปว่ายน้ำในตอนเช้าก่อนทำงาน ตีกอล์ฟกับเพื่อนที่หัวหินในวันสุดสัปดาห์ หรือขี่ม้าในวันอาทิตย์

การบริหารโรงเรียนอำนวยศิลป์ในวันนี้ เพชรชุดาย้ำว่า “ณ วันนี้ อำนวยศิลป์วางตำแหน่งตัวเองอยู่ที่ไฮเอนด์ การเลือกระหว่างอินเตอร์กับไบลิงกวล เป็นสินค้าคนละอย่าง แต่ถ้าเลือกไบลิงกวลด้วยกัน เราอยู่ไฮเอนด์ ห้องเรียนคุณภาพสูงสุด ครูคุณภาพสูงสุด ในบรรดาไบลิงกวล”

Profile

Name : เพชรชุดา รัตนทารส เกษประยูร
Born : 27 กันยายน 2506
Education :
M.S. (Computer Information System) Bentley College สหรัฐอเมริกา
M.B.A. (Production – Operation Management) Bowling Green State University สหรัฐอเมริกา
บช.บ. (การบัญชี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ม.ศ. 5 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Career Highlights :
พ.ศ. 2531 – 2532 อาจารย์พิเศษคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2531 – 2538 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
พ.ศ. 2539 – 2545 รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนา โรงเรียนอำนวยศิลป์
พ.ศ. 2543 คณะทำงานกลุ่มทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา สำนักงานปฏิรูปการศึกษา
พ.ศ. 2539 – ปัจจุบัน กรรมการอำนวยศิลป์มูลนิธิ ครูจิตร – ครูเอิบ ทังสุบุตร
พ.ศ. 2545 – ปัจจุบัน ผู้อำนวยการ โรงเรียนอำนวยศิลป์
Family :
สมรสกับ พ.ต.อ. น.พ.สุรพล เกษประยูร ศัลยแพทย์กระดูก โรงพยาบาลตำรวจ มีบุตรสาว 1 คนคือ ด.ญ. พัชรามณฑ์ เกษประยูร อายุ 9 ปี กำลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอำนวยศิลป์ เพชรชุดาเป็นบุตรสาวคนโตของครอบครัว “รัตนทารส” มีน้องชาย 1 คนคือ ณชนก รัตนทารส หุ้นส่วนและผู้บริหารร้านอาหารไทยกัลปพฤกษ์ ชั้น 1 ดิเอ็มโพเรียม และร้านอาหารฝรั่งเศส Extase ที่ H1 คอมเพล็กซ์ใหม่ล่าสุดในซอยทองหล่อ