ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่โดดเด่นในเวทีการเมือง แม้จะแพ้การเลือกตั้งในการลงสมัครครั้งแรกเมื่อปี 2543 แต่ก็ถูกวางตัวให้รับงานสำคัญมาตลอดไม่ว่าจะเป็นสำนักนายกฯ กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณสุข และพาณิชย์ นอกเหนือไปจากความรู้ความสามารถที่มีอยู่เต็มเปี่ยม ภาพลักษณ์ความเป็นผู้หญิงทำงานที่ประสบความสำเร็จซึ่งยืนยันได้จากผลโหวตหลายสำนัก (ล่าสุดนิตยสาร AsiaInc กล่าวถึงเธอในฐานะ Educational Reformer) ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้อนาคตบนเส้นทางการเมืองของเธอยังทอดยาวต่อไปถึงการลงสนามเลือกตั้งอีกครั้งในปีหน้า
ณ วันนี้เธอจึงต้องรับผิดชอบหน้าที่ 3 อย่างในเวลาเดียวกัน คือการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนทิวไผ่งาม ควบคู่ไปกับการเป็นผู้ช่วยเลขาธิการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และการลงพื้นที่ในฐานะผู้สมัครเขตห้วยขวางและวัฒนา ซึ่งเธอเทเวลาให้ทุกเย็นจันทร์-ศุกร์ หลังเลิกงานที่โรงเรียนและที่กระทรวงฯ แล้ว และเต็มวันทั้งเสาร์และอาทิตย์ โดยยอมสละงานอดิเรกที่ชอบคือ การเล่นสกีน้ำ ไปโดยปริยาย
“พรรคมีการทำโพล ดูกระแสของตัวผู้สมัครและพรรคอยู่ตลอดเวลา ก็พบว่าเรายังได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอยู่ ก็คิดว่าน่าจะสู้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อตอบแทนคนในเขตห้วยขวางและวัฒนาที่ยังสนับสนุนเรา และเพื่อพรรคด้วยที่ให้โอกาสกับชีวิตเรา” เป็นคำบอกเล่าจากณหทัย ที่ย้ำหนักแน่นว่าบุญคุณต้องตอบแทน เพราะพรรคให้โอกาสเธอได้เรียนรู้แบบ Life-long Learning ขนาดที่เรียกว่าได้ปริญญามากกว่าปริญญาเอกเสียอีก
พร้อมกับฟันธงว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวตัดสินว่าเราจะทำงานการเมืองต่อไปหรือไม่ ถ้าผลเป็นยังไงก็จะขอกลับมาทำโรงเรียน 100% เลย”
ด้วยคุณวุฒิด้านการบริหารการศึกษา ที่ผ่านมาเธอจึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางนโยบายหาเสียงของพรรคไทยรักไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และในหลายนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ หนึ่งในนั้นคือการเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงฯ เป็นภาษาอังกฤษ หรือที่รู้จักกันในฐานะโรงเรียนสองภาษา (Bilingual School) ที่กำลังอินเทรนด์อยู่ในบ้านเราเวลานี้
ซึ่งก็เป็นนโยบายที่เดินควบคู่ไปกับแผนการบริหารโรงเรียนทิวไผ่งามในยุคใหม่ด้วยเช่นกัน ด้วยเพราะปีหน้าจะเป็นวาระครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้ง ณหทัยคาดหวังว่าโรงเรียนทิวไผ่งามภายใต้การบริหารของเธอ จะก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีและความเป็นสากลอย่างเต็มตัว
3 แผนงานหลักที่เธอวางไว้ นอกเหนือจากโครงการทิวไผ่งาม English Program ซึ่งเน้นการจัดหลักสูตรที่เน้นความสามารถเรื่องภาษา โดยใช้ระบบให้เด็กที่เข้ามาในชั้น ป.1-ป.3 เรียนภาษาอังกฤษรวมกันไปก่อน จากนั้นจะสอบแบ่งระดับ แล้วแยกเด็กเข้าชั้นเรียนตามความสามารถทางภาษาอังกฤษ เพื่อส่งเสริมให้เด็กดึงศักยภาพทางภาษาออกมาให้มากที่สุด และโปรแกรม EFF (English For Future) ที่จะจัด 1 ชั่วโมงในแต่ละวันให้เด็กได้เรียนกับครูต่างชาติ เพื่อทักษะการฟัง อ่าน เขียนภาษาอังกฤษ
ยังมีโครงการระบบดูแลเด็กแบบแมทริกซ์ ที่จะมีครูประจำชั้น ครูฝ่ายปกครอง ครูแนะแนว ครูโครงการ Friendly Trill และเพื่อนจากระบบบัดดี้ ทำให้เด็กทุกคนจะมีคนถึง 5 คนคอยช่วยดูแลเป็นระบบตรวจสอบแบบไขว้
และโครงการ Electronic Thewphaingarm School (ETS) ซึ่งจะลอนช์ระบบเต็มที่ภายในปี 2548 โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมข้อมูลระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง นับตั้งแต่การเช็กการเข้าเรียน การแจ้ง SMS ถึงผู้ปกครอง การตั้งคีออสให้ผู้ปกครองตรวจสอบผลการเรียนของบุตรหลานได้ การแจ้งข่าวสารและผลสอบถึงผู้ปกครองทางอีเมล ตลอดจนการเช็กสถิติการเข้ามาใช้บริการห้องสมุด เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงการให้บริการ สร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการต่างๆ ในโรงเรียน
และด้วยสไตล์การทำงานแบบผู้บริหารรุ่นใหม่ โรงเรียนทิวไผ่งามวันนี้จึงมีทีมยุทธศาสตร์ ทำหน้าที่หลักคือ วิเคราะห์ SWOT ของทิวไผ่งาม ก่อนจะอิมพลีเมนต์นโยบายหรือแนวคิดใหม่ที่เธอเป็นผู้นำเข้ามาทดลองใช้ในโรงเรียน เช่นขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องเบรนเบสเลิร์นนิ่ง หรือการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของสมอง
ซึ่งการตั้งทีมนี้ขึ้นมา นอกจากช่วยเรื่องความคล่องตัวในการทำงานแล้ว ส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่จะช่วยสร้างการยอมรับและปรับพฤติกรรมครูเก่าในโรงเรียน ซึ่งบางคนก็เป็นครูของเธอเอง เมื่อเกิดการไม่เห็นด้วยหรือไม่เชื่อมั่นกับแนวคิดใหม่ ที่ทำให้ท้อในบางครั้ง
“แต่เราต้องทำให้เขาเห็นว่าเราเอาจริง เรารู้จริง โชคดีที่ทีมยุทธศาสตร์เป็นเด็กรุ่นใหม่ ไฟแรง คิดอะไรตามเราได้ทัน พอสรุปแนวทางการปฏิบัติได้ ก็เอาลงไปอิมพลีเมนต์ และอีกทีมทำ SWOT แล้ววิจัยรวบรวม ผลออกมาก็เอาไปปรับยุทธศาสตร์ ทีมนี้มีประมาณ 6-7 คน ถ้าโรงเรียนมีงานด่วนก็กระจายส่งคนจากทีมนี้ไปช่วยแก้ปัญหา เรียบร้อยแล้วก็ถอนคนกลับมา เพราะฉะนั้นคนในทีมยุทธศาสตร์จะรู้ความเป็นไปของโรงเรียนทั้งหมด”
เมื่อต้องทำงานกับคนหลากวัย ณหทัยจึงจำเป็นต้องสวมบทบาทผู้บริหารที่เด็ดขาดเข้มงวด “เวลาประชุมหรือติดตามงาน ถ้าบอกว่าเวลานี้จะเสร็จ ก็ต้องได้ และต้องทำให้ดี พูดเรื่องงานก็คืองาน แต่ถ้าเวลาไม่ใช่งานก็สนุกสนาน ในสมัยคุณพ่อจะใช้ระบบแบบครอบครัว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าครูดูว่าเราเป็นยังไง แต่ก็คิดว่าเราทำเพื่อส่วนรวม ก็พยายามปลูกฝังความคิดว่าสิ่งที่เขาทำให้เด็กเป็นการทำเพื่อประเทศชาติ ไม่อยากให้เขาคิดว่าเป็นผลประโยชน์ของตระกูลทิวไผ่งาม และคอยกระตุ้นไม่ให้เขานอนใจกับความสำเร็จเก่าๆ ประชุมทีไร ก็จะดึงจุดบกพร่องขึ้นมา ส่วนดีอาจจะพูดน้อย มันเหมือนจุดอิ่มตัวว่าใครก็พูดถึงทิวไผ่งาม แต่วันนี้ต้องมาดูจุดอ่อนของเรา เน้น Weakness กับ Threaten ใน SWOT”
สิ่งที่หล่อหลอมให้ณหทัยเป็นผู้บริหารในแบบที่เป็น เธอบอกว่ามาจากต้นแบบนับร้อยนับพัน ด้วยการสังเกตจดจำแล้วนำมาเป็นทฤษฎีหนึ่งเก็บไว้ในสมอง เมื่อมาถึงการตัดสินใจของตัวเองกับปัญหาที่พบ ก็เปิดลิ้นชัก ดึงเอาวิธีของแต่ละคนออกมาปรับใช้โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นตัวของตัวเอง และที่สำคัญคือการขวนขวายหาความรู้ตลอดเวลา
Profile
Name : ณหทัย ทิวไผ่งาม
Born : 24 มิถุนายน 2513
Education :
2531 มัธยมศึกษา โรงเรียนทิวไผ่งาม
2534 ปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2534-2541 ปริญญาโท บริหารการศึกษา, ปริญญาเอก บริหารการจัดการอุดมศึกษานานาชาติ University of Wisconsin Madison, USA
Career Highlights :
2541-2542 รองประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์กีฬาเอเชียนเกมส์และเฟสปิกเกมส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2542-2543 ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาบริหารงานวัฒนธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มธ.
2543 ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกทม. เขต 10 (ห้วยขวาง และวัฒนา) และรองโฆษกพรรคไทยรักไทย
2544-2545 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
2545-2547 ผู้ช่วยเลขาธิการ รมว.ศึกษาธิการ, ผู้ช่วยเลขาธิการ รมช.สาธารณสุข, โฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์
ปัจจุบัน ผู้อำนวยการโรงเรียนทิวไผ่งาม, ผู้ช่วยเลขาธิการ รมช.ศึกษาธิการ, ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 10 พรรคไทยรักไทย
Family :
เป็นลูกคนโตของอาจารย์ณรงค์ และอาจารย์อุษา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนทิวไผ่งาม มีน้องชายคือ ดร.ณัฐกฤษฎ์ ซึ่งร่วมกันเปิดบริษัท ณัฐหทัย จำกัด เจ้าของโครงการ “ทิวทาวเวอร์” คอนโดมิเนียม 30 ชั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา
Email :
[email protected]