ชื่อผู้สมัคร ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์
ตำแหน่งผลิตภัณฑ์ : Provocative
บุคลิกที่แสดงออก : แข็งกร้าว ตรงไปตรงมา รู้จักและมีประสบการณ์เกี่ยวกับอำนาจและอิทธิพล
การออกแบบป้ายโฆษณา : แบบทันมัย เรียกความสนใจสูง ใช้สีแดง เป็นสัญลักษณ์หมายถึง ความร้อนแรง การตัดสินใจด่วนฉับพลัน
ความหมายของรูปที่ใช้พรีเซนต์ : โพสท่า อ้าปากกำลังพูด พร้อมเอามือชี้ตรง แสดงความหมายของการเป็นคนที่กล้าต่อล้อต่อเถียง เปิดโปง และคุ้ยความลับในแง่ที่ไม่เกรงกลัว และไม่ประนีประนอม
กลุ่มตลาดเป้าหมายหลัก : คนที่เคยมีประสบการณ์แง่ลบกับระบบอำนาจรัฐ ในแบบที่ชูวิทย์ประสบมา และผู้ใหญ่วัยกลางคน ส่วนมากน่าจะเป็นชาย ที่ยอมรับวิธีคิดแบบผสมผสานระหว่างการใช้กำลังและบู๊ แบบนักเลง กับ การใช้สมองแบบนักคิด โดยเฉพาะจุดเดียวกับที่อภิรักษ์ โกษะโยธินใช้
จุดแข็ง :
หนึ่ง การกล้าเผชิญกับอำนาจรัฐ ทำให้ชูวิทย์เป็นที่ประทับใจของกลุ่มหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ด้านลบกับอำนาจ ถึงแม้แท้จริงแล้วชูวิทย์ในอดีตจะเป็นผู้สนับสนุนความไม่ชอบมาพากลของอำนาจรัฐมาเป็นคนเปิดโปง
สอง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครคนอื่นๆ ยกเว้น เฉลิม อยู่บำรุง ชูวิทย์จะมีลักษณะเป็นคนแข็งแกร้าวกว่าคนอื่นที่มีภาพพจน์นุ่มนวล และสังคมไทยมักมองว่า คนแข็งกร้าวดูเหมือนจะกล้าตัดสินใจได้ดีกว่า
สาม การสร้างความถี่ในการสร้างการรับรู้ต่อกลุ่มเป้าหมาย อย่างสูง ด้วยความทุ่มเทอย่างยิ่งที่จะช่วงชิงตำแหน่งนี้ให้ได้ โดยวางมือจากธุรกิจแทบทุกอย่าง ลงโฆษณาหนักแบบเทหน้าตัก และเริ่มต้นโฆษณาแรงกว่าผู้สมัครรายอื่นมาตั้งแต่ต้น ทำให้ชูวิทย์สร้างภาพความคุ้นเคยกับกลุ่มผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ผู้ที่ไม่ได้ตัดสินใจชอบใครเป็นพิเศษ ก็อาจเลือกหยิบผลิตภัณฑ์คุ้นตา
จุดอ่อน :
หนึ่ง ที่มาของชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ เอง ที่สร้างฐานะมาจากธุรกิจอาบ อบ นวด ซึ่งสังคมมองว่าเป็นธุรกิจที่ผิดศีลธรรม สร้างปัญหาให้ระบบครอบครัว
สอง ประสบการณ์ ชูวิทย์เป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ทางวิชาการ การเมือง และการพัฒนาสังคมเลย ถึงแม้ธุรกิจส่วนตัวจะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าผู้ออกเสียงคิดทบทวน ก็อาจตั้งข้อสงสัย ถึงความเป็นไปได้ที่เขาจะสามารถบริหารกรุงเทพ ซึ่งต้องประสานงานกับกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มการเมือง และกลุ่มข้าราชการ
สาม ชูวิทย์ไม่มีฐานหนุนทางการเมืองเลย ไม่สามารถเข้าถึงหัวคะแนนในพื้นที่ใดๆ ได้ เสียเปรียบในส่วนนี้มาก เมื่อเทียบกับผู้สมัครตัวเต็งคนอื่น
การกระจายช่องทางโฆษณา : บิลบอร์ดขนาดใหญ่ ติดตั้งทั่วจุดที่มีรถยนต์สัญจรผ่านสูงในกรุงเทพมหานคร แผ่นผ้าใบ ติดตั้งตามแยกสำคัญในใจกลางกรุงเทพ
โอกาสชนะเลือกตั้ง : ชูวิทย์ มีสิทธิ์จะได้คะแนนเสียงจาก ”ตลาดคนชอบกระแส” “ชอบความแปลกใหม่” “ชอบให้โอกาสคนกล้าของสังคม”
ชื่อผู้สมัคร อภิรักษ์ โกษะโยธิน
ตำแหน่งผลิตภัณฑ์ : Diplomatic
บุคลิกที่แสดงออก : คนมีความรู้สูง มีความสามารถในการจัดการเชิงกลยุทธ์ ใช้ความนุ่มนวล และจัดระบบความคิดแก้ปัญหา
การออกแบบป้ายโฆษณา : แบบทันสมัย ใช้สีฟ้า เป็นสัญลักษณ์ หมายถึง ความสดใส ใจเย็น และสงบ
ความหมายของรูปที่ใช้พรีเซนต์ : ใส่เสื้อเชิ้ตหวาน แบบนักธุรกิจ คนรุ่นใหม่ คนมีการศึกษาดี เอามือกอดอก ยิ้มเล็กน้อย เป็นลักษณะของการมองโลกในแง่ดี การแก้ปัญหาได้ดีโดยไม่ใช้ความรุนแรง การรับมือกับสถานการณ์ใดๆ เข้ากับคนง่าย เป็นมิตรกับประชาชน
กลุ่มตลาดเป้าหมายหลัก : คนรุ่นใหม่ทีต้องการให้กรุงเทพมหานครพัฒนาในแง่ของการเป็นเมืองที่ทันสมัย และมีความเจริญที่เป็นระบบระเบียบ คนที่เชื่อมั่นในระบบการศึกษาและเชื่อว่า คนมีการศึกษาสูงแก้ปัญหาได้ดี โดยกำลังพยายามขยายตลาดผู้ออกเสียงเลือกตั้งส่วนนี้ที่เคยมีจำกัด เข้าไปยังกลุ่มย่อยประเภทหนุ่มสาว นักศึกษา และคนทำงานวัยต่ำกว่า 30 ปี
จุดแข็ง :
หนึ่ง การหนุนหลังโดยตรงจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเคยประสบความสำเร็จสูงมาก ทั้งที่เข้ามาในวงการเมืองแบบนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่มีวิธีคิด ลักษณะการดำเนินงานการเมือง วิธีการปฏิบัติต่อสังคมที่แตกต่างจากคนในระบบการเมืองไทยเดิม หากจะเปรียบเทียบในเชิงการตลาดแล้ว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนที่เข้ามาในวงการ เขาเปรียบเหมือนสินค้าไลน์ใหม่ จากผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมยี่ห้อประชาธิปัตย์ และอภิรักษ์ โกษะโยธิน เปรียบเหมือนสินค้าประเภทเดียวกันกับอภิสิทธิ์ แต่เป็นสินค้ารุ่นใหม่ ที่มีการปรับฟังก์ชั่นให้รับสภาวะปัจจุบัน ทว่ายังใช้แพ็คเก็จดีไซน์รูปแบบเดียวกันในการทำหีบห่อผลิตภัณฑ์
สอง ประวัติส่วนตัว และผลงานทางด้านการบริหารองค์กรธุรกิจของ อภิรักษ์ โกษะโยธิน อาจทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงให้โอกาสเขาที่เพื่อนำประสบการณ์มาใช้ในการปกครองสังคมกรุงเทพ ฯ เพราะคนรุ่นใหม่บางส่วน มีความเชื่อถือว่า การ จัดการธุรกิจกับประเทศชาติสามารถใช้ ”โนว์ฮาว”แบบเดียวกันได้
จุดอ่อน :
หนึ่ง ประสบการณ์ทางการเมือง อภิรักษ์อาจพ่ายเกมการเลือกตั้ง จากประสบการณ์ที่ไม่เชี่ยวชาญทางการเมือง ถึงแม้ว่าเขาจะมีนักการเมืองเจนสนามคอยหนุนหลังให้ แต่เกมการเมืองอาจล้ำลึกเกินกว่าที่คนเป็น “ตัวแทน”จะสามารถสู้ตัวจริง อย่างปวีณา หงสกุล และเฉลิม อยู่บำรุงได้
สอง ใช่ว่าคนทั้งหมดจะพอใจกับการนำวิธีการแก้ปัญหาแบบการบริหารธุรกิจมาใช้กับการบริหารบ้านเมือง อย่างที่ทักษิณ ชินวัตร กระทำ ทั้งที่ ทักษิณ ชินวัตร มีที่มาจากสนามธุรกิจทีการแข่งขันเชี่ยวกรากกว่าอภิรักษ์ เพราะทักษิณดำเนินธุรกิจของตัวเอง โดยอิงอำนาจรัฐ และมีประสบการณ์กับระบบราชการมาก่อน
สาม หากพิจารณาถึงประวัติในเชิงความสามารถทักษะการบริหารแท้ๆ ของ อภิรักษ์ โกษะโยธิน จากเส้นทางของเป๊ปซี ถึงฟริโต้ เลย์ ยุคก่อตั้ง ข้ามมาเป็นผู้บริหารการตลาดให้แกรมมี่ ที่เป็นยักษ์ใหญ่อยู่แล้ว สู่การเป็น co-CEO ของทีเอ ดูเป็นโปรไฟล์ที่ดี แต่ลักษณะธุรกิจเหล่านี้และช่วงจังหวะเวลา ทำให้อภิรักษ์มีโชคเข้าข้างมาตลอดด้วย
การกระจายช่องทางโฆษณา : แผ่นผ้าใบ ติดตั้งตามแยกสำคัญ หลักๆ ในเขตใจกลางกรุงเทพมหานคร เช่น สุขุมวิท ลงโฆษณาในนิตยสาร อะเดย์ และอะเดย์ วีคลี่ มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม นิตยสารสองเล่มนี้มีฐานการตลาดที่เป็นคนรุ่นใหม่ หนุ่มสาว และนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนมาก
โอกาสชนะเลือกตั้ง : เป็นไปได้ หากอภิรักษ์ทุ่มการทำโฆษณาและปลุกระดมให้ “ตลาดคนรุ่นใหม่ การศึกษาสูง” ออกมาเลือกตั้งเป็นจำนวนมากกว่าปกติ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยใช้สิทธิเลือกตั้ง และอันที่จริงก็เป็นเป้าหมายตลาดเดียวกับสินค้า “พิซซ่า ฮัท” “เป๊ปซี่” “ฟริโต้ เลย์” “แกรมมี่” ที่อภิรักษ์เคยมีประสบการณ์
ชื่อผู้สมัคร ปวีณา หงสกุล
ตำแหน่งผลิตภัณฑ์ : Activist
บุคลิกที่แสดงออก : ทำงานการเมืองอย่างจริงจัง ทำงานเพื่อสังคม เน้นการแก้ปัญหาสิทธิสตรีและการทรมานเด็กซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นมากในสังคมไทยและเป็นปัญหาใหญ่ที่เรื้อรัง แก้ยาก
สโลแกนโฆษณา : ปวีณา 24 ชั่วโมง
ความหมายของสโลแกนในเชิงจิตวิทยา : เรียกใช้ได้ตลอดเวลา ยินดีรับใช้ประชาชน ไม่เหนื่อยหน่ายกับงานหนัก รับใช้ได้ทุกเรื่อง ไม่บิดพริ้วเบี่ยงบ่าย
การออกแบบป้ายโฆษณา : ไม่เริ่ม ณ 7 ก.ค. 47
ความหมายของรูปที่ใช้พรีเซนต์ : ชอบใช้ภาพแสดงการทำกิจกรรม โชว์ผลงาน
กลุ่มตลาดเป้าหมายหลัก : หากให้คะแนนแค่จากประสบการณ์การเมืองและผลงานที่สร้างไว้จริงของเธอ ถึงแม้จะไม่หลากหลาย แต่ปวีณาเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของ “กลุ่มแอคติวิทส์” คนที่มุ่งหวังกับนักการเมือง เธอยังเป็นคำตอบแบบกึ่งกลางของ กลุ่มคนที่เห็นว่า การแก้ปัญหาที่ดี ไม่ควรเป็นคนที่แข็งเกินไป อย่างชูวิทย์ หรือเฉลิม หรือนุ่มนวลเกินไป อย่างอภิรักษ์ โกษะโยธิน ถ้าต้องการเสริมความแข็งแกร่งของแคมเปญ เธอยังมีโอกาสใช้สโลแกนความเป็น”ผู้ว่าหญิงคนแรกของกรุงเทพมหานคร” ด้วย ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาเธอไม่เคยใช้เรื่อง “เฟมินิสต์” มาชูโรงในการหาเสียงเลย
จุดแข็ง :
หนึ่ง ฐานเสียงทางการเมือง และประวัติที่ไม่เคยด่างพร้อย ในการทำงานการเมือง
สอง ผลงานจริงจำนวนมากที่ทุ่มเททำในการแก้ปัญหาสตรีและเด็ก
สาม ความเป็นผู้หญิง ที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงรุ่นใหม่ที่ทำงานจริงจัง อาจทำให้เธอได้รับการเทคะแนนจากผู้หญิงกรุงเทพในยุคที่มีเวิร์คกิ้ง วูแมน มาก และหญิงที่ไม่ชอบที่มาและการสร้างฐานะของชูวิทย์
จุดอ่อน :
หนึ่ง ที่ผานมา ปวีณา หงสกุล เน้นการแก้ปัญหาสตรีและเด็ก มากจนอาจมองกันว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องหลักที่เธอตระหนัก หรือบางคนอาจมองถึงกับว่า เธออาจไม่สามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ที่มีสารพันในกรุงเทพมหานครได้ และอาจมีข้อจำกัดหรือพื้นความรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาอย่างอื่น ถ้าเปรียบเป็นสินค้าแล้ว ยี่ห้อ“ปวีณา” เหมือนสินค้าที่มีฟังก์ชั่นใช้ได้อย่างเดียวมาโดยตลอด แต่การปกครองกรุงเทพมหานคร ต้องใช้สินค้าแบบครบวงจร ประเภท Multi Function หรือ All-in-one ซึ่งปวีณาต้องแก้ภาพพจน์”เด่นด้านเดียว”ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตให้ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะปัญหากรุงเทพมหานครมีหลากหลาย
การกระจายช่องทางโฆษณา : เน้นการลงพื้นที่หาเสียง
โอกาสชนะเลือกตั้ง : มีโอกาสมากที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะโพลต่างๆยังเป็นคนที่มีคะแนนนำผู้สมัครรายอื่นอยู่มาก แต่จากข้อมูลในอดีต ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มักจะวัดกันในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย
ชื่อผู้สมัคร เฉลิม อยู่บำรุง
ตำแหน่งผลิตภัณฑ์ : The Power
บุคลิกที่แสดงออก : ทำงานการเมืองเป็นอาชีพ เอาจริงเอาจังที่จะสร้างฐานอำนาจ มีบุคลิกแบบนักเลง ที่ให้ความสำคัญกับระบบพรรคพวก หรือเป็นคนรักพวกพ้อง ญาติพี่น้อง ปกป้องคนในปกครอง หากเป็นมิตรพึ่งพิงได้
การออกแบบป้ายโฆษณา : รูปแบบดีไซน์เก่า เหมือนแผ่นป้ายหาเสียงดั้งเดิมที่ใช้กันมา ทั้งการเลย์เอาต์ และตัวอักษรที่ใช้เป็นแบบที่เห็นกันมาคุ้นตาในทุกฤดูกาลเลือกตั้ง
ความหมายของรูปที่ใช้พรีเซนต์ : ภาพถ่ายหน้าตรง ใส่เสื้อข้าราชการพร้อมแถบบั้ง และเหรียญตรา รูปถ่าย เป็นลักษณะภาพถ่าย”นาย”แบบเก่า ซึ่งชาวบ้านคุ้นตา มาตั้งแต่ยุค คุณหลวง คุณพระ จนถึงยุคข้าราชการชั้นสูง และนักการเมืองที่พึ่งพิงให้แก้ปัญหาชาวบ้าน
กลุ่มตลาดเป้าหมายหลัก : ชาวบ้าน และกลุ่มที่เคยมีประสบการณ์การพึ่งพากลุ่มอำนาจ
จุดแข็ง :
หนึ่ง ฐานเสียงและฐานอำนาจเก่าที่เฉลิม อยู่บำรุงมีอยู่นั้นมีข้อได้เปรียบ เมื่อเทียบกับอภิรักษ์ โกษะโยธิน และชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์
สอง การเป็นตัวแทนของ “นาย” แบบเก่า ซึ่ง เป็นที่เคารพศรัทธาจากกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในเขตชานเมือง
สาม ความเชี่ยวชาญชั้นสูงในเกมการเมือง และประสบการณ์คร่ำหวดในวิธีการหาเสียงแบบกลยุทธ์ของนักการเมืองเก่า
จุดอ่อน :
หนึ่ง ปัญหาใหญ่เกี่ยวกับคดีลูกชาย อาจทำให้มีคนบางกลุ่มที่จะออกมาลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครรายอื่นเพียงเพื่อตัดโอกาสเป็นไปได้ของการชนะคะแนนของเขา
สอง ปัญหาด้านภาพพจน์ ของเฉลิม อยู่บำรุง เอง ซึ่งคนรุ่นใหม่ และคนมีการศึกษา ไม่ค่อยชอบลักษณะการปฏิบัติตน และวิธีการทำงานของเขา ยิ่งในช่วงหลังที่มีปัญหาเรื่องลูกชายด้วย
การกระจายช่องทางโฆษณา : แผ่นผ้าใบ ติดตั้งตามเขตชานเมือง
ป้ายติดตามรถรับจ้าง ตุ๊กตุ๊ก
โอกาสชนะเลือกตั้ง : “ตลาดล่างและชาวบ้าน” ที่ต้องการพึ่งพิงอำนาจของ “นาย” หรือ “ท่าน” เป็นฐานเสียงเก่าของเฉลิม อยู่บำรุง และเป็นตลาดที่ยังมีขนาดใหญ่โดยเฉพาะแถบชานเมือง หรือแม้แต่กลุ่มแม่ค้า ชาวตลาดในเขตเมืองของกรุงเทพมหานครเอง
ชื่อผู้สมัคร ดร.มานะ มหาสุวีระชัย
ตำแหน่งผลิตภัณฑ์ : Educator
บุคลิกที่แสดงออก : นักวิชาการที่นำความรู้ความสามารถจากการศึกษาระดับปริญญาเอกมาใช้ในฐานะ สส. ศรีสะเกษ เพื่อช่วยแก้ปัญหาย่อยๆ ของประเทศ เช่น ปัญหาค่าทางด่วน ปัญหาค่าสาธารณูปโภค นอกจากนั้นยังแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาอีสาน
การออกแบบป้ายโฆษณา : ไม่เริ่ม ณ 7 ก.ค. 47
ความหมายของรูปที่ใช้พรีเซนต์ : ส่วนใหญ่ใช้รูปถ่ายแสดง”มาด”ของนักวิชาการใส่สูท เป็นผู้น่าเลื่อมใส ผู้รู้ ผู้อาวุโส
กลุ่มตลาดเป้าหมายหลัก : ตลาดคนที่มีการศึกษา หรือเป็นแฟนการเมืองแบบเข้มข้น ที่เชื่อว่า นักการเมืองที่ดีและเหมาะสม สามารถแก้ปัญหาระบบสังคมได้ทุกด้าน
จุดแข็ง :
หนึ่ง การหนุนหลังของ พลตรี จำลอง ศรีเมือง โดยมีถ้อยคำชวนเชื่อว่า ดร.มานะเป็นผู้สมัครเพียงรายเดียว จากที่พลตรีจำลอง เลือกสรร ซึ่งมีคุณสมบัติพร้อมเจ็ดข้อที่หายากคือ ไม่โกง ไม่โกหก กล้าตัดสินใจ ลุยงาน มีความรู้ความสามารถเทียบผู้ว่าฯมหานครอื่นๆ ของโลก ประสานกับรัฐบาลได้ อายุไม่เกิน 60 ปี และเพิ่มเติมอีก 2 ประการ คือ เป็นผู้รู้ระบบราชการเป็นอย่างดี และเป็นวิศวกรมีประสบการณ์บริหารโครงการขนาดใหญ่
สอง การได้รับความสนใจมากสื่อมวลชน ด้วยการออกแถลงข่าวของพลตรี จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถวางแนวทางปลุกความสนใจจากมวลชนอย่างมหาศาลได้เสมอ ทั้งในการกะจังหวะเวลา และวิธีการ
สาม มีฐานเสียงเก่าของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งเคยมีประชาชนที่ศรัทธาสูงในระดับเลื่อมใส และยังมีผลงานเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ในยุคที่ทำให้เมืองสะอาด ฟุตบาทปลอดผู้ค้า ซึ่งปัจจุบันกลับมาเป็นปัญหาหนักของกรุงเทพมหานคร
จุดอ่อน :
หนึ่ง การขาดประสบการณ์ทางการเมืองระดับท้องถิ่น อาจไม่สามารถเทียบชั้นกับพวกนักการเมืองตัวจริงที่ลงสมัครเลือกตั้งด้วย จึงอาจสร้างความลังเลจากกลุ่มคะแนนเสียง
สอง ประสบการณ์ที่มีไม่ได้โดดเด่น
สาม กระแสความนิยมของพลตรีจำลอง ที่จริงวัดแน่ชัดไม่ได้ เพราะเมื่อครั้งเขาสอบตก แสดงให้เห็นว่าความนิยมของเขาตกลง “จำลองคัมแบ๊กเพื่อมานะ”ครั้งนี้ จึงต้องเป็นการทำงานหนัก
การกระจายช่องทางโฆษณา : การออกประชาสัมพันธ์เต็มที่ตั้งแต่ตอนประกาศตัวในต้นเดือนกรกฎาคมของ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ทำให้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมาก
โอกาสชนะเลือกตั้ง : เป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณความแรงและการทุ่มเทของพลตรีที่จำลอง ศรีเมืองจะช่วยผลักดันในการรณรงค์หาเสียงและทำประชาสัมพันธ์เรียกคะแนนนิยมแบบ “จำลอง Plus มานะ”