ชลิต นาคพะวัน จากเส้นทางบันเทิง สู่แนวทางศิลปะ

“กลิ่นสีและทีแปรง” กับ “กลิ่นสีและกาวแป้ง” คงทำให้ใครหลายๆ คนในตอนนั้นเปิดโลกรู้จักชีวิตนักศึกษาศิลปากร จากปลายปากกาของจิตรกรที่ชื่อ พิษณุ ศุภนิมิตร ก่อนที่จะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา ในปี2535 กับ 39 หนังเสน่ห์แรงเรื่องนี้ได้สร้างกลุ่มนักแสดงอารมณ์ดี จากกลุ่มนักเรียนศิลปะจนเป็นที่จดจำกันหลายคน แข่งกับกลุ่ม “ซูโม่” นักศึกษาสถาปนิกจากจุฬาฯ จนกลายเป็นนามสกุลที่เรียกติดปากว่า “กลิ่นสี”

หากแต่เรากำลังพูดถึงเส้นทางบันเทิงที่ต่อเนื่องจากกลุ่มเด็กเรียนในตอนนั้น ที่ขยับขยายจนมีที่มาในวงการบันเทิงอย่างคับคั่ง ถ้าหากคิดว่าเด็กเหล่านั้นเลือกเส้นทางชีวิตตามที่ร่ำเรียนมา ณ วันนี้ที่เขาเดินทาง ภาพเส้นทางมืออาชีพของตัวเองจะเป็นอย่างไร

ลองหลับตานึกภาพว่า “นายกอ” เป็นจิตรกรภาพเขียนแนวนามธรรม ที่มีศิลปินน้อยรายตั้งมั่นจะทำงานด้วยศิลปะแนวนี้ตลอดระยะเวลาการทำงานของศิลปินร่วมสมัย โดยเฉพาะในบ้านเรา เขาได้รับการยกย่องว่ามีผลงานโดดเด่นในการสร้างพื้นผิว (texture) ให้เกิดขึ้นลงบนงานจิตรกรรม ทั้งยังส่งอิทธิพลต่องานประติมากรรมที่เขาสร้าง ด้วยสีสันที่สดใสเบิกบานที่เน้นการซ้อนกันของสีผสมจนเกิดพื้นผิวและความหนา ก่อนที่ลดทอนเหลือความเรียบง่ายของสีและพื้นสัมผัสในช่วงปลาย…

ถ้าหลับตาเราคงนึกภาพจิตรกรร่วมสมัยคนนี้ท่ามกลางบรรยากาศนั้นไม่ออก เราคงตกใจที่ลืมตาตื่นมาพบกับ “ชลิต กลิ่นสี” นักแสดงอารมณ์ดีที่ยืนอยู่ข้างๆ งานศิลปะแบบของตัวเอง เขาคงเป็นคนที่เราตั้งคำถามว่า สรุปแล้วเขาเป็น “ดาราวาดรูป” หรือ “ศิลปินนักแสดง”

“พี่ไม่ได้สนใจว่าพี่เป็นใคร มีแต่คนมาคิดให้พี่ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าพี่เคยเป็นดาราแล้วมาทำงานศิลปะ หลังจากพี่จบศิลปากร มีผลงานศิลปะออกมาตลอดสม่ำเสมอ ตั้งแต่จบไม่เคยไม่ทำงานศิลปะ อย่าคิดว่าเป็นดารามาวาดรูปแล้วจะดัง เพราะถ้างานไม่ดีไม่มีทางดัง” เขากล่าว

ด้วยความคิดที่ว่า งานในวงการบันเทิงส่วนหนึ่งถือเป็นสปอตไลต์ในตัวเอง “สมมุติในคนคนหนึ่งทำอะไรได้หลายอย่างมันก็เป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองได้ การมีคาแร็กเตอร์พิเศษ อุปนิสัย การปฏิสัมพันธ์กับคน ไลฟ์สไตล์ หรือแม้แต่รูปลักษณ์ ล้วนแล้วเป็นองค์ประกอบของคนคนหนึ่งที่จะทำให้เขาเป็นที่น่าสนใจไหม… จะสังเกตได้ว่า artist แต่ละคนจะดังได้หรือไม่ได้ มันมีองค์ประกอบรวมของมัน ไม่ใช่แค่เราทำงานได้ดี บางคนทำงานดี แต่อุปนิสัย ปฏิสัมพันธ์กับคนไม่ดี เก็บตัว ก็ไม่เป็นที่รู้จัก… ปิกัสโซ มีบุคลิกพูดจาฉะฉาน รู้เรื่องอื่นๆ นอกจากศิลปะ นักการเมืองยังต้องเข้าหา เพราะเขารู้เรื่องทุกศาสตร์”

“องค์ประกอบทั้งหมดทั้งมวลคงบอกเป็นข้อๆ ไม่ได้หรอกว่า ทำตามข้อนี้ ข้อดี แล้วจะดัง เพราะว่าคนจะดังไม่ดังมันหลายเรื่อง บางคนดังในทางลบก็ดังได้ แต่ดังให้ยืนยาวทำอย่างไร ถวัลย์ (ดัชนี) เฉลิมชัย (โฆษิตพิพัฒน์) ทำไมชาวบ้านรู้จักหมด เพราะองค์ประกอบทางชีวิตของเขา แต่งตัว บุคลิก การพูด ผลงาน คือทุกอย่างมันต้องโดดเด่นไปด้วยกัน แต่ต่อให้แต่งตัวดีแทบตาย พูดดีอย่างไรก็ไม่ดัง ถ้างานไม่ดี” ซึ่ง “ผลงาน” สำหรับความคิดของเขาก็เป็นตัวพิสูจน์ที่สำคัญที่สุด

การเปลี่ยนผ่านที่เราสังเกตได้ก็คือ วิถีของศิลปินรุ่นเก่าหลายคนที่ค่อนข้างเก็บตัว ไม่นิยมให้สัมภาษณ์ เน้นการเขียนรูปที่ให้ความสำคัญกับฝีมือช่างสุดๆ ในขณะที่รุ่นใหม่ไปงานสังคม ไป event เปิดเพลงวาดรูปก็ได้ ไปได้หมด จุดต่างของวิถีของศิลปินรุ่นใหม่กับศิลปินรุ่นเก่าแตกต่างกันอย่างไร

“พี่ว่าคนเรามีด้าน มีคาแร็กเตอร์ ที่แตกต่างกันไปในการที่จะเอาตัวรอด มีวิธีการจัดการตัวเองอย่างมีแนวทางในการดำรงชีวิตอย่างไร เช่น อ.จักรพันธ์ อ.ถวัยล์ อ.เฉลิมชัย แต่ละคนมีวิถีที่แตกต่างกันไป อ.สวัสดิ์ แกก็สมถะ ไปคนเดียว ไม่ออกงานสังคม เขียนรูปคนเดียว คนก็ชอบงานแก ชอบไลฟ์สไตล์ของแก อายุ 80 กว่า ไปวาดรูปที่ทะเลคนเดียว รู้จักชาวบ้าน พูดคุยกับชาวบ้าน…”

ด้วยความที่เขายอมรับว่าเกิดมาในครอบครัวที่ต้องผลักดันให้เขาต้องทำงานตั้งแต่ตอนเรียน การวาดภาพประกอบหนังสือของคุรุสภา การรับจ้างทำงานแบบต้องปีนขึ้นหน้าบันเพื่อปั้นปูน ไปจนถึงการเป็นผู้ช่วยฝ่ายศิลป์ ไม่ว่าจะทำฉาก ทำภาพยนตร์ หรือมิวสิกวิดีโอ งานในวงการบันเทิงก็เป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ทำสิ่งใหม่ๆ และเป็นโอกาสดีอันหนึ่งในชีวิต “พี่ไม่เคยปฏิเสธสิ่งที่คนหยิบยื่นให้ถ้าเราคิดว่าเราทำได้” เขากล่าว

แต่ศิลปินอย่างเขาตอนนี้ทำอะไรบ้างที่ได้เงิน “เพื่อนฝูงให้ไปแต่งบ้าน ออกแบบโรงแรม ออกแบบของตกแต่งบ้าน หรือดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ เวลาออกแบบจะคิดถึงอาร์ตก่อน แล้วค่อยเพิ่มฟังก์ชัน พี่คิดนะ แต่ไม่รู้คนอื่นคิดอย่างไร เวลาคิดงานดีไซน์ หรือของใช้งานได้ พี่จะคิดถึงเรื่องโครงสร้างก่อน เป็นงานประติมากรรมก่อน แล้วก็จะใส่ฟังก์ชันเข้าไปทีหลัง มันน่าจะเป็นอะไรได้ ถ้าใส่ไฟเข้าไปเป็นโคมไฟ หรือวางมันเตี้ยๆ หน่อยเป็นที่นั่งได้ หรือจะลองคิดดูว่ามันจะกลายเป็นที่แขวนเสื้ออีกได้ไหม เป็นงานขาย แต่มีราคาสูง เพราะแบบนี้เป็นงานแฮนด์เมด มีไม่มีกี่ชิ้น

…ไม่ว่ามันจะเป็นแค่งานเล็กๆ เรื่องใหญ่ มันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการดำรงชีวิตของอาชีพ เช่น เขียนหนังสือ อะไร หรืองานโฆษณาต่างๆ ที่ทำ มันเป็นผลพลอยได้ หรือได้อะไรจากตรงนั้น มาทำงานตรงนี้ อย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมง่ายๆ คือได้เงินมาต่อยอดในงานศิลปะของเรา เราได้เงินจากการโฆษณามาทำงานศิลปะแบบไฟน์อาร์ตของเรา ศิลปินที่ไหนในโลกก็ทำอย่างนี้ทั้งนั้น นอกจากจะเกิดมารวย ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากทำงานศิลปะอย่างเดียว”

ชลิตเล่าว่า แม้แต่งานชิ้นเล็กๆ อย่างการเขียนภาพประกอบ ก็ทำให้เขาได้อ่านหนังสือ และได้ตีความว่ารูปภาพที่เกิดขึ้นมันจะออกมาเป็นอย่างไร การที่ภาพประกอบมีขนาดไม่ใหญ่ จึงสามารถที่จะทดลองหารูปแบบและสไตล์ไปในตัว โดยที่มีพื้นที่แสดงงานจำนวนมหาศาล รวมถึงมีผลตอบรับที่เข้ามาได้ตลอด
“ยิ่งเขียนให้หลายที่ ก็ได้ฝึกคิด คนรู้จักเราเยอะขึ้น ชื่อเราลงหนังสือทุกวัน นำพาเราไปสู่เรื่องต่างๆ เช่น ภาพประกอบขายได้ คนเห็นอยากได้ก็ซื้อ เท่ากับว่างานของพี่ขายได้ มันมีเรื่องมหัศจรรย์ที่คนเห็นภาพประกอบแล้วตามมาซื้องานที่บ้าน มีฝรั่งอยากมาซื้อ เขาก็ให้คนติดต่อมา มากันสองคนผัวเมีย ก็เลยถามว่าเขารู้ได้ไง เขาก็บอกว่าเห็นมาจากหนังสือพลอยแกมเพชร เห็นแล้วก็ชอบ ก็อยากดูงานที่บ้าน แล้วก็ซื้อไปเลย 7-8 ชิ้น”

“พี่ว่าอะไรก็ได้ที่ทำให้เราได้โชว์ ถ้าเราเขียนรูปแล้วเก็บใส่ลิ้นชักก็ไม่มีใครรู้จักเราหรอก เรามีโอกาสโชว์ หรือแสดงฝีมือให้คนเห็นเราควรจะทำ” โดยมีปรัชญาการทำงานของเขาเองก็คือ “ทำแล้วต้องสนุก ถ้าไม่สนุกไม่ทำ”

เมื่อหนังของชาว “กลิ่นสี” เริ่มต้นตรงนักศึกษาของชาวศิลปากร นับตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย เป็นน้องใหม่ จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา ทำให้เราเห็นช่วงชีวิตวัยเรียนที่เป็นสีสันชีวิต ผลงานศิลปะของแต่ละคนแตกต่างและแหวกแนวออกไป พร้อมด้วยความคิด ความจริงจัง และคุณค่าในตัวเอง จากวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่ผูกพันกับกลิ่นสี กาวแป้ง และทีแปรง แต่หลังจากจบการศึกษา แต่ละคนก็มีทางชีวิตที่ต่างกันไป โดยที่บทจบสำหรับหนังก็ไม่ต่างอะไรจากชีวิตจริง ซึ่งต่างคนก็ต่างมีจุดหมายปลายทางของ “แก่นชีวิต” ที่แต่ละคนเลือกไว้สำหรับตนเองไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด

“แม้แต่เล่นหนังเล่นละครก็ถือเป็นศิลปะสำหรับพี่” ชีวิตศิลปินของเขากับเป้าหมายในอนาคตที่หวังอยากจะเห็นโรงแรมเล็กๆ แบบส่วนตัว หรือร้านอาหารดีเล็กๆ สักร้านหนึ่งของตัวเอง…

Profile

Name : ชลิต นาคพะวัน
Born : 28 มีนาคม 1964
Education :
อัมพวันวิทยาลัย จังหวัดสมุทรสงสราม
วิทยาลัยช่างศิลป์ กรุงเทพฯ
ปริญญาตรี สาขาจิตรกรรม ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
Professional Experiences :
2004 “From the darkness comes light ” ที่ Chalit Art Project & Gallery
4 ทศวรรษ 4 ศิลปิน ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ ประสานมิตร
2003 โครงการ “To be number 1 Campaign” เวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์
2002 “Tasting Asia” เทศกาล New vision Arts ที่ฮ่องกงง
1998 Illustration Show ที่ The Promenade โรงแรมฮิลตัน กรุงเทพฯ
Illustration Show, ที่ Peninsula Plaza กรุงเทพฯ
โครงการ “Bangkok Art Project 1998”
1994 Illustration Show, The Art Corner, Bangkok.
1989 Figulative Colours หอศิลป์คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

Website

www.chalitartgallery.com