“ขึ้นชื่อว่าเป็นวัยรุ่นแล้ว เชื่อว่าโตมากับสยามเซ็นเตอร์หมด” ชฎาทิพ จูตระกูล ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวในงานแถลงข่าวการปรับโฉมอาคารและการตกแต่งภายในสยามเซ็นเตอร์ใหม่ เพื่อรักษาจุดยืนเดิมของสยามเซ็นเตอร์ที่เป็นขวัญใจวัยรุ่น (หรือผู้ใหญ่หัวใจวัยรุ่น) และเป็นศูนย์กลางแฟชั่นสุดเปรี้ยวของวัยรุ่นทุกยุค โดยชฎาทิพรับรองว่าสยามเซ็นเตอร์โฉมใหม่จะมันส์และแรงกว่าเดิม
สยามเซ็นเตอร์ได้จัดโซนสินค้าใหม่ โดยประกาศจะยกพื้นที่ 50% ของอาคารให้กับดีไซเนอร์ไทยและแบรนด์ไทย เพื่อดันสยามเซ็นเตอร์ให้กลับมาเป็นแหล่งกำเนิดแบรนด์และดีไซเนอร์ไทยที่มีคุณภาพ เหมือนที่เคยสร้างดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Good Mixer จากเวทีที่สยามเซ็นเตอร์จัดเมื่อ 20 ปีก่อน หรือเป็นแหล่งเติมไฟสร้างสรรค์ให้กับเจ้าของแบรนด์ Fly Now และเป็น pilot และ flagship store ให้กับแบรนด์ Dapper “แบรนด์ไทยถ้าอยากจะเกิดและเปิด ต้องมาที่นี่ก่อน” เจ้าของแบรนด์ Dapper กล่าว
เพื่อสนับสนุนโครงการ “กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น” สยามพิวรรธน์ยกพื้นที่ชั้น 20 ของอาคารสยามทาวเวอร์เพื่อจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านแฟชั่น” และยังให้พื้นที่ชั้น 3 ของสยามเซ็นเตอร์เป็นศูนย์รวมดีไซเนอร์ไทย และดีไซเนอร์รุ่นใหม่ โดยมี “Young Designer Gallery” เป็นที่แสดงผลงาน ขณะที่ชั้น 1 ยังเป็นศูนย์กลางแฟชั่นนำสมัยจากแบรนด์ไทยและแบรนด์นอก ส่วนร้านอาหารจะถูกย้ายไปอยู่ชั้น 4 ซึ่งมีสะพานเชื่อมกับสยามดิสคัฟเวอรี่ และอาคารสยามทาวเวอร์ และชั้น 2 จะเป็นแหล่งรวมกระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอางชั้นนำ
การปรับปรุงครั้งนี้ สยามเซ็นเตอร์ตั้งงบไว้ถึง 300 ล้าน และว่าจ้างทีมที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านศูนย์การค้าจากหลายประเทศ เพื่อเตรียมรับการเปิดตัวของสยามพารากอน ซึ่งกำลังจะเปิดตัวปลายปี 2548 นี้ ถึงเวลานั้น ทั้งสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอนรวมกันจะกลายเป็นศูนย์รวมสินค้าและบริการที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และดึงดูดคนทุกเพศทุกวัยทุกชาติให้มาใช้เวลาและใช้เงินอยู่ในที่นี่ได้โดยไม่ยาก ขณะเดียวกันก็ต้องมีบุคลิกแตกต่างกันไป
สยามเซ็นเตอร์จะเป็นแกนหลักในการเอาใจกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ส่วนสยามพารากอนจะเป็นแหล่งรวมสินค้าและบริการหลากหลายระดับเวิลด์คลาสจับกลุ่มนักท่องเที่ยวและไฮโซผู้นิยมแบรนด์เนมราคาแพง ส่วนสยามดิสคัฟเวอรี่จะปรับให้มีความเป็น “lifestyle center” นำเสนอสินค้าตกแต่งบ้านและสินค้าดีไซน์เก๋ และเป็นแหล่งรวมสินค้าที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่นในกรุงเทพฯ เช่น Loft และ Habitat ซึ่งจะจับกลุ่มคนทำงานที่มีไลฟ์สไตล์ โดยชฎาทิพบอกว่า “เราจะเน้นทำการตลาดให้รู้ว่า สมาชิกในหนึ่งครอบครัว ใครจะ belong to ตึกไหน”
Did you know?
สยามเซ็นเตอร์ เปิดบริการเมื่อปี 2516 ปรับปรุงครั้งแรกเมื่อปี 2534 ปรับปรุงครั้งที่สองเมื่อปี 2540 และครั้งที่สามคือปีนี้ ซึ่งครั้งนี้จะใช้เวลา 10 เดือน ตั้งแต่ ม.ค. – ต.ค. 2548
สยามดิสคัฟเวอรี่ เปิดบริการเมื่อปี 2540 และจะปรับปรุงครั้งใหม่ปลายปี 2549 สยามพารากอน จะเปิดบริการปลายปี 2548