ศิลปะจากเด็กหลังห้อง ของ ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

อดีตนักศึกษาคณะจิตรกรรม ศิลปากร ที่เรียกว่าแบบเด็กหลังห้องในคณะ ก่อนที่จะคว้ารางวัลศิลปินรุ่นเยาว์ “ศิลป์ พีระศรี” และก้าวขึ้นอยู่บนทำเนียบศิลปินภาพเหมือนร่วมสมัยของไทย ศักดิ์วุฒิเป็นจิตรกรรุ่นใหม่ที่สร้างชื่อในวงสังคมจนเป็นที่ชื่นชอบตั้งแต่ในหมู่ชนชั้นกลางระดับสูงไปจนถึงชนชั้นสูงรุ่นใหม่ ด้วยลักษณะความสามารถในฝีมือทางเชิงช่าง และตั้งใจใช้ชีวิตด้วยการเขียนรูปเพื่อเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว

ด้วยหนทางที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เป็นศิลปินอาชีพ โดยเฉพาะกับงานที่ทำอยู่มากว่า 20 ปี จนกลายเป็นศิลปินร่วมสมัยแถวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทย เขายอมรับโดยส่วนตัวชอบงานที่สบาย และเคยคิดจะมีอาชีพในเส้นทางโฆษณามากกว่าสายศิลปะ “ผมจบมาด้วยบีในธีสีส ซึ่งถือว่าต่ำที่สุด เพราะทุกคนต้องได้เกรดในธีสีส ผมก็ช่างมัน เพราะว่าเราเลือกทำงานในสิ่งที่ผมอยากทำ ตอนนั้นผมได้ทำสิ่งที่อยากทำตอนเรียนศิลปะ อาจารย์จะให้เปลี่ยนผมก็ไม่สนใจจะทำอย่างนี้ ก็มีท้อแท้บ้างนิดหน่อย”

“ตกลงศิลปะคือการทำงานอย่างที่เราชอบ หรือทำอย่างที่อาจารย์ชอบ หรือทำอย่างที่คนอื่นชอบ ผมก็เลยดื้อ ผมอยากทำของผมอย่างเนี้ย”

“สมัยเรียนก็ไม่ได้เก่งอะไรมากมาย เพราะเราเรียนสายวิทย์มา คิดอยากจะย้ายคณะแต่ก็สอบไม่ได้ ผมก็เลยทนเรียนไป” เป็นความตั้งใจแต่แรกที่ไม่เคยคิดจะเป็นศิลปินอย่างจริงจัง เขาบอกว่าส่วนหนึ่งเพราะวาสนาที่อาจจะทำให้เขามายืนอยู่ในตำแหน่งนี้

กลับเป็นว่างานของธีสีสของเขาส่งประกวดแล้วได้รางวัลหลายสถาบัน ทำให้มีผู้บริหารชาวต่างชาติเห็นผลงานแล้วชวนไปทำงานด้านโฆษณา ก่อนที่จะออกมาเริ่มต้นหนทางของเขา กับการวาดภาพประกอบในนิตยสาร “ลลนา” และรับจ้างเขียนรูปทั่วไปมาเรื่อย

“ตอนนั้นที่ได้ทำงานโฆษณาคิดว่าคงไม่อดตายแน่นอน มาถึงเขาก็ให้เป็นครีเอทีฟเลย ไม่เคยมีการผ่านงานอะไรใดๆ มาทั้งสิ้น ได้เงินเดือนสูงกว่าเขา แล้วก็ทำงานแบบอาทิตย์ละสามวัน คือฝรั่งเขาชอบส่วนตัว อยู่เกือบปี พอฝรั่งคนนี้เขาหมดสัญญา เขาก็กลับ เราก็ออก …แล้วก็ออกมาเขียนรูปอย่างเดียวเลย คือมีทั้งเขียนขึ้นมาเอง และมีคนมาติดต่อให้เขียน เราเขียนไปเรื่อยๆ แต่วันไหนถ้ามาคิดถึงเรื่องความเป็นอยู่มันก็เครียด เพราะว่าเราไม่มีงานอื่นๆ เลย บางปีเราแทบจะไม่มีงาน เคยไม่มีงาน 2-3 ปี ก็มีเพื่อนมาให้หยิบยืมเงิน แม่ก็เคยบอกให้เราไปสมัครตามบริษัท แต่ผมบอกไม่ไปหรอก

มีรุ่นน้องเคยถามผมว่า อาชีพศิลปินมันดีหรือเปล่า ผมบอกว่าถ้าอยากเป็นจริงๆ ก็เป็นไปเถอะ มันเป็นอาชีพที่อยู่ได้ ผมบอกผมดวงดีจริงๆ เพราะผมทำงานน้อยมาก บางทีคนเห็นภาพจากหนังสือ ก็คือคิดว่าผมมีเงิน ผมบอกว่ามันไม่ง่ายอย่างนั้น ถ้ามันเป็นมันก็เป็น ผมอยากทำงานโฆษณาจะตาย ผมยังต้องมาเป็นคนเขียนรูปเลย”

สไตล์งานของศักดิ์วุฒิมีความร่วมสมัย โดยมีสไตล์และเทคนิคที่เป็นของตัวเองสูง อีกทั้งการผสมความคิดแบบทดลองในเนื้องาน “คนที่มาจ้างผมตอนนั้นส่วนมากเป็นฝรั่ง เพราะคนที่เขาชอบงานเนี้ยบๆ เขาจะไม่ชอบงานของผม ผมวาดงานมีทีแปรง เขาก็มาบอกว่าผิวเขาเนียนนะไม่หยาบขนาดนั้น คือเขาคิดไว้อีกแบบ แต่เราทำอีกแบบ ผมเคยเขียนรูปในหลวงให้เทเลคอมเอเซีย เขาถึงกับเอาเรื่องเข้าที่ประชุมเลย เพราะว่ามันไม่ใช่อย่างที่เขาอยากจะเห็น”

“ในยุคแรกๆ งานผมมันแรง ไม่มีใครมาจ้างผมเป็นศิลปิน ตอนผมเขียนภาพประกอบให้ลลนา ผมก็โดนด่าเละเลยว่าหยาบเหลือเกิน ถึงกับมีการด่าลงในคอลัมน์ริมสวนของลลนาเลยว่า “คนเนี้ยไม่มีฝีมือเลยนะ นี่ถ้าอาจารย์สุวรรณี สุคนธา ยังอยู่เนี่ยจะไม่ได้เขียนลงหนังสือลลนา” ตอนนั้นงานเรามันหยาบมาก ก่อนที่ตอนนี้เขาจะหยาบกันทั่วบ้านทั่วเมือง”

การดำรงชีวิตในฐานะศิลปินของศักดิ์วุฒิ คือใช้ชีวิตด้วยการเขียนรูปอย่างเดียวเลย เขาเล่าให้ฟังว่ายังมีสูตรสำเร็จของศิลปินชื่อดังในยุคหนึ่ง คือต้องเป็นอาจารย์ ถ้าไม่ก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ

“เมื่อ 20 ปีก่อนเป้าหมายชีวิตของบางคนก็คือ เมื่อจบมาต้องเป็นอาจารย์ ทำงานศิลปะ แล้วส่งประกวด ส่งครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 เป็นศิลปินยอดเยี่ยม ใช้ชีวิตเป็นอาจารย์แบบรับงานนอก แล้วก็ใช้ชีวิตอย่างมีชื่อเสียง สูตรมันมีมาอย่างนี้ วางไว้กันอย่างสวยหรูมากันนาน”

ตัวศักดิ์วุฒิเองของถือว่าเป็นศิลปินคนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากเส้นทางวาดภาพประกอบ “ในยุคนั้นหนังสือลลนาดังมาก คนเก่งๆ เขาก็อยู่กันที่นั่น ผมอยากเท่แบบลลนา เป็นหนังสือที่รุ่นพี่จิตรกรรมไปทำกัน อย่างอาจารย์สุวรรณี น้าแพท (ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต) ทุกคนเป็นพวกจิตรกรรมหมด เป็นนักเขียน นักทำภาพประกอบ ถ่ายรูป เบ็ดเสร็จ แล้วก็เริ่มเป็นตำนานของคณะ ผมไม่อยากเป็นศิลปินที่ดูโทรม หรือเพื่อชีวิต ผมอยากเป็นอย่างนั้น คือภาพประกอบประเทศเราต่ำมาก ต่ำที่สุดในโลกเลยมั้ง… (หัวเราะ) แต่มันจะมีชื่อปรากฏอยู่ในหนังสือให้คนผ่านตา เป็นการพีอาร์ไปในตัว”

เส้นทางศิลปินในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงชีวิตศิลปินรุ่นเดียวกันกับศักดิ์วุฒิ เขาเล่าว่าต้องอดทนสร้างงาน และทำไปเรื่อยๆ แล้วค่อยแสดงงาน ทำไปจนว่าจะมีคนมาชอบ ชื่อก็จะเริ่มปรากฏตามหนังสือ เช่นภาพประกอบ หรือจะมีการลงสัมภาษณ์บ้าง จนคนเห็นระดับหนึ่ง และมีความรู้สึกว่าถ้าอยากได้งานสไตล์นี้จึงเข้าไปหา และเป็นที่ยอมรับ สะสมผลงาน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่รวมกันเป็น 10-20 ปี หรือบางคนตลอดชีวิต

ปัจจุบันภาพเขียนราคาหลักแสนของเขาเป็นที่ต้องการในตลาด เพราะมีอยู่น้อยชิ้น เขาเล่าว่าที่ทางสำหรับงานของเขาเองสำในเมืองไทยในช่วงนั้นก็ลำบากพอสมควร เพราะงานเขียนจิตรกรรมภาพเหมือนที่ได้รับการยอมรับในช่วงก่อนศักดิ์วุฒิก็คืองานของ “จักรพันธุ์ โปษยกฤต” ที่โดดเด่นจนแทบทำให้ศิลปินรุ่นใหม่ที่ตามมาไม่มีที่ยืน อีกทั้งช่วงที่ศักดิ์วุฒิสร้างงาน อิทธิพลของสื่อสมัยใหม่ และภาพถ่ายได้เข้ามาแทนที่งานจิตรกรรม จะเห็นได้ว่ากลุ่มช่างภาพแฟชั่นชื่อดังของเมืองไทยที่มักจะเกิดขึ้นในช่วง 2520 จำนวนหลายคน

เขายอมรับว่าศิลปินอย่างเขาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้สะสมงานที่นิยมเก็บสะสมงานของเขาเป็นการส่วนตัว รวมไปถึงชนชั้นสูงบางกลุ่ม และคนเก็บงานที่มีแนวคิดก้าวหน้า หรือชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในส่วนหนึ่งของชีวิตที่เขาออกงานสังคมบ้างเป็นครั้งคราว ก่อนที่จะเลิก และใช้ชีวิตอย่างค่อนข้างเก็บตัว

ปัจจุบัน แง่หนึ่งในการที่เขาได้ทำงานร่วมกับ “ดาราเทวี” เชนโรงแรมกลุ่มโอเรียนเต็ล ที่ไม่เคยใช้แบรนด์ “โอเรียนเต็ล” ทำโรงแรมอื่นเลยตลอดอายุ 130 ปี ในไทย ก็เป็นก้าวหนึ่งที่ทำให้งานของเขาเผยแพร่มากขึ้น เนื่องจากภาพประดับตกแต่งภายในทั้งหมดมาจากการชื่นชมผลงานของเขาเป็นการส่วนตัวในผู้บริหาร ที่ต้องการภาพเหมือนของผู้หญิงในจินตนาการที่เป็นสื่อสัญลักษณ์แทนตัวของโรงแรม

“เขาประสงค์ให้ผมทำเลย เขาจะไม่เข้ามายุ่ง ให้ผมคิดเองว่าบรรยากาศจะเป็นแบบไหน เป็นผู้หญิงที่ไม่มีจริงๆ แต่เป็นจินตนาการที่แทนดาราเทวี ดูแล้วเป็นเอเชีย มีกลิ่นของทางเหนือ มีกลิ่นของโบราณแต่ไม่โบราณมาก”

การจับมือกันระหว่างตัวศิลปินกับดาราเทวี ยังเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายแบบแฟชั่นในนิตยสารดิฉัน ในเดือนธันวาคม 2547 โดยที่การสร้างงานจะปล่อยให้เขาสร้างผลงานตามกำหนดของโรงแรมโดยให้อิสระศิลปิน ซึ่งหมายความถึงการยอมรับและมั่นในใจฝีมือระดับหนึ่ง เขาถูกเลือกมาเพื่อสร้างบรรยากาศโดยรวมของผู้หญิง ผสมไปกับความรู้สึกลึกลับและส่วนตัว มีระดับ

“ผมทำงานได้น้อยมาก บางปีชิ้นเดียว บางปีก็ไม่มี บางปีก็สองสามชิ้น แล้วแต่เงื่อนไข แล้วแต่ตัวเอง แล้วแต่เขาด้วยว่ารีบไม่รีบ บางทีรับมาตั้งแต่ไม่รู้จักกัน จนกลายมาเป็นเพื่อนกันเพราะกว่างานจะเสร็จก็ตั้ง 4 ปี เขาก็รอ มันอาจจะไม่ดีสำหรับตัวผมเอง”

“ตอนนั้นถ้าเกิดมีคนพูดว่าผมจะกลายเป็นศิลปินอาชีพ ผมว่าพูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ ตอนนั้นคิดแค่แต่งตัวไปเรียนและเรียนให้จบไปวันๆ” ศักดิ์วุฒิเล่า

10 คำถามเกี่ยวกับ “ศิลปิน” กับศักดิ์วุฒิ

1. ต้องมีการพูดจา ลักษณะท่าทาง การแต่งกาย หรือออกงานประจำ
ผมว่ามันไม่จำเป็น… แต่มันอาจจะจำเป็นสำหรับคนบางคน อย่างบางคนเนี่ยที่งานขายไม่ได้เลย แต่อยู่ดีๆ ตัวดังมาก งานก็กลับมาขายได้ มันก็มีให้เห็นอยู่ มีบางคนก็มาบ้าๆ แต่ดัง เพราะสองสามปีมานี่ผมไม่เคยออกงานเลย ผมอยู่บ้านค่อนข้างจะเก็บตัว แต่ทุกคนเขาจะรู้ว่าศิลปินเป็นอะไรอย่างไร จากงานจะเป็นตัวบอกชี้ชัดมากว่าตัวของคนสร้างงานเป็นอย่างไร

2. ต้องวาดตามกระแสความนิยม
ผมไม่สนนะ ผมชอบเขียนรูปที่ตัวเองสนใจ คนที่ชอบ ฉะนั้นมันไม่ตายตัวอยู่แล้ว เพราะผมชอบคนอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าตอนนี้เป็นเทรนด์การ์ตูน ผมก็เลยวาดคนให้เป็นการ์ตูน ผมไม่ทำงานแบบนั้นอยู่แล้ว ผมไม่สน
อะไรที่มันกำลังมาแบบเรียบง่าย เป็นกราฟิกอะไรที่ง่ายๆ

3. ขายงานให้ถูกลง และทำงานเยอะๆ
ตามความพอใจของศิลปิน มันคงขึ้นไปตามอายุมั้ง ผมว่าคนทำงานศิลปะอาจจะดีอยู่อย่างหนึ่ง คือพอแก่ตัวงานคงแพงขึ้น ไม่ได้เป็นเหมือนดาราที่แก่แล้วกลายเป็นพ่อหรืออะไรไป ผมว่าเป็นอาชีพเดียวที่มันไม่มีเหตุผล ผมว่าตอนนี้ไม่ว่าจะซื้อรูปอะไรก็ดูยากมากขึ้น เพราะรูปศิลปะตอนนี้อะไรมันก็ดูแพงโดยไม่มีเหตุผล

ผมเองทำงานน้อยมาก ผมจบมายี่สิบปี แต่มีรูปเป็นแค่หลักสิบชิ้นไม่ถึงร้อยชิ้น ไม่ได้เยอะมากมาย คิดดูว่าปีกัสโซ่ทำมากี่แสนชิ้นกว่าที่เขาจะอยู่ได้ คิดดูมันก็แปลกเหมือนกันนะ…

4. ยิ่งแก่ยิ่งดัง
ผมก็ว่าไม่เกี่ยว เพราะบางคนยังเคยพูดเลยว่าชอบงานในสมัยหนุ่มๆ ของผมมากกว่า มันเปลี่ยนไป คือบางคนก็บอกว่ามันแรงมากเลย ชอบมากด้วย บางทีตอนหนุ่มๆ เราอาจจะเขียนเพราะความไม่รู้ อะไรที่เราไม่รู้แล้วผิดๆ มันก็แรงทั้งนั้นแหละ อะไรที่เรารู้มากแล้วกลัวคนด่า มันก็จะกลายมาเป็นสิ่งที่เห็นอยู่ตอนนี้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบแบบไหน คนซื้องานก็เปลี่ยนไป ตอนนี้ที่อยู่ได้ก็ต้องต่อสู้มาก ถ้ารุ่นน้องถามผม ผมก็บอกเลยไม่แนะนำ แต่ก็ลองดูไปเถอะ แต่บางคนที่ไม่ไหวก็ต้องกลับเข้าไปในระบบ บางคนทำงานในระบบมาชั่วชีวิตเพื่อที่จะได้แค่เพียงครั้งหนึ่งขอออกมาทำงานศิลปะอย่างที่ตัวเองเรียนมา มันก็มี

5. ตกลงศิลปินตอนนี้ยังมีไส้แห้งอยู่หรือเปล่า
ดูอย่างบางคนซิ เกิดมาก็จนจนตาย ถ้าคุณแล้วงานมาปั้นเป็นแสนเป็นล้าน ได้ อย่างที่ถามว่าคาแร็กเตอร์สำคัญไหม แต่ผมคิดว่าบางทีชีวิตของศิลปินมันก็ขายได้จริงๆ งานก็คืองานของมันอยู่ แต่ความเป็นศิลปิน ต่อสู้มา หรือว่าพูดจนดัง ก็มีให้เห็นอย่างที่ผ่านมา บางคนในชีวิตไม่ขาย แต่เวลาตายแล้วเป็นตำนาน คนก็ตามเก็บซื้อกันใหญ่ แต่บางคนดังมาอยู่ดีๆ ตายไปงานจบไปด้วย ก็มีให้เห็น มันไม่ได้มีกฎอะไรตายตัว

6. ต้องคนที่มีฐานะมาก่อนแล้วจะดัง
อย่างตอนที่ผมเรียนอยู่ผมบอกได้เลยว่าคนที่เรียนศิลปะ 90 เปอร์เซ็นต์ผมบอกเลยได้ว่า… จน… ผมใช้คำว่าจนเลยนะ ทุกวันนี้ผมว่าก็ยังเหมือนๆ กัน ผมเองก็ธรรมดา ก็ต้องต่อสู้ไม่น่าจะธรรมดา แต่ตอนนี้ศิลปะสมัยใหม่เป็นเรื่องของความคิด แต่สมัยก่อนเป็นเรื่องของพรสวรรค์ ผมว่าเป็นเรื่องของการศึกษาด้วย เพราะว่าเขาได้เห็นมากก็รู้มาก ก็ฉลาดมาก ก็เข้าใจมาก คนธรรมดาหรือคนจนก็กลายเป็นช่างไป ผมว่านะ ไม่รู้มองแง่ร้ายเกินไปหรือเปล่า แต่เทรนด์มันเป็นอย่างนั้น ถ้าใครสนใจศิลปะก็จะเห็นความที่มันเป็นอย่างนี้

เดี๋ยวนี้บางครั้งทำงานชิ้นหนึ่งใช้งบเป็นล้านเลย ซึ่งมันเปลี่ยนไปแล้วจากแต่ก่อน

7. ศิลปินควรจะต้องพูดเก่ง มากกว่าวาดเก่ง
มันเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่า ตอนนี้ว่าการทำงานศิลปะเป็นเรื่องของการใช้สมองทำ หรือการใช้ฝีมือทำ ไม่มีใครรู้หรอกว่าวันหนึ่งศิลปะมันจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของความคิดที่ต้องมีคนออกมาพูด พูดเก่งคงทำให้งานกลายเป็นงานศิลปะได้ ผมเคยไปดูงานแล้วเคยต้องมีชีตที่อธิบายงาน… กับที่เราต้องเคยไปงานแล้วดูรูปร้องโอ้โห !!! เรารู้สึกว่าเราตัวเล็กตอนนั้นที่เราไปดู แต่เดี๋ยวนี้ต้องมานั่งคิดว่ารูปนี้คิดอะไร มันกำลังจะบอกอะไร

8. คนซื้องานตอนนี้จริงๆ ก็ดูไม่ได้ชอบจริง
ถ้าคนดัดจริตขึ้นเขาคงไม่ซื้อหรอก เพราะว่างานมันแพง มันต้องเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัวมากกว่า อย่างแต่ก่อนบางคนซื้อเพื่อการเก็งกำไรเหมือนกัน ให้งานมันแพงขึ้น แต่เดี๋ยวนี้หมดยุคที่จะปั่นงานให้ได้ราคาสูงขึ้นไปแล้ว ผ่านยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ในยุคนั้นคนซื้องานแบบที่แทบไม่ต้องแกะดูด้วยซ้ำ ซื้อพลาดก็มี ซื้อได้ก็มี คือเก็งราคากันไป

9. ทำอย่างไรให้สื่อเห็น
บางคนสื่อก็ชอบ เปิดเล่มไหนก็เจอคนนี้อีกแล้ว ก็มาถามว่าทำไม เก่งเหรอ… ก็ไม่รู้ แต่คนดูจะเป็นคนตัดสินเองว่าเขาชอบเอาอะไร อย่างบางคนที่ดูเป็นดารามากกว่าศิลปิน ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของสื่อ

ยุคนี้เป็นยุคของสื่อ บางคนทำงานมาชั่วชีวิตไม่มีคนพูดถึงเลย แต่บางคนทำนิดๆ หน่อยๆ ก็มีคนพูดถึง หรือว่าบางทีสังคมอาจจะต้องการแค่นี้ก็ได้ เป็นไปได้เหมือนกันที่เจ้าของสื่อเองก็เปลี่ยนไปอีกยุค ที่เขาคงจะเสพงานในอีกรูปแบบ ผมว่าอย่างรุ่นผม หรือรุ่นใหญ่การใช้ชีวิตดูไม่ค่อยต่างจากนี้ ผมว่าเราใกล้เคียงกัน คือเดินทางแบบโบราณ คือทำงานมาเรื่อยๆ จนสั่งสมความสามารถจนขึ้นไปถึงรุ่นนั้น

ยุคนี้ภาพของศิลปินเปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นยุคของสื่อที่เข้าไปเปลี่ยน อย่างรุ่นเก่า อาจารย์ถวัลย์ หรือพี่เหลิม (เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์) ก็เป็นอีกแบบ ที่ทำงานหรือสั่งสมผลงานมาชั่วชีวิต ผมชื่นชมอย่างนั้นมากกว่า

10. ไม่จำเป็นต้องเรียนศิลปะ ก็เป็นศิลปินได้
ศิลปินรุ่นใหม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือคุณไม่ต้องเก่งมากก็ได้ คือคุณไม่ต้องผ่านระบบการเรียนมากอย่างสาหัสก็ได้ อย่างเมืองนอกก็เป็นเหมือนกัน ไม่ได้เป็นแต่เฉพาะบ้านเรา… ไม่ได้บอกงานเขาไม่ดี แต่มันเป็นการเกิดศิลปินแบบใหม่ อย่างบางคนที่จบศิลปากรอาจจะดูมีความตั้งใจในเรื่องการเขียนรูป เพราะระบบความคิดและความตั้งใจมันต่างกัน แต่ไม่ได้บอกว่าเหมือนกันว่าต้องจบศิลปากรถึงเป็นศิลปินได้

Profile

Name : ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี
Born : 5 กันยายน 2506 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Family : บุตรนายสถิตย์ และนางจุฑารัตน์ วิเศษมณี
Education :
มัธยมปลาย รร. บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ปริญญาตรี คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และ ภาพพิมพ์