เอเชียในโลกบันเทิง(1) หนังจีนในฮอลลีวู้ด

เหตุผลง่ายๆ ที่หนังจีนครองตลาดฮอลลีวู้ดตอนนี้ คือ มันเป็นวัฒนธรรมต่างถิ่นที่คุ้นเคยที่สุดของชาวอเมริกัน ในเมื่อวัฒนธรรมต่างถิ่นที่เขาคุ้นเคยกว่า ถูกฮอลลีวู้ดเล่าผ่านฟิลม์หมดนานแล้ว ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นทำหนังหรือภาพเคลื่อนที่ ทั้งกรีก โรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ฯ จนท้ายสุดในช่วงสามสิบปีหลัง คนอเมริกันหันมานิยมหนังจากผู้กำกับอเมริกันทุนน้อยหรือ Independent Film House แทน เพราะฮอลลีวู้ดไม่ค่อยมีอะไรใหม่ให้ดูกัน

“จีน” และ ”อินเดีย” ดูเหมือนเป็นจุดขายน่าสนใจทศวรรษล่าสุด ที่ฮอลลีวู้ดเริ่มมองเห็นว่าตลาดคนดูตอบรับค่อนข้างแน่ชัด แต่รูปแบบต่างกัน “จีน” นั้นฮอลลีวู้ดสามารถยกมาทั้งดุ้น อิมพอร์ตจากประเทศจีนได้เลย แต่ถ้าเป็นอินเดียต้องปรับให้เป็นอินเดียในอเมริกา เติมพล็อตเกี่ยวกับจิตวิญญาณและแพร่ลัทธิฮินดู กฤษณะ โยคะ สมาธิ ที่ถือว่าเป็นของเก๋ของหนุ่มสาวชาวอเมริกันผู้มี ”Spiritual” เข้าไปด้วย

จีนดูเหมือนจะขายดี แน่นอน และเข้าถึงมวลชนมากกว่า เพราะคนอเมริกันไม่รู้สึกแปลกแยกกับความเป็นจีนแท้เลย วัดจากความสำเร็จล่าสุดคือ Hero หนังของ จาง อี้ โหมว ซึ่งเพิ่งเปิดตัวฉายในอเมริกาเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังถูกดองโดยตัวแทนคือ มิราแม็กซ์ นักดองหนังมานานกว่าสองปี ถ้าจำได้ก่อนหน้านี้ มิราแม็กซ์ เคยดอง Fahrenheit 9/11 จนหนังได้รางวัลคานส์และไลอ้อนเกทซื้อไปฉายแทน

ข้อแก้ตัวออกหน้าของการดอง Hero คือ เรื่องทางการค้า ผู้บริหารบอกว่าไม่อยากให้หนังฉายเข้าใกล้กับ Crouching Tiger, Hidden Dragon ที่ฮิตระเบิดเมื่อสามปีก่อนมากจนเกินไป

ความเป็นหนังจีนย้อนยุคถือเป็นโชคดี เพราะหนังแบบนี้ไม่มีเงื่อนเวลาบังคับ เก็บไว้เท่าไรไม่มีวันเชย Hero เลยทำสถิติขายดีระเบิดเถิดเทิงแบบคุ้มค่าดองให้มิราแม็กซ์อีกครั้ง

หลังไม่ยอมรับวัฒนธรรมจีนในวงกว้างมากว่าร้อยปี ดูเหมือนตอนนี้อเมริกันไม่สามารถกระมิดกระเมี้ยนดูแคลนวัฒนธรรมจีนได้อีกต่อไป กังฟู ไท้ชิ ฝังเข็ม และอาหารจีนนั้นเท่มาก หนังจีนกำลังตามหลังมา

แม้ว่าคนจีนเองยังถูกกันไม่เอาไปอ้างถึงมากมาย ในตำราประวัติศาสตร์ระดับโรงเรียน ที่ไม่ค่อยยอมให้คนจีนได้จารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ฐานะหนึ่งในชาติที่ “สร้างอเมริกา” ทั้งที่กุลีจีนคือแกนนำสำคัญในการสร้างทางรถไฟจากตะวันออกไปตะวันตกยุคสร้างชาติ เพราะจีนอพยพไปอเมริกายุคแคลิฟอร์เนียตื่นทองในปี 1848-52 หลังฟิลิปปินส์ (1763) และแขกอินเดีย (1790) แต่มีจำนวนและบทบาทสูงกว่ามาก แต่คนจีนยังถูกฝรั่งอเมริกันบางคนไล่ว่า ”กลับเมืองจีนไปซะ” ขณะที่คนคอเคเชียนอพยพมาทีหลัง ยังได้เป็นอเมริกันมากกว่า

ถึงแม้การพึ่งพาอาหารจีน ทำให้คนอเมริกันประหยัดค่าอาหารและได้กินของดีรสแปลก บรู๊ซ ลี เป็นจีนที่อเมริกันรู้จักกันดีมากว่าสามสิบปี และไชน่าทาวน์หลายแห่งกลายเป็นที่อยู่ของศิลปินอเมริกัน แต่จนสิบปีที่ผ่านมาคนจีนยังคงถูกดูถูกว่าเป็นพวก Chink เจ้าของไชน่าทาวน์ที่ไม่กลมกลืนกับอเมริกัน คนอเมริกันถ้าไม่ติดดิน หรือชอบอาหารจีนจริงๆ ไม่ชอบไปไชน่าทาวน์ ที่ล้งเล้ง จอแจ และสกปรก

ทว่าท้ายสุดตอนนี้ ทศวรรษใหม่นี้ วัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากนี้ก็เริ่มกลมกลืนกันเห็นชัด ฝรั่งรุ่นใหม่ๆ เห็นไชน่าทาวน์เป็นแหล่งความรู้และวัฒนธรรม ”หลากหลาย” ขณะที่คนจีนรุ่นใหม่ๆ ยกระดับขึ้นมาด้วยการพิสูจน์ให้เห็นความสามารถในเชิงทักษะและสติปัญญาสายอาชีพพิเศษต่างๆ ช่วงห้าปีหลัง ข่าวที่ออกมาบ่อยๆ คือเด็กจีนเรียนเก่งเป็นที่หนึ่งในโรงเรียนรัฐบาลตามเมืองใหญ่ๆ แทบทุกแห่ง

จีนเป็นที่ยอมรับระดับสูงขึ้น การไปดูหนังจีนเป็นเรื่องเท่มาก และภาพการต่อสู้ประลองกำลังภายใน หรือการเหาะเหินตีลังกาที่คนไทยดูกันมาแต่ไหนแต่ไร กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ต้องรับชมหลังปี 2000

Hero เป็นหนังที่ใช้คนเยอะ ทุนมโหฬารและฉากตระการตาเรื่องแรกของผู้กำกับ จาง อี้ โหมว จับฉากประวัติศาสตร์จีน ในช่วงที่จิ๋นซีฮ่องเต้กำลังราวรวมก๊กน้อยใหญ่เพื่อสร้างชาติ ทำให้อ๋องจิ๋นเป็นที่ปองร้ายของนักฆ่าระดับพระกาฬสามคน สุดท้ายมีนักฆ่านิรนามมาแจ้งว่าได้ฆ่าทั้งสามคนแล้ว

คนมีฝีมือต้องไม่ย่ำอยู่กับของเก่า จาง อี้ โหมวไม่ได้ทำหนังกำลังภายในแบบเดิมเสียทีเดียว แต่เขาได้เปลี่ยนแปลงบางอย่างเช่นให้ตัวละครมีบทพูดพรรณนามากขึ้น หรือให้มีการแสดงอารมณ์ลึกๆ ของตัวละครออกมามากขึ้น และท้ายสุดการนำเสนอภาพที่เน้นความสวยงามทางศิลปะและสีสันฉูดฉาดของแต่ละฉากมากขึ้น มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยสร้างเอฟเฟกต์และตกแต่งภาพด้วย

จาง อี้ โหมว กำกับหนังเรื่องแรกปี 1987(อายุ 36 ปี) เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับ ”รุ่นที่ห้า” หรือนักเรียนภาพยนตร์รุ่นห้าจากสถาบันภาพยนตร์ปักกิ่ง (ชั้นเรียนปี1978-1982) ซึ่งมีชื่อเสียงในการทำหนังต่อต้าน ”การปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมา เจ๋อ ตุง (ปี 1976)” และสะท้อนความทุกข์ยากของชาวชนบทกันดารในจีน ช่วยกระตุ้นวงการหนังจีนให้ตื่นตัวในช่วงปี 1987-1995

ผู้กำกับรุ่นนี้คนอื่นๆ เช่น เห ผิง (อ่านล้อมกรอบ) เฉิน ไค้ เก๋อ (Yellow Earth, The Emperor and The Assassin) เถียน ช่วง ช่วง (The Blue Kite) สำหรับจาง อี้ โหมว ยังมีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลักดันนางเอกคู่ใจ กง ลี่ ให้กลายเป็นนางเอกหนังจีนที่ดีที่สุด ก่อนแยกทางกันในอีกแปดปีต่อมา

สำหรับรุ่นห้าหนังจีน เมื่อสิบปีก่อนคอหนังอาร์ตไทยติดตามหนังของผู้กำกับรุ่นนี้ที่กันมาก ส่วนที่อเมริกา สิบปีเดียวกันซึ่งผู้กำกับจีนฮ่องกง และไต้หวันบางคนเริ่มได้รับการต้อนรับให้เป็นลูกจ้างฮอลลีวู้ด แต่ผู้กำกับหนังอาร์ตจากจีนแผ่นดินใหญ่กลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่ยกย่องมาก เท่าคนทำหนังอาร์ตของอเมริกันเอง หรือยุโรป หรือผู้กำกับจีนที่เข้ามาทำหนังพาณิชย์ในฮอลลีวู้ดอย่างจอห์น วู และอั้ง ลี่

มาปีนี้เอง ที่จาง อี้ โหมว เป็นรุ่นห้าคนแรกที่ก้าวถึงอันดับสูงสุดด้านพาณิชย์ในอเมริกา ด้วย Hero ที่ฉายในอเมริกาสองอาทิตย์แรกได้ 35.30 ล้านดอลลาร์ (นับถึงอาทิตย์แรกของเดือนกันยายน) จากที่มิราแม็กซ์ซื้อมาในราคาแค่ 21 ล้านดอลลาร์ แต่อัตรานี้ถือว่าเป็นการซื้อหนังจีนสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ส่วนนอกสหรัฐอเมริกา ทำรายได้แล้ว102,941,649 ดอลลาร์

ก่อนหน้าหนังเรื่องนี้ คนอเมริกันน้อยคนรู้จักจาง อี้ โหมว แค่ว่าเป็นคนทำหนัง ”ศิลปะชั้นดี” หรือ Art-House Classic จากเมืองจีนเรื่อง Raise the Red Lantern (1991) เท่านั้น ส่วนหนังเรื่องอื่นๆ ของเขาที่ทำในจีนและเข้ามาฉายในอเมริกาไม่ประสบความสำเร็จนัก สองเรื่องหลังสุดคือ Road Home (หนังปี 1999 ฉายอเมริกาปี 2001) เก็บเงินได้ 1,280,090 ดอลลาร์ แต่ Happy Time (หนังปี 2001 ฉายในอเมริกาปี 2002) เก็บเงินได้เพียง 239,134 ดอลลาร์

ด้วยเหตุนี้มากกว่า Hero ปี 2002 จึงถูกดอง ถึงแม้ว่าในต้นปี 2003 หนังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนั้น แต่มิราแม็กซ์ยังไม่เอาลงฉายนานกว่าสองปี

ตามรายงานจาก “แหล่งข่าว” ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ บอกว่า ที่จริงแล้ว หนังได้เข้าฉายในที่สุด เพราะแรงกดดันระหว่างปักกิ่งกับดิสนีย์บริษัทแม่ของมิราแม็กซ์ ที่จำเป็นต้องยุติการทำธุรกิจกับประเทศจีน เลยยอมออกเงินให้บริษัทลูกให้ปฏิบัติต่อหนังจีนฟอร์มใหญ่เรื่องนี้ให้ดีขึ้นหน่อย หนังที่มีท่าจะไม่ได้ฉาย หรืออาจฉายไม่กี่โรง ปรากฏว่ากลับได้ฉาย 2031 โรงทั่วประเทศ

ความสำเร็จไม่คาดคิดทางรายได้เกิดเข้าข้างมิราแม็กซ์และดิสนีย์ ทั้งที่ช่วงนี้โดยปกติเป็นช่วงรายได้ตกแห่งปี เพราะครอบครัวรับปิดเทอมและเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งปีนี้ยังเป็นปีที่คนวุ่นวายกับกระแสเลือกตั้งประธานาธิบดี และเศรษฐกิจอเมริกันตกเพราะพิษน้ำมัน กับการบริหารประเทศของประธานาธิบดีบุชที่ล้มเหลวด้านกิจการภายใน และวุ่นวายกับสงครามนอกบ้าน

Hero จึงกลายเป็นการปักฐานตลาดอย่างมั่นคงว่าหนังจีนกำลังภายในเป็นแนวโน้มการค้าหนังปี ค.ศ.นี้ ที่ฮอลลีวู้ดไม่ต้องลังเลอีกเลย

ในขณะที่วัฒนธรรมแปลกตาอาจดึงความสนใจของคอหนังอาร์ตเข้มข้น และกรรมการรางวัลนานาชาติ เช่น การฉายท้องเรื่องเจาะชนบทไทยแท้ หรือหนังอินเดียที่เต้นระบำส่ายตะโพกไล่พลอดรัก แต่เหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งได้รับความนิยมจากมวลชนกลับเป็นเพราะการนำเสนอวัฒนธรรมเหมือนแปลกใหม่ซึ่งที่จริงแล้วแสนคุ้นตา

ปักธงจีนในฮอลลีวู้ด

ค.ศ. 1940-1973
@ บรู๊ซ ลี หรือมังกรน้อยลี เป็นดาราจีนที่ดังคนแรกและดังที่สุดในฮอลลีวู้ด ด้วยความสามารถด้านศิลปะการต่อสู้แบบกังฟูของเขา เขาเป็นลูกจีนเสี้ยวเยอรมัน เกิดที่ซานฟรานซิสโก พูดอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และยังเป็นแชมเปี้ยนเต้นชะชะช่า

เขาเริ่มเล่นหนังตั้งแต่ยังเป็นทารกหนึ่งขวบ จากนั้นได้เป็นดาราเด็กหนังฮ่องกงมาเรื่อยๆ และเดินทางออกจากอเมริกาไปฮ่องกงเมื่อปี 1958 โดยไม่มีเงินแต่ใช้การสอนเต้นรำแลกทุนการเดินทาง เขาไปเรียนรู้กังฟูกับอาจารย์จีนหลายคนเพิ่มเติม จนกลายเป็นหนุ่มยอดกังฟู และยังเรียนคาราเต้เพิ่มเติมจากอาจารย์ญีปุ่นในกลางทศวรรษที่ 60

หนังเรื่องแรกของบรู๊ซ ลี ที่ได้ฉายโรงในอเมริกาคือ Xi lu xiang หรือ My Son, Ah Chung (1950) ตอนที่เขายังอายุสิบขวบ จากนั้นลีเล่นหนังมาตลอดและเป็นที่กล่าวขานของคอกังฟู เขาได้เข้าร่วมเป็นดารารับเชิญในทีวีมาตั้งแต่ปี 1966 แต่เรื่องที่ทำให้ดังจริงๆ ในอเมริกาคือ Tang shan da xiong หรือ Fists of Fury (หนังปี 1971 ฉายในอเมริกาปี 1972)

ลียังมีอาชีพสอนกังฟูค่าตัวแพงถึง 275 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และเขียนหนังสือเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้จีนหลายเล่ม ในปี 1964 เขากับคู่หูเปิดรับนักเรียนกังฟูที่ไม่ใช่เอเชียอย่างเป็นทางการในเมืองโอ๊กแลนด์ หลังจากสองปีก่อนเขาเคยเทรนคนผิวขาวคนแรกเล่นกังฟู และก่อนหน้านั้นเล็กน้อยในปี 1964 มีสตูดิโอสอนกังฟูไม่จำกัดสีผิวเจ้าอื่นเปิดก่อนเป็นแห่งแรกในโลกที่ไชน่าทาวน์ ลอสแอนเจลิส

บรู๊ซ ลี เสียชีวิตด้วยโรคทางสมองที่ฮ่องกงปี 1973 ขณะอายุเพียง 33 ปี แต่มีเทปเก่าและหนังออกมาเรื่อยๆ จนปี 1981 ในปี 1997 นิตยสารเอ็มไพร์ (อังกฤษ) จัดเขาเป็นหนึ่งใน 100 ดารานำตลอดกาล

ค.ศ. 1989
@ หนังเรื่อง The Killer ของจอห์น วู เล่นโดย โจว เหวิน ฟะ สร้างชื่อเสียงในกลุ่มคอหนังที่อเมริกา ทำให้เขาได้รับข้อเสนอสร้างหนังจากฮอลลีวู้ด วู เกิดทางจีนใต้ แต่โตในฮ่องกง และเริ่มอาชีพเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้บริษัทชอร์ บราเธอร์ส ตั้งแต่ปี 1969 ได้กำกับหนังเรื่องแรกปี 1973 แต่ประสบความสำเร็จในฮ่องกงและกลุ่มคนดูหนังจีนกับนักแก๊งข้างถนนไล่ล่าเรื่อง “A Better Tomorrow” (1986) ที่มี โจว เหวิน ฟะ นำแสดงเช่นกัน

วูได้ย้ายไปทำงานกับฮอลลีวู้ด เขามีบุคลิกการสร้างหนังหลายอย่าง เช่น ชอบให้มือปืนถือปืนสองมือ หรือชอบถ่ายนกในภาพสโลว์โมชั่น รวมถึงเป็นคนทำให้โจว เหวิน ฟะเป็นที่รู้จักฐานะในบทพระเอกนักบู๊

หนังของจอห์น วู ที่สร้างกับฮอลลีวู้ด Hard Target (1993), Broken Arrow (1996), Face/Off (1997), Mission: Impossible II (2000), Windtalkers (2002), The Hire: Hostage (2002) Paycheck (2003) นอกจากนั้นยังทำหนังทีวีเรื่อง Black Jack (1996)

เหมือนผู้กำกับจีนคนอื่นที่งานชุดมากขึ้นตอนนี้ โครงการต่อไปคือ Land of Destiny (2004), Spy Hunter (2005), All the Invisible Children (2006)

ค.ศ. 1993
@ Farewell my Concubine กำกับโดยเฉิน ไค้ เก๋อ มีเลสลี่ จาง เล่นเป็นพระเอกงิ้วผนวกเรื่องความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างสองชายกับหนึ่งหญิงได้รับการกล่าวขานอย่างมาก รับรางวัลหนังยอดเยี่ยมเทศกาลหนังเมืองคานส์ และกลายเป็นหนังจีนคลาสสิกตลอดกาล

@ The Joy Luck Club สร้างจากนวนิยายของ เอมี่ ตั้น กำกับโดย เวนย์ หวัง ประสบความสำเร็จในตลาดอเมริกา เวนย์ หวัง เป็นชาวฮ่องกง จบการศึกษาในสหรัฐอเมริกา และกลับไปสร้างหนังที่ฮ่องกง ผลงานต่อมาของเขาคือ Smoke, Blue in the Face, Chinese Box และ anywhere but Here ล่าสุดเขากำกับ The Center of the World และ Maid in Manhattan (หนังชีวิตรักต่างชนชั้น นำแสดงโดย เจนนิเฟอร์ โลเปซ)

ค.ศ. 1994
@ หนังเรื่องที่สามของอั้ง ลี่ Eat Drink Man Woman (1994) ได้เข้าชิงออสการ์สาขาหนังต่างประเทศ อั้ง ลี่ อายุสี่สิบในตอนนั้น เขามาจากไต้หวัน จบวิทยาลัยศิลปะไต้หวัน ก่อนมาเรียนปริญญาตรีที่อิลลินอยส์ และปริญญาโทภาพยนตร์จากนิวยอร์กยูนิเวอร์ซิตี้ เริ่มทำหนังเรื่องแรกโดยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับและเขียนบท ก่อนกำกับเรื่องแรก Pushing Hands (1992) และเรื่องที่สอง The Wedding Banquet (1993) ที่เป็นหนังเกย์สะท้อนการกีดกั้นเสรีทางเพศของวัฒนธรรมจีนไต้หวัน ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังเบอร์ลิน

ความสำเร็จสามเรื่องทำให้เขาได้กำกับหนังฮอลลีวู้ด Sense and Sensibility (1995) หนังได้รางวัลบทดัดแปลงยอดเยี่ยม และรางวัลดารานำหญิงยอดเยี่ยม รวมถึงได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย ปีนั้นเขากลายเป็นผู้กำกับยอดเยี่ยมของนักสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์กและนักทัศนะภาพยนตร์แห่งชาติอเมริกา ผลงานต่อไปยังเป็นแนวฮอลลีวู้ดคือ The Ice Storm (1997).The Civil War drama Ride With The Devil (1999)

ค.ศ. 1995
@ หนังเรื่อง The Killer ปี 1989 กำกับโดยจอห์น วู และนำแสดงโดย โจว เหวิน ฟะ เพิ่งเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา

ค.ศ. 1996
@ นิตยสารไทม์พิมพ์บทความ ”เสน่ห์หนังจาก 3 จีน : ฮ่องกง ไต้หวัน แผ่นดินใหญ่” ระบุความมุ่งมั่นของผู้กำกับหนังจีน โดยเริ่มจากการถ่ายทำหนังเรื่อง Temptress Moon (นำแสดง เลสลี่ จาง และกง ลี่) กำกับโดยเฉิน ไค้ เก๋อ ผู้ได้รับการยกย่องเชิงหนังศิลปะ เล่าถึงความสามารถทางการแสดงขั้นสูงของนางเอกกง ลี่ และเล่าถึง จอห์น วู ผู้ถ่ายทำหนังพาณิชย์ซึ่งเขาหวังให้มันเป็นศิลปะ จากนั้นพูดถึงผลงานของอั้ง ลี่ และหว่อง กา ไว การแสดงของแจ๊คกี้ ชาน และโจน เหวิน ฟะ ปิดท้ายด้วยการทำงานของเถียน ช่วง ช่วง ในปักกิ่ง

@ หนังเรื่อง Rumble in the Bronx นำแสดงโดยแจ๊คกี้ ชาน หรือเฉิน หลง ทำรายได้อันดับหนึ่งในอเมริกานาน 4 สัปดาห์ เขาได้ขึ้นปกนิตยสาร GQ และได้รับการต้อนรับเข้าฮอลลีวู้ด ทั้งที่พูดภาษาอังกฤษไม่เก่งในช่วงแรก แจ๊คกี้ ชาน ให้สัมภาษณ์กับเอเชียวีคถึงความประหลาดใจเมื่อเห็นการทำงานของฮอลลีวู้ด ที่ใช้คนมากมายในกองถ่าย เขาได้รับการต้อนรับระดับซูเปอร์สตาร์ ดูแลความปลอดภัยอย่างดีจากบริษัทประกัน มีอาหารจีนจัดให้เป็นพิเศษ พักในบ้านขนาดเจ็ดห้องนอน และใส่สูทอาร์มานี่เข้าฉากต่อสู้

ค.ศ. 1997
@ หนังอาร์ตเรื่อง Happy Together ทำให้หว่อง กา ไว (หวังเจียเหว่ย)ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังคานส์ หว่องเกิดในเซี่ยงไฮ้ แต่ย้ายไปฮ่องกงแต่เด็ก เริ่มต้นงานในวงการโทรทัศน์และเป็นคนเขียนบทในฮ่องกง ก่อนกำกับหนังเรื่องแรก As Tears Go By(1988) จากนั้นเขามีผลงานคือ Ashes of Time, Chungking Express, Fallen Angels อย่างไรก็ตาม หนังได้เข้าฉายเพียงสองอาทิตย์ในอเมริกา และทำรายได้เพียง 187,508 ดอลลาร์สหรัฐ

ค.ศ. 1998
@ โจว เหวิน ฟะ (ดาราจีนฮ่องกง) เปิดตัวเรื่องแรกกับหนังทำในฮอลลีวู้ด ด้วยภาพยนตร์บู๊เรื่อง The Replacement Killer เล่นคู่กับ มิรา ซอร์ไวโน จากนั้นเขาได้ประกบคู่กับมาร์ก วัลห์เบิร์ก ใน The Corrupter (1999) และลองเล่นบทหนังชีวิตอิงประวัติศาสตร์เรื่อง Anna and the King (1999)

@ Rush Hour หนังเรื่องแรกที่แจ๊คกี้ ชาน เล่นกับนิว ไลน์ ซีเนม่า ทำรายได้ถึง 141,153,686 ดอลลาร์ จากทุนสร้างเพียง 35,000,000 ดอลลาร์ จากนั้นเขามีผลงานเรื่อง Shanghai Noon (2000), Rush Hour 2 (2001) The Tuxedo (2002), Shanghai Knights (2003), The Medallion (2003), The Miss World 2003, The Huadu Chronicles: Blade of the Rose (2004) Around the World in 80 Days (2004) Joe’s Last Chance Friendly (2004), Time Breaker (2004) และ ในปี 2005 จะมีผลงานเรื่อง Rush Hour 3

ค.ศ. 1999
@ ลูซี่ หลิว ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสามนางฟ้าชาร์ลี ใน Charlie’s Angels (2000) อาจเรียกได้ว่าเธอเป็นดาราจีนคนแรกที่ได้รับบทนำเด่น เพราะความเป็นดาราไม่ใช่เพราะความเป็นคนจีน

ลูซี่ หลิว เป็นลูกจีนเกิดในย่านคนจีน ที่เขตฟลัชชิ่ง ชานเมืองนิวยอร์ก เธอเรียนจบปริญญาตรีด้านภาษาและวัฒนธรรมจีนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และรักการแสดงมาก เริ่มเข้าวงการด้วยการย้ายไปทำงานเสิร์ฟอาหารที่ลอสแอนเจลิส และหมั่นไปแคสติ้งบทดาราประกอบหนังทีวี จนกระทั่งได้เล่นเป็นอดีตแฟนใน Jerry Mcquire (1996) และได้ร่วมแสดงในหนังทีวีชุด Alley Mcbeal (1997)

หลังจากประกบบทในนางฟ้าชาร์ลี กับอีกสองนางเอกผิวขาว ลูซี่ กลายเป็นหนึ่งในนางเอกหนังบู๊ระดับทอปเทนของฮอลลีวู้ด ผลงานเรื่องต่อมา Hotel (2001) Ballistic : Ecks vs. Sever (2002) Cypher (2002) Chicago (2002) Charlie’s Angels : Full Throttle (2003) Kill Bill : Vol.1 (2003)

ค.ศ. 2000
@ ภาพยนตร์เรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) เข้าฉายในสหรัฐอเมริกา กำกับโดยอั้ง ลี่ผู้ทำหนังแนวจีนกำลังภายในครั้งนี้ครั้งเดียว นำแสดงโดย โจว เหวิน ฟะ และมิเชล เหยา (ดาราจีนจากมาเลเซีย รับบทฮอลลีวู้ดใหญ่ครั้งแรกในเจมส์ บอนด์ Tomorrow never die(1997)) ประสบความสำเร็จสูงสุดด้านรายได้ โดยฉายนานเจ็ดเดือน ทำรายได้ 128,067,808 ดอลลาร์ และคนอเมริกันบางคนยกย่องให้เป็นหนังดีที่สุดในรอบสิบปี

แนวหนังจีนพีเรียดที่ลึกซึ้งทั้งบู๊ และรักอยู่แล้วปรากฏใน Crouching Tiger, Hidden Dragon ทำให้เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องของตลาดหนังสากลที่หนังเรื่องเดียวสามารถถ่ายทอดเนื้อหาได้ครอบคลุมแนวทางกว้างขวางคือ ผจญภัย Adventure /ชีวิต Drama /บู๊ Action /จินตนิยาย Fantasy / รัก Romance ไม่เท่านั้นเนื้อหายังรวมสารพันไปถึง กังฟู ศิลปะการต่อสู้ เกียรติยศ ราชวงศ์ วีรบุรุษ วีรสตรี ประเพณีจีน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ใช้เงินทุนเพียง 15 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่มีทางเลยที่หนังฮอลลีวู้ดปี ค.ศ.นี้ จะทำได้ครบรสกับเงินเพียงเท่านั้น

สารพันอารมณ์เรื่องขนาด แต่ทางการตลาด หนังแบบจีนยังหนีโจทย์ยากเรื่องเรตหนังได้ โดยมีความรุนแรงจากศิลปะการต่อสู้และฉากเซ็กซ์เพียงเล็กน้อย ทำให้ได้เรต PG-13 ซึ่งเป็นตลาดที่กว้างมาก คือเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 13 ต้องดูโดยได้รับคำแนะนำจากพ่อแม่ แต่อายุ 13 ขึ้นไปสามารถดูได้หมด

@ หนังเรื่อง In the Mood of Love ของหว่อง กา ไว ได้รับรางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังยุโรป และเข้าฉายในสหรัฐอเมริกานานสามเดือน ทำรายได้ 2,734,044 ดอลลาร์ ทำให้
หว่อง กา ไว ได้รับการพูดถึงมากขึ้นในกลุ่มคอหนังในอเมริกา แต่เขากลับใช้เวลาตั้งแต่ปี 2001 ทุ่มทำหนังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่อง 2046 ซึ่งมีจาง อี้ โหมวเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ และเพิ่งได้ฉายปี 2004

ค.ศ. 2001
@ Crouching Tiger, Hidden Dragon ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ตอนต้นปี 11 รางวัล รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทดัดแปลงยอดเยี่ยม ตัดต่อยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และได้รับ 4 รางวัล รวมถึงหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

ค.ศ. 2002
@ เฉิน ไค้ เก๋อ หนึ่งในผู้กำกับดังจากสถาบันหนังปักกิ่ง นักเรียนรุ่นที่ห้าเจ้าของผลงาน Yellow Earth, Farewell My Concubine กำกับหนังฮอลลีวู้ดเรื่องแรก Killing Me Softly

ค.ศ. 2003
@ อั้ง ลี่ กำกับ Hulk หนังแนวฮอลลีวู้ดแท้ ทำรายได้ 132,122,995 ดอลลาร์ วันลาโรงเดือนกันยายน

ค.ศ. 2004
@ Hero ของจาง อี้ โหมว ที่ค่ายมิราแม็กซ์ซื้อจากบริษัทจีนตั้งแต่ปี 2002 ลงโรงฉายและทำรายได้อันดับหนึ่งในปลายเดือนสิงหาคม 2004

@ โซนี่ พิคเจอร์ เปิดตัว Warriors of Heaven and Earth ในสุดสัปดาห์แรกเดือนกันยาน ที่นิวยอร์ก และลอสแอนเจลิส หนังของเห ผิง ผู้กำกับรุ่นห้าอีกคน เป็นมหากาพย์จีนคล้ายๆ กัน เกี่ยวกับสงครามในยุคราชวงศ์ถัง ล่าช้าหนึ่งปีหลังหนังฉายในจีนไปตั้งแต่ 23 กันยายน 2003 หนังยังมาแปลกที่คนทำเพลงเป็นอินเดีย คือ เอ.อาร์ ราห์มัน นักทำเพลงดาวเด่นจากบอลลีวู้ด (ฮอลลีวู้ดของอินเดียอยู่ในเมืองบอมเบย์) จีนส่งหนังเข้าชิงออสการ์ภาษาต่างประเทศต้นปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับรางวัล

ผลงานเด่นในอดีตของเห ผิง คือหนังเรื่องที่สาม Red Firecracker, Green Firecracker (1993) ซึ่งชนะสามรางวัลโกลเด้น รู้สเตอร์ (ไก่แจ้ทองคำ) ในจีน และได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังฮาวาย

@ หว่อง กา ไว กำลังมีงานหนังไตรภาคเรื่อง EROS ที่ร่วมกำกับคนละตอนกับ ไมเคิลแอนเจโล แอนโทนิโอนี่ (ผู้กำกับชาวอิตาเลียนที่คอหนังยกย่อง) สตีเว่น ซอเดอร์แบร์ (ดังจาก Erin Brockovich) หนังอยู่ระหว่างการตกแต่งขั้นตอนสุดท้าย และกำหนดออกปลายปี 2004 นี้

อนาคตอันใกล้

@ จับตามอง “ผู้กำกับรุ่นที่หก”
อุตสาหกรรมหนังจีนในประเทศกระเตื้องใหม่ กับการมาถึงของ ”ผู้กำกับรุ่นที่หก” ซึ่งสร้างหนังทำเงินหลายเรื่องในปี 2003 หลังจากที่ ตั้งแต่ปี 1997 เริ่มเสื่อมถอย และรายได้ลดลง ผู้กำกับรุ่นใหม่นี้ทำหนัง ”ขาย” หรือหนัง ”คอมเมอร์เชี่ยล” เอาใจตลาดและโกยรายได้เป็นหลัก ต่างจากพวกรุ่นห้าที่ทำหนัง ”อาร์ต” และหนัง ”สะท้อนสังคมการเมือง” รุ่นหกที่ดัง เช่น เจีย จาง เคอ ซึ่งไปเปิดตัวในงานเทศกาลหนังนิวยอร์กปี 2002