สิริยากร พุกกะเวส The Next – Lifestyle Entrepreneur

จากจุดเริ่มต้นรายการ “บ้านอุ้ม” บนจอโทรทัศน์ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว “อุ้ม” สิริยากร พุกกะเวส ต่อยอดเข้าสู่สินค้าเครื่องครัว ตกแต่งบ้าน นิตยสาร สร้างไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบอุ้มเป็นเนื้อหา ปั้น “บ้านอุ้ม” ให้กลายเป็น Brand Image

รายการ “บ้านอุ้ม” เปิดตัวไปเมื่อปี 2544 ใน Nation Channel ที่ช่อง UBC 8 ก่อนที่ย้ายมาแพร่ภาพที่ ITV เมื่อ กรกฎาคม 2546 ช่วงที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งนั้น เธอกล่าวว่ามันเป็นเป็นแค่การทดลองตลาด เพื่อหากลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกับเธอ

บ้านอุ้มเป็นรายการวาไรตี้ง่ายๆ ดูสบาย ตอนเช้าวันเสาร์ 9โมง ที่เน้นกิจกรรมและไอเดียที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิต เป็นรายการที่เธอมีส่วนร่วมทุกอย่างทั้งออกความคิด เขียนสคริปต์ ตัดต่อ หาลูกค้า โปรดิวเซอร์ และรับหน้าที่เป็นพิธีกรเอง ก่อนจะมาแตกขยายเป็นสินค้า merchandize กว่าร้อยรายการ และแมกกาซีน ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Baanoom Living Day”

“ตัวสินค้าพวกนี้อยู่ในใจมาตลอดว่าอยากจะทำ แต่ต้องการค่อนให้แน่ใจก่อนว่ารายการมีกลุ่มคนดูอยู่จริงๆ ก็เลยอยากให้แบรนด์ทีวีเราเป็นที่รับรู้ก่อนว่าบ้านอุ้มคืออะไร ประมาณไหน ก่อนที่จะได้โอกาสมาทำ”

ชื่อ “บ้านอุ้ม” นิยามสำหรับเธอจึงเป็นอะไรที่ง่าย เหมือนคนแวะมาเที่ยวบ้านของเธอและมีกิจกรรมร่วมกัน เธอเชื่อว่า การชักชวนให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมาตั้งแต่เริ่มต้นรายการนั้น ไม่ใช่เรื่องยากและเป็นไปได้ เธอมีเพื่อนบ้านมากขึ้น และเชื่อว่าชุมชนใหม่ๆ ในรายการบ้านอุ้มกำลังก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ

กลุ่มคนที่เธอเรียกว่า “คนรักการใช้ชีวิต” คือกลุ่มคนที่เธอเป็นแรงบันดาลใจหรือจูงใจ ให้เขาลุกขึ้นมาทำกับข้าว จัดบ้านหรือเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ใครหลายคนอาจลืมทำ ด้วยวิธีง่ายๆ ของตัวเอง สิริยากรใช้ชื่อเล่นส่วนตัว “อุ้ม” เป็นชื่อในการสร้างแบรนด์ให้กับนิตยสาร และสินค้า merchandize และยอมรับว่าการมีพรีเซ็นเตอร์ที่แข็งแรงทำให้สินค้าเป็นที่จดจำได้ง่ายกว่า

“มันมีอะไรเชื่อมโยงแล้ว มันง่ายแล้ว อุ้มเชื่อในการมีพรีเซ็นเตอร์ด้วยมันจับต้องได้ มันมีอะไรที่รู้สึกเชื่อมโยงกับผู้คน “บ้านอุ้ม” เองก็เป็นรายการทีวีที่ชื่อติดขึ้นมาแล้ว การแยกย่อยอะไรมาจากสิ่งที่คนคุ้นเคยกันอยู่ ซึ่งดีกว่าการที่จะไปเริ่มใหม่”

สินค้าของเธอบ่งบอกไลฟ์สไตล์ของสินค้าในรสนิยมคนเมืองแบบ “Urban Chic” การกินอยู่ที่เรียบเก๋ แบบแฝงรายละเอียด “เราเน้นของที่ใช้งานได้จริงและสวย เป้าหมายหลักใหญ่ก็คือทำให้ของสวยๆ ให้คนได้ใช้ และดีไซน์ไม่แพงจนเกินไป รวมถึงเฉพาะเจาะจงขึ้น ยอมรับว่าไลฟ์สไตล์แบบนี้มันเทมาในเมืองค่อนข้างมาก และกำลังซื้อส่วนใหญ่มันก็อยู่ในเมือง”

เมื่อรายละเอียดที่อยู่ในผู้บริโภคปัจจุบัน มีความซับซ้อน มีความต้องการในแง่มุมใหม่ที่ตลาดเมืองไทยยังไม่มีให้ในตอนนี้ เธอเล่าว่าตอนนี้ความต้องการพื้นฐานได้รับการตอบสนองหมดแล้ว ต่อไปนี้มันจะเป็นเรื่องของรายละเอียด “คุณไม่ได้มีแค่แก้วไว้ดื่มกาแฟ แต่คุณจะดื่มอย่างไรให้มันสุนทรีย์”

ประเด็น “รักการใช้ชีวิต” เป็นสิ่งที่เธอและทีมงานเลือกออกมาและตีแผ่ให้เป็นรูปธรรม ผ่านตัวสินค้า 100 กว่ายูนิต ครอบคลุมตั้งแต่ใช้ในครัว เสื้อยืดผ้าฟอกลวดลายไม่ซ้ำใคร ของตกแต่งบ้านสไตล์ Modern Chic อุปกรณ์การดื่มกาแฟ Home office ของใช้ในที่ทำงาน รวมไปถึงนิตยสารออกใหม่รายสองเดือนที่เธอวางตัวเป็นบรรณาธิการเอง

“แมกกาซีน OOM Living เป็นส่วนหนึ่งของช่องทางการจัดจำหน่าย เพราะในนั้นจะมี Catalogue Mail Order ของผลิตภัณฑ์ของเราแทรกอยู่ ควบคู่ไปกับเนื้อหาที่น่าสนใจชักชวนให้ซื้ออ่านได้แม้ว่าจะอยู่ตามลำพัง คือมันไม่ใช่หนังสือท่องเที่ยว ตกแต่ง หรือทำอาหารโดยเฉพาะ แต่มันเป็นแมกกาซีนสำหรับคนที่รักการใช้ชีวิตซึ่งมีเรื่องเหล่านี้หมดเลย เพราะว่าเราเชื่อในสิ่งนี้มาก”

จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นอกจากชื่อ OOM Living ที่พ้องกับชื่อนิตยสารของ มาร์ธา สจ๊วร์ด นักใช้ชีวิตชื่อดังชาวอเมริกาที่ชื่อว่า “Martha Stewart Living” โมเดลของการทำธุรกิจของเธอ คล้ายกัน ผู้หญิงที่ได้ชื่อมีอิทธิพลต่อชาวอเมริกัน เจ้าของอาณาจักร Matha Stewart Living OmniMedia ครอบคุลมตั้งแต่รายการทีวี วิทยุ สินค้าเครื่องครัว จนถึงเว็นไซท์

“ชีวิตคนเรามันมีรูปแบบคล้ายกันได้ ไม่ว่าการใช้ชีวิตหรือการทำธุรกิจ จริงๆ เรามีชีวิตที่ว่ากันไปอยู่แล้ว ก็คือเข้าใกล้ความเป็นอเมริกันไปมากขึ้น อย่างธุรกิจพวกขายของใช้หรือ Lifestyle Shop ก็เป็นธุรกิจในญี่ปุ่นที่เกิดมาเป็นสิบปีแล้ว อาจมาปรับใช้บางอย่างได้ แต่ในบ้านเรามันเพิ่งเริ่ม” อุ้มบอก

แต่ตัวสินค้านั้นจะผูกพันกับตัวเธอโดยตรง ? เราถาม

“ใช่ แต่นึกว่าถ้าลองแยกเค้า (ตัวสินค้า) ออกจากตัวมาร์ธา สจ๊วร์ด เมื่อของเขาสวย หนังสือเขาอ่านสนุก ถึงตัวเขาจะมีปัญหา แต่สินค้าน่าจะอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง เพราะถ้าของของเราอยู่ในที่ที่คนจะไปซื้อสินค้าเหล่านั้น อุ้มก็เชื่อว่าตัวมันเองก็โดดเด่นพอที่จะทำให้คนซื้อ ที่จริงของๆ เรามันมีความเป็นแฟชั่นอยู่นิดๆ ซึ่งตอนนี้อุ้มเลยต้องมองไปเฟสหน้าหรือซัมเมอร์หน้าเตรียมไว้ก่อนอยู่แล้ว”

“การตัดสินใจซื้อของไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาซื้อเพราะตัวอุ้มนะ ชื่อแบรนด์มีไว้ก็เพื่อให้คนแค่รู้จักว่ามันคืออะไร มันอยู่ที่ของว่าเขาจะชอบหรือเปล่า อุ้มไม่ได้เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง อุ้มทำอะไรขึ้นมาก็ต้องร่วมกันคิดกับคนอื่น อย่างทีวีอุ้มก็ไม่ได้ทำดูคนเดียว เพราะคิดถึงคนดูเป็นตัวตั้ง คิดว่าของตัวนี้คนใช้เขาจะรู้สึกยังไง มากกว่าที่ว่าอุ้มชอบอะไร และสิ่งเหล่านี้มีลายละเอียดที่ต้องศึกษาเยอะมากๆ”

ปัจจุบันรายการบ้านอุ้มทีวียังถือเป็นธุรกิจหลักที่หล่อเลี้ยงธุรกิจอื่นๆ อยู่ แต่เธอเชื่อว่าเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งทุกอย่างจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง เพียงแต่ตอนนี้จำเป็นที่จะต้องมีจุดแข็งเพื่อเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ตอนนี้ “Positioning” ของอุ้มได้ถูกนำไปเทียบเคียงกับแบรนด์ Noble ที่เล่าเรื่องราวของบ้านสวยๆ แต่ต้องมีชีวิตที่เรียบง่ายและทันสมัยไปพร้อมกัน เป็นหนึ่งในสินค้าที่เลือกใช้รายการของเธอนำเสนอความคิดนี้

การได้ “โนเบิล” มาเป็นสปอนเซอร์หลักใน “รายการบ้านอุ้ม” นอกจากจะทำให้มีรายได้โฆษณาที่แน่นอน และต่อเนื่อง คอนเซ็ปต์ของสินค้าทั้งสองที่เข้ากันได้ดี เน้นไปไลฟ์สไตล์ความเป็นอยู่คนรุ่นใหม่ เป็น “เนื้อหา” ที่ถูกสร้างขึ้น และใช้ประโยชน์ร่วมกัน

จุดยืนของสิริยากรได้ผสมผสานเอาไลฟ์สไตล์ของตัวเองให้กลายเป็นของทำเงิน โดยบวกเอาทั้งทางการเผยแพร่ทั้งความคิดและสินค้า ผ่านรายการและสื่อส่วนตัวของเธอ บวกกับจัดอีเวนต์สร้างชุมชนที่อยากให้เกิดการพบปะขึ้นทุกปี คงเป็นวิธีการที่เราเคยจะมองเห็นผ่านตากันมาในต่างประเทศ…หรือว่าต่อไปเราอาจจะมี “DIVA of Lifestyle Living เมืองไทย” เกิดขึ้นสักคนก็เป็นได้

Positioning

Name : Baanoom Living Day

Lifestyle Concerning Group : คนเมืองรุ่นใหม่ 18-40 ปี มีรายได้แล้ว มีความสนใจเรื่องราวต่างๆ รอบตัว ชอบแสวงหาความรู้ใหม่ ห่วงใยและความเป็นอยู่ที่ดี อยากใช้เวลาว่างไปกับกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และผ่อนคลาย เปิดรับสิ่งใหม่ๆ และพร้อมจะเรียนรู้
Product : 100 กว่ายูนิต แบ่งเป็น Kitchenalia(60%) – ของใช้ในครัวที่มีสีสันและดีไซน์สวยงามใช้งานได้จริง เช่น หม้อเคลือบ จานชาม สบู่กำจัดกลิ่นมือ ผ้ากันเปื้อน ไม้พาย Away (15%) – เสื้อยืดผ้าฟอกลวดลายไม่ซ้ำใคร รองเท้าแบบยิ่งลุยยิ่งเก๋า กระเป๋าถือ Deco (5%) – ของตกแต่งบ้านสไตล์ Modern Chic แบบ Rustic Look หรือ Caf? – อุปกรณ์การดื่มกาแฟ Home office (20%) – ของใช้ในที่ทำงาน

Place : เซ็นทรัลชิดลม, ลาดพร้าว, ปิ่นเกล้า, บางนา และร้าน Propaganda โดยมีแผนจะเปิดช้อปของตัวเอง

Price : 50-800 บาท

Website :
www.baanoom.tv
www.baanoomlivingday.com

Martha Stewart : Multi-Media Lifestyle Entrepreneur

เธอคนนี้เป็นที่รู้จักกันดีในเดือนมีนาคมที่ผ่านมากับเหตุการณ์ความผิดในเชิงธุรกิจการฉ้อโกงในกรณีหุ้น ก่อนหน้าที่เราจะรู้จักเธอกันในปัจจุบัน มาร์ธามีชื่อเดิมว่า “Martha Kostyra”

Positioning และ Image ของเธอที่มีมาก่อนหน้านั้น ในฐานะตัวแทนอุดมคติแม่บ้านของสังคมชนชั้นกลางปัจจุบัน ที่มีชีวิตแบบหรูหราแบบอเมริกัน (The American Dream) ภาพที่ปรากฏในหน้าหนังสือต่างๆ บ่งบอกการใช้ชีวิตที่มีรสนิยมและเป็นเอกลักษณ์ ที่จริงแล้วมาร์ธาเมื่อยังเด็กก็เติบโตในแถบเมืองอุตสาหกรรมของนิวเจอร์ซีย์ ก่อนที่จะย้ายไปเรียนต่อที่นิวยอร์กด้านเคมี เนื่องจากได้รับทุนการศึกษา

เธอใช้รูปลักษณ์ของเธอทำงานเป็นนางแบบเพื่อมาจุนเจือค่าใช้จ่ายที่ไม่ค่อยจะเพียงพอ ก่อนที่จะเบนเข็มย้ายมาเรียนด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ยุโรป และประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ณ ที่นี้เอง นามสกุล “สจ๊วร์ด” ก็ได้มาจากที่เธอแต่งงานกับนักเรียนกฎหมายที่ชื่อ “Andrew Stewart” ตอนเรียนอยู่ปีสอง

หลังจากจบการศึกษา เธอก็เริ่มกับโด่งดังในอาชีพนางแบบ ก่อนที่จะรีไทน์ตัวเองจากงานเดินแบบหลังมีลูกสาวในปี 1965 จากนั้นปี 1967 เธอก็เริ่มรุ่งเรืองจากธุรกิจนายหน้าค้าหุ้นจากฝั่งของสามี ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ตลาดร่วงในปี 1973 เธอจึงย้ายกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่เวสพอร์ท คอนเนคติคัต กับบ้านแบบชนบทที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1805 ที่บ้านหลังนี้เองเธอได้นำมาปรับปรุงใหม่ให้ดูหรูหราแต่เรียบง่ายไปพร้อมกัน ตอนหลังก็ได้ใช้สถานที่นี้ทำรายการโทรทัศน์ของเธอ ทั้งแต่งบ้าน ทำอาหารและจัดสวน และเป็นสถานที่ที่เธออาศัยอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

หลังความล้มเหลวในช่วงนี้ มาร์ธาจึงได้หันมาเริ่มต้นทำธุรกิจจัดเลี้ยง (catering) ที่วนเวียนในวงการเป็นสิบปี ก่อนที่จะประสบความสำเร็จอย่างสูง ขณะเดียวกันเธอก็มีบทความส่งให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ และเป็นบรรณาธิการและคอลัมนิสต์ในกับแมกกาซีนที่ชื่อ “House Beautiful” เป็นครั้งแรกที่ชื่อของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักในด้านนี้ ก่อนที่ปี 1982 เธอจะเริ่มตีพิมพ์หนังสือแนะนำการใช้ชีวิต (illustrated books) ซึ่งยังไม่มีใครทำเป็นเรื่องเป็นราวในขณะนั้น

ผลปรากฎว่าความสำเร็จครั้งนั้น ทำให้เธอกลายเป็นดาวรุ่งของธุรกิจ “one-woman industry” เธอขยายไลน์สิ่งของครอบคลุมทุกอย่างไม่ว่า วิดีโอ ซีดีประกอบอาหารค่ำ หรือประเภทของหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร จัดงานแต่งงาน ตกแต่งวันคริสต์มาส ทำสวน หรือซ่อมบ้าน ในที่สุดแมกกาซีนชื่อดังที่ชื่อ “Martha Stewart Living” จึงได้ตามออกมา เพื่อแนะนำการใช้ชีวิตแบบของเธอเอง ที่มียอดพิมพ์สูงถึง 1.3 ล้านต่อเดือน ไม่เว้นแม้แต่ร้านโมเดิร์นเทรด “Kmart” ก็ยังจ้างเธอเป็นที่ปรึกษาและโฆษณาด้วยเงินกว่า 200 ล้านบาทต่อปี

หลังจากที่เริ่มโด่งดังขึ้น ปี 1993 รายการโทรทัศน์ครึ่งชั่วโมงของเธอเองที่มีชื่อเดียวกับแมกกาซีน ก็ได้ตั้งขึ้นพร้อมกับกลุ่มบริษัทเพื่อรวบรวมกิจกรรมอันหลากหลายที่ทำมาหากินกับแม่บ้านอเมริกัน ในชื่อ “Martha Stewart Living Omnimedia, Inc. (MSO)” มีทั้งสำนักพิมพ์ รายการโทรทัศน์ การขายตรงและอีบิสเนส โดยผลิตสินค้า ในแปดรายการได้แก่ บ้าน ทำกับข้าว เอนเตอร์เทน ทำสวน งานฝีมือ เวลาพักผ่อน ของทำความสะอาดบ้าน งานแต่งงาน และอุปกรณ์สำหรับเด็ก

ณ จุดหนึ่ง ถือว่าเธอได้สร้างนิยามใหม่ ที่ทำให้ทั้งอุตสาหกรรมครัวเรือนของอเมริกาโตได้ เพราะผู้หญิงคนนี้คนเดียว จากคำว่า “Positioning” จนกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอเมริกันตามอย่าง ไม่ว่าการกิน การหาความบันเทิง หรือการใช้ชีวิตทั้งบ้านหรือสวน อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้ในประวัติศาสตร์

Profile

Name: สิริยากร พุกกะเวส (อุ้ม)
Born: 13 มิถุนายน 2517
Family: สุมิตร – จรรยา พุกกะเวส มีพี่น้อง 2 คน เป็นคนสุดท้อง มีพี่สาวชื่อ ดวงใจ พุกกะเวส (อุ๋ย)
Education :
อนุบาล : โรงเรียนอนุบาลสุวิชชา
ประถม : โรงเรียนศรีวิทยา
มัธยมศึกษา : โรงเรียนสายน้ำผึ้ง สอบเทียบได้ตอน ม.5
อุดมศึกษา : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ เอกด้านโฆษณาเกียรตินิยม อันดับ 2

Siriyakorn’s Value Chain

2537 เริ่มต้นงานในวงการบันเทิงจากภาพยนตร์โฆษณา แชมพู รีจอยส์
2538 ละครโทรทัศน์เรื่องแรกที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักจากเรื่อง “สามใบไม่เถา”
2541 ธุรกิจร้านอาหาร “Take / A / Seat” สุขุมวิท 19 จนถึงปี 2544
2544 รายการ บ้านอุ้มใน Nation Channel เป็นจุดเริ่มต้นแบรนด์ “บ้านอุ้ม”
2545 เริ่มสร้างพื้นที่เข้าสู่วงการวรรณกรรม โดยมีคอลัมน์ “แหงนหน้าเล่า” ในนิตยสารแพรว กับงานแปลเรื่องแรก “หญิงสาวกับต่างหูมุก” ของสำนักพิมพ์อิมเมจ จนมีงานเขียนและงานแปลตามออกมาอีกหลายเล่ม
2546 ย้ายรายการมาลงที่ ITV วันเสาร์ 9 โมงเช้า ครึ่งชั่วโมง เปิดเซกชั่นด้านทำอาหาร และเริ่มมีงานเขียนเป็นคอลัมนิสต์ด้านทำกับข้าวใน นิตยสาร Health & Cuisine
2546 ออกหนังสือ พ็อกเกตบุ๊ก ชื่อ “บ้านอุ้ม vol.1 ฉบับขึ้นบ้านใหม่” ที่มีเนื้อหานำมาจากรายการ
2547 ออกไลน์โปรดักซ์ทำ merchandize ในแบรนด์ “บ้านอุ้ม Living Day” และ แมกกาซีน “OOM Living”

Website

http://www.marthastewart.com/