ชานนท์ เรืองกฤตยา เลือดใหม่แวดวงอสังหาฯ

“มันเหมือนแนวคิดคนละทางกัน คุณพ่อจะเน้นธุรกิจกอล์ฟ พัฒนาที่ดินเปล่า และบ้านเดี่ยวระดับบน ก่อนฟองสบู่แตกการหากินกับคนรวยไม่ใช่เรื่องยาก เพราะ margin และ willingness to pay สูง แต่ปัจจุบัน การขายที่ดินเปล่าไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน ผมมองว่า ต้องลงมาตลาดล่างมาหากินกับ real sector” ชานนท์ เรืองกฤตยาเทียบความต่างระหว่าง “อนันดา ดิเวลลอปเมนท์” ของตน กับ “วินด์มิลล์ กรีนวัลเล่” ของชนัฎ เรืองกฤตยา ผู้เป็นพ่อ

บริษัทอนันดาฯ เกิดจากเงินทุนก้อนหลักของชานนท์ร่วมกับทุนของพี่น้อง“เรืองกฤตยา” โดยเขาย้ำ “งานนี้ไม่มีเงินผู้ใหญ่ และจะไม่มีผู้ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าผมต้องการคำปรึกษาผมจะไปถามเอง” ภาพสะท้อน “ความเป็นนักสู้” ของเขา อันเป็นสิ่งที่เรียนรู้มาจากการใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งในต่างประเทศ ซึ่งบทเรียนสำคัญที่หล่อหลอมความคิดและมุมมอง ต่อการทำงานและชีวิตของเขาในวันนี้

“แรกๆ ก็เหงา แต่ตัดสินใจไปแล้วก็ต้องสู้ต่อ ก็คิดว่าชีวิตเราต้องเป็น fighter ซะแล้ว มันก็เป็นแรงจูงใจให้ผมแข่งกับตัวเองมาตลอด เพื่อพิสูจน์ว่าเรามีความสามารถ ทำให้เราเชื่อมั่นตัวเอง และไม่ดูถูกตัวเอง การแข่งขันทำให้รู้แพ้รู้ชนะ เราไม่ได้ชนะกับชีวิตตลอด แต่เมื่อเราแพ้เราต้องสามารถรับได้ หลายครั้งที่ผมแข่งแล้วแพ้ก็คิดว่า เขาคง work hard กว่าเรา เขาก็สมควรจะชนะ มันก็ทำให้ผมรู้ว่า ผมต้อง work harder ตลอดเวลา”

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากอเมริกา ชานนท์มาเริ่มงานเป็น junior analyst ที่ Finance One Public หรือเงินทุนเอกธนกิจราว 1 ปี แม้จะไม่ได้เรียนรู้อะไรมาก แต่ก็ทำให้เขาเกิดความสนใจเรียนต่อด้านการเงิน เมื่อ Fin One ประสบปัญหา เขาจึงตัดสินใจเรียนต่อทางด้านนี้ ณ ประเทศอังกฤษ ก่อนจะมาช่วยปรับโครงสร้างบริษัท วินด์มิลล์ฯ อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของเขาในวงการอสังหาฯ จากการเป็นบริษัทที่ปรึกษาบริษัทในเครือวินด์มิลล์ฯ ในปี 2542 จึงเปลี่ยนมาทำบ้านจัดสรรในชื่ออนันดาฯ เมื่อปีที่แล้ว

“ผมมองว่า อสังหาฯ ไม่ใช่อะไรใหม่ มันเป็น the same old product แต่วิธีนำเสนอต้องแปลกใหม่ และทำให้ตัวเองมีเอกลักษณ์ เราจึงเน้นมุกทางการตลาดและการดีไซน์มาสร้างความแตกต่าง … ผมพยายามสร้างก่อนว่า ถ้าอนันดาเป็นบุคคลเขาจะเป็นแบบไหน วัตถุนิยมเขาจะน้อยมาก เขาจะเป็นคน healthy รักธรรมชาติ ชอบเข้าสังคม เราสร้างภาพอนันดาเป็นคนอย่างนี้ แล้วการตลาดก็จะไปตีความออกมา” นี่เป็นที่มาของบุคลิกของบ้านในโครงการ “อนันดาบีชไลฟ์” และ “อนันดาสปอร์ตไลฟ์”

ปัจจุบัน บริษัทอนันดาฯ มีทั้งสิ้น 8 โครงการ มูลค่ารวม 3 พันล้านบาท ประกอบด้วย 3 แบรนด์ คือ พิมานดา ราคา 10 ล้านขึ้นไป แบรนด์อนันดา ราคา 5-10 ล้านบาท และแบรนด์สิรินดา ราคา 3-5 ล้านบาท เปิดตัวเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งที่ต้องมีแบรนด์ต่างๆ กัน ชานนท์ให้เหตุผลว่าเป็นกระจายความเสี่ยงในความผันผวนของแต่ละตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาได้เรียนรู้เมื่อตอนที่ได้เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้วินด์มิลล์

สำหรับสไตล์การบริหารงาน ชานนท์ใช้วิธี subcontract โดยว่าเป็นเพราะบริษัทไม่เก่งในการสร้างบ้าน จึงต้องว่าจ้างบริษัทเค-เทค และซีคอนเข้ามาดูแลตรงนี้ “ในการทำธุรกิจมันมีความเสี่ยงตลอดเวลา ฉะนั้นอะไรที่ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงก็อย่าเสี่ยง การก่อสร้างเป็นความเสี่ยงมหาศาล เราก็ต้องจ้างคนที่ดีที่สุดมาลดความเสี่ยงให้เรา เพื่อจะได้ไปดูความเสี่ยงอื่น เหมือนการปีนเขา ที่จริงผมชอบปีนเขา มันช่วยฝึกฝนจิตใจ แต่ถ้าเราไม่มีเชือก ไม่มีเซฟตี้ ไม่เข้าใจการปีนเขาก็เท่ากับไปหาที่ตาย ผมไม่กลัวที่ต้องใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยง แต่เราต้องใช้มันเป็น”

ชานนท์ทิ้งท้ายไว้ว่า คุณสมบัติของนักพัฒนาอสังหาฯ ยุคใหม่ ต้องคิดถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค จริงใจกับสิ่งที่เราทำ “บ้านทุกหลังต้องเหมือนเราอยู่ได้เอง เหมือนให้ญาติเราอยู่ เราอายเขาหรือเปล่าถ้าเพื่อนเราซื้อไป แต่ถ้าคุณต้องบอกเพื่อนว่าอย่าซื้อหลังนี้เลย อย่างนี้ก็ต้องถามตัวเองว่าคุณทำเพื่ออะไร เราต้องภูมิใจในสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา โดยที่เรายังควรต้องมีพื้นที่ในตลาดที่เราจะเป็นตัวของเราเองได้ ผมว่าแค่นี้ผมก็พอใจแล้ว”

Profile

Name ชานนท์ เรืองกฤตยา
Age 30 ปี
Education
– ปริญญาโทด้านการเงินและการบัญชีระหว่างประเทศ จาก London School of Economics ประเทศอังกฤษ
– ปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จาก University of California at Berkeley, ประเทศอเมริกา
Career Highlights
2001- ปัจจุบัน ประธานและ CEO บริษัท Ananda Development
1998 – 2001 CEO และหัวหน้าทีมปรับโครงสร้าง บริษัท Windmill Park and Green Valley Group
1997 นักวิเคราะห์ด้านการลงทุนและการธนาคาร บริษัท Finance One Public