บนเส้นทางสายศิลปะของ อดุลย์พันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ชื่อของ อดุลย์พันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในแวดวงของคนทำงานศิลปะบ้านเรานั้นพูดได้ว่า “มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ” คนหนึ่ง ผลงานที่โดดเด่นของเขาไล่มาตั้งแต่ภาพนู้ดที่แปลกและฉีกไปจากขนบของนู้ดแบบเดิมๆ กระทั่งกลายมาเป็นโลโก้ของเขาในที่สุด หรือภาพปกหนังสือเล่มของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ในยุครุ่งเรืองอดุลย์พันธ์ก็ฝากผลงานไว้จำนวนไม่น้อย หรือว่างานภาพประกอบเรื่องตามหน้านิตยสารเขาก็ทำมาแล้วร่วมยี่สิบปี และปัจจุบันก็มีงานปรากฏอยู่สม่ำเสมอ เช่น นิตยสาร mars, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เป็นต้น

หลังเรียนจบจากคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร อดุลย์พันธ์เป็นครูสอนศิลปะอยู่ 2 ปี “เป็นครูไม่มันเท่าทำหนังสือ” เขาให้เหตุผล และเพราะความมันที่ว่านั่นเองทำให้อดุลย์พันธ์คลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังสือนับสิบปี โดยมีตำแหน่งเป็นถึงบรรณาธิการนิตยสารวัยรุ่นชื่อดังยุคโน้น-วัยหวาน “คงเพราะอายุเยอะขึ้นด้วยมั้ง เลยไม่สนุกที่จะทำ ผมทำหนังสืออยู่ 10 ปี จากนั้นก็เลยออกมาเขียนรูปอย่างเดียว”

นับจากนั้นวิถีศิลปินอิสระของ อดุลย์พันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ก็เริ่มต้น…

– ช่วงที่ทำหนังสือหรือขณะเป็นบรรณาธิการ คุณได้ทำภาพประกอบบ้างไหม

“ผมทำมาตลอด ตั้งแต่เรียนจบมาก็ทำมาเรื่อยๆ อย่างปกพ็อกเกตบุ๊กของพี่ปุ๊ (‘รงค์ วงษ์สวรรค์) ผมก็ทำ นอกจากนี้ก็มีงานดีไซน์หัวหนังสือ เพราะเมื่อก่อนตัวลอกไม่มี ต้องดีไซน์เอง ผมดีไซน์ตัวหนังสือเก่ง เพราะฉะนั้นก็เลยมีคนจ้างผมดีไซน์เยอะพอสมควร มีทั้งหนังสือรายเดือน รายปักษ์”

– การทำภาพประกอบเรามีอิสระเต็มที่ในการทำไหม

“ก่อนอื่นก็ต้องอ่านเรื่อง ไม่ว่าจะทำหน้าปกพ็อกเกตบุ๊ก ภาพประกอบเรื่อง หรือการดีไซน์หัวหนังสือก็ต้องให้เข้ากับเรื่องของเขา ถ้าเป็นภาพประกอบเรื่องสั้นก็ต้องอ่านเรื่องแล้วก็ตีเรื่องให้แตกตามเนื้อเรื่อง”

– การที่คุณร่ำเรียนเรียนมาด้านจิตรกรรม พอมาทำงานเกี่ยวกับเขียนภาพประกอบที่ต้องตอบโจทย์อะไรบางอย่าง คุณถูกเปรียบเทียบกับคนที่ทำงานสายจิตรกรรมโดยตรงบ้างไหม

“ก็เจอบ้าง แต่ผมเฉยๆ มันก็มีคนมาอำแหละว่า เขียนได้หรือวะ ต้องเข้าใจว่าคนวงการนี้มันปากจัดกันเยอะ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรมันเป็นเรื่องของเขา ของแบบนี้มันอยู่ที่เรามากกว่าว่าจะทำได้ดีแค่ไหน ถ้าเขียนนู้ดให้ดี เขียน landscape ให้ดี ทำให้มันมีบุคลิกของตัวเอง คนก็จะพูดไม่ออก แล้วการที่ผมเขียนภาพประกอบมาตลอดก็เป็นการฝึกเทคนิคไปในตัว ฝึกเล่นอะไรไปเรื่อย เพราะงานประเภทนี้ไม่ต้องซีเรียสมาก ฉะนั้น ผมจึงได้เทคนิคจากงานลักษณะนี้เยอะเหมือนกัน”

– แล้วช่วงที่คุณตัดสินใจออกมาเขียนรูปอย่างเดียว ชีวิตเป็นอย่างไร

“ช่วงแรกลำบากมาก เพราะเคยแต่รับเงินเดือนอย่างเดียว แล้วเงินเดือนดีด้วยนะ เดือนหนึ่งได้ 3-4 หมื่น สมัยโน้นนะ แต่ก็ไม่ได้คิดจะเก็บอะไรเท่าไร เพราะเรารับเงินทุกเดือน ตอนแรกก็ขลุกขลักน่าดู แต่มีรุ่นน้องคนหนึ่งชื่อต๋วง-จามิกรบอกว่า พี่ผมโดนมาแล้ว เราต้องข้ามกำแพงเหล็กนี้ให้ได้ ถ้าไม่ทะลุก็ต้องกระโดดข้าม ซึ่งผมเองก็ใช้เวลาอยู่ 5 ปีกว่าจะผ่านจุดนั้นมาได้ หลังๆ รูปเขียนก็มีคนซื้อตลอด”

– หมายความว่าหลังจาก 5 ปี ที่ว่าเขียนรูปอย่างเดียวก็อยู่ได้เลยใช่ไหม

“ก่อนหน้านี้ผมก็เขียนรูปมาตลอด แต่คนไม่ค่อยซื้อ อาจจะเพราะเราเพิ่งออกมาเขียนรูปอย่างเดียวด้วยมั้งคนก็เลยไม่ค่อยเชื่อถือ ชื่อเลยไม่ติดตลาด จริงๆ ก็พูดยากเพราะองค์ประกอบมันเยอะ”

– ก่อนจะข้ามกำแพงเหล็กได้ ช่วงนั้นเคยคิดไหมว่าจะรับเขียนรูปเพื่อตอบโจทย์หรือเพื่อให้ขายได้อย่างเดียว

“มีนะ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่แต่น้อยลง การเขียนรูปให้ขายได้ก็ต้องหาหัวข้อหาเทคนิค อย่างเขียนนู้ด ถ้าเขียนนู้ดแบบนั่งธรรมดามันก็ซ้ำซากกับคนอื่น ภรรยาผมซึ่งเป็นศิลปินเหมือนกันก็บอกว่าให้เขียนแบบอีโรติก แหกขาเลย คือต้องไม่เหมือนใคร ขณะเดียวกันต้องมีการพูดการเจราจากับคนซื้อด้วย คือต้องเขียนให้สวยด้วยและต้องแปลกกว่าคนอื่นถึงจะขายได้ ตอนนั้นผมแสดงงานที่บางกอกแกลเลอรี่ขายดีมาก ขายหมดเกลี้ยง ตอนนั้นนู้ดอีโรติกเลยกลายเป็นชื่อผม และเป็นภาพนู้ดของผมต้องแบบนี้และสีขัดเท่านั้น

ที่บอกว่าต้องตอบโจทย์ผมหมายความว่ามันต้องตอบโจทย์เราก่อน เพราะเราเป็นคนสร้างบุคลิกขึ้นมา อย่างผมเขียนรูปวัดพิชัยญาติฯ แล้วมาบอกผมว่าขอเอาสายไฟออกได้ไหม ผมก็บอกว่าเอาออกได้ไงก็มันสไตล์ผม ถ้าให้เอาออกผมก็ต้องคิดแพง เพราะต้องคิดตังค์ค่าเอาสายไฟออก หรือบางภาพมันมีรูปคนปรากฏอยู่ แล้วมาบอกว่าไม่เอาคนได้ไหม ได้ แต่ผมก็ต้องคิดแพงขึ้น ค่าเอาคนออก”

– มีคนมาจ้างเขียนรูปตามโจทย์บ้างไหม

“มี แต่ผมก็ต้องโน้มน้าวให้เจอกันคนละครึ่งทาง อย่างให้ผมเขียนร้านมิ่งหลีเขียนทั้งตึก เห็นยอดอะไรหมด แล้วต้องเขียนให้มองเห็นในร้านว่ามีคนนั่งอยู่ หน้าร้านก็มีคนเดินผ่านด้วย คือให้มองดูรู้ว่าหน้าคนนั้นคนนี้ แต่หน้านิดเดียว ผมบอกเลยว่าคิดหน้าละ 200 จะเอากี่คนบอกมา บางรูปก็ 10 คน มีเดิน มีนั่ง มียืนบนฟุตปาธอีก คือมันต้องคุยกัน แล้วการทำอย่างนี้ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่อง commercial นะ ถ้าจะบอกว่าเป็น commercial มันมีมาตั้งตาสมัยเรอเนซองส์แล้วที่พวกขุนนางศักดินาให้ศิลปินเขียนรูปครอบครัวกับสัตว์ ก็เหมือนที่ผมเขียนรูปมิ่งหลี”

– แล้วงานที่ต้องทำตอบโจทย์ลูกค้าคุณถือว่าเป็นงาน commercial ไหม

“มีส่วน แต่ก็ไม่ถึงกับ 100 % จริงๆ แบบนั้นไม่ควรทำนะ เพราะงานศิลปะ pure art ลูกค้าบังคับไม่ได้ สมมติคุณบอกว่าอยากได้ต้นไม้ 5 ต้น ถ้าผม (ศิลปิน) ไม่ชอบผมเขียน 4 ต้นก็ได้ คืออยู่ที่คนเขียน อย่างผมเขียนร้านมิ่งหลีที่มีหน้าคนก็น่าจะเรียกว่า commercial เพราะได้หน้าละ 200 ทีนี้ ถ้าคิดอย่างนั้นสมัยเรอเนซองส์มันก็เป็นกันทั้งหมด

ผมคิดว่า commercial จริงๆ ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้อง pure commercial ไม่ใช่มาผสมกัน อย่างการปั้นแก้ว พวกประติมากรที่ปั้นเขาก็จะปั้นบูดๆ เบี้ยวๆ ตามสไตล์เขา เขาไม่สนหรอกว่าคุณจะซื้อหรือไม่ซื้อ แล้วแก้วใบนั้นอาจจะมีใบเดียวในโลก อย่างนี้ผมคิดว่าไม่ใช่ commercial ถ้า commercial จริงๆ ต้องทำขึ้นมา 5 ล้านใบ ถ้าผมเขียนรูปป้อมพระสุเมรุ 20 รูป แล้ว 20 นั้นมีหน้าคนไม่ซ้ำกัน อันนี้ก็ไม่ใช่ commercial เพราะไม่เหมือนกันเลยสักรูป รูปหนึ่งอาจจะเป็นพระอาทิตย์ขึ้น ส่วนอีกรูปเป็นรูปพระอาทิตย์ตก”

– คุณคิดว่าคำจำกัดความของคำว่า commercial art จริงๆ คืออะไร

“ผมไม่ค่อยรู้”

– บางคนบอกว่า commercial art คือการผสมผสานระหว่างงานศิลปะกับธุรกิจ คุณเห็นด้วยไหม

“มันมีหลายองค์ประกอบ อย่างการออกแบบโปสเตอร์ขายสินค้ามันก็ใช้องค์ประกอบมหาศาล อย่างรุ่นน้องผมที่เป็นช่างภาพกดทีก็หมื่นหนึ่ง แต่สองวันบางทีไม่ได้กดเลยสักแชะ เพราะต้องตัดรอยพับผ้า ต้องหาขวดเปล่ามาวาง หาแก้วมาวาง เพราะมันเป็นงานศิลปะ ทีนี้การโฆษณาสินค้าก็ต้องมี commercial แต่มันก็อิงศิลปะมหาศาล

เพราะฉะนั้นผมไม่รู้ว่า commercial ล้วนๆ เป็นอย่างไร อย่างแค่ถุงเกลือก็ยังมีศิลปะเข้ามา ต้องมีการดีไซน์ จริงๆ แล้วคำว่า commercial art กับ pure art มันเป็นเพราะพวกนักวิชาการมาแบ่งมากกว่า อันนี้ commercial art อันนี้ painting อันนี้ furniture อันนี้ ceramic แล้วก็แยกเรียนเป็นสายๆ ไป ผมคิดว่ามันน่าจะอยู่ที่ความหลากหลายมากกว่า โอเค คุณชำนาญด้านนี้ก็ทำไปเลย แต่มันต้องเกี่ยวดองกันหมด อย่างกระติกน้ำร้อนก็ต้องดีไซน์กันหน่อย คนดีไซน์ต้องเข้าใจความงาม ต้องเข้าใจองค์ประกอบศิลป์”

– คุณกำลังจะบอกว่าไม่มี pure art และ pure commercial จริงๆ

“ไม่น่าจะมีจริง อย่างปีกัสโซ่เองก็กะล่อนจะตาย พอยุคไหนคนบ้าอะไรก็จะทำตาม ซึ่งมันก็ขายได้ตลอด คนไทยก็เหมือนกัน พอยุคไหนอะไรบูมก็ทำตามนั้น หรืออาจทำล้ำหน่อย”

– ถ้าอย่างนั้น โดยส่วนตัวรังเกียจคำว่า commercial ไหม

“ไม่รังเกียจ มันอยู่ที่งานกับคนที่ทำออกมา อย่างเฉลิมชัย (เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์) ก็ commercial คนหนึ่ง แต่มันเป็นสไตล์เขา สไตล์ลายกนกที่แหลมๆ ศิลปินดังๆ หลายคนก็การตลาดชั้นหนึ่ง เป็นโดยไม่ได้เรียนด้วย”

– แต่ก็มีคนพยายามบอกว่าศิลปินมีหน้าที่ทำงานอย่างเดียว แยกกันเด็ดขาดกับการตลาดคุณคิดอย่างไร

“ผมไม่เห็นด้วย อย่างปีกัสโซ่ก็มีผู้จัดการคอยดูตลอด คอยดูความเคลื่อนไหวของสังคมว่าเป็นอย่างไร แต่ศิลปินไทยเราต้องเดินหาโฆษณาเองเพื่อมาทำสูจิบัตร แล้วการตลาดต้องดีมาก เพราะต้องไปหาสปอนเซอร์ ต้องพูดเพื่อให้ได้เงินทีละ 2-3 แสน แต่ถ้าเป็นศิลปินไม่มีชื่อก็เอาไปแค่หมื่นหนึ่งหรือห้าพันพอ ซึ่งก็เอาไปทำอะไรไม่ได้”

– แล้วการตลาดแบบอดุลย์พันธ์เป็นอย่างไร

“ผมธรรมดาๆ นะ ผมไม่ใช้การตลาดมาก คือจะไม่ไปหาคนรวยมาก อย่างทำสูจิบัตรถ้าต้องไปหาพวกแบงก์ผมก็ทำไม่เป็น ผมก็ทำซีร็อกซ์ของผมไปธรรมดา”

– ถ้าเทียบอดีตกับปัจจุบัน ศิลปินยุคไหนลำบากกว่ากัน

“ยุคนี้สบายขึ้น เมื่อก่อนเขาขายรูปไม่ค่อยได้เท่าไรก็จริง แต่ก็ไม่ได้ฟุ้งเฟ้อเท่ากับสมัยนี้ แต่ตอนนี้เรื่องมันเยอะไง อย่างคนเขียนรูปจะให้อยู่แต่ในสตูดิโออย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องออกไปข้างนอก แล้วการออกไปข้างนอกก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องมีการแต่งเนื้อแต่งตัว แต่งโทรมไปก็เข้าสังคมไม่ได้ คนเขียนรูปสมัยก่อนเขาไม่วุ่นวายมาก เพราะเขาเขียนรูปอย่างเดียว เขาก็เขียนรูปของเขาไปเรื่อย ขายได้ก็ขายไป ขายไม่ได้เขาก็อยู่ได้อยู่ในกลุ่มของเขา อย่างอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ แกแทบจะไม่ต้องขายรูปเลย แกไม่อยากขายด้วยซ้ำ แกหวงรูปแก แล้วก็ขายไม่แพง ต่างจากสมัยนี้ที่ขายกันฉิบหาย ขายกันได้ตลอด” (หัวเราะ)

– แสดงว่าปัจจุบันนี้ศิลปินไม่ไส้แห้งแล้วสิ…

“ไม่แห้งนะ บางคนก็รวยฉิบหาย แต่บางคนก็ไม่รวยมากนะ ไส้แห้งนี่ไม่น่าจะมี เพราะมันทำอย่างอื่นเป็น ไม่ใช่เขียนรูปอย่างเดียว งานสิ่งพิมพ์ก็มีเยอะ จัดฉากทำโน่นทำนี่ได้หมด จัดดอกไม้หน้าศพยังทำเลย บางคนทำงานจนแทบไม่ต้องเขียนรูปเลยก็มี คือถ้ามีชื่อขึ้นมาหน่อยก็ทำได้ตลอด จัดสวนจัดอะไรไป แต่คนที่ขายรูปได้ดีๆ เขาก็จะทำของเขาอย่างเดียวเลย”

– คุณมีวิธีการตั้งราคารูปของคุณเองอย่างไร

“ไม่มีนะ แต่ก็ต้องดูงานว่าขนาดไหนอย่างไร เรื่องราคาผมไม่ได้กำหนดอะไรมาก ขึ้นอยู่ที่งานมากกว่า อย่างฝรั่งเขาจะมีผู้จัดการเป็นคนดูแล แต่คนไทยศิลปินเป็นคนตั้ง เรื่องราคาบางทีก็ต้องดูคนซื้อด้วย สมมุติคุณบุญชัย (บุญชัย เบญจรงคกุล) มาซื้อจะบอกหมื่นเดียวได้ไง ก็ต้องบอกอย่างต่ำห้าหมื่น (ยิ้ม) แต่งานก็ต้องใช้ได้นะ ไม่ใช่งานเหี้ย จริงๆ แล้วราคามันอยู่ที่ความต้องการของผม บางทีตั้งห้าหมื่นก็อาจจะขายแค่หมื่นเดียวได้ หรือบางทีให้ฟรีๆ เลยก็มี เพราะฉะนั้นเรื่องราคาไม่ได้กำหนดตายตัวอะไร”

– ที่ผ่านมารูปราคาแพงที่สุดของคุณราคาเท่าไร

“7 หมื่นบาท นี่หมายถึงรูปใหญ่นะ รูปของผมไม่ถึงแสนหรอก (หัวเราะ) รูปนู้ดที่ถือว่าแพงก็ไม่เกินสองหมื่น”

– ในฐานะของศิลปินอิสระ คุณมีตารางการทำงานอย่างไร

“ไม่มีนะ ผมดูที่จังหวะมากกว่า อย่างผมจะแสดงงานก็ต้องคิดแล้วว่าจะแสดงเดือนไหน บางทีถ้ามีงานเก่าอยู่แล้วก็อาจจะเอามาแก้อีกนิดหน่อย บางทีการแสดงงานก็เป็นเรื่องจังหวะด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ได้กำหนดชัดเจนตายตัว เพราะผมไม่มีทีมงาน ผมทำของผมคนเดียว เดินดุ่ยๆ ของผมคนเดียว

งานของผมแทบทุกชิ้นจะบอกเล่าเรื่องราวกับสังคม อย่างเขียนตึกหรือเขียนนู้ดก็ต้องมีเรื่องเล่าให้กับสังคม อย่างงานนู้ดที่ผมจะเขียนชุดต่อไปก็จะใช้เสื้อผ้าชุดชาวเขา ผมมีเสื้อผ้าอยู่ 5 เผ่าให้เมียนุ่งแบบกึ่งๆ นู้ดแล้วค่อยเขียน”

– โดยเฉลี่ยปีหนึ่งคุณแสดงงานมากี่ครั้ง

“เยอะนะ ถ้าเดี่ยวก็หนสองหน ผมมีงานแสดงตลอดแหละ แสดงเป็นคู่บ้าง สามคนบ้าง เล็กบ้าง ใหญ่บ้างแล้วแต่โอกาส”

Profile

Name: อดุลย์พันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
Age: 64 ปี
Education:
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
Career Highlights:
– เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารวัยหวาน, BR Magazine, วาดภาพประกอบให้หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วาดภาพปกหนังสือพ็อกเกตบุ๊กรวมทั้งภาพประกอบภายในเล่มให้กับนักเขียนหลายคน เช่น รงค์ วงษ์สวรรค์, รัตนะ ยาวะประภาษ, เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เป็นต้น
– ปัจจุบันดำรงตนเป็นศิลปินอิสระ โดยรับเขียนงานภาพประกอบตามนิตยสารบางเล่ม อาทิ mars, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์