“มือถือ” คำตอบธุรกิจเพลงออนไลน์ไทย ?

ช่วงนี้คำว่า “ดาวน์โหลดเต็มเพลง”, “full song download”, “MP3 phone”, “musicphone”, หรือ “มือถือติดฮาร์ดดิสก์” เริ่มผ่านหูผ่านตาเราถี่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งตามโฆษณา ข่าว และใบสเปกมือถือรุ่นใหม่ๆ

ยอดขาย iPod, iTunes และเครื่องเล่น MP3 อื่นๆ กำลังบูมทั่วโลกและในไทย การขายเพลงเถื่อนก็คึกคักตาม ทั้งเป็นแผ่นและให้ลูกค้าหิ้วเครื่อง MP3 พกพาหรือ Notebook ไป “ดูด” แล้วจ่ายเงินกันตามจำนวนเพลงได้ตามร้านในแหล่งสินค้าไอทีทั่วไป

การดาวน์โหลดเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์ในไทยทุกวันนี้ยังฮิตกันตามเว็บเท่านั้น ให้ฟังฟรีแต่โหลดไปเก็บในเครื่องไม่ได้เช่นที่ gmember.com ของแกรมมี่, trueworld.net ของทรู, kapook.com, coolvoice.com และที่กำลังปลุกปั้นกันอยู่คือดาวน์โหลดผ่านเว็บแบบคิดเงิน ให้ลูกค้าซื้อบัตรเติมเงินตาม 7-Eleven มาใช้ดาวน์โหลดเพลง เช่น trueworld.net, bughits.com, sanook.com หรือโอนผ่านธนาคารเช่นmusicsiam.com

ความยุ่งยากในการเก็บเงินเป็นอุปสรรคกับอีคอมเมิร์ซไทยเสมอมา ดังนั้นจึงมีการพยายามใช้ช่องทางใหม่ที่เก็บเงินได้ง่ายกว่ามากคือผ่านโทรศัพท์มือถือ

การเก็บเงินค่าใช้บริการเสริมรูปแบบต่างๆ บนมือถือเป็นไปอย่างสะดวกและผู้ใช้ตัดสินใจจ่ายได้ง่ายกว่า ค่าดาวน์โหลดก็จะถูกรวมเข้าไว้กับบิลค่าโทรศัพท์ปลายเดือนหรือหักยอดออกจากบัตรเติมเงินเช่นเดียวกับ Ringtone, Caller Ring

หน้าโฆษณาดาวน์โหลดเพลงสำหรับมือถือ มีช่อง Full Song เพิ่มจากเดิมที่มีแค่ท่อนเด่นๆ ในเพลงไว้เป็นเสียงเรียกเข้าหรือเสียงรอสาย

ทั้งโหลดทั้งฟังด้วยมือถือ…

การดาวน์โหลดเต็มเพลงหรือ Full Song Download คือการใช้โทรศัพท์มือถือซื้อเพลงได้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต แต่ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีโปรแกรมเล่น MP3 อยู่ โทรผ่านทางระบบ IVR โดยกด * ตามด้วยหมายเลข 4 หลักหรือ 5 หลักตามแต่ผู้ให้บริการกำหนด ตามด้วยรหัสเพลง แล้วโทรออก จากนั้นระบบจะส่ง URL Bookmark กลับมาเพื่อให้เชื่อมต่อ GPRS เข้าไปดาวน์โหลดเพลงแล้วค่าใช้จ่ายก็จะปรากฏในบิลหรือหักจากบัตรเติมเงินผู้ใช้แล้วนำไปแบ่งกันระหว่างผู้ให้บริการเครือข่าย/ระบบ และค่ายเพลง

ราคาเพลงปัจจุบันอยู่ราวเพลงละ 15-25 บาท ถูกกว่าในต่างประเทศซึ่งคิดค่าบริการเพลงละ 40-60 บาท โดยไฟล์เพลงเหล่านี้มีระบบ DRM (Digital Right Management) คอยป้องกันการก๊อบปี้ซ้ำไปแจกจ่ายให้คนอื่น

ท่าทีค่ายเพลงไทย…

RS เป็นรายแรกที่เปิดบริการนี้โดยร่วมกับ AIS ส่วนผู้ให้บริการรายอื่นๆ ทั้ง DTAC, Hutch ก็จับมือกับ RS เปิดตัวบริการลักษณะเดียวกันตามๆ มา ล่าสุด RS ยังจับมือกับ Nokia จัดทำซีดีแค็ตตาล็อกเพลงทั้งหมดพร้อมคู่มือตั้ง GPRS ให้ผู้ใช้โนเกียเข้าไปโหลดเพลง RS เต็มเพลงได้อย่างสะดวก

ส่วน True แถลงว่าจะไม่ทำบน GPRS เพราะความเร็วต่ำเกินไปไม่น่าสนใจ จะรอให้ 3G เสร็จเรียบร้อยแล้ววิ่งระบบนี้บน 3G ที่เร็วกว่า GPRS หลายร้อยเท่า โดยขณะนี้ Trueworld.net ยังจับลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไฮสปีดผ่านโทรศัพท์บ้าน จะมีบริการให้ลูกค้ามือถือก็เพียงริงโทนกับเสียงรอสาย

ส่วนค่ายเพลงยักษ์อย่าง GMM Grammy ให้คำตอบว่ายังรอเทคโนโลยีที่เร็วกว่า GPRS ซึ่งก็คือ 3G อยู่

ค่ายเพลงใหญ่เล็กทั้งหลายที่สูญเสียรายได้ให้กับซีดีเถื่อนมานาน ยอดจำหน่ายแผ่นซีดีลดลงตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ต่างคาดหวังกันว่าการขายเพลงผ่านมือถือจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่สำคัญขึ้นเรื่อยๆ ไม่แพ้บริการ Ringtone และ Caller Ring (Calling Melody) ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ไม่น้อยในไม่กี่ปีมานี้

เทรนด์ “ดาวน์โหลดเต็มเพลง” นี้ทั้งทั่วโลกและในไทยย่อมกระทบตลาดเครื่องเล่นเพลง MP3 พกพาเช่น iPod ของ Apple ไม่น้อย ซึ่งก็มีข่าวเป็นระยะๆ ว่า Apple Computer โดยการนำของ Steve Jobs ก็จับมือกับ Motorola กำลังพัฒนา iPod รุ่นใหม่ที่เป็นโทรศัพท์มือถือด้วยในตัว ส่วนในตลาดไทยระหว่างรอนี้ก็ยังต้องทำตลาดบนดีไซน์ที่โดดเด่นและแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ iPod, Apple, และ Mac กันต่อไป

ถึงแม้การขายเพลงผ่านมือถือจะมาแรง แต่ต้องไม่ลืมว่าในไทยนั้น เพลงที่ฟังกันผ่านโทรศัพท์มือถือที่เล่น MP3 ได้ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างจากในเครื่องเล่น MP3 พกพาทั่วไป คือก๊อบปี้จากซีดี MP3 เถื่อนหรือใช้ Thumdrive “ดูด” จากคนอื่นมาผ่านคอมพิวเตอร์เข้าสู่โทรศัพท์มือถืออีกทีหนึ่ง ดังนั้นทุกฝ่ายคงต้องคิดหาคำตอบว่าในเมื่อเพลงเถื่อนยังหาได้ไม่ยากและก๊อบปี้เข้ามือถือได้ง่ายๆ จะหาวิธีอย่างไรให้ผู้บริโภคหันมาค้นและซื้อเพลงผ่านบริการ “ดาวน์โหลดเต็มเพลง” แทน

สถิติ “เพลงพกพา”

“มือถือ” เป็นอุปกรณ์ที่คน 300 ล้านคนทั่วโลกเกือบทุกระดับฐานะและวัยใช้อยู่ ผลสำรวจในไทยปัจจุบันก็พบอยู่แล้วว่าอุปกรณ์ฟังเพลงที่ผู้บริโภคนิยมพกติดตัวเป็นอันดับหนึ่งคือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ร้อยละ 63.8 รองลงมาคือเครื่องเล่น MP3, เครื่องเล่น CD พกพา และ iPod ตามลำดับ

ในระดับโลก Bill Gates ประธานไมโครซอฟท์กล้าฟันธงว่าจะมีคนนิยมฟังเพลงผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น และ iPod ก็อาจหายไปจากตลาดในไม่นาน เพราะโทรศัพท์มือถือใหม่ๆ ขณะนี้เริ่มมีจะมีขนาดฮาร์ดดิสก์ความจุสูงขึ้นๆ จนถึงเป็นกิกะไบต์ไม่แพ้ iPod และเทรนด์นี้ก็ปลุกอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ทั่วโลกให้กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง รวมถึงไทยเองก็ถูกมองจะเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหม่ของโลกเลยทีเดียว

Did You Know?

มาตรฐานไฟล์เพลงมือถือ

รูปแบบไฟล์เพลงดิจิตอลที่ใช้ในผู้ให้บริการไทยปัจจุบันยังรองรับได้เพียงไฟล์เพลงรูปแบบ AAC ซึ่งในตลาดมีเครื่องลูกข่าย Nokia, Sony Ericsson, Samsung และ Motorola และแบรนด์เหล่านี้ต่างก็เร่งออกโทรศัพท์มือถือที่ฝังฮาร์ดดิสค์ความจุสูงและรองรับไฟล์เพลงแบบ AAC มาทำตลาดหลากหลายรุ่น แต่ขณะเดียวกันก็กำลังมีการพัฒนาให้รองรับไฟล์ AAC+ และ MP3 ทั่วไปเพื่อให้ใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้หลากหลายได้ในปีหน้านี้