ต้องมีโชค : โชค บูลกุล

ปี 2547 ก็เป็นอีกหนึ่งปีที่บริษัทในกลุ่มของเรา (กลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย) ยังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีเสียงกระแสเกี่ยวกับ FTA ซึ่งได้กระทบทางจิตวิทยากับผู้ประกอบการโดยเฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรมนม แต่การที่ทางเราได้ anticipate หรือเตรียมปรับกลยุทธ์ ปรับทิศทางของธุรกิจเพื่อสู้กับการค้าเสรีก่อนปัญหาจะมาถึงตัวเรา จึงทำให้ผลกระทบนั้นน้อยลง โดยเราเริ่มหันมาพัฒนาโคนมสัญชาติไทยเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศเวียดนาม และมาเลเซีย เป็นต้น จนกระทั่งปัจจุบันยอดสั่งจองโคนมสัญชาติไทยที่ผลิตโดยฟาร์มโชคชัยเป็นที่ต้องการอย่างมากและไม่ทันต่อยอดการสั่งจอง เพราะปัจจุบัน

ผู้ส่งออกโคนมที่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศในแถบเอเชียอาจเรียกได้ว่ามีเพียงฟาร์มโชคชัยเท่านั้นที่สามารถทำได้แต่เพียงรายเดียว แต่ถึงกระนั้นในปี 2548 ก็ใช่ว่าจะเป็นปีที่เราจะประมาทได้ในกลยุทธ์ของการหาความสมดุลให้กับองค์กร ทั้งแนวรุกถ้าเศรษฐกิจดี หรือแนวรับถ้าเศรษฐกิจเริ่มถดถอย องค์กรจะต้องปรับตัวให้ได้ก่อนคนอื่น ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยเชื่อว่าการ “ประสบความสำเร็จ” นั้นมีจริง เพราะถ้าเราคิดอย่างนั้นอาจจะทำให้เราก้าวถอยหลังก็เป็นได้ เพราะความประมาทที่คิดว่าเรานั้นดีอยู่แล้ว แต่ผมเชื่อในการดิ้นรนไขว่คว้าทะเยอทะยานสู่ความสำเร็จนั้นเป็นคุณสมบัติที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ควรมี อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 ผมก็ยังคงจะบริหารงานบนปรัชญา 10 ประการของผม คือ

1. ผู้บริหารต้องมีไหวพริบและสัญชาตญาณที่จะสามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้ถูกต้องกว่าผู้อื่นหรือใกล้เคียงความเป็นจริงให้มากที่สุด พร้อมทั้งยังมีไหวพริบในการมองเห็นโอกาสและสามารถวิเคราะห์ทุกโจทย์ที่ผ่านเข้ามาอย่างมีหลักการ จากประสบการณ์ และมีการตื่นตัวที่อยากรับรู้ถึงการวิเคราะห์จากเหตุไม่ใช่จากผล พร้อมมีความเชื่อมั่นในสัญชาตญาณของการตัดสินใจของตน เพราะฉะนั้นคนที่จะฝ่าอุปสรรคไปได้นั้นจะต้องรู้ว่าทำอย่างไร ไม่ใช่เพียงจะทำอะไร

2. ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์และการสร้างผู้บริหารระดับกลางขึ้นมาทดแทน เพื่อการขยายวงจรของงาน หรือเพิ่มความรอบคอบในการทำงานกันอย่างเป็น team work พร้อมทั้งเพิ่มทักษะในการสื่อสารกันภายในองค์กรและการนำเสนอข้อมูลหรือ presentation technique ทั้งต่อผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อสร้างความ “ศรัทธา” ให้เกิดขึ้น ในองค์กร เพราะในบางครั้งความศรัทธาต่อผู้บริหารนั้นสำคัญกว่านโยบายขององค์กรเสียอีก

3. เข้าใจ business positioning หรือจุดยืนขององค์กร โดยการที่รู้ถึงศักยภาพและความเสี่ยงขององค์กรอย่างชัดเจน เพราะความเข้าใจถึงศักยภาพและความเสี่ยงจะเป็น indicator ที่สำคัญที่สุดของการปรับตัวขององค์กรไม่ว่าจะเพื่อรุกหรือเพื่อรับต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และมีการบริหารวงจรของเงินให้สอดคล้องไปกับแผนที่บริษัทกำลังดำเนินอยู่

4. บริหารงานอย่างเป็นระบบและรู้จักขั้นตอนของการทำงาน (รู้จักที่จะเริ่มต้นจาก 1) มีความอดทน มุ่งมั่น รับผิดชอบ และมีวินัยในการทำงาน ถึงแม้จะผิดแต่มีความชัดเจนย่อมเป็นบทเรียนที่มีค่ากว่าถูกแต่คลุมเครือ อย่าลืมว่าความสำเร็จไม่ได้มาจากหนึ่งการตัดสินใจใหญ่ ที่คลุมเครือแต่เป็นหลายๆ การตัดสินใจเล็กๆ ที่ชัดเจน

5. มีความคิดสร้างสรรค์และมีจินตนาการอยู่ตลอดเวลา แต่เวลาลงมือทำต้องเป็นมืออาชีพ หรือมีความคิดที่นอกกรอบแต่อยู่ในกรอบที่ตัวเองสามารถและมีศักยภาพที่จะทำได้ จงคิดแบบเด็กแล้วทำแบบผู้ใหญ่ แต่อย่าคิดแบบผู้ใหญ่แล้วทำแบบเด็ก หรือคิดบนความฟุ้งเฟ้อ คิดเพียงความมั่งคั่ง แต่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์

6. ความยั่งยืนของธุรกิจต้องมาจากการกล้าที่จะคิดและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้สอดคล้องไปกับกระแสของโลก

7. นักบริหารวันนี้จะต้องรอบคอบแต่ฉับไวในการตัดสินใจหรือทำแผนนโยบายขององค์กร

8. ธุรกิจต้องถูกดำเนินไปอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม เพื่อให้คณะผู้บริหารไม่หลงทางไปติดกับดัก หรือสิ่งที่พยายามปกปิดเอาไว้ หรือสร้างความคลุมเครือในนโยบายต่อผู้ปฏิบัติงานในองค์กร

9. อย่าเอาสิ่งที่เราขาดไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่คนอื่นมี เพราะในบางครั้งอาจทำให้เราท้อแท้และเกิดความโลภ เมื่อนั้น objective และจุดยืนของธุรกิจของเราก็จะเกิดความคลุมเครือ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารขาดสมาธิในการวิเคราะห์โจทย์ ขาดความเชื่อมั่นในการกำหนดแผนงาน และท้ายที่สุดลงเอยด้วยความผิดพลาดนั่นเอง

10. ต้องมี “โชค”

———————————————-
โชค บูลกุล

ผู้บริหารหนุ่มที่ถูกจับตามองในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ล่าสุดเขายังได้รับเลือกจากผู้อ่านนิตยสาร POSITIONING ให้เป็น Young Executive ที่มีคะแนนเป็นอันดับ 1

โชค เป็นทายาทคนโตของโชคชัย บูลกุล ผู้บุกเบิกฟาร์มโชคชัย ต้นตำนานคาวบอยเมืองไทย เขาไม่เพียงแต่พลิกธุรกิจที่เคยติดลบให้ทำกำไร แต่ยังพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับ และเป็นฟาร์มโคนมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้