ระริน อุทกะพันธุ์ The Young “Cream” of Thai Publishers

หลังการจากไปของชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้ง “อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง” ทิ้งบริษัทด้านธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ใหญ่ให้กับระริน อุทกะพันธุ์ ได้นำ อมรินทร์ฯ “ข้ามผ่านมรสุมและต่อสู้ฟาดฟันกับนิตยสารหัวนอกได้อย่างน้ำสมเนื้อ

“ก่อนคุณพ่อจะเสีย ท่านเขียนจดหมายให้แพรในวันเกิดว่า “สงสารลูก พ่อรู้สึกว่านี่เป็นภาระที่พ่อทิ้งไว้ให้” แพรบอกคุณพ่อว่า นี่คือสมบัติที่มีมูลค่ามหาศาลต่างหาก ไม่ใช่เรื่องของเงินแต่เป็นความภาคภูมิใจ เพราะอย่างน้อยในอาชีพนี้ เธอก็ได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น แม้อาจไม่มากมาย…ต้องขอบคุณพ่อกับแม่ที่ทำไว้ให้” ณ วันนี้ แพรมีตำแหน่งเป็นถึงกรรมการผู้จัดการสายธุรกิจสำนักพิมพ์ และเป็นเสมือนหัวเรือใหญ่ของอมรินทร์ฯ

ย้อนกลับไปเกือบสิบปี แม้พ่อแม่ไม่เคยบังคับให้เธอมาทำงานตรงนี้ แต่เพราะความชื่นชม และความภูมิใจในธุรกิจ ผลักดันให้เธอมาเริ่มงาน ทันทีที่เรียนจบปริญญาตรีด้านอักษรศาสตร์ และความผูกพันกับกิจการมาตั้งแต่เด็ก เธอจึงหลงรักและสนุกกับการทำงานตั้งแต่แรกเริ่ม งานแรกของเธอคือการประชาสัมพันธ์และจัดจำหน่ายหนังสือพระราชนิพนธ์พระมหาชนก “นับว่าเป็นสิริมงคลกับตัวเองมาก เพราะเป็นงานแรก ต้องทำทุกอย่าง ตั้งแต่ติดต่อ วางระบบ สั่งจอง การส่ง ใช้เวลาเป็นปี ซึ่งคุณพ่อก็ช่วยแนะนำแต่ก็ไว้ใจจังเลย” แพรเล่า

ทำงานช่วงสั้นๆ เธอจึงไปเรียนต่อการตลาดที่ประเทศอังกฤษ ก่อนกลับมาบุกเบิกหน่วยงานการตลาด ซึ่งอมรินทร์ฯ ไม่เคยมีมาก่อน

“หนักใจมาก เพราะก่อนนั้น อมรินทร์ฯ โตมาแบบไม่มีการตลาด เป็น “marketing in mind” ของ บก. ทำให้เขาไม่เห็นถึงสิ่งที่เราจะทำให้เขาได้ และแพรก็ไม่เคยศึกษาเกี่ยวกับการตลาดของนิตยสารหรือหนังสือเล่มมาก่อน” เธอยอมรับว่าช่วงต้น เธอต้องทำให้คนทั้งองค์กรเห็นความสำคัญของการตลาดซึ่งยากมาก

ประกอบกับความไม่ต้องการให้ใครมาพูดถึงเธอว่า “มาอยู่ตรงนี้ได้เพราะเป็นลูกเจ้าของ” เธอจึงกดดันตัวเองด้วยการทำงานอย่างหนัก จนเคยเกือบท้อถึงขั้นขอลาออกไปทำที่อื่น แต่บทเรียนครั้งนี้ก็สอนเธอด้วยกำลังใจของแม่ว่า “เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อย่าไปแคร์ว่าใครคิดว่าอย่างไร เมื่อมั่นใจว่าเราทำดีที่สุดแล้ว และทำเพื่อองค์กร แล้วจะมานั่งกลุ้มใจทำไม” จากวันนั้น แพรไม่เคยมีความคิดเช่นนี้อีก เพราะเธอพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อตั้งใจทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ทุกอย่างจะคลี่คลายด้วยดี เหมือนกับที่วันนี้ ฝ่ายการตลาดของเธอมีคนถึง 40 คน จากเมื่อ 6 ปีก่อนที่มีเพียงเธอและลูกน้องแค่ 2 คน

การอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดฯ เธอทำหน้าที่สื่อสารกับตลาดทั้งผู้อ่านและบริษัทโฆษณา ซึ่งหัวใจของการสื่อสารก็คือ เธอต้องเข้าใจแก่นของนิตยสารหรือหนังสือให้มากที่สุด

“การตลาดของนิตยสารไม่เหมือนสินค้าทั่วไป อย่างสบู่ ส่วนประกอบของสบู่ก็เหมือนกัน แต่มันต่างกันโดยภาพลักษณ์ทางการตลาดที่บอกว่า นี่คือสบู่ หรือเครื่องสำอาง ทำให้คุณสะอาดหรือทำให้คุณสวยขึ้น แต่หนังสือ การตลาดสื่อสารอะไรออกไปก็ตาม สุดท้ายก็อยู่ที่ตัวหนังสือเท่านั้น ถ้าคนอ่านว่าไม่ใช่ หรือไม่ชอบ สื่อสารให้ตายมันก็ไม่ได้ผล”

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว แพรจึงมองว่าอีกหน้าที่สำคัญของเธอ คือ การนำ feedback จาก “ตลาด” มาสู่ผู้ทำหนังสือ เพื่อให้มีการปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น

“เรามีหน้าที่บอกเขาว่า ตอนนี้ตลาดต้องการอะไรหรือมันเป๋ไปหรือเปล่า แม้จะยาก เพราะนักเขียนค่อนข้างจะเป็น artist แต่เราก็ต้องทำตรงนี้ เพราะคนทำนิตยสารนานๆ เข้าเขาจะจมอยู่ตรงนั้น มันต้องมีคนช่วย overview ให้เขา”

บทพิสูจน์การทำงานแพรในฐานะ ผ.อ. การตลาดฯ คงเห็นได้ชัดจาก ความนิยมที่ยั่งยืนในนิตยสารเดิม คือ “บ้านและสวน” “แพรว” และ “สุดสัปดาห์” ซึ่งเป็นนิตยสารแรกของบริษัท แพรบอกว่า ทั้ง 3 เล่ม ขายดีอยู่แล้ว เธอทำ แค่รักษาคุณภาพ ปรับให้ทันยุค และทำให้ดียิ่งขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังมีมีนิตยสารหัวใหม่อีก 5 เล่ม ที่เกิดในยุคของเธอ แม้ทั้งหมดเป็นจะไม่ได้เริ่มจากความคิดของเธอคนเดียว แต่เธอต้องเข้าไปศึกษาตลาด วิเคราะห์ และวางแผนการตลาดตั้งแต่ต้น “จุดยืนก็คือ เวลาเราทำอะไร (นิตยสารหรือหนังสือ) เราจะคิดว่า เราอยากเห็นคนอ่านได้อะไร และทำออกไปแล้วคนอ่านจะได้อะไร และมองว่าตลาดมีหรือยัง ถ้ามีและเขาทำกันดีอยู่แล้ว เราก็คงไม่ไปแข่งกับทีมที่แข็ง”

เริ่มจาก “ชีวจิต” โดยแนวคิดของพ่อที่อยากเห็นคนในสังคมมีความรู้เรื่องสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ “Health & Cuisine” เป็นแนวคิดของแม่ที่ต้องการตอบสนองกลุ่มผู้สนใจสุขภาพที่ไม่ชอบอ่านบทความหนัก และยังอยาก “enjoy life” รวมถึงผู้ที่ต้องการทดลองทำอาหารเพื่อสุขภาพ และ National Geography ฉบับภาษาไทย ซึ่งเกิดจากความคิดที่ต้องการให้คนไทยได้อ่านนิตยสารดีๆ ราคาไม่แพง จึงติดต่อซื้อลิขสิทธิ์จัดพิมพ์นิตยสาร

สำหรับ “ROOM” และ “WE” เกิดจากแนวคิดของแพร ที่เธอมองเห็นถึงโอกาสในตลาด และข้อจำกัดของนิตยสารที่มีของบริษัท เช่น “บ้านและสวน” ไม่สามารถตอบสนองกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการตกแต่งบ้านได้ดีนัก หรือ “WE” เกิดจากช่องว่างของตลาดที่ยังไม่มีนิตยสารพูดถึงความสัมพันธ์ และวิธีคิดเรื่องชีวิตคู่อย่างจริงจัง

“แพรเชื่อว่าหนังสือสร้างคนได้ และเปลี่ยนชีวิตคนก็ได้ ยิ่งถ้าเด็กอ่าน มันก็จะกล่อมเกลาเขาให้โตขึ้นเป็นแบบนั้น ถ้าสิ่งที่เราจะทำมันไม่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตเขา หรือเสียจุดยืนของเราก็ไม่น่าทำ ไปทำอย่างอื่นดีกว่า” นี่คือเหตุที่อมรินทร์ฯ ค่อนข้างระวังในการเลือกผลิตหนังสือหรือนิตยสารในเครือ ซึ่งเธอก็ยืนยันว่า หนังสือขายดีกับหนังสือที่ดีงาม มีคุณค่าไม่จำเป็นต้องสวนทางกัน

“ถ้าอ่าน Lord of the Rings จนจบ แพรเชื่อว่าจะได้ข้อคิดดีๆ เพราะมันสอนหลายอย่างและสนุกด้วย อย่างตัว “โฟโด้” เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความกลัว แต่ถามว่าถ้าเขาไม่ทำแล้วใครจะทำ เมื่อจำเป็นต้องทำเขาก็เพียรทำจนสำเร็จ” หนึ่งตัวอย่างวรรณกรรมดีที่แพรแนะนำ

“ถ้าเรามี ”ของดี” การตลาดก็ต้องทำให้มันยิ่งขายได้” ชุดหนังสือธรรมะ ของ ว.วชิรเมธี เป็นตัวอย่างของหนังสือดีที่อมรินทร์ใช้การตลาดเข้ามาช่วยกระตุ้นยอดขาย “ในฐานะผู้ผลิตก็อยากทำหนังสือธรรมะให้คนรุ่นใหม่อ่าน แต่ด้านการตลาดก็มองว่า ถ้าทำปกรูปพระหรือดอกบัววัยรุ่นก็จะไม่อยากอ่าน เธอจึงทำปกสีสันน่ารักและขนาดน่าหยิบ เพราะเชื่อว่า แม้ของจะดี แต่หากคนต้องไปควานหาหรือคนไม่หยิบเสียแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์”

นอกจากชุดหนังสือธรรมะฯ ความมุ่งมั่นส่งเสริมธรรมะของอมรินทร์ฯ ยังปรากฏออกมาในรูปโครงการ “หนังสือภาพชุดธรรมะสำหรับเด็ก” ที่จะออกปีหน้า และโครงการ “เสวนาธรรม” ที่จัดขึ้นทุกวันอังคาร ณ ออฟฟิศย่านตลิ่งชัน โดยเธอหวังว่า ธรรมะจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจ จุดประกายความคิด และเป็นแนวทางสู่ความสุขที่แท้จริงแก่ผู้เข้าใจและปฏิบัติ เหมือนที่เธอและแม่ได้ลิ้มรสความสุขจากธรรมะมาแล้ว เพื่อดับทุกข์จากการจากไปของชูเกียรติ เสาหลักของบ้านและบริษัท

“หลังจากปฏิบัติธรรม มันเหมือนได้ค้นพบความรู้ที่มีค่ามากที่สุดเท่าที่ชีวิตเคยประสบมา ความรู้ที่อุตส่าห์บินไปเรียนจากเมืองนอกเป็นเพียงความรู้ทางโลก เป็นแค่การเรียนรู้ที่จะหาเงิน ทะเยอทะยาน และมีชีวิตเพื่อหามาจ่ายไป เทียบกันไม่ติดกับความรู้ทางธรรมที่ให้ประโยชน์สูงสุดกับชีวิตคนคนหนึ่ง และทำให้เธอรู้ว่า การดับทุกข์ในใจมันง่ายนิดเดียว”

ถึงพ่อจากไปแล้วกว่าปี แต่แพรยังยึดมั่นคำสั่งสอนของท่านมาจนวันนี้ “พ่อสอนไว้เลยว่า ทำธุรกิจต้องมีความเพียรในทางที่ชอบเป็นที่ตั้ง รวมทั้งต้องซื่อสัตย์ และไม่โลภ” คำสอนนี้กลายเป็นจุดยืนของเธอและบริษัท แม้ว่า “บริษัทมหาชน” ต้องคิดถึงผลกำไรมากขึ้น ทว่าคุณค่าทางสังคมก็เป็นสิ่งที่แพรสัญญาว่าอมรินทร์ฯ จะไม่มีวันมองข้าม

“ถ้าอยากรวยมากๆ ก็ไปทำอย่างอื่น อย่ามาทำหนังสือหรือนิตยสาร เพราะมันไม่ใช่ธุรกิจที่จะสร้างความร่ำรวยมหาศาลให้กับเรา” แพรตอบเสียงดังฟังชัด

ในฐานะผู้กุมบังเหียนของบริษัท แพรบอกว่า กำลังใจจากคนอ่านเป็นเหมือนเข็มทิศ และเสาหลักให้เธอยึดเกาะ ในยามที่ต้องตัดสินใจสำคัญๆ หลายครา “เวลาไปข้างนอก แล้วมีคนเข้ามาบอกว่า “ขอบคุณมากที่เราทำหนังสือเล่มนี้ มันทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น” หรือ “ชอบหนังสือเล่มนี้มาก อ่านแล้วมีความสุข” และจดหมายชื่นชมกับผลงานที่เราทำ อันนี้ถือเป็นความภูมิใจมากๆ และเป็นเหมือนสัญญาใจที่ให้ไว้กับคนอ่านของเรา ฉะนั้นอมรินทร์ฯ จะทำอะไรออกไปเราจะคิดถึงผู้รับด้วยเสมอ”

อย่างไรก็ดี แพรบอกว่าจะไม่มีความภาคภูมิใจได้เลยหากว่า “ถ้าวันนึงเดินไปแผงหนังสือแล้วพบแต่นิตยสารหัวนอก หัวไทยตายหมดหรือมีแต่หนังสือแปล นั่นคือ นักเขียนไทยไม่มีอีกแล้วใช่ไหม เราคิดอะไรกันไม่ได้อีกแล้วหรือ ในฐานะผู้ผลิตคงรู้สึกว่า เราแย่มากๆ ทำได้แค่นี้เองหรือ และต้องไม่ลืมว่าการซื้อหัวนอก มันมาพร้อมกับวัฒนธรรมต่างชาติ ขณะที่วรรณกรรมไทยก็สะท้อนรากเหง้าของไทย ถ้าเรานำเข้าหัวนอกมามากก็นำเข้าวัฒนธรรมต่างชาติมาด้วย แล้วถ้าไม่ระวัง รากเหง้าและวัฒนธรรมของเราก็จะถูกกลืนได้ง่าย”

แพรยืนยันหนักแน่นว่า อมรินทร์ฯ ไม่ได้แอนตี้การซื้อหัวนอก เพียงแต่ไม่อยากเป็นบริษัทที่ทำได้แค่ซื้อหัวมาแปล นี่เป็นเหตุให้เธอและอมรินทร์ฯ กระตือรือร้นผลิตผลงานของคนไทย โดยเน้นคุณภาพในทุกองค์ประกอบ ทั้งเนื้อหา งานเขียน ภาพ และอาร์ตเวิร์ก

Profile

Name : ระริน อุทกะพันธุ์ (แพร)
Born : 16 ต.ค. 2518
Education :
ประถมศึกษา ทิวไผ่งาม และ ราชวินิต
มัธยมศึกษา โรงเรียนจิตรลดา
ปริญญาตรี อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท การตลาด, University of Northumbria in Newcastle, England
Career Highlights :
พ.ศ. 2539 – 2540 ผู้ช่วยผู้จัดการสายธุรกิจจัดจำหน่าย บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง
พ.ศ. 2542 – 2547 รองกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์
พ.ศ. 2544 – 2545 บรรณาธิการบริหาร นิตยสารสุดสัปดาห์
เม.ย. 2547- ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการสายธุรกิจสำนักพิมพ์ และรักษาการ ผ.อ. ฝ่าย
Family :
บุตรสาวคนโตของ ชูเกียรติ – เมตตา อุทกะพันธุ์ น้องชายคือ ระพี อุทกะพันธุ์

Did you know?

1. ปัจจุบัน บริษัท อมรินทร์ฯ ได้เปิดหน่วยงานพับลิชชิ่งที่รับจ้างทำนิตยสาร วารสาร และหนังสือให้กับองค์กรภายนอก ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกหน่วยงานที่สร้างรายได้ไม่น้อยให้กับอมรินทร์ฯ
2. นิตยสารในเครือ 8 เล่ม : บ้านและสวน (รายเดือน) ฉบับแรก ก.ย. 2519 แพรว (รายปักษ์) ฉบับแรก ก.ย.2522 สุดสัปดาห์ (รายปักษ์) ฉบับแรก ก.พ. 2526 ชีวจิต (รายปักษ์) ฉบับแรก ต.ค. 2541 Health & Cuisine (รายเดือน) ฉบับแรก ก.พ. 2544 National Geography ภาษาไทย (รายเดือน) ฉบับแรก ส.ค. 2544 ROOM (รายเดือน) ฉบับแรก มี.ค. 2546 และ WE (รายเดือน) ฉบับแรก พ.ค. 2547

วรรณกรรมเยาวชนแนะนำ

ด้วยความเชื่อที่ว่า “วรรณกรรมดีๆ จะช่วยกล่อมเกลาปลูกฝังสำนึกดีให้คนได้” ระรินจึงแนะนำหนังสือดีในใจของเธอคือ เจ้าชายน้อย เพราะอ่านได้ทุกปี เนื่องจากเมื่อเราโตขึ้นมุมมองต่อเรื่องก็จะเปลี่ยนไป โมโม่ เป็นเรื่องที่ให้คติเยอะ โต๊ะโตะจัง ให้ความรู้สึกอบอุ่นใจ และหลากหลายอารมณ์ที่ไม่อาจหาได้จากทีวีทุกวันนี้ และ Lord of the Rings ทั้งนี้ ระรินแนะนำเพิ่มว่า หากพ่อแม่เป็นผู้อ่านให้ลูกฟัง หรืออ่านร่วมกับลูกก็จะช่วยสร้างความอบอุ่นและความผูกพันในครอบครัวได้ด้วย ดังเช่นที่ครอบครัวของเธอฟูมฟักเธอและน้องมา