ปีที่กำลังผ่านไปนี้เป็นปีรุ่งเรืองปีแรกของดิจิตอล มิวสิก หรือการฟังเพลงที่ผ่านการแปลงด้วยซอฟต์แวร์ให้เป็นไฟล์คอมพิวเตอร์ เพราะการบูมผลิตออกมาหลายรุ่นของเครื่องเล่น ไอป็อด, ครีเอทีฟ และริโอ รวมถึงยี่ห้ออื่นๆ และเครื่องเล่นเพลงจิ๋วหรือพวก Flash Player และ Thumb Drive จากประเทศจีน
ทางซอฟต์แวร์เพลงก็มีการเปิดตัวตลอดระยะตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้วถึงตลอดปีนี้ของเว็บไซต์ขายเพลงออนไลน์ถูกกฎหมายรายใหญ่ๆ อาทิ itunes.com สุดท้ายคือ การกลับมาสู่ธุรกิจของ Napster ผู้บุกเบิกการแชร์ไฟล์ดนตรีคอมพิวเตอร์ฟรีและผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ในอดีต
ดิจิตอล มิวสิก ไม่มีองค์กรเพื่อควบคุมมาตรฐาน ฉะนั้นไฟล์เพลงดิจิตอลจึงเป็นไฟล์ที่หลากหลายและสร้างความสับสนให้มือใหม่หัดฟังได้ โค้ด 101 หมายถึงเทอมหนึ่ง วิชาที่หนึ่ง ในส่วนของดิจิตอล มิวสิก หรือข้อมูลพื้นฐานด้านภาษาเพลงที่ควรรู้สำหรับผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีเพื่อความสุขของชีวิตแบบติดตัวนี้
ดิจิตอล มิวสิก มาพร้อมภาษายุบยับเป็นนามสกุลเพลงที่แตกต่างกันไป
หนึ่ง – MP3 เป็นคำที่เกิดก่อนและเคยนิยมแพร่หลายที่สุดในเพลงดิจิตอล เอ็มพีทรีคือเพลงคอมพิวเตอร์ที่ใช้โปรแกรมแปลงซีดีหรือ ripper ในชื่อเต็มว่า MPEG LAYER 3 จากบริษัทที่ชื่อ Moving Picture Expert Group ที่ทำโปรแกรมเพลงและหนังดิจิตอล โปรแกรมนี้จะย่อไฟล์เพลงจากแผ่นซีดีธรรมดาที่เราซื้อจากร้าน ซึ่งเพลงมีขนาดใหญ่มากให้เหลือขนาดข้อมูลเพียงประมาณเพลงละ 1 เมกกะไบต์
เอ็มพีทรีนิยมใช้ในหมู่ผู้บริโภคที่ทำการแปลงเพลงเอง อัดเข้าไว้ในคอมพิวเตอร์ หรืออัดเป็นแผ่นเล่นในเครื่องดีวีดี และส่งต่อทางออนไลน์ รวมถึงในอดีตเคยเป็นไฟล์ที่ใช้แลกเปลี่ยนผ่านเว็บไซต์ ซึ่งสมาชิกแชร์เพลงฟรีกันระหว่างผู้บริโภคโดยตรง (Pier to Pier)
ปัจจุบันซึ่งเว็บไซต์เหล่านั้นถูกปิดหมดแล้ว และเพลงดิจิตอลฟรีมีเหลือแค่เพลงโปรโมตจากค่ายเพลงเท่านั้น เพลงดิจิตอลที่ขายออนไลน์จะมีการพ่วง DRM (digital rights management) หรือเทคโนโลยีคุมลิขสิทธิ์ซึ่งทำให้เพลงหนึ่งไม่สามารถก๊อบปี้ซ้ำเกินที่กำหนดมา ค่ายขายเพลงดาวน์โหลดส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีนี้ เพื่อไม่ให้มีการส่งผ่านไฟล์แพร่หลายโดยเจ้าของลิขสิทธิ์เสียประโยชน์ อย่างที่เคยทำกันมาตลอดสี่ปีก่อนหน้านี้
สอง – AAC (Advanced Audio Coding) หรือ MPEG-4 คือไฟล์เพลงอีกประเภท ที่มีระบบเสียงดีขึ้น เพราะอัดข้อมูลเพลงให้วิ่งในอัตรา 96 กิโลบิตต่อวินาที ขณะที่ไฟล์ MP-3 อัดที่ 128 กิโลบิตต่อวินาที
AAC เป็นไฟล์แบบที่แอปเปิลจำหน่ายผ่านร้านไอจูนส์ (iTunes) โดยมีการผนวกเทคโนโลยี DRM เข้าไปในไฟล์ด้วย แอปเปิลเรียกโปรแกรม DRM ว่า FairPlay มีการกำหนดว่าเพลงที่ซื้อเพลงละ 99 เซ็นต์ และอัลบั้มละ 9.95 ดอลลาร์ สามารถเล่นได้บนคอมพิวเตอร์ห้าเครื่อง ที่มี iTunes software และสามารถบันทึกหรือ burned ลงบนซีดีได้เจ็ดครั้ง แต่ถ้าจะเปิดบนเครื่องเล่นเพลงแบบมือถือ ไฟล์แบบ AAC ที่ซื้อมาจากเว็บของแอปเปิลนี้เล่นได้แต่บนเครื่องไอป๊อดเท่านั้น
สาม- กลางปีนี้ RealNetworks ซึ่งเป็นผู้ผลิตโปรแกรมเล่นเพลงบนคอมพิวเตอร์ชื่อเรียล เพลเยอร์ ขอขายเพลงโดยใช้เทคโนโลยี AAC นี้ด้วย แต่พ่วงโปรแกรม Helix DRM software และเรียกว่า Rax
Rax ให้เล่นเพลงที่ซื้อผ่านเรียลได้เฉพาะบนเครื่องเล่นเพลงมือถือยี่ห้อ Creative Nomad รุ่น Jukebox Zen Xtra หรือเล่นบนเครื่องพีดีเอยี่ห้อ PalmOne สี่รุ่น แต่ถ้าใครมีไอป๊อดและใช้ Harmony software ของเรียลก็จะสามารถนำเพลง AAC ของเรียลไปเล่นบนเครื่องไอป๊อดได้
การกระทำนี้เป็นความจงใจของผู้ผลิตเรียลที่อยากแก้มือแอปเปิล ไอป๊อดซึ่งมีพฤติกรรมผูกขาด 70% ในธุรกิจ เพลงดิจิตอลตอนนี้ และแอปเปิลกำลังหาหนทางแก้ไขอยู่ โดยกล่าวหาว่าเรียลใช้วิธีการของ hacker หรือพวกบุกรุกเครื่องและโจรกรรมข้อมูล
สี่ – WMA (Windows Media Audio) เป็นไฟล์เพลงที่ใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ซึ่งมีโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงที่ชื่อ วินโดว์ส มีเดีย เพลเยอร์ ที่มากับพีซีที่ใช้วินโดว์สทุกเครื่อง
เทคโนโลยีซอฟต์แวร์เพลงแบบนี้ ล่าสุดใช้ในเพลงที่ขายโดย Napster ซึ่งตอนนี้คืนสู่ระบบด้วยการแปลงสภาพเป็นเว็บไซต์ขายไฟล์เพลง และมีการพ่วงโปรแกรมดูแลลิขสิทธิ์หรือ DRM ของไมโครซอฟท์ด้วย หลังต้องหยุดดำเนินการอยู่นาน เพราะถูกห้าค่ายใหญ่ฟ้องร้องและต้องปิดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2000 กรณีเป็นตัวกลางให้มีการดาวน์โหลดฟรีระหว่างสมาชิก 50 ล้านคน ทั่วโลก
กฎจำกัดการอัดเพลงของเนปสเตอร์ตอนนี้คือ เพลงที่ซื้อแต่ละเพลงให้เล่นได้บนพีซีสามเครื่อง แต่ถ่ายข้อมูลได้ในเครื่องเล่นเพลงมือถือทุกรุ่นที่เล่นไฟล์ WMA ไม่จำกัด
เพลงถูกกฎหมายจำหน่ายในราคาประมาณเพลงละหนึ่งเหรียญเท่ากับผู้ขายออนไลน์รายอื่นๆ และเน็บสเตอร์มีระบบอีกแบบที่คิดค่ารายเดือนประมาณ 9.95 ดอลลาร์ ให้ดาวน์โหลดเพลงได้ไม่จำกัด ลงในฮาร์ดดิสก์เครื่องพีซีของสมาชิก แต่เคลื่อนย้ายไปเครื่องอื่นไม่ได้ และถ้าหมดอายุสมาชิกก็ไม่สามารถเปิดเพลงได้อีก ซึ่งเป็นระบบแบบเดียวกับที่ ใช้ในเว็บไซต์ Music Match ที่ขายให้สมาชิกอินเทอร์เน็ตของ American Online
มิวสิก แมช และผู้ค้าเพลงออนไลน์รายอื่นๆ ส่วนใหญ่ขายไฟล์แบบ WMA ด้วย และไมโครซอฟท์ก็เปิดเว็บขายเพลงฟอร์แมตนี้ จึงเป็นไปได้ที่ว่าฟอร์แมตนี้จะเป็นที่นิยมมากกว่า MP3 และ AAC ในอนาคต เพราะผู้ผลิตเครื่องยี่ห้ออื่น เช่น พานาโซนิคก็ประกาศสนับสนุนฟอร์แมตนี้
ห้า – Ogg Vorbis (OGG) เป็นไฟล์เพลงดิจิตอลจากโปรแกรมแปลงเพลงของบริษัท xiph ชื่อ Vorbis ซึ่งเป็นโปรแกรมประเภท open-source codec หรือเปิดให้ใช้ได้ฟรี ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ใดๆ
หก – ASF (Advance System Format) เพลงดิจิตอลจากโปรแกรมแปลงไฟล์ชื่อ ASF Specification ที่สามารถแปลงไฟล์เสียงหรือภาพก็ได้ และเมื่อแปลงแล้วสามารถนำมาเล่นกับโปรแกรมวินโดว์ส มีเดีย เพลเยอร์
เจ็ด – WAV เป็นรูปแบบการเก็บไฟล์เสียงประเภทเก่าที่พัฒนาขึ้นโดยไมโครซอฟท์ ร่วมกับไอบีเอ็ม ในยุคที่ยังใช้วินโดว์ส 95 อยู่ ปัจจุบันไฟล์นี้ยังใช้เล่นได้ในวินโดว์สมีเดีย เพลเยอร์รุ่นใหม่
แปด – ATRAC และ ATRAC-3 เป็นระบบไฟล์เสียงที่โซนี่เริ่มใช้ในปี 2000 สำหรับเครื่องเล่นมินิดิสก์ โดยทำให้อัดเสียงได้นานถึง 160- 320 นาทีต่อแผ่น และโซนี่เรียกระบบนี้ว่า มินิดิสก์ ลอง เพลย์ ต่อมาทำการพัฒนาเป็น ATRAC-3 ที่อัดข้อมูลครึ่งหนึ่งและบันทึกลงแผ่นการ์ดเมมโมรี่ สติ๊ก บนเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลของโซนี่ได้ ไฟล์เพลงของโซนี่นี้สามารถเล่นด้วยโปรแกรมเรียลเพลเยอร์บนเครื่องพีซี
เก้า – AIFF (Audio Interchange File Format) เป็นรูปแบบการเก็บไฟล์เสียงขนาดเล็กหรือเสียงตัวอย่างที่พัฒนาโดยแอปเปิล และเป็นระบบเสียงที่ใช้ในเครื่องแมคอินทอช โดยนามสกุลไฟล์เป็น .AIF หรือ .IEF ระบบนี้ไม่สามารถ “ย่อข้อมูล” ได้ จึงจัดเก็บได้เฉพาะไฟล์เล็กๆ หรือไม่เต็มเพลง แต่ต่อมามีการออก AIFF-Compressed (AIFF-C หรือ AIFC) ย่อข้อมูลไดในสัดส่วน 6 :1
สิบ – ADPCM (Adaptive Differential Pulse Code Modulation) ระบบเสียงคอมพิวเตอร์ความถี่ต่ำที่ 32 กิโลบิตต่อวินาที ส่วนใหญ่ใช้อัดเสียงพูด
สิบเอ็ด – AA (Audible Audio) โดยเว็บไซต์ชื่อ Audioble เป็นไฟล์เสียงอ่านจากหนังสือ นิตยสาร และรายการวิทยุ เล่นบนพีซี เครื่องแมคอินทอช และเครื่องไอป๊อด และพีดีเอ ที่มี AudibleReady? player
สิบเอ็ดแบบเป็นอย่างน้อยที่เป็นตัวย่อในโลกของดิจิตอล มิวสิก ตอนนี้ แต่แบบใหญ่ๆ คือ MP 3 ที่แปลงไฟล์กันเองจากเครื่องที่บ้านสามารถเล่นได้กับเครื่องทุกยี่ห้อ และ AAC ของแอปเปิล ไอป๊อด ที่แยกกับแบบ WMA ของผู้เล่นรายอื่นแน่ชัด เหมือนที่ไฟล์จากเครื่องแมคอินทอชจะมีปัญหาในการเข้ากับเครื่องพีซีเสมอ
จุดนี้เป็นตัวตัดสินใจที่สำคัญกว่า ถึงแม้ไอป๊อดจะเป็นเครื่องออกแบบเก๋ แต่ก็มีข้อจำกัดด้านแหล่งเลือกซื้อเพลงและการแลกเปลี่ยนเพลงหรือถ่ายเพลงใส่เครื่องยี่ห้ออื่นก็ทำไม่ได้
ความจุของเครื่องก็สำคัญในการเลือกซื้อ ซีเอ็นเอ็นเคยวิเคราะห์ว่า ตอนนี้คุณสามารถพกเพลงหนึ่งหมื่นเพลงติดตัวเบาๆ โดยถือน้ำหนักเพียง 1,400 กรัม หรือห้าออนซ์ จากในอดีตถ้าต้องถือแผ่นซีดีเพลงจำนวนเท่านี้ไปก็จะต้องพกพาน้ำหนัก 680 กิโลกรัม หรือ 1,500 ปอนด์ เรียกว่าต้องบรรทุกรถกระบะกันเลย
โลกเพลงดิจิตอลจึงเป็นโลกที่มนุษย์มีกิจกรรมกล่อมอารมณ์ง่ายขึ้นมาก และหากพัฒนาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เป็นไปได้ว่าอีกสักห้าเจนเนอเรชั่นหน้า คำว่า “เหงา” อาจเป็นโรคแปลก แทนอาการธรรมดาก็ได้
CNET Editor’s choices
เครื่องเล่นความจุสูง
เครื่องหนาใช้ฮาร์ดดิสก์เปลี่ยนความจุได้ มีความจุสูงสุดถึง 60 จิ๊กกะไบต์ หรือจุเพลงได้ 17,000 เพลง
Creative Zen Touch (20GB) ราคา 210-265 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ WMA, MP3, WAV
JetAudio iAudio M3 (20GB) ราคา 279-349 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ ASF, MP3, WAV, WMA, Ogg Vorbis
Apple iPod (20GB) ราคา 295 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ Real 10, AAC, AIFF, MP3, WAV
iRiver iHP-120 (20GB) ราคา 399 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ ASF, MP3, WAV, WMA, Ogg Vorbis
Rio Nitrus (1.5GB) ราคา 128-199 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ MP3, WMA
Dell Digital Jukebox DJ (15GB) ขาดตลาด เพลงที่เล่นได้ MP3, WAV, WMA
เครื่องเล่นความจุปานกลาง
เครื่องแบบบางลง และมีความจุถึง 5 จิ๊กกะไบต์
Apple iPod Mini (4GB) ราคา 233-255 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ Real 10, WAV, MP3
Rio Nitrus (1.5GB) ราคา 128-199 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ MP3, WMA
Rio Carbon (5GB) ราคา 171-219 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ MP3, WAV, WMA
Creative Nomad MuVo2 (4GB) ราคา 179-229 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ MP3, WAV, WMA
เครื่องเล่นความจุต่ำ
เครื่องแบบนี้จะบางและเล็ก มีเมมโมรี่แบบฝังในตัว หรือเรียกว่า Flash-based player ความจุประมาณ 32MB to 1GB ถอดเปลี่ยนไม่ได้ แต่ลดปัญหาสะดุดของเครื่องแบบที่ใช้ฮาร์ดดิสก์
iRiver iFP-390T (512MB) เพลงที่เล่นได้ ASF, MP3, WMA
Creative Muvo Slim (256MB) ราคา 120 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ MP3, WMA, ADPCM
iRiver iFP-790 ราคา 127-169 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ ASF, MP3, WMA
Jens of Sweden MP-300 (256MB) เพลงที่เล่นได้ MP3, WMA
JetAudio iAudio 4 (512MB) ราคา 179-199 ดอลลาร์ เพลงที่เล่นได้ASF, MP3, WAV, WMA
Rio Cali (256MB) ราคา 145-208 เพลงที่เล่นได้ MP3, WMA
Digital Music Services * ส่วนใหญ่ผู้ซื้อต้องมีที่อยู่ในอเมริกาเหนือ
เว็บไซต์ : Napster
รูปแบบไฟล์เพลง : WMA
เว็บไซต์ : RealRhapsody
รูปแบบไฟล์เพลง : WMA
เว็บไซต์ : Musicmatch
รูปแบบไฟล์เพลง : WMA
เว็บไซต์ : eMusic
รูปแบบไฟล์เพลง : MP3
เว็บไซต์ : Audible
รูปแบบไฟล์เพลง : AA
เว็บไซต์ : MusicRebellion
รูปแบบไฟล์เพลง : WMA
เว็บไซต์ : Sony Connect
รูปแบบไฟล์เพลง : ATRAC3
เว็บไซต์ : Bleep
รูปแบบไฟล์เพลง : MP3
เว็บไซต์ : MSN Music
รูปแบบไฟล์เพลง : WMA
เว็บไซต์ : Wal-Mart
รูปแบบไฟล์เพลง : WMA
เว็บไซต์ : iTunes
รูปแบบไฟล์เพลง : AAC
เว็บไซต์ : Streamwaves
รูปแบบไฟล์เพลง : WMA
เว็บไซต์ : Audio Lunchbox
รูปแบบไฟล์เพลง : MP3, OGG
เว็บไซต์ : Live Downloads
รูปแบบไฟล์เพลง : MP3, FLAC
เว็บไซต์ : BuyMusic
รูปแบบไฟล์เพลง : WMA
เว็บไซต์ : RealPlayer
รูปแบบไฟล์เพลง : RAX