ปีของหนังเกย์

เมื่อดูจากกระแสปลายปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์เฉพาะกลุ่มสำหรับบ้านเราได้เกิดขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะหนังสำหรับเกย์ แม้ในบางส่วนอาจจะไม่ได้เป็นที่ฮือฮา แต่การนำเข้าหนังจากต่างประเทศของค่ายใหญ่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเสียงจากนักวิจารณ์หลายเสียงก็กำลังบอกว่าปีนี้หนังเกย์กำลังมาแรง

หนังเล็กๆ อย่าง “Formula 17” ของเตมูจิน (เครือสหมงคลฟิล์ม), หรือหนังฮอลลีวู้ด “Alexander” ของ WPM Film International หรือหนังทุนสร้างต่ำแต่ดาราดังอย่าง “A home at the end of the world” ของ Box Office Entertainment ที่ผ่านมา หากยังไม่รวมถึงหนังเกย์ที่โด่งดังในเวทีเมืองคานส์ จากการกำกับของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับชาวไทย กับเรื่อง “สัตว์ประหลาด-Tropical Malady” หนังรางวัลเทศกาล ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “รักร่วมเพศ” ก็ช่วยปลุกกระแสหนังเกย์ แบบที่ไม่ได้ขายเนื้อหนัง หรือมีจริต แบบฉาบฉวยให้มีมากขึ้นอย่างที่คนไทยชอบ ไปสู่ประเด็นที่ความสัมพันธ์จริงจัง มากกว่าการล้อเลียนแบบเดิมๆ ที่มีผู้นำเข้ามาขายมากขึ้น

หนังเกย์ที่เข้ามาในเมืองไทยขณะนี้นั้นมีประเด็นฮิตต่างจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในแง่ที่การมี “Sex Scenes” อันน่าตื่นตะลึงระหว่างชายกับชายเป็นจุดขายของดาราดัง ก็ทำให้หนังดังเป็นพลุแตก ซึ่งประเด็นนี้อาจมีความอ่อนไหวสูงในประเทศที่ค่อนข้างจะอนุรักษนิยมอย่างเมืองไทย โดยเฉพาะเป็นการยากที่จะผ่านด่านของระบบเซ็นเซอร์ เมื่อเทียบกันแล้วหนังกลุ่มที่เป็นทางเลือกแบบแสดงอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มเหล่านี้ ก็ทำให้กลุ่มคนดูขยายตัวเพิ่มขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เทศกาลหนังญี่ปุ่น หนังแอนิเมชั่น ฯลฯ เป็นตัวแบ่งเซ็กเมนต์ใหม่ๆ ให้หนังมีความชัดเจนขึ้น

“ตัวโรงเฮาส์เองก็มีจุดยืนประมาณหนึ่งอยู่แล้วว่าจะฉายหนังที่ไม่มีโอกาสเข้าฉายในโรง แต่ในแง่นี้ การที่ตลาดโลกมีหนังเกย์มากขึ้นในช่วงนี้ แทนที่ก่อนๆ เราเลือกมาแค่จาก 1 เรื่องจากที่มีอยู่แค่เพียง 8 เรื่อง แต่ตอนนี้เราสามารถเลือกเรื่องได้ 5-6 เรื่อง จากเรื่องดีๆ ประมาณ 50 เรื่อง ก็มองเหมือนกันว่าจังหวะนี้เองคนไทยก็เปิดรับได้มากขึ้น แต่เรื่องที่เลือกเข้ามาก็มีคุณค่าในตัวเอง ถ้าไม่นับว่ามันเป็นหนังเกย์ ถ้าคิดว่าเป็นแค่หนังธรรมดามันเป็นหนังที่ยอดเยี่ยมมากเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะบางเรื่องเป็นหนังที่ได้เข้าฉายตามเทศกาล” ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ ผู้บริหารโรงหนังเฮาส์ราม่าให้ความเห็น

บางเรื่องเป็น Love Story ใสๆ ที่แตกต่างก็เพียงเฉพาะเปลี่ยนจากหญิงเป็นชาย อย่าง “Formula 17” ประสบความสำเร็จอย่างสูงในระดับหนังที่เน้นกลุ่มเล็กๆ ทำให้มีผู้เข้าชมที่ House Rama ได้มากกว่า 6 พันคน ถือเป็นความสำเร็จที่โรงนี้กลุ่มคนเล็กเริ่มหันมาให้ความสนใจ จากมุมมองของเฮาส์เองที่เริ่มจะมีหนังประเภทนี้ต่อเนื่องในปลายปีที่แล้ว ในโรงลิโดเองหนังเกย์อย่างเรื่อง “Bear Club” ก็ประสบความสำเร็จทำให้มีคนเข้าชมนับพันคน โปรแกรมหน้าจึงเป็นหนังสารคดีเกย์ เรื่อง “Tarnation” ซึ่งเป็นหนังแปลกอีกเรื่องที่เข้ามาในบ้านเรา

“ตอนนี้มองว่าวิธีการโปรโมตตรงๆ โดยไม่ปิดบังเนื้อหาสาระของหนัง มากกว่าที่จะเอาคำว่าเกย์มาทำให้ดูมีสีสัน เกย์ถูกนำเสนอเป็นเรื่องราว ไม่ได้ขายเพียงแต่ปมปัญหาของคนกลุ่มนี้ เรามองว่าหนังมันมีความน่าสนใจมากกว่าที่จะบอกว่ามันกำลังพูดถึงเรื่องคนเหล่านี้เพียงอย่างเดียว”

ผู้นำเข้าหนังรายใหญ่อย่างกลุ่มสหมงคลฟิล์มมองว่า การเลือกหนังเข้ามาฉายจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายของโรงโดยเฉพาะ เช่น ที่เฮาส์ราม่า หรือลิโด การที่สหมงคลฟิล์มมีนำเข้าภาพยนตร์แต่ละปีเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งนั้นเป็นหนังใหม่ๆ ที่เลือกตามกระแสโลกเช่นกัน “กระแสโลกกำลังให้ความสนใจกับหนังในมุมมองนี้” ซึ่งเป็นมุมมองจากนักวิจารณ์หลายคน

นับเป็นช่วงแรกที่เกิดขึ้นในตลาดบ้านเราที่ยังไม่สินค้าตัวใดจับกลุ่มนี้อย่างชัดๆ ไล่หลังมาตามเทรนด์เครื่องสำอางผู้ชาย เครื่องประดับผู้ชาย ที่เน้นผูกติดไปกับกระแส “Metrosexual” ตลาด “เกย์” ยังเป็นตลาดที่ยังถูกเมินและมีช่องว่างในบ้านเรา เนื่องจากสภาพสังคมและการยอมรับยังจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ในงานวิจัยในต่างประเทศกล่าวถึงกลุ่มนี้ในแง่ที่มีกำลังซื้อสูงมากผิดปกติ…

Did you know?

ประเด็นหนังเกย์สำหรับเหล่าดาราดังในต่างประเทศ เป็นเสมือนบทที่ช่วยอัพเกรดฝีมือการแสดงแบบดราม่าสำหรับดาราชายที่มีชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ทอม แฮงค์ กับรางวัลออสการ์ใน เรื่อง “Philadelphia” หรือล่าสุด คอลิน ฟาร์เรลล์ ก็ได้รับมุมมองจากนักวิจารณ์ที่ดีขึ้นในเรื่องของเทคนิคการแสดง ในขณะที่ แม็คคอเล่ย์ คัลกิ้น เจ้าหนูชื่อดังของ Home Alone ที่คัมแบ็กในบทเกย์หลังจากหายไปจากจอมา 9 ปี ก็กลับมาโดยการสร้างผลงานเขย่าเวทีซันแดนซ์อีกครั้ง