Survival in Innovation Era

เบื้องหลังความสำเร็จของการบรรยาย Stephen R. Covey Live in Bangkok : The Power of Focused Execution นอกจากเพราะชื่อเสียงของ ดร.โควีย์เองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า PacRim เองก็มีฐานลูกค้าองค์กรจำนวนมากที่เคยเข้ารับการอบรมในโปรแกรม 7 Habits of The Highly Effective People จึงทำให้บัตรราคา 15,000 บาท กว่าพันที่นั่งขายหมดเกลี้ยง

องค์กรธุรกิจเมืองไทยรู้จัก PacRim ในฐานะตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวของ FranklinCovey ให้บริการคำปรึกษาและจัดอบรมเรื่อง 7 Habits เพื่อพัฒนาบุคลากร โดยเน้นการพัฒนาบุคลิกภาพและทัศนคติของบุคคล การคิดแบบชนะ-ชนะ ซึ่งเป็นหลักการของการเป็นบุคคลที่เปี่ยมประสิทธิภาพ แต่ในวันนี้ที่คนเราต้องมีทั้ง EQ และ IQ องค์กรก็ต้องการบุคลากรที่มีทั้ง Leadership และ Innovation เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ล่าสุด PacRim จึงได้จับมือกับ DPI (Decision Process International) ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่อเมริกา และมีสาขาอยู่ใน 18 ประเทศทั่วโลก เพื่อขยายบริการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนา Thinking Processes

“การจับมือกับ DPI นำมาซึ่ง Thinking Know-how เช่น ถ้า Covey ให้แนวคิดเรื่อง Be Proactive DPI ก็จะแนะนำว่ามีวิธีการอะไรที่จะ Be Proactive ได้ ด้วยเครื่องมือหลายแบบที่จะช่วยฝึกการคิด หรือถ้าพูดถึงเรื่อง Start with the end in mind ซึ่งหมายถึงการตั้งเป้าหมาย การตั้งผลลัพธ์ที่ต้องการเอาไว้ DPI ก็จะแนะนำว่าผู้บริหารสามารถทำงานอย่างไรเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้นๆ ได้ เหมือนกับ Covey เป็นซอฟต์แวร์ ส่วน DPI เป็นฮาร์ดแวร์ ซึ่งจะทำงานด้วยกันได้อย่างลงตัวที่สุด” Lim Tau Pheng ผู้อำนวยการบริหาร PacRim กล่าว

ทางด้าน Andrew Sng หุ้นส่วนอาวุโสประจำภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า DPI เป็น Know how-driven company ปัจจุบันเรื่องของนวัตกรรมได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการบริหารจัดการ เป็นส่วนที่องค์กรขาดไม่ได้ และธุรกิจจะเป็นที่หนึ่งได้ ไม่ใช่เพราะการขยายตัว (Extension) ได้มากที่สุด แต่เพราะความสามารถที่จะคาดเดาตลาดล่วงหน้า (Anticipate the future) ได้อย่างถูกต้อง ทั้งในระยะและระยะยาว ฉะนั้นการพัฒนากระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ สร้าง Innovation Culture จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ก่อนหน้าที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการนั้น DPI เข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยนานแล้ว ที่ผ่านมา DPI ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย และบริษัทด้านโทรคมนาคมรายหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Innovation ขององค์กร ซึ่งแต่ละรายก็เชื่อมั่นในผลงานที่ DPI มีส่วนทำให้ลูกค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดได้มากขึ้น อาทิ บริษัทยารายหนึ่งมียอดขายทั้งปี 13 ล้านเหรียญ สร้างสินค้าใหม่ได้ถึง 65 รายการ, บริษัทธุรกิจหีบห่อมีรายได้กว่าปีละ 2,100 ล้านเหรียญ และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ถึง 41 รายการ

และด้วยกระแสความตื่นตัวเรื่อง Innovation ขององค์กรธุรกิจเมืองไทย จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะเปิดตลาดการให้คำปรึกษาและฝึกอบรมด้านนี้ และมองว่าในระยะยาว แต่ละองค์กรจะหันมาให้ความสำคัญเรื่อง Innovation มากขึ้น เพราะเป็นก้าวที่สำคัญขององค์กรยุคใหม่ ให้สามารถแข่งขันได้ แม้บางรายยังเข้าใจว่า Innovation เป็นเรื่องของ R&D หรือการระดมสมองคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ แต่นั่นคือ Invention ซึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ของ Innovation เท่านั้น

“การจับมือกันของ DPI และ PACRIM จึงเป็นเหมือนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร เราเข้าไปสร้างกระบวนการที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้องค์กรทั้งองค์กรกลายเป็นบ่อเกิดของ Innovation ให้เกิดผลลัพธ์การทำงานที่ดียิ่งขึ้น เมื่อคนเริ่มรู้จักเรามากขึ้น ก็จะเห็นว่าเราเป็น Provider of Leadership Solution และมีวิธีการที่ดีที่สุดเสนอให้กับลูกค้า ในตอนนี้เราอาจจัดโปรแกรมได้เฉพาะภาษาอังกฤษ แต่ในอนาคตเราสามารถจัดอบรมเป็นภาษาไทยได้ ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เราขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น”

รูปแบบการให้บริการนั้น DPI จะเข้าไปทำในลักษณะของเวิร์กช้อป และการให้คำปรึกษา รูปแบบขึ้นกับความต้องการของลูกค้า บางบริษัทส่งผู้บริหารระดับสูงเข้าเวิร์กช้อป ในขณะที่บางแห่งต้องการเพียงการจัดสัมมนาภายในเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในองค์กร หรือบางองค์กรกลับต้องการให้เป็นที่ปรึกษาวางระบบการทำงานที่จะช่วยสร้าง Innovation ขึ้นในองค์กรได้

DPI จึงวางโปรแกรมการฝึกอบรมที่ต่างกันหลายระดับ เช่น การฝึกอบรมระดับที่ 1 เป็นเวิร์กช้อป 2 วัน ห้องละ 20 คน ทำเวิร์กช้อปร่วมกันเดือนละ 2 ครั้ง ภายใน 1 ปี ก็จะถ่ายทอดให้กับบุคลากรได้ 500 คน จากนั้นก็ให้กลุ่มเดิมเข้าเวิร์กช้อป ระดับที่ 2 เพื่อลงลึกมากขึ้นในการเสริมความรู้และพัฒนาทักษะ และมีทีมที่ปรึกษาคอยเป็นพี่เลี้ยงในการฝึกปฏิบัติจริง คอยกำกับทีละขั้นตอน ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน

และอีกวิธีการคือ Consulting Project ทำกรณีศึกษาพิเศษให้กับบริษัทของลูกค้า โดยที่ลูกค้าต้องจัดทีมทำงานมารับผิดชอบ แล้ว DPI จะเข้าไปทำงานร่วมกับทีม ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งการเข้าเป็นที่ปรึกษาในลักษณะนี้จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน Andrew ยกกรณีตัวอย่างของลูกค้ารายหนึ่งที่ต้องการเจาะเข้าตลาดยุโรป โดยที่ลูกค้ามาปรึกษาว่าตนเองมีขีดจำกัดเรื่องรูปแบบสินค้า เรื่องขีดความสามารถของบริษัทเอง และมีหุ้นส่วนธุรกิจอยู่ไม่กี่ราย ลูกค้าไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป DPI ก็เข้าไปร่วมฟอร์มทีม 15-20 คน จนในที่สุดลูกค้ารายนี้ก็สามารถสร้างสินค้าตัวใหม่เจาะเข้าตลาดยุโรปได้เป็นผลสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าองค์กรในไทย PacRim และ DPI มีความคาดหวังว่าต่อไปเมื่อพวกเขามีความเข้าใจความต้องการที่หลากหลาย และวัฒนธรรมองค์กรแบบไทยได้มากขึ้น ก็จะออกแบบคอร์สเทรนนิ่งที่มีความเฉพาะเจาะจงสำหรับลูกค้าแต่ละราย รวมทั้งการแปลหลักสูตรเป็นภาษาไทย การปรับระยะเวลา สไตล์การเทรนให้เข้ากับวิถีการทำงานของคนไทย

ส่วนคู่แข่งในตลาดธุรกิจฝึกอบรมนั้น พวกเขาเชื่อมั่นว่ายังไม่มีคู่แข่งโดยตรง แต่เป็นโดยอ้อม “เราพยายามสร้างคุณค่าใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ ทั้งเพื่อ PACRIM และลูกค้าคนไทย ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เรารักษาตำแหน่งผู้นำเอาไว้ได้ ถ้าลูกค้ามองหาเครื่องมือหรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพ มองหากระบวนการพิสูจน์ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยให้พวกเขาเป็นองค์กรชั้นนำของธุรกิจได้ ลูกค้าเหล่านั้นจะรู้ดีว่าเราช่วยเขาได้” Andrew กล่าว

Did you know?

บาป 7 ประการ ปิดกั้นนวัตกรรมองค์กร

1. Protect the cash cow. ให้ความสนใจเฉพาะส่วนที่ทำเงิน
2. We are in the mature market. คิดว่าตลาดอิ่มตัวแล้ว เลิกแสวงหาโอกาสใหม่ๆ
3. Ours is a commodity product. คิดว่าผลิตได้เพียงวัตถุดิบ
4. We are too bureaucratic. เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยระเบียบ
5. We don’t have innovative people. คิดว่าไม่มีบุคลากรที่สร้างสรรค์
6. We don’t have the resources. คิดว่ามีทรัพยากรไม่เพียงพอ
7. It’s too risky. กลัวที่จะเสี่ยง

People

Andrew Sng เข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ DPI ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 มีประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์ขนาดใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกกว่า 120 บริษัท ในจำนวนนี้รวมถึง Unilever, DHL, ICI, Jardines, Maybank และโครงการของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ล่าสุดมีการจัดตั้งทีม Productivity & Standards Board’s Strategic Thinking

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำงานร่วมกับผู้บริหารกว่า 15,000 คน เขาจึงมีความเชี่ยวชาญการให้คำปรึกษาในหลายด้านด้วยกัน อาทิ Strategic Thinking, Strategic Product Creation & Introduction, Entrepreneurship & Innovation, Process Improvement, Decision Making

นอกจากนั้นยังเป็นผู้เขียนหนังสืออีก 2 เล่ม คือ Tips for Aspiring Achievers (1993) และ This + Way = Up (1996)