อดีตสถาปนิกในบริษัทชื่อดังที่มีชีวิตทำงานแสนจะราบรื่น แต่เขากลับเลือกที่จะล้มลุกคลุกคลานบนหนทางการเป็นเจ้าของร้านกาแฟ ด้วยทักษะเชิงศิลปะกับอารมณ์สุนทรีย์ ผสมเรื่องราวเชิงธุรกิจ ที่รวมตัวเป็นแนวคิดและจิตวิญญาณของ ”บ้านใร่” จึงปรากฏให้เห็นในทุกองค์ประกอบ ทั้งตัวร้าน แก้วกาแฟ รสชาติ บรรยากาศ ฯลฯ จนถึงคนบ้านใร่
กระท่อมไม้ รายเรียงข้าง ทางถนน
“บ้าน” สร้างคน คนสร้าง “บ้าน” ผสานสอง
สม ”บ้านใร่” ร้านกาแฟ แผ่ทางทอง
ทรงจั่วผ่อง ส่องไผท ให้ปฐพี…
คนพร้อม “บ้าน” ขานขับเรื่อง ขำเรืองยิ้ม
นำเอิบอิ่ม ปิ่มเปี่ยมใจ คล้ายในฝัน
ฝากต้นตอ ยี่ห้อไทย ไว้ตำนาน
โตเพื่อวัน เชื้อชั้นไทย “ใร่กาแฟ”
เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “นิทานข้างแก้ว” อันเป็นลิขสิทธิ์ของบ้านใร่กาแฟ ที่บอกถึงความเป็นมาของธุรกิจนี้ โดยมีสายชล เพยาว์น้อย ผู้ปลุกตำนาน ”บ้านใร่” เป็นผู้ร้อยเรียงเรื่องราวบันทึกเป็นคำกลอนข้างแก้วของร้านบ้านใร่กาแฟ
จากลูกชาวนาที่มีรายได้ต่อครอบครัวสามหมื่นบาทต่อปี เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กบ้านนอก ได้โอกาสเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นเด็กวัดและเป็นนิสิตจุฬาฯ ได้เงินเดือนละพันเจ็ด เรียนจบเป็นสถาปนิกเงินเดือนสี่หมื่น จนวันนี้เป็นเจ้าของ “บ้านใร่” มีรายได้เฉลี่ยวันละสี่แสน และมีสาขา 94 แห่งทั่วประเทศ
“วันนี้ ผมสำเร็จได้ก็เพราะคน ผมเชื่อเรื่องคน มากกว่าคนคือจิตใจของคน เหนือกว่าจิตใจคือความเชื่อ และความเชื่อที่เป็นบวกเท่านั้นที่สร้างโลก มันอาจอธิบายไม่ได้ด้วยทฤษฎีธุรกิจ แต่อธิบายได้ด้วยระบบสังคมไทย คือ เอื้ออาทร ปรองดอง รอมชอม” สายชลตอบถึงแนวคิดแห่งความสำเร็จของธุรกิจบ้านใร่
ความเชื่อเรื่องคน และการให้ความสำคัญกับจิตใจคนถือเป็นปรัชญาการทำงานของบ้านใร่ แสดงออกมาในรูปของฝ่ายจิตวิทยาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นดูแลจิตใจของคนทั้งภายในและภายนอกองค์กร และฝ่ายโรงเรียนบ้านใร่วิทยาซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาบุคคลทั้งทางทักษะและคุณธรรม รวมถึงนโยบายบางอย่าง เช่น การให้ลาหยุดในวันเกิดของตนและผู้มีพระคุณ 2 ท่าน ระบบการปกครองแบบ “ผู้ใหญ่บ้านดูแลลูกบ้าน” และการวัดคนจากเกณฑ์คุณธรรม และความอุตสาหะ เป็นต้น
“ทุกวันนี้บ้านใร่แข็งแรงอยู่ได้เพราะวัฒนธรรม บ้านใร่เอาระบบสังคมเข้ามา เอาสิ่งสวยงามเดิมๆ ของความเป็นไทยมาใส่ เช่น การให้เกียรติกัน การเอื้ออาทรกัน … และเราใช้ระบบความดีเป็นตัววัดผลงาน”
ขณะที่บริษัท ออกแบบไร่นา ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านใร่กาแฟ นิยามการทำธุรกิจว่าเป็นการออกแบบธุรกิจการเกษตร โดยมีปรัชญาคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสังคมศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์ สายชลยกตัวอย่างสิ่งที่บ้านใร่ทำ เช่น บ้านใร่สาขาเอกมัย บนเนื้อที่ 2 ไร่ มีลานดินแดงเปิดเป็นลานกิจกรรม ซึ่งจะมีการแสดงเชิงวัฒนธรรม มีสวนพันธุ์พืช และมีพื้นที่เข้ามาตั้งของขายได้ฟรี พร้อมทั้งเปิดให้ใช้สถานที่จัดอีเวนต์ หรือเปิดตัวสินค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย “ผมลงทุนเครื่องเสียงไป 2 แสนกว่า ไฟฟ้าก็พร้อม แต่ไม่คิดเงิน เพราะผมขอรวยจากกาแฟ ลานตรงนี้ถือเป็นการตอบสนองสังคม”
อีกตัวอย่างเช่น การปรับราคากาแฟจาก 50 บาท เป็น 80 บาท โดยเงินที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นให้ “น้องบ้านใร่” และเกษตรกรขายได้ในราคาสูงขึ้น “ถ้าคิดระบบธุรกิจมันโง่มาก แต่คิดระบบสังคมคือแฟร์ที่สุด ผมใช้เกณฑ์สังคมเพราะผมได้ดีมาจากระบบสังคม ถ้ามีคนบอกว่าแล้วเกี่ยวอะไรกับเขา ผมบอกเลยว่า คุณก็ไม่ใช่ลูกค้าบ้านใร่ และถ้าคนทั้งประเทศเป็นอย่างนี้หมด ผมก็จะปิดบ้านใร่ ไม่มีประโยชน์ที่จะทำต่อ”
และล่าสุดก็คือ กาแฟแก้วละ 400 บาท ซึ่งสายชลบอกเหตุผลที่ลงทุนทำไป ก็เพื่อสร้างชื่อกาแฟ “ไทยดอยเหนือวาวี” ให้เป็นที่รู้จัก “เราขายเพียงพันหน่อยได้มาสี่แสนบาท แต่การจัดงานให้คนยอมรับก็ 5 แสนไปแล้ว เราทำอย่างนี้ทำไม คำตอบก็คือ เป็นการทำเชิงสังคม”
อย่างไรก็ดี วันนี้บ้านใร่กำลังแต่งตัวใหม่เพื่อเตรียมเข้าสู่ “ยุคพรีเมียม” หรือก็คือการเลื่อนสถานะแบรนด์มาเป็น A++ เพื่อจะสู้กับแบรนด์อินเตอร์อย่างสตาร์บัคส์ นี่ก็คงเป็นเหตุผลแฝงในกลยุทธ์การตลาดเชิงราคาของบ้านใร่ “การปรับราคาทำให้ลูกค้าหายไป 65,000 คน ซึ่งถ้าหายไปมากกว่านี้ก็คือเราเดินมาผิดทาง ตอนนี้เราถือว่ายังทำกำไรได้เท่าเดิม แต่ที่ได้ก็คือ “น้อง” ได้เงินเพิ่มขึ้น เกษตรกรได้ราคาดีขึ้น บริษัทอาจขาดทุนเชิงธุรกิจ แต่ได้กำไรทางสังคม คือ goodwill มันไปอยู่ที่แบรนด์แล้ว”
สิ่งที่สายชลพยายามคือ การทำให้สากลยอมรับในแบรนด์ไทย และระบบแนวคิดเชิงธุรกิจแบบไทย ได้แก่ การมองคนเป็นหัวใจขององค์กร การดูแลจิตใจคน และความสมดุลระหว่างคุณค่าเชิงธุรกิจและสังคม ซึ่ง เป็นสิ่งที่แปลกแยกในเชิงโครงสร้างความคิดของการทำธุรกิจ จึงไม่น่าแปลกที่สายชลจึงยังคงต้องฟันฝ่ากับกระแส ความไม่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการสร้างภาพ หรือความจริง ที่ถาโถมมาจากนักการตลาด นักธุรกิจทุนนิยมจ๋า และผู้บริโภคบางกลุ่มอีกสักพัก
“ทุกวันนี้มีแต่คนคิดว่า ผมทำอย่างนี้เพื่อสร้างภาพ จริงๆ แล้วผมทำตามอัธยาศัย หรือนิสัยที่ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก ผมโตในยุคที่เขาบอกว่าฝรั่งเหนือกว่าเรา แต่ผมเชื่อว่าไทยเหนือกว่าฝรั่งตรงความเป็นไทย ผมก็ตั้งชื่อไทย และพิสูจน์ให้เห็นว่าชื่อไทย สินค้าไทย แนวคิดแบบไทยก็ประสบความสำเร็จได้”
“ผมให้ราคาเกษตรกรสูงกว่าเจ้าอื่น จ่ายเงินเดือน “น้อง” 17% ของยอดขาย เพราะผมเคยเป็นลูกชาวนา เคยเห็นพ่อแม่ถูกกดค่าแรง เคยถูกนายทุนเอาเปรียบ ผมเคยบอกกับตัวเองว่า ถ้าผมเป็นใหญ่ผมจะไม่ทำ ผมกำหนดว่ากำไรบริษัทต้องไม่เกิน 25% ถ้าเกินก็ต้องคืนให้สังคม เป็นทุนการศึกษา “น้อง” บ้าง หรือขึ้นราคาให้เกษตรกร ผมถึงไม่ชอบที่ใครมาว่าผม marketing เพราะผมว่าการตลาดกว่าครึ่งทำลายระบบสังคม”
เมื่อถามถึงต้นแบบที่ทำให้สายชลมาถึงจุดนี้ คนหนึ่งก็คือ พ่อของเขา “พ่อเป็นต้นแบบของการทำงานหนัก พ่อมีลูก 9 คน มีลูกตาบอด พ่อหวังให้ลูกได้เรียนหนังสือสูงๆ พ่อไปทำนา ทำไร่ปอ เป็นช่างไม้ที่กรุงเทพฯ ทำงาน 6 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม ทำทุกอย่างจนอายุ 70 ปี เพิ่งจะได้เห็นความสำเร็จ แกได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานพ่อดีเด่น” บทเรียนจากพ่อกลายเป็นความเชื่อด้านบวกของสายชล “ทำงานหนักบรรลุผลเสมอ เมื่อใส่มิติเวลาลงไป” แล้วความเชื่อนี้ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายความเชื่อที่สายชลพร่ำสอนให้กับ “น้อง” บ้านใร่
นับตั้งแต่เริ่มเป็น “สายชล บ้านใร่” จนวันนี้เขายังคงทำงานหนัก ยังเป็นผู้นำที่น่าศรัทธาของ “น้อง” ยังพยายามทำให้ “น้อง” มีชีวิตที่สูงขึ้น ยังไม่เคยละทิ้งเสื้อฟอร์มสีส้มไปผูกไทใส่สูททำงาน ยังคงขับรถฮอนด้าคันเก่าคันเดิม ยังอยู่อพาร์ตเมนต์ราคา 3,500 บาท/เดือนเหมือนก่อน ยังไม่มีตู้เย็นในห้องพัก และยังคงกินอาหารข้างทาง เพราะยังไม่ว่างเพียงพอที่จะหา ”ใคร”มาคอยดูแล หรือดูแล ”ใคร” ได้เต็มที่
“อย่าเรียกว่าสมถะ จริงๆ ผมไม่ใช่คนสมถะ ผมยังเป็นของคนปกติ ยังอยากมีบ้านหลังใหญ่ๆ อยากมีแอร์เย็นๆ แต่วันนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นที่ผมต้องมี แต่บ้านแม่และน้องผมมีแอร์นะ” ราวกับทั้งชีวิตของ “สายชล บ้านใร่” ได้อุทิศให้แล้วกับร้านกาแฟ น้องบ้านใร่ และแม่กับน้อง จนต้องพัก “ชีวิตส่วนตัว” ไว้ชั่วคราว
จนกว่าจะถึงกลางปี 2549 ที่เขาจะสละตำแหน่งประธานบ้านใร่เพื่อให้โอกาส “น้อง” รุ่นใหม่ได้ขึ้นมาแทน เมื่อถึงเวลานั้น เขาคงจะได้ใช้ชีวิต “ปกติ” โดยไม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีตลอดเวลา ไม่ต้องทำงานหนักขนาดนี้ หรือไม่ต้องแกล้งเข้มแข็งต่อหน้า “น้องบ้านใร่” และอาจมีเวลาส่วนตัวเป็นของ “สายชล เพยาว์น้อย” มากขึ้น (??) เหลือเพียง “สถาบันสร้างคน บ้านใร่วิทยา” โปรเจกต์ใหญ่เพื่อบ้านใร่และสังคม ไว้แก้เหงาหลังเกษียณ
Positioning ของสายชลที่ทำให้เราต้องตามไปสัมภาษณ์
1. เป็นเจ้าของร้านกาแฟไทยที่ใช้ชื่อไทยแท้ๆ (ทั้งยี่ห้อ “บ้านใร่ฯ”, “ไทยชง”) และมีสาขามากที่สุดในประเทศ (ณ วันนี้)
2. เป็นเจ้าของความคิด “สวนแห่งการดื่มกาแฟ” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเจ้าของความคิดกาแฟไทยที่มีราคาแพงที่สุด (ณ วันนี้)
3. เป็นผู้ (พยายาม) สร้างระบบธุรกิจแบบไทย โดยใช้แนวคิดของระบบสังคมไทย และเกณฑ์ความดีงามประเมินผล ซึ่งต่อไปจะเผยแพร่แนวคิดนี้อย่างเป็นระบบผ่าน “สถาบันสร้างคนบ้านใร่วิทยา” (ปัจจุบัน กำลังสร้างอยู่ที่เขาใหญ่)
Profile
Name : สายชล เพยาว์น้อย
Born : 20 พ.ค. 2509
Family : โสด
Education :
ปริญญาตรี ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มัธยมปลาย โรงเรียนผดุงศิษย์พิทยา กรุงเทพฯ
มัธยมต้น โรงเรียนหนองแซงวิทยา สระบุรี
ประถมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนวัดหนองพลับ สระบุรี
ประถมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดหนองน้ำสร้าง สระบุรี
Career Highlights:
2542 – ปัจจุบัน ประธานบริหาร บริษัท ออกแบบไร่นา (ประเทศไทย) จำกัด
2535 – 2542 รองผู้จัดการส่วนออกแบบ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮาส์ จำกัด
ปัจจุบัน คณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ปัจจุบัน วิทยากรบรรยายพิเศษ