หากเราจะหาใครสักคนที่ได้เห็นและลงแรง “ลุย” กับวงการธุรกิจอินเทอร์เน็ตไทยมาตั้งแต่ต้น บัณฑิต ว่องวัฒนสิน อดีตผู้ร่วมก่อตั้งและบุกเบิก Internet KSC ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ISSP เจ้าของแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตยี่ห้อ E-go อันโด่งดัง รวมถึงธุรกิจเนื้อหาและบริการบนมือถือที่ร่วมทุนกับ UCOM ชื่อบริษัท ConnectOne เจ้าของบริการ Ring4U และอื่นๆ อีกมากมายบนโทรศัพท์มือถือ ชายหนุ่มใบหน้าอ่อนกว่าวัย 39 ปีผู้นี้ผู้นี้คร่ำหวอดในธุรกิจอินเทอร์เน็ตมานานถึง 10 ปีได้เล่าให้เราฟังถึงการทำงาน สิ่งที่ได้เรียนรู้ และวิสัยทัศน์ที่เขามองเห็น
หลังจากจบปริญญาโท MBA จาก Boston University บัณฑิต เริ่มงานด้านการจัดการธุรกิจเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบ้านฉาง 2 ปี จากนั้นกลับมาช่วยกิจการของพ่อแม่คือโรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรีโดยไปทำงานที่ประเทศลาวอยู่ถึง 4 ปี ก่อนจะบินกลับมาช่วยพี่สาวก่อตั้งและบุกเบิกบริษัท Internet KSC ในปี 2537 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ISP รายแรกๆ ของไทย ซึ่งขณะนั้นบัณฑิตเป็นแกนสำคัญในการสร้างระบบเก็บเงิน (billing), บัญชี, การเงิน ไปจนถึงการตลาดของบริษัทขึ้นมากับมือ ซึ่งเขาเล่าว่าทำงานเข้ากับกับ ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนสิน ผู้เป็นพี่สาวได้อย่างราบรื่นมาก ถึงแม้ต่างคนจะมีความคิดของตัวเอง แต่ก็มักจะประสานกันได้ดีเสมอ โดยงานส่วนใหญ่ของพี่สาวจะเป็นด้านนโยบายและการติดต่อทางธุรกิจภายนอก ส่วนเขาจะสร้างและดูแลระบบงาน “หลังบ้าน” ของ KSC ให้เรียบร้อย
ปี 2543 การแข่งขันในวงการ ISP ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เกิดยุคดอทคอมบูม มีการไล่ซื้อกิจการดอทคอมกันในราคาสูงๆ ในตลาดหุ้น NASDAQ ที่สหรัฐฯ ก็มีการ IPO หุ้นดอทคอมใหม่เข้าตลาดมากมาย ราคาหุ้นดอทคอมขึ้นสูงเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ สองพี่น้องเล็งเห็นสภาวะต่างๆ เหล่านี้จึงตัดสินใจ “ถอยออกมาดูเหตุการณ์” โดยขายบริษัท Internet KSC ที่ตั้งขึ้นมาด้วยเงินทุน 3.5 ล้านบาทในราคาที่ไม่เปิดเผย (แต่คาดกันว่าสูงกว่าเงินทุนเป็นสิบเท่า)
จากนั้นไม่นานฟองสบู่ดอทคอมล่มสลายอย่างรวดเร็ว และในภาวะที่ทุกคนมองธุรกิจอินเทอร์เน็ตไปในทางลบนี้เอง บัณฑิตกลับลงทุนซื้อกิจการบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารไทยพาณิชย์ชื่อ Siam Global Access หรือ SGA มา “ในราคาที่สมเหตุสมผล” แล้วนำมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ISSP ซึ่งย่อมาจาก Internet Solution & Service Provider และไม่ใช่เพียงเปลี่ยนชื่อกิจการ บัณฑิตได้ขยับขยายทั้งเพิ่มความเร็วของการเชื่อมต่อหลักของบริษัทเพื่อรองรับผู้ใช้ได้มากขึ้น และขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่ SGA มุ่งแต่ลูกค้าองค์กร มาออกแพ็กเกจชั่วโมงอินเทอร์เน็ตสำหรับคนทั่วไปภายใต้แบรนด์ E-go
ถึงแม้จะมีคู่แข่งหลายรายอยู่ในตลาดอินเทอร์เน็ตแพ็กเกจอยู่แล้ว แต่ E-go ก็สามารถเติบโตจนมามีฐานลูกค้า 3 แสนราย และมีจุดขาย 4 พันจุดทั่วประเทศไทย เขาเชื่อว่า มาจากการทำตลาดทุกด้านเสริมกันทั้งการสร้างแบรนด์ ราคา และส่งเสริมการขาย การขยายจุดจำหน่าย และคุณภาพจนถึงความเร็วของตัวโครงข่ายเอง
บัณฑิตยอมรับว่าถึงแม้เขาจะ “ลุยเดี่ยว” กับ ISSP ในระยะแรกๆ ได้ผลน่าพอใจ แต่ก็ต้องอาศัยความชำนาญ ของดร.กนกวรรณมาช่วยประสานกับคู่ค้าและฝ่ายต่างๆ มากมาย เพราะเป้าหมายที่เขาวางแผนไว้ก็คือการเป็นมากกว่า ISPธรรมดาๆ คือการสร้างโปรแกรมใช้งาน (application) และเนื้อหา (content) ไม่ว่าสำหรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (broadband) และสำหรับโทรศัพท์มือถือ
เขาบรรลุแผนการขั้นแรกด้วยการร่วมทุนกับบริษัท UCOM เจ้าของ DTAC เปิดบริษัท ConnectOne ผลิตบริการเสริมทั้งเนื้อหาและโปรแกรมใช้งานสำหรับโทรศัพท์มือถือ มาเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ของบริษัท ISSP
ตามมาด้วยการเปิดตัวบริการ BBLife ไปเมื่อ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการบุกธุรกิจบรอดแบนด์อย่างครบวงจรไม่ว่าด้านการเป็น ISP งานถนัด หรือเนื้อหากับโปรแกรมใช้งานที่บัณฑิตยอมรับว่ายังเก็บรายได้ลำบากอยู่ก็จริง แต่ก็ต้องทำเตรียมไว้เพราะเขาเชื่อว่า broadband “จะมา” เร็วๆ นี้ และเมื่อถึงวันนั้น ผู้ใช้จะยอมควักเงินดูหนังฟังเพลงและใช้บริการต่างๆ บน broadband เช่นเดียวกับที่ควักเงินเล่นเกมออนไลน์บน broadband อยู่ทุกวันนี้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้นเขาย้ำว่าจะต้องเตรียมเนื้อหาและบริการทุกอย่างให้พร้อมและมีคุณภาพที่สุดเสียก่อน
จุดยืนของธุรกิจ คือการเป็น ISP ที่มีคุณภาพดีถูกใจผู้บริโภค คิดแบบ “การตลาดนำเทคโนโลยี” ในทุกๆ ด้าน จะเป็น ISP ที่เติบโตเร็วและใช้ประโยชน์จาก economy of scale (ความประหยัดจากการผลิตทีละมากๆ) ให้คุ้มที่สุด โปรแกรมใช้งานและเนื้อหาทั้งบน broadband และโทรศัพท์มือถือไว้ “ดัก” ที่กำลังจะมา เช่นเทคโนโลยี 3G หรือการโน้มเข้ามาผสมกันของโทรศัพท์มือถือกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
บัณฑิตกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจไว้ชัดเจนว่า จะไม่วางตัวเป็น network provider วางโครงข่ายซึ่งมีแนวทางทำธุรกิจต่างกัน เขาจะไม่ไปจับธุรกิจเกมซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการความชำนาญเฉพาะด้านสูงและใช้เวลาสร้างนาน และไม่คิดหารายได้จาก banner โฆษณาหรือ e-commerce ซึ่งเขามองว่า “เกิดยาก” ในไทย
ยามว่างของบัณฑิต คือ การปลูกดูแลต้นไม้ กล้วยไม้ที่บ้าน ที่สวนอำเภอปากช่อง โคราช และสะพายกล้องท่องเที่ยวถ่ายรูป
ส่วนไลฟ์สไตล์ในการเล่นอินเทอร์เน็ตและมือถือนั้น บัณฑิตเล่าว่าเขาใช้เพื่อติดต่อสื่อสารมากที่สุด โดยจะเปลี่ยนรุ่นโทรศัพท์มือถือเร็วมาก จะใช้ของใหม่ล่าสุดเสมอเพื่อทดสอบบริการของบริษัทตัวเองและเรียนรู้ฟังก์ชันใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในงาน ส่วนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็ใช้ทดสอบบริการของบริษัทเอง และของคู่แข่ง และที่ต้องทำประจำ คือ เข้าเว็บบอร์ดใน BBLife เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้
เมื่อเราถามถึงหลักการปกครองดูแลทีมงาน บัณฑิตยอมรับว่าเขาโชคดีที่ได้คนเก่งคนดีมาช่วยเสมอ โดยต้องมีระบบจัดการที่ดี เพื่อรักษาคนเก่งเอาไว้ได้ สไตล์การทำงานของทั้งเขาและพี่สาวคือ “ลงไปคลุกคลีกับทุกคน แต่ไม่ใช่ไล่บี้” สิ่งที่เขาทำประจำคือ เดินไปคุยกับพนักงานทุกคนไม่ว่าจะอายุน้อยหรือตำแหน่งใด เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แม้จะมีความเห็นแตกต่างกันไป แต่ก็เปิดโอกาสให้พนักงานได้ลอง เพื่อเป็นประสบการณ์ ให้พนักงานคนนั้นเอง
หลักสำคัญอีกข้อของบัณฑิตคือสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ข้ามแผนก ข้ามสายงาน หรือแม้แต่ข้ามบริษัทระหว่าง ISSP กับ ConnectOne วิศวกรสามารถเรียนรู้การตลาดได้ ฝ่ายการตลาดหรือบัญชีสามารถเรียนรู้เรื่องเทคนิคได้ นอกจากนี้เขายังพยายามสนับสนุนและชี้ให้ทุกคนได้เห็นโอกาสเติบโตก้าวหน้าทั้งความรู้และตำแหน่งใน career path ของตัวเอง ฉะนั้นพนักงานทุกคนจะมีทั้งโอกาสได้เรียนรู้ ได้ก้าวหน้าเติบโตในบริษัทเองอย่างเต็มที่ นำมาซึ่งความจงรักภักดีและทุ่มเทให้กับองค์กร
ส่วนหลักส่วนตัวในการทำงานนั้น คือการให้ความสำคัญเรื่อง “ดูคนให้ออก ใช้คนให้เป็น” สิ่งเหล่านี้เขาเรียนรู้มาจากพ่อแม่ บวกกับที่เขาชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และประวัติบุคคลสำคัญไม่ว่าไทยหรือต่างประเทศ ช่วยให้เรียนรู้เหตุผลการกระทำต่างๆ ของคน จนถึงความเป็นไปของสังคมได้ดีขึ้น ธุรกิจไอทีนั้นหัวใจสำคัญคือคน ครอบครัว เป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งพ่อแม่ พี่สาว เขาเองและน้อง 3 คน ทุกคนประสบความสำเร็จทั้งการเรียนและการงานได้ก็เพราะพ่อแม่อบรมเลี้ยงดูและเป็นตัวอย่างให้ลูกๆ และเพราะพี่คนโตกว่าเป็นตัวอย่างและชี้แนวทางให้กับน้องๆ ถัดลงมา
Profile
Name : บัณฑิต ว่องวัฒนสิน
Age : 39 ปี
Education :
ปริญญาโท MBA Boston University
ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Career Highlights:
2545 – ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ISSP และบริษัท ConnectOne
2537 – 2545 รองกรรมการผู้จัดการบริษัท Internet KSC
2534 – 2537 ช่วยงานโรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี ธุรกิจของครอบครัว
2532 – 2533 งานระบบ IT กลุ่มบ้านฉาง
Website :
www.gotomanager.com/resources/default.aspx?id=3202
“Come back 2 ปีเต็มที่หายหน้าไปจากธุรกิจอินเทอร์เน็ต” (นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2547)
“กนกวรรณ ว่องวัฒนสิน อำลาวงการ แต่เอ็มเว็บยังแค่เริ่มต้น” (นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2544)
“ศึกจัสมิน-เคเอสซี happy ending” (นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2543)