นักร้องใหม่จากต่างดาว

“ใครโทรมาครั๊บ โทรมาทำไมครั๊บ ไม่อยากคุยครั๊บ …อกหักครั๊บ” เพลงแดนซ์คุ้นหูที่ร้องด้วยเสียงคล้ายมนุษย์ต่างดาวเพลงนี้ เป็นของศิลปินหนุ่มน้อยนาม DDZ ที่ย่อจาก Dookadinz (ดูก้าดิ๊งซ์) เจ้าของทรงผมเด๊ดล็อก แต่งตัวฮิพฮอพ ตัวสีน้ำเงิน ชอบกินพิซซ่า และมาจากต่างดาว !?!

ตัวประหลาดจากการวิจัย

“ที่มาเริ่มต้นเลยของ DDZ ก็คืออาร์เอสเราทำวิจัยว่าศิลปินในฝันที่แฟนๆ ต้องการนี่ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ผลที่ออกมาก็เช่นว่าต้องบุคลิกไม่เปลี่ยน ไม่แก่ลง ไม่มีข่าวลบ ไม่คบแฟน มีเวลาให้แฟนเพลงมากๆ โชว์ตัวเยอะๆ ซึ่งทั้งหมดนี่เป็นไปไม่ได้เลยในชีวิตจริงของคนคนหนึ่ง” ประสงค์ รุ่งสมัยทอง รองกรรมการผู้จัดการของอาร์เอสเล่าย้อนถึงกำเนิดของดีดีซี “ศิลปินแอนิเมชั่น” รายแรกของอาร์เอส

ทางออกที่ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ คิดขึ้นคือสร้างตัวการ์ตูนที่มีบุคลิกโดดเด่นชัดเจนตามความต้องการของแฟนๆ ออกมา ซึ่งประสงค์สรุปให้ฟังว่า “กลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือวัยรุ่นขึ้นไปถึงนักศึกษา สำรวจแล้วตอนนี้แนวฮิพฮอพมาแรงที่สุด นอกจากแนวเพลงแล้วยังเป็นเรื่องแฟชั่น การแต่งตัว ทรงผม บุคลิกที่มั่นใจในตัวเองสูง”

ส่วนเหตุผลที่เป็นมนุษย์ต่างดาวนั้น ประสงค์อธิบายว่าในการสร้างแอนิเมชั่นนั้น ถ้าเป็นคนจะไม่น่าสนใจและแพ้คนจริงๆ ฉะนั้นหากเป็นสัตว์หรือมนุษย์ต่างดาวไปเลยจะน่าสนใจกว่ามาก

ในเมื่อตัวศิลปินและการนำเสนอมีความใหม่อยู่มาก ตัวเพลงจึงต้องง่ายลงมา ซึ่งประสงค์แจงว่า “ถ้าศิลปินเราเป็นคน เข้าใจง่าย เพลงอาจจะเป็นแนวใหม่ๆ แรงๆ ฮิพฮอพแรงๆ ได้ แต่กับของใหม่อย่างดีดีซี เราเลือกใช้ฮิพฮอพที่เบาลงมา ออกไปในทางแดนซ์ที่ฟังไม่ยาก ติดหูง่าย”

โปรโมตใหม่แบบไซเบอร์

“เพราะดีดีซีเกิดบนโลกดิจิตอล กลุ่มเป้าหมายก็เป็นวัยรุ่นแนวทันสมัย เราก็เลยตัดสินใจกันว่าจะโปรโมตเน้นโลกไซเบอร์” ประสงค์เล่าถึงการโปรโมตศิลปินดิจิตอลคนนี้ที่แตกต่างจากที่อาร์เอสเคยทำมาทั้งหมด

“เราทำ Viral Marketing หรือการตลาดผ่านอีเมลส่งต่อ ฟอร์เวิร์ดเมล เริ่มจากให้พนักงานกันเองนี่ล่ะ ส่งเมลแนะนำให้คนเข้ามาเล่นเกมบนเว็บเรา เป็นเกมเล่นง่ายๆ เพลินๆ สร้างจากโปรแกรม Flash และในเมลก็ขอให้คนที่ได้รับเมลนี้ไป ส่งต่อบอกเพื่อนๆ ด้วย ซึ่งถ้าเกมเราสนุกจริง เค้าก็จะส่งต่อๆ กันไปมากขึ้นบานขึ้นเรื่อยๆ เป็นจดหมายลูกโซ่ไป”

ตัวอย่างเกมของดีดีซี คือเกม “DDZ Ole Game” ยิงลูกบอลให้สีเดียวกันต่อกันเป็นแถวแล้วหลุดร่วงลงมา คล้ายๆเกมซูม่าที่โด่งดัง ตลอดการเล่นเกมทุกเกมของดีดีซี เสียงเพลงต่างๆ ไม่ว่า “โทรมาทำไมครับ”, “วะฮ่าฮ่า”, “โอเล บอลโลก” ก็จะดังเป็นแบ็กกราวนด์ของเกมนั้นๆ ไปตลอด

“Viral Marketing หรือการทำตลาดผ่านฟอร์เวิร์ดเมลนี่ประหยัดมาก ไม่ต้องเสียค่าซื้อสื่อเลย” ประสงค์เล่าอย่างภูมิใจ

นอกจากโฆษณาแบบใหม่อย่าง Viral Ad. แล้ว เนื้อเพลง “โทรมาทำไมครั๊บ ไม่อยากคุยครั๊บ …อกหักครั๊บ” ที่โดนใจวัยรุ่นนี้ทำให้เมื่อมิวสิกวิดีโอและเพลงถูกไปเปิดที่สถานีไหนก็โดนใจติดหูได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นเทคนิคการโปรโมตเพลงแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน ซึ่งประสงค์ก็ยอมรับว่าวัยรุ่นยุคนี้ “ไลฟ์สไตล์หลักๆ ชัดๆ ร่วมกันก็คือชอบโทรมือถือ เนื้อหาเพลงที่จะโดนวัยรุ่นได้มากก็ต้องตรงกับไลฟ์สไตล์เขา”

ต้นทุนสร้างศิลปิน

ประสงค์เผยต้นทุนในการออกแบบสร้างตัวคาแร็กเตอร์และมิวสิกวิดีโอของดีดีซีในช่วงเปิดตัวทั้งหมดว่าอยู่ที่ 7 – 8 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าต้นทุนในการสรรหาและฝึกศิลปินที่เป็นคนจริงๆ ของอาร์เอสอยู่เล็กน้อย แต่นานๆ ไป ค่าใช้จ่ายจะต่ำกว่ามากเพราะไม่ต้องมีเงินเดือน ไม่ต้องแบ่งค่าตอบแทนให้ศิลปิน

“ตัวดีดีซีนี่เรายังสามารถจับมาแต่งตัว ปรับลุคไปใช้ทางการตลาดได้เมื่อไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้สินค้าต่างๆ ซึ่งศิลปินตัวคนจะปรับเปลี่ยนได้ไม่มากเท่า” ประสงค์เทียบฟอร์มศิลปินสองรูปแบบ

รายได้เปิดตัวแรง

นับถึงเดือนมิถุนายน ดีดีซีทำรายได้ไปแล้วถึงกว่า 40 ล้าน เปิดตัวได้แรงกว่าศิลปินที่เป็นคน เพราะสามารถบุกทำรายได้ในทุกด้านได้พร้อมกันทั้งขายเพลง โฆษณาสินค้า จะร้อง เต้น โฆษณาขายสินค้าได้หลากหลายกว่าที่คนจริงๆ หนึ่งคนจะทำได้

รายได้ของดีดีซีช่วงแรกนี้มาจากการเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้โทรศัพท์มือถือ I-Mobile ของค่ายสามารถ กับพิซซ่าฮัท และรายได้จากการเป็นริงโทนที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในไทยตั้งแต่ต้นปีมา เทียบทุกค่ายเพลงและทุกค่ายมือถือ

นอกจากขายริงโทนและเสียงรอสายแล้ว อัลบั้มแรกของดีดีซียังมีการขายเต็มเพลงในช่องทางใหม่ที่ประสงค์แจงว่า “เราไม่มีการขายเพลงของดีดีซีเป็นแผ่นซีดี อัลบั้มแรกของดีดีซีมีสองเพลงขายเต็มเพลงไปเป็นเอ็มพีสามติดตั้งในโทรศัพท์มือถือไอโมบายล์ ชื่อรุ่น ดีดีซี โดยเฉพาะเลย และก็ขายทางบริการ Fullsong Download ด้วย”

แต่ประสงค์ก็ยังยอมรับว่าจะเป็นในระยะแรกๆ เท่านั้น ระยะยาวแล้วคนน่าจะทำรายได้ยั่งยืนกว่าเพราะเข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่าและวงกว้างกว่า

เปลี่ยนปรับรับกระแส

เครื่องแต่งกายของดีดีซีนั้นจะมีการปรับเล็กๆ น้อยๆ ตลอด ประสงค์ย้อนให้เห็นภาพว่า “คุณไปดูมิกกี้เม้าส์สมัยก่อนที่เป็นขาวดำ กับตัวปัจจุบันต่างกันเยอะมาก แต่จริงๆ แล้วตัวมันถูกเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยตลอดมาจนคนดูไม่ค่อยรู้สึก นอกจากจะมาเทียบกัน้ขามยุค ตัวดีดีซีเราก็ไม่พ้นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทีละนิดไปเรื่อยๆ เช่นกัน”

ดีดีซีปัจจุบันสะพายมือถือของไอโมบายล์ กินพิซซ่าของพิซซ่าฮัท ล่าสุดช่วงฟุตบอลโลก ดีดีซีก็มาแต่งชุดนักฟุตบอลร้องเพลง “โอเล บอลโลก” รับกระแส โดยดีดีซีถูกวางตัวให้เป็นผู้นำเชียร์ ชวนคนให้หันมาเชีบร์มาดูบอลโลก

“ดีดีซีเขามาจากต่างดาว มาถึงโลกเขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมนุษย์โลกตั้ง 22 คนต้องลงไปวิ่งแย่งกันเตะลูกกลมๆ ลูกเดียว ทำไมไม่เอาไปแบ่งกันคนละลูก แล้วแปลกกว่านั้นทำไมคนดูเยอะจัง ดูกันทั้งโลก” ประสงค์เล่าเนื้อหาของเพลงไปพลางหัวเราะไปอย่างอารมณ์ดีตามสไตล์ส่วนตัวตลอดการพูดคุย

Did You Know ?

Gorillaz และ Crazy Frog ต้นแบบ DDZ

กอริลล่าซ์ เป็นวงดนตรี Virtual Band ที่สมาชิกทุกคนเป็นตัวการ์ตูน ออกแบบและแต่งเพลงทำดนตรีโดย Demon Albarn อดีตนักร้องนำวง Blur วงอัลเทอเนทีฟร็อกอังกฤษที่โด่งดัง เริ่มเปิดตัวในปี 2001 มีเพลงดังๆ หลายเพลงอย่าง “Clint Eastwood”, “19-2000”, “Rock the House” และ “Tomorrow Comes Today”

อ่านรายละเอียดและประวัติเต็มๆ ของ Gorillaz ได้ในวิกิพีเดีย ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Gorillaz

เครซี่ฟร็อก เป็นตัวการ์ตูนกบที่สร้างมาเพื่อร้องเพลงริงโทนโดยเฉพาะ โปรโมตเผยแพร่โดยบริษัทขายเสียงริงโทนในยุโรปที่ชื่อ Jamba หรือ Jamster โดยกำเนิดแรกเริ่มนั้นมาจากชาวสวีเดนชื่อ Erik Wernquist ที่สร้างแอนิเมชั่นกบตัวนี้ขึ้นมาด้วยโปรแกรม LightWave 3D แล้วนำขึ้นโชว์ในเว็บไซต์ส่วนตัว โดยให้ร้องเพลงด้วยเสียงคนที่ผ่านเอฟเฟกต์จนคล้ายเสียงกบ ชื่อเพลง “The Annoying Thing” และก็ค่อยๆ โด่งดังเป็นที่ชื่นชอบของผู้เข้าชมเว็บบอกต่อๆ กันไป จนเมื่อบริษัท Jamba มาพบและเซ็นสัญญา เป็นศิลปินดังและดังต่อมาถึงระดับโลกในที่สุด

อ่านรายละเอียดและประวัติเต็มๆ ของ Crazy Frog ได้ในวิกิพีเดีย ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Crazy_Frog