อนาคตมังกร Lenovo หลังเขมือบต้นตำรับ PC

การประกาศซื้อกิจการของไอบีเอ็มในส่วน PC hardware ของบริษัทคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอันดับหนึ่งของจีนอย่าง เหลียนเสี่ยง (??) หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ เลโนโว (Lenovo) เมื่อปลายปี 2547 ไม่เพียงแต่ทำให้คนในแวดวงไอทีตกตะลึง แต่ยังทำให้ชาวโลกคาดไม่ถึงอีกด้วย

การซื้อกิจการครั้งนี้คงจะไม่เป็นเรื่องแปลกอะไร หากยักษ์สีฟ้า-ไอบีเอ็ม มิใช่บริษัทในตำนานของชาวอเมริกันซึ่งคิดค้นและผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลออกมาเป็นเจ้าแรกของโลก… เลโนโว มิใช่บริษัทจีนที่มีอายุเพียง 20 ขวบและก่อตั้งมาด้วยเงินทุนแรกเริ่มเพียง 200,000 หยวน (ราว 24,000 เหรียญสหรัฐ) … ดีลนี้ไม่มีมูลค่ามากถึง 1,750 ล้านเหรียญสหรัฐ และการฮุบ IBM-PC ไม่ผลักให้เลโนโวกลายสภาพจากเจ้าตลาด PC ในประเทศจีนกลายเป็นผู้ครองตลาด PC อันดับสามของโลก โดยกินสัดส่วนตลาดราวร้อยละ 7.7 รองจาก เดลล์ และ เอชพี

เลโนโวมาจากไหน? ทำไมถึงมาซื้อ IBM-PC ได้? ทำไม IBM จึงยอมขายธุรกิจที่ตัวเองคือผู้ริเริ่มเจ้าแรกของโลก? IBM หลอกขายของเน่าให้บริษัทจีนหรือเปล่า? แล้วทำไมเลโนโวจึงยอมซื้อ? ฯลฯ

คำถามมากมายเกิดขึ้นตามมาเป็นพัลวันทั้งก่อนและหลังการประกาศซื้อกิจการครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าวที่มีมูลค่า 1,750 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเลโนโวจะต้องจ่ายให้ไอบีเอ็ม แบ่งเป็นเงินสด 650 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นหุ้นบริษัทร้อยละ 18.9 หรือมูลค่าเท่ากับ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ และรับภาระหนี้ของไอบีเอ็มอีก 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่เมื่อพิจารณาจากความเห็นของนักลงทุนและกระแสตอบรับจากตลาดหลักทรัพย์ต่อดีลดังกล่าว ก็ไม่สู้ดีนัก โดยล่าสุดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อมีข่าวว่า ทางกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ประกาศว่าจะทบทวนการเทกโอเวอร์ดังกล่าว เนื่องจากหวั่นว่าจะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่กระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ อันอาจส่งผลให้การซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะ กลับทำให้ราคาหุ้นของบริษัท เลโนโว ทะยานขึ้นถึงร้อยละ 6

อย่างไรก็ตามการมองแต่เพียงว่า ภาวะขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีของ IBM-PC นั้นจะทำให้เลโนโวล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นก็ออกจะเป็นความตื้นเขินเกินไป เพราะการวิเคราะห์ดังกล่าวจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายแง่มุม

ทำไม IBM ถึงยอมขาย PC hardware division? คำตอบก็คือ ธุรกิจฮาร์ดแวร์ต่างจากซอฟต์แวร์ คือในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหลัง IBM วางตลาด PC เครื่องแรกเมื่อปี 2524 มีคู่แข่งเลียนแบบผลิต PC ขึ้นมาแข่งกับไอบีเอ็มมากขึ้นมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในสหรัฐฯ เอง เช่น เดลล์ เอชพี คอมแพค หรือบริษัทญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ที่ต่างก็สามารถเทคโนโลยีจนสามารถในการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้ นอกจากนี้ มีตลาด และคิดค้นช่องทางการตลาดได้เก่งกว่า

ที่สำคัญ PC ของ IBM มิสามารถสร้างความแตกต่างหรือผูกขาดตลาดได้เหมือนกับระบบปฏิบัติการ Windows ของไมโครซอฟท์ หรือ CPU หัวใจแห่งคอมพิวเตอร์ของอินเทล โดยเฉพาะในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ IBM จึงยอมตัดเนื้อส่วนที่เน่า มาสร้างเสริมกำลังให้กับธุรกิจที่สร้างกำไรให้ตัวเองอย่าง Business Services การประกอบชิพ การขายเซิร์ฟเวอร์ประสิทธิภาพสูง และระบบจัดเก็บข้อมูล

หันมาทางด้านมุมผู้ซื้อ บริษัทเหลียนเสี่ยง (Lenovo) ที่มีชื่อเดิมว่า Legend…

เหลียนเสี่ยง เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของนักวิทยาศาสตร์ในรั้วมหาวิทยาลัยของจีน 11 คนเมื่อปี 2527 โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเติบโตจนกลายเป็นบริษัทผู้ผลิต PC อันดับหนึ่งของประเทศจีน โดยปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศจีนมากถึงร้อยละ 27

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเส้นทางการเติบโตของเหลียนเสี่ยงแล้วก็จะพบได้ว่า เดิมบริษัทนี้เป็นเพียงตัวแทนจำหน่าย PC ยี่ห้อต่างชาติในจีน ก่อนที่จะได้รับการอุ้มชูจากรัฐบาลจีนที่พยายามฟูมฟักภาคไอทีของชาติให้เข้มแข็ง ทำให้อีก 5 ปีต่อมา (2532) เหลี่ยนเสี่ยงเริ่มผลิต Motherboards วางระบบคอมพิวเตอร์ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และในปี 2533 ก็เริ่มผลิต PC ของตัวเองสู่ตลาด และต่อมาขยับตัวเองเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและนิวยอร์ก

หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก บริษัทต่างชาติเริ่มหลั่งไหลเข้ายึดครองส่วนแบ่งทางการตลาดในทุกๆ ภาคธุรกิจของจีน เหลียนเสี่ยงเองก็เช่นกัน เมื่อถูกกดดันจากคู่แข่งระดับเฮฟวี่เวตจากต่างชาติอย่างเช่น เดลล์ บริษัท PC ที่มียอดขายอันดับหนึ่งของโลก ที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารุกตลาดจีนอย่างหนัก ทำให้เหลียนเสี่ยงจำเป็นที่จะต้องผลักตนเองให้ก้าวขึ้นเป็นแบรนด์คอมพิวเตอร์ในระดับโลกให้ได้ โดยก้าวแรกที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ รีแบรนด์ จาก Legend เป็น Lenovo เมื่อปี 2546

ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “การรุก คือ การตั้งรับที่ดีที่สุด”

เหลียนเสี่ยง ที่มีธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจ PC ก็เช่นกันเมื่อถูกต่างชาติรุกไล่ แทนที่จะมัวแต่ตั้งรับก็จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ “รุกตลาดนอก เพื่อป้องตลาดใน”

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาลงไปแล้ว แบรนด์เกิดใหม่จากประเทศจีนอย่างเลโนโวนั้นเห็นได้ว่าเสียเปรียบคู่แข่งจากสหรัฐฯ ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นชื่อชั้นของแบรนด์ เทคโนโลยี ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เครือข่ายทางการตลาดในต่างประเทศ ฯลฯ

อย่างเช่นในเรื่องของเทคโนโลยีนั้นเป็นที่ทราบกันว่า แม้จีนจะเป็นประเทศศูนย์ผู้ผลิตเครื่อง PC และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ของโลก แต่เทคโนโลยีแกน (Core Technology) ซึ่งเป็นหัวใจของอนาคตนั้นบริษัทจีนยังตามหลัง สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน อยู่มาก เห็นได้ชัดเจนจากคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา หรือโน้ตบุ๊ก ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ที่แม้แต่ในประเทศ ยี่ห้อของบริษัทจีนเองก็ยังไม่สามารถยึดครองตลาดเอาไว้ได้

ด้วยเหตุนี้การจะก้าวขึ้นสู่ระดับโลก เลโนโวจำต้องอาศัยพื้นฐานจากบริษัทจากตะวันตก ซึ่งก็นับเป็นเรื่องประจวบเหมาะพอดีที่ทางไอบีเอ็มก็มีความต้องการที่จะขายส่วน PC ทิ้งไปด้วยเช่นกัน

หยางหยวนชิ่ง ซีอีโอของกลุ่มเหลียนเสี่ยง เล่าว่า ดีลนี้เกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อนขณะที่ประธานบริษัทไอบีเอ็มมาเยือนปักกิ่งและเสนอขายส่วน PC ให้กับทางเหลียนเสี่ยง ซึ่งทางผู้บริหารของเหลียนเสี่ยงเมื่อได้ยินก็ยินดีรับสานต่อข้อเสนอดังกล่าวทันที โดยเชื่อมั่นว่าดีนี้จะเป็นประโยชน์กับเหลียนเสี่ยง คือ

– เลโนโวจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่อันดับสามในตลาด PC โลก
– แบรนด์ไอบีเอ็มจะช่วยเสริมให้แบรนด์เลโนโวเป็นที่รู้จักในตลาดโลกในวงกว้างขึ้น
– เลโนโวจะมีฐานลูกค้าที่หลากหลาย และเครือข่ายในการขายที่ใหญ่มหาศาล
– การได้ทีมบริหารระดับชั้นนำของโลกมาเสริมทัพ
– ได้เทคโนโลยีชั้นนำของโลกมาไว้ในมือ
– มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น
– ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่สูงขึ้น

และที่สำคัญสานฝันยุทธศาสตร์ผลักเลโนโวให้ก้าวขึ้นสู่การระดับโลกสำเร็จ

ขณะที่นักวิเคราะห์ฝ่ายจีนเอง ก็มองว่าในด้านดี การควบรวมดังกล่าวนั้นหากมองในมุมธรรมชาติธุรกิจแล้วก็นับว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เนื่องจากธุรกิจหลักของเลโนโวคือ PC การเทกโอเวอร์ธุรกิจ PC ของไอบีเอ็มเข้ามาบริหารต่อนั้นย่อมดีกว่าการไปซื้อบริษัทซอฟต์แวร์ หรือบริษัทด้านไอทีอื่นๆ ที่เลโนโวไม่มีความถนัด

อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายก็มิใช่ว่าจะสำเร็จได้โดยง่ายอย่างที่ผู้บริหารของเลโนโววาดฝันเอาไว้ เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยชี้ให้เห็นว่า อุปสรรคที่เลโนโวจะต้องประสบหลังการซื้อกิจการส่วน PC ของไอบีเอ็มนั้นมีอยู่หลายประการ โดยอุปสรรคที่จะน่าเป็นห่วงที่สุดในขั้นแรกของการเทกโอเวอร์ก็คือ จะแก้ไขปัญหาการปะทะกันของวัฒนธรรม และผสมผสานวัฒนธรรมของสององค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว?

หวังผู ศาสตราจารย์ด้านบริหารธุรกิจผู้มีชื่อเสียงแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า หากจะเปรียบไป ‘ไอบีเอ็ม’ ก็เหมือนกับ ‘โคคาโคล่า’ ที่เป็นแบรนด์อเมริกันเต็มตัว โดยสถานะของไอบีเอ็มในแวดวงไอทีนั้นถือเป็นแบรนด์คลาสสิกของวงการคอมพิวเตอร์ และไอทีของโลก เป็นแบรนด์ที่เป็นตัวแทนชาวอเมริกัน วิถีชีวิตแบบอเมริกัน ทำให้แบรนด์ IBM อุดมไปด้วยความหมายในเชิงวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึก ส่งผลให้การปรับเปลี่ยนไอบีเอ็มนั้นมีความยากลำบากอย่างสาหัสสากรรจ์

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงทรัพยากรบุคคลแล้ว การควบรวมเอาพนักงานหมื่นชีวิต ที่กระจายอยู่ใน 200 พื้นที่-ประเทศทั่วโลกของ IBM-PC เข้ามาให้เป็นหนึ่งเดียวกับพนักงานอีกหมื่นชีวิตของเหลียนเสี่ยงที่อยู่ในประเทศจีน อุปสรรคไม่เพียงแต่การผสมวัฒนธรรมองค์กรอเมริกันเข้ากับจีน แต่หมายถึงผสานวัฒนธรรมจีนเข้ากับวัฒนธรรมสากลของอีก 200 ประเทศด้วย

ศาสตราจารย์หวัง ชี้ต่อไปว่า หากผู้บริหารเลโนโวสามารถบริหารความแตกต่างในการรวมองค์กรมิให้เกิดความขัดแย้ง แต่ส่งผลดีทำให้เกิดความหลากหลาย มีความชัดเจนในการประกาศวัฒนธรรมองค์กร ผสมผสานจุดเด่นของทั้งสององค์กรได้อย่างลงตัวแล้วละก็ เลโนโวที่กลืน IBM-PC เข้าไป ก็จะกลายเป็น ‘เสือติดปีก’ อย่างแน่นอน

แต่ทั้งนี้ ความท้าทายแรกที่จะเป็นมาตรวัดว่าการตัดสินใจซื้อกิจการดังกล่าวถูกต้อง ก็คือ ในปีนี้ผู้บริหารเลโนโวต้องรักษาตัวเลขยอดขายระดับ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (อันเป็นตัวเลขยอดขายรวมในปี 2546 ของไอบีเอ็มพีซี 9,000 ล้านเหรียญฯ และ เลโนโว 3,000 ล้านเหรียญฯ) และตำแหน่งอันดับที่ 3 ในสัดส่วนตลาดพีซีโลกเอาไว้ให้ได้เสียก่อน